3. ธรรมะเพื่อสัตว์เลี้ยง (When Animals go to Heaven)

ธรรมะเพื่อสัตว์เลี้ยง

(When Animals Go to Heaven)
คู่มือดูแลสัตว์เลี้ยง ด้วยธรรมะ ความรัก และความจริงใจ

2nd Edition โดย พิทยา ทิศุธิวงศ์ (by Pittaya Wong)

ดาวโหลดฉบับ PDF ได้จากด้านล่างสุดของหน้าเว็บนี้ครับ

 



สารบัญ

เปิดเล่ม เปิดใจ

บทที่ 1: ม้าของเจ้าชาย

บทที่ 2: เทพบุตรกบ

บทที่ 3: ค้างคาวได้บวช

บทที่ 4: ช้างการกุศล

บทที่ 5: น้องหมาใจหล่อ

บทที่ 6: นกกระยางถือศีล

บทที่ 7: ช้างเกเร

บทที่ 8: กระแตพระโพธิสัตว์

ธรรมะสำหรับคนเลี้ยงสัตว์

จากใจสู่ใจ

จบเล่ม

เกี่ยวกับผู้แต่ง

 

 เปิดเล่ม เปิดใจ

มนุษย์เรานิยมเลี้ยงสัตว์กันมานานแสนนาน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไว้ใช้งาน เลี้ยงไว้เป็นอาหาร เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน หรือเลี้ยงไว้เพื่อทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง สัตว์ที่เราเลี้ยงก็มีตั้งแต่ งู หนู กะรอก หมา แมว นก ลิง ปลา ช้าง ม้า วัว ควาย กระต่าย เต่า แมลง ฯลฯ บางคนก็เลี้ยงสัตว์ดุร้ายอย่าง จระเข้ ปลาปิรันย่า แมลงป่อง และเสือ แต่ที่นิยมกันมากในปัจจุบันก็คือน้องหมาและน้องแมว คนส่วนใหญ่ไม่คิดเลยว่า สัตว์เหล่านี้จะมีสติปัญญาและความพร้อมในการสั่งสมบุญ หรือพัฒนาจิตใจตามหลักของพระพุทธศาสนาได้ เพราะสัตว์มักแสดงออกตามสัญชาติญาณมากกว่าเหตุผล

อย่างไรก็ดี คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น แม้จะระบุชัดเจนว่า สัตว์เดรัจฉานไม่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ก็มีเรื่องราวตัวอย่างมากมายให้เห็นว่า สัตว์ยังสามารถสั่งสมบุญ ซึมซับธรรมะ และสิ่งดีงามต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ และยังเคยมีสัตว์เดรัจฉานที่มีบุญมาก หรือถึงขั้นมีคุณธรรมสูงกว่ามนุษย์เสียอีก อย่างในเรื่องราวชาดกมากมาย สมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นสัตว์ อย่างเช่นนก ช้าง สิงโต และกระต่าย พระองค์ก็ยังคงอาศัยรูปกายของสัตว์ในการสั่งสมบุญ ทำความดี ได้เหมือนกัน

หนังสือเล่มนี้ ขอแบ่งปันเรื่องราวดีๆ จากพระไตรปิฎกที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์ ซึ่งสามารถพัฒนาชีวิตและจิตใจ ด้วยธรรมะและการทำความดี เป็นผลให้พวกเขาได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์หรือเทวดาในภพชาติต่อๆ ไป อีกทั้งยังเป็นแนวทางให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ได้รู้จักมอบ “ธรรมะ” และพาพวกเขาสั่งสมบุญ ด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ ซึ่งจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุด เพื่อให้พวกเขามีความสุขที่แท้จริงทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ถือเป็นการตอบแทนความรักและความซื่อสัตย์ ที่พวกเขามอบให้กับเรา ซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจพบได้ง่ายนักในหมู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ท้ายที่สุดนี้ ผู้แต่งขอกราบขอบพระคุณ พระมหามงคล มังคโล, ป.ธ. 9 ที่ได้อนุเคราะห์ตรวจทานต้นฉบับหนังสือนี้

In Peace,
PITTAYA WONG
2555 B.E.

 

บทที่ 1

ม้าของเจ้าชาย

ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายในพระราชวัง 3 ฤดู  พระองค์มีสัตว์เลี้ยงประจำพระองค์ คือ “ม้ากัณฐกะ” (อ่านว่า ม้า-กัน-ถะ-กะ) เป็นม้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ที่ได้รับการกล่าวขานมายาวนานสองพันกว่าปี แม้จะเกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ม้าตัวนี้เป็นสัตว์ที่มีบุญมาก เพราะเกิดมาเพื่อทำภารกิจอันสำคัญยิ่ง นั่นคือการนำพาเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชให้สำเร็จ

ม้ากัณฐกะ ถือได้ว่าเป็นพาหนะคู่ใจของเจ้าชายสิทธัตถะ ม้าตัวนี้เป็นม้าเพศผู้ที่สวยงามมาก มีสีขาวสะอาด รูปร่างสวยงามสง่า แข็งแรง มีพละกำลังมาก และเป็น “สหชาติ” กับเจ้าชายสิทธัตถะ คือเป็นสัตว์ที่เกิดในวันเดียวกับท่าน และเป็นสัตว์คู่พระบารมี ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยออกผนวช พระองค์ได้ควบม้ากัณฐกะออกจากพระราชวังกลางดึก โดยมีนายฉันนะ อำมาตย์คนสนิทติดตามไปด้วย ม้ากัณฐกะได้ทำหน้าที่นำพาพระองค์เดินทางออกไปไกลแสนไกลภายในช่วงเวลาข้ามคืนโดยไม่ได้หยุดพักผ่อน ด้วยฝีเท้าที่เร็วประดุจสายลม จนไปถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ณ ที่แห่งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงตัดพระเกศา คือเส้นผม แล้วเปลี่ยนชุดจากชุดของเจ้าชายผู้สูงศักดิ์เป็นชุดของนักบวชที่เรียบง่าย พร้อมกับสั่งให้นายฉันนะเดินทางกลับไปพระราชวังเพื่อแจ้งข่าวแก่พระราชบิดา แต่เมื่อพระองค์เสด็จจากไปแล้ว ม้ากัณฐกะซึ่งยอมสละชีวิตเพื่อการทำภารกิจอันสำคัญยิ่งต่อมวลมนุษยชาติในครั้งนี้ ก็ได้เสียชีวิตลงเพราะความอาลัย ในทันทีที่เสียชีวิต ม้ากัณฐกะได้ไปเกิดใหม่เป็นเทวดา มีชื่อว่า “กัณฐกะเทพบุตร” อาศัยอยู่ในวิมานอันสวยงามอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือสวรรค์ชั้นที่ 2 ด้วยบุญที่นำพาพระโพธิสัตว์ (ผู้ที่ตั้งใจบำเพ็ญตนเพื่อให้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ออกบวชได้สำเร็จ นับจากวันนั้น กัณฐกะเทพบุตรก็ยังคงเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ตราบมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความภาคภูมิใจในความดีที่เขาเคยทำเอาไว้ในสมัยที่ยังเป็นม้า

ข้อคิดเพื่อสัตว์เลี้ยง:

จะเห็นได้ว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงเอาไว้นั้น หากเราใช้ให้พวกเขาทำสิ่งดีงาม พวกเขาก็พลอยได้บุญไปด้วย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และบุญนั้นก็ยังสามารถส่งให้พวกเขาได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่าอย่างสวรรค์ ในยุคปัจจุบัน ชาวพุทธก็ยังมีการทำความดีในลักษณะเดียวกันกับม้ากัณฐกะ อย่างเช่น การนำช้างมาแห่นาค (ผู้ที่เตรียมจะบวชเป็นพระ) ก่อนที่จะประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบท ช้างได้ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะนำพาผู้ที่เป็นนาคแห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้อนุโมทนา ช้างนั้นก็พลอยได้บุญได้กุศลไปด้วย หรืออย่างในประเทศศรีลังกา เวลามีพิธีเฉลิมฉลองพระเขี้ยวแก้ว (ฟันของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ก็จะมีช้างที่แต่งกายอย่างสวยงาม ร่วมขบวนไปด้วย และยังมีพระภิกษุสามเณรในบางแห่งที่ขี่ลาหรือม้าออกบิณฑบาต แม้สัตว์เหล่านี้ต้องออกเรี่ยวแรงสักหน่อย แต่พวกเขาก็ได้บุญติดตัวไปเป็นรางวัล ไม่เพียงแต่สัตว์เท่านั้นที่ได้บุญ เจ้าของสัตว์ที่มีจิตศรัทธา นำสัตว์ของตนไปร่วมประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมในพระพุทธศาสนา หรือสาธารณกุศลต่างๆ ก็ได้บุญไปด้วย ต่างจากสัตว์ที่ถูกนำไปใช้ทำบาป เช่นการนำไก่หรือวัวไปชนกัน เล่นปลากัด นำสัตว์มาต่อสู้กัน หรือแข่งขันกันเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการพนัน อย่างนี้ย่อมได้บาปทั้งตัวเจ้าของและสัตว์เลี้ยง

บทที่ 2

เทพบุตรกบ

เมื่อพูดถึงกบ ใครๆ ก็ต้องคิดว่า สัตว์กินแมลงรูปร่างไม่น่ารักสักเท่าไรอย่างนี้ คงใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติกว่าจะหมดเวรหมดกรรม ได้เกิดเป็นคน (ยกเว้นในกรณีของนิทานเจ้าชายกบ) แต่พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้กำหนดว่า มีแต่เพียงมนุษย์เท่านั้น ที่มีสิทธิ์ไปสวรรค์ เพราะพระพุทธศาสนาสอนว่า สัตว์เหล่าใดก็ตาม (รวมถึงมนุษย์ด้วย) เมื่อถึงคราวละโลก มีจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สัตว์เหล่านั้น ย่อมมีสุคติเป็นที่ไป คือได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีนั่นเอง ซึ่งสัจธรรมนี้ ก็ไม่เว้นแม้แต่เจ้ากบนักกระโดดเช่นกัน และเรื่องราวจากพระไตรปิฎกต่อไปนี้ จะเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่า ธรรมะ นรก สวรรค์ เป็นของกลางสำหรับทั้งมนุษย์และสัตว์ ไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม

ในสมัยหนึ่ง ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เทศน์สอนประชาชน ด้วยน้ำเสียงอันไพเราะนุ่มนวล ก้องกังวาน ซึ่งเกิดจากอานิสงส์แห่งบุญบารมีที่พระองค์ได้สั่งสมมา มีกบตัวหนึ่งกำลังอยู่ในหนองน้ำบริเวณนั้น กบตัวนี้ไม่เข้าใจในเนื้อความธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สอน แต่ก็มีจิตเลื่อมใสในน้ำเสียงอันไพเราะของพระองค์ ซึ่งกล่อมเกลาให้จิตใจของเขาสงบเย็นเป็นบุญกุศลไปด้วย แต่ทว่าในขณะที่กบกำลังฟังเสียงเทศน์ไปเพลินๆ อย่างไม่รู้เรื่องรู้ราวอยู่นั้นเอง เผอิญมีคนเลี้ยงวัวคนหนึ่งถือไม้เท้าเดินผ่านมา แล้วชายคนนั้นก็แทงไม้เท้าลงพื้น ทิ่มลงไปที่ตัวกบ ทำให้กบขาดใจตายอย่างกะทันหัน เมื่อกบตายแล้ว วิญญาณของเขาได้ละจากร่างแล้วไปเกิดใหม่เป็นเทพบุตรสุดหล่อ อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พ้นสภาพจากความเป็นกบ แล้วเสวยสุขอันเป็นทิพย์อยู่ในวิมาน ด้วยบุญจากการฟังธรรมด้วยจิตที่เลื่อมใส แม้จะไม่เข้าใจก็ตาม แม้ทุกวันนี้ เทพบุตรอดีตกบก็ยังคงรื่นเริงอยู่ในสวรรค์

ข้อคิดเพื่อสัตว์เลี้ยง:

จากเรื่องราวของกบซึ่งฟังน้ำเสียงอันไพเราะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดมีจิตเลื่อมใสเป็นกุศล ตายแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ได้ ทำให้เราสามารถเห็นว่า การที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า “คลื่นเสียง” ที่กระทบกับน้ำ แล้วมีผลทำให้ “ผลึก” ของน้ำเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้นั้น สามารถทำให้เราได้ข้อสรุปต่อไปอีกว่า หากเราเปรียบเทียบ “ใจ” ของมนุษย์และสัตว์กับ “น้ำ” เมื่อใจได้รับคลื่นเสียงที่ดี ใจก็จะซึมซับเอาความดีที่ถ่ายทอดออกมาจากคลื่นเสียงนั้นได้เช่นกัน “เสียง” จึงสามารถปรับสภาพอารมณ์และจิตใจของมนุษย์และสัตว์ได้ เช่นเดียวกันกับที่เสียงเปลี่ยนรูปร่างของผลึกน้ำ ต่างกันเพียงว่า ใจของมนุษย์และสัตว์มีความละเอียดมากกว่าน้ำ เพราะไม่สามารถจับต้องได้ และมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

ดังนั้น ถ้าหากเรา เลี้ยงปลา เลี้ยงเต่า น้องหมา น้องแมว นก กระรอก แม้ว่าพวกเขาจะฟังภาษาของมนุษย์ไม่เข้าใจ แต่เราก็สามารถปรับสภาพใจของพวกเขาให้ดีงามและงดงาม เป็นบุญกุศลได้ โดยให้เราลองสวดมนต์ให้พวกเขาฟัง หรือเปิดเสียงเพลงสวดมนต์อันไพเราะและเพลงธรรมะ ที่มีท่วงทำนองสงบเย็นสบายหู สบายใจ มีถ้อยความอันสะอาดบริสุทธิ์ ให้พวกเขาฟังอยู่เรื่อยๆ พวกเขาก็จะค่อยๆ ซึมซับกระแสธรรมนั้นไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว บางครั้งคุณอาจเห็นได้ว่า สัตว์เลี้ยงของคุณ ที่เคยมีอาการดุดัน เกรี้ยวกราด ดื้อ หรืออยู่ไม่สุข อาจจะสงบและเรียบร้อยมากขึ้น เป็นเพราะใจของพวกเขาถูกปรับปรุงให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วยเสียงที่สื่อสิ่งดีๆ ออกมา อย่างในกรณีของกบที่ฟังเทศน์ ใจของกบมีกระแสแห่งความบริสุทธิ์หล่อเลี้ยงมากพอ ที่จะยกระดับตนเองไปอยู่ในภพภูมิอันสูงส่งอย่างสวรรค์ได้เลยทีเดียว

บทที่ 3

ค้างคาวได้บวช

พระไตรปิฎกซึ่งรวบรวมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม พระวินัยเป็นเสมือนกฎระเบียบที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติตาม ส่วนพระสูตรเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งตรัสเทศน์สอนไว้ในโอกาสต่างๆ และท้ายสุดคือพระอภิธรรม เป็นธรรมขั้นสูง ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศน์สอนแก่พระมารดาและเหล่าทวยเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง เข้าใจได้ยาก แต่ชาวไทยพุทธมักจะได้ฟังกันบ่อยๆ ในงานสวดศพ แม้น้อยคนจะเข้าใจในสิ่งที่พระสวด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการฟังพระสวดบทพระอภิธรรมนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้วว่า สัตว์ที่ได้ฟังบทสวดพระอภิธรรม สามารถไปเกิดในสวรรค์ และจุติมาเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาติต่อมา ใครที่ไปงานสวดศพ อาจจะลองอัดเสียงไว้ แล้วเอามาเปิดให้สัตว์เลี้ยงที่บ้านฟังดูบ้างก็ได้

เรื่องราวมีอยู่ว่า ในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีชื่อว่า “พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า” มีค้างคาวฝูงใหญ่จำนวน 500 ตัว เกาะอยู่ที่ภูเขา ในบริเวณนั้นเอง มีพระภิกษุอาศัยอยู่สองรูป ท่านชอบสาธยายบทพระอภิธรรมในขณะเดินทำสมาธิ (จงกรม) อยู่เป็นประจำ ค้างคาวจึงได้ยินได้ฟังบทพระอภิธรรมอยู่เรื่อยๆ แม้จะไม่เข้าใจเนื้อความของพระอภิธรรมเลย แต่ก็มีใจเป็นสมาธิจรดจ่ออยู่กับเสียงสาธยายนั้น เมื่อค้างคาวตายไป ก็ได้พากันไปกันเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กันทั้งหมด เสวยสุขอันเป็นทิพย์ตลอดหนึ่งพุทธันดร คือช่วงระยะเวลาระหว่างการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งกับอีกพระองค์หนึ่ง และต่อมาในยุคของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดาอดีตค้างคาวทั้งฝูงก็ได้จุติมาเกิดเป็นมนุษย์ ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้บวชเป็นพระด้วยกันทั้งหมด 500 องค์ ซึ่งต่อมาท่านได้มีโอกาสเรียนพระอภิธรรมกับพระสารีบุตรผู้เป็นเลิศด้านปัญญา

ข้อคิดเพื่อสัตว์เลี้ยง:

ไม่น่าเชื่อเลยว่า สัตว์ในมุมมืดอย่างค้างคาวจะสามารถพัฒนาจิตใจข้ามภพข้ามชาติจนได้กลายเป็นพระอรหันต์ในที่สุด แม้ว่าพระอภิธรรมจะเป็นธรรมที่ลึกซึ้งและเข้าใจได้ยาก ที่แม้แต่มนุษย์ก็ยังฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ค้างคาวก็อาศัยฟังจนคุ้นเคย เหมือนเป็นการปูพื้นฐานจิตใจเอาไว้อย่างแน่นหนา แม้พวกเขาจะติดอยู่ที่อัตภาพแห่งความเป็นสัตว์ ไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆ ได้ แต่ธรรมะก็ยังสามารถหยั่งรากลงในจิตใจของพวกเขาได้บ้าง ทำให้ใจเป็นบุญกุศลแล้วนำพาไปเกิดในสวรรค์ เหมือนเมล็ดโพธิ์ที่หยั่งรากลงผืนดินกันดารแล้วแตกยอดเป็นต้นกล้าเล็กๆ ครั้นเมื่อได้โอกาสมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ ธรรมะก็สามารถเจริญเติบโตงอกงามในใจของพวกเขาได้เต็มที่อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น  เมื่อได้ฟังพระอภิธรรมอีกครั้ง พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าใจในธรรมนั้นโดยพลัน เหมือนต้นกล้านั้นได้ถูกย้ายมาอยู่ในดินอันอุดม สามารถเติบโตผลิดอกออกมรรคผลได้โดยสะดวก

จากที่พวกเราเคยคิดว่า “ธรรมะ” ไม่ได้มีไว้สำหรับสัตว์เดรัจฉาน แต่มีไว้สำหรับสัตว์ประเสริฐอย่างมนุษย์เท่านั้น ทำให้ไม่มีใครคิดจะสอนธรรมะให้กับสัตว์เลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราสอนธรรมะให้กับสัตว์นั้น จะเป็นการปูพื้นฐานจิตใจของพวกเขาเอาไว้สำหรับภพชาติเบื้องหน้า เราไม่อาจรู้เลยว่า เมื่อเราสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน แล้วพวกเขาหมอบฟังอยู่ข้างๆ นั้น ใจของพวกเขากำลังคิดอะไรอยู่ หากเพียงแต่พวกเขารู้สึกซาบซึ้งอยู่บ้าง ก็ขอให้รู้ไว้ว่า พวกเขาอาจกำลังเป็นเหมือนค้างคาวที่ฟังพระอภิธรรม แค่ฟังไปเพลินๆ ก็มีสิทธิ์จะไปสวรรค์ ได้เกิดใหม่เป็นคน และกลายเป็นพระในอนาคตได้เหมือนกัน ขอเพียงแต่เราเปิดโอกาสให้กับพวกเขาเท่านั้นเอง

บทที่ 4

ช้างการกุศล

ช้างเป็นสัตว์อีกชนิดที่มีบทบาทมากในคำสอนของพระพุทธศาสนา แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ท่านก็เคยเกิดเป็นช้างมาก่อน และท่านก็ได้แสดงให้เห็นว่า เกิดเป็นช้างก็ทำความดีได้ สั่งสมบุญได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าของก็มีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงอย่างช้าง หรืออื่นๆ ได้ทำความดีบ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานสาธารณกุศล หรืองานบุญในพระพุทธศาสนาก็ตาม คงจะเป็นภาพที่น่ารักมาก หากเราได้เห็นช้างใช้งวงจับอาหารใส่บาตรพระ หรือจับผ้าไตรจีวรมาประเคนถวาย ใช้งวงดูดน้ำรดน้ำต้นไม้ในวัด หรือใช้แผ่นหลังกว้างๆ ของมัน อัญเชิญพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผ้าป่า หรือผ้ากฐิน เพื่อประกอบพิธีงานบุญ

เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของช้างที่ทำความดีแล้วมีชื่อเสียงโด่งดังในโลกพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ “ช้างเอราวัณ” ซึ่งชาวพุทธจะเห็นได้ว่า มีประติมากรรม รูปปั้น รูปหล่อ ของช้างเอราวัณ อยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายๆ แห่ง และความไม่เหมือนใครของช้างเอราวัณคือ เป็นช้างที่มีหลายเศียร ความเป็นมามีอยู่ว่า แต่เดิมมีชายคนหนึ่งชื่อ “มฆมานพ” (อ่านว่า มะ-คะ-มา-นพ) ชายคนนี้เป็นคนธรรมดาๆ ที่ชอบทำสาธารณกุศล เพราะในยุคนั้นยังไม่มีพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น เขาก็ทำความดีด้วยการสร้างที่พักริมทาง ทำถนนหนทาง โดยชักชวนเพื่อนๆ รวมกันได้ 33 คน มาช่วยกัน ทำไปทำมาผู้ใหญ่บ้านเกิดอิจฉา จึงไปฟ้องพระราชา กล่าวหาว่าพวกเขาเป็นโจร พระราชาจึงทำโทษด้วยการสั่งในนอนกับพื้นแล้วให้ช้างเหยียบ แต่มฆมานพกับเพื่อนๆ แผ่เมตตาให้ช้าง ช้างจึงไม่ยอมเหยียบ พระราชาสงสัยจึงสอบถาม เมื่อทราบความเป็นจริงว่าถูกปรักปรำ จึงทำโทษผู้ใหญ่บ้าน และมอบรางวัลต่างๆ ให้กับมฆมานพแทน รวมถึงมอบช้างให้ด้วย มฆมานพและเพื่อนๆ ก็อาศัยช้างนั้นทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น สร้างศาลาหลังใหญ่ขึ้นแห่งหนึ่ง แล้วใช้ช้างเป็นพาหนะพาคนเดินทางจากศาลาไปที่พัก เมื่อทุกคนหมดอายุขัยละโลกแล้ว มฆมานพได้ไปเปิดเป็นพระอินทร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งพระราชาของเทวดาแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนเพื่อนๆ ได้ไปเกิดเป็นเทพสหาย ช้างนั้นได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นเดียวกัน มีชื่อว่า “เอราวัณ” สามารถแปลงกายเป็นช้างทรงขนาดใหญ่ เพื่อให้พระอินทร์และเทพสหายใช้เป็นยานพาหนะในสวรรค์ โดยจะเนรมิตตนเองให้มีหลายเศียร เพื่อให้เทพสหายของพระอินทร์นั่งอยู่เศียรละหนึ่งองค์ แม้ทุกวันนี้ เทพบุตรเอราวัณ อดีตช้าง ก็ยังคงอยู่ในสวรรค์อย่างมีความสุข

ข้อคิดเพื่อสัตว์เลี้ยง:

จะเห็นได้ว่า หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงใช้สัตว์ของตนทำความดี เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล ก็จะได้บุญด้วยกันทั้งคู่ และมีสิทธิ์ที่จะไปสวรรค์ด้วยกัน เมื่อไปสวรรค์แล้วก็จะได้พบกันอีก เพราะทำบุญร่วมกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำบุญร่วมกันเป็นกลุ่ม ก็จะทำให้มีสายบุญเชื่อมโยงถึงกัน ได้เกิดมาพบเจอกันอีก มาเป็นญาติ เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย เป็นเจ้านายลูกน้องกันอีกในภพชาติเบื้องหน้า หลายๆ คนที่มีสัตว์เลี้ยงแสนรัก เมื่อพวกเขาละโลกไปแล้ว ก็อยากให้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิใหม่ที่ดี คงพอจะเห็นลู่ทางแล้วว่า เราสามารถเลี้ยงสัตว์ให้กลายเป็นเทวดาได้ แล้วเราก็ยังสามารถที่จะไปพบเจอพวกเขาได้อีก อย่างในกรณีของช้างเอราวัณ ในขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่ใช้แรงงานช่วยเหลือมฆมานพผู้เป็นเจ้านาย เพื่อทำงานสาธารณกุศล เมื่อตายไปแล้วได้เป็นเทวดาเหมือนเจ้านาย แต่ก็เป็นเทวดาที่คอยรับใช้พระอินทร์ โดยทำหน้าที่เป็นยานพาหนะในการเดินทาง เจ้านายใจบุญคนไหนที่มีน้องหมาคอยเฝ้าบ้าน ถ้าหากเราเปิดโอกาสให้เขาทำบุญบ้างหรืออุทิศบุญให้เขาบ้าง ดีไม่ดี ตายไปแล้วอาจเกิดเป็นเทวดา ร.ป.ภ. คอยเฝ้าวิมานของเราในสวรรค์ก็เป็นได้

บทที่ 5

น้องหมาใจหล่อ

ใครเลยจะเชื่อว่า น้องหมาแสนซนที่ชอบเห่าหอน และนอนกลางวันอย่างเรื่อยเปื่อยนั้น วันดีคืนดีก็กลายเป็นเทวดารูปงาม อยู่บนสวรรค์ไปได้เหมือนกัน แต่กว่าจะเป็นเทวดาได้ น้องหมาก็ต้องทำความดีเสียก่อน ด้วยการใช้เสียงเห่าให้เป็นประโยชน์ เห่าอย่างไรจึงจะได้บุญ ส่วนใหญ่แล้วที่เป็นไปได้ เพราะได้อยู่ใกล้พระ ใกล้วัด แล้วได้ทำตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อพระหรือวัดนั่นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเอาน้องหมา น้องแมว ไปปล่อยวัด ให้เป็นภาระของหลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ และหลวงพี่ ต้องคอยเลี้ยงดู ยกเว้นแต่ท่านจะขอมาเอง แต่เราสามารถทำบ้านของเราให้เป็นเหมือนวัด เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้มีส่วนในการทำบุญ อย่างเช่นการนิมนต์พระมาทำบุญบ้าน เป็นต้น แม้น้องหมา น้องแมวจะอยู่บ้าน เราก็ฝึกให้พวกเขาดูแลอุปัฏฐากพระได้ เพียงแค่ออกมาต้อนรับ ออกมาส่ง แค่นี้ก็ได้บุญแล้ว

ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของน้องหมาที่กลายเป็นเทวดาคือ สมัยหนึ่งมีพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าที่ไม่สอนใคร อยู่พระองค์หนึ่ง ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่บ้านของชายคนหนึ่ง ซึ่งเขาเลี้ยงน้องหมาเอาไว้ เมื่อถึงเวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าออกบิณฑบาต น้องหมาตัวนี้ก็จะติดตามไปด้วย โดยจะทำหน้าที่เป็น Security Guard หรือ ร.ป.ภ. คอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้กับท่าน ด้วยการเห่าไล่สัตว์ร้ายต่างๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในบริเวณนั้น ไม่ให้มาทำอันตรายท่านได้ น้องหมาคอยดูแลรับใช้พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอย่างดี เท่าที่มันจะทำได้ในอัตภาพแห่งความเป็นสัตว์ มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อถึงกำหนดที่พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องเสด็จจากที่นั้นไป พระองค์ก็เหาะลอยลับไปต่อหน้าน้องหมา ทำให้น้องหมาอาลัยอาวรณ์ถึงกับขาดใจตายด้วยความคิดถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เมื่อตายแล้ว เขาก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีชื่อใหม่อันไพเราะว่า “โฆษกเทวบุตร” (อ่านว่า โฆ-ษะ-กะ-เท-วะ-บุตร) เป็นเทวดาที่มีลักษณะพิเศษคือ น้ำเสียงไพเราะก้องกังวานมาก ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอานิสงส์ที่ใช้เสียงเห่าไล่สัตว์ร้ายเพื่อคุ้มครองพระปัจเจกพุทธเจ้านั่นเอง

ข้อคิดเพื่อสัตว์เลี้ยง:

แม้สัตว์เลี้ยงจะไม่มีมือสำหรับหยิบจับทัพพีตักข้าวใส่บาตร ไม่สามารถจับไม้กวาด กวาดใบไม้ในลานวัด หรือขัดล้างห้องน้ำได้ แต่พวกเขาก็ยังพอที่จะอาศัยร่างกายแห่งความเป็นสัตว์ ทำบุญเล็กๆ น้อยๆ ได้เหมือนกัน ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของก็ควรที่จะฝึกและสอนพวกเขาให้ทำสิ่งดีๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง เช่นฝึกให้ต้อนรับพระที่มาบิณฑบาต ทำความเคารพในรูปแบบที่พอจะทำได้ แสดงออกต่อพระสงฆ์อย่างเป็นมิตร พยายามอย่าให้พวกเขาเห่าไล่ หรือแสดงอากัปกิริยาที่ไม่ดีต่อพระสงฆ์ที่มาเยือนบ้าน ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะได้บาปติดตัวไป ต้องให้พวกเขารู้สึกคุ้นเคย และให้ความเคารพ หากมีพระมาบ้าน แล้วเราไม่สามารถห้ามสัตว์เลี้ยงให้แสดงออกในทางไม่ดีได้ ต้องจับพวกเขาแยกออกไปต่างหากเสียก่อน หรือนำหลบไปไว้ที่อื่น แล้วก็ต้องระมัดระวัง ถ้าไปวัด อย่าให้น้องหมาหรือน้องแมวที่เราอาจพาไปด้วยนั้น สร้างความสกปรกเลอะเทอะ หรือทำให้สมบัติของพระศาสนาเสียหาย อย่างเช่นปล่อยให้น้องหมากัดรองเท้าพระ หรือเห่าส่งเสียงรบกวนพิธีกรรม คงจะดีไม่น้อย หากสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของ จะได้ทำบุญร่วมกัน แม้ว่าสัตว์เลี้ยงจะทำได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นคาบดอกไม้สักดอกไปถวายพระ หรือกระดิกหากต้อนรับด้วยความเป็นมิตรก็ตาม

 

บทที่ 6

นกกระยางถือศีล

ขึ้นชื่อว่า “ศีล” นั้นหมายถึงความเป็นปกติของมนุษย์ อย่างเช่นศีล 5 หมายถึงมนุษย์มีปกติไม่ทำสิ่งต่างๆ ทั้ง 5 ข้อ ถ้าหากใครรักษาศีลไม่ครบ 5 ข้อ เขาก็เป็นได้แค่ “คน” ก็ขนาดคนยังรักษาศีลไม่ค่อยจะได้ แล้วสัตว์จะรักษาศีลได้อย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่สัตว์จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่ก็เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว ที่สัตว์อย่างนกกระยางสามารถรักษาศีล 5 ได้ เพราะยากที่จะทำบุญในรูปแบบอื่นๆ แล้วบุญจากการรักษาศีล ก็นำพาให้เธอไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์ เป็นโอกาสได้ทำความดีเต็มที่ แล้วก็ได้ไปเป็นนางฟ้าในที่สุด

เรื่องนกกระยางรักษาศีลนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระอินทร์โดยตรงอีกเหมือนกัน ความเป็นมามีอยู่ว่า สมัยที่พระอินทร์ยังเป็นมนุษย์ มีชื่อว่า มฆมานพนั้น ท่านมีภรรยา 4 คน (ในยุคสมัยของท่านนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้) ภรรยาสามคนแรกนั้นมีส่วนช่วยท่านในการทำสาธารณกุศล เมื่อตายไปแล้ว จึงไปเกิดเป็นมเหสีของท่านอีก ส่วนภรรยาคนที่สี่รักสวยรักงาม ชอบแต่งเนื้อแต่งตัว เธอคิดเพียงว่า บุญที่สามีทำก็เหมือนบุญที่เธอทำเอง ก็เลยไม่ได้ทำบุญอะไรด้วยตัวเองเลย แต่ก็ไม่ได้ทำบาปหนักๆ เหมือนกัน เมื่อตายไปแล้ว คนอื่นๆ ไปเกิดเป็นเทวดานางฟ้า แต่ตัวเธอไปเกิดเป็นนกกระยาง ต้องคอยหาปลามากิน มีอยู่วันหนึ่งพระอินทร์สงสัยว่าภรรยาคนที่ 4 ไปเกิดอยู่ที่ไหน เมื่อตรวจดูก็พบว่ามาเกิดเป็นนกกระยาง ท่านจึงลงมาเยี่ยม พร้อมกับพาไปชมสวรรค์ เมื่อไปที่นั่นนกกระยางก็รู้สึกอับอายเมื่อได้เห็นอดีตภรรยาอีก 3 คนเป็นนางฟ้าผู้งดงาม นกกระยางจึงขอกลับมายังโลกมนุษย์ พระอินทร์จึงปลอบใจบอกนางว่า ให้เธอรักษาศีล 5 ให้ได้ โดยห้ามมิให้กินปลาที่มีชีวิตเป็นอาหาร ให้กินเฉพาะปลาที่ตายแล้วเท่านั้น แล้วบุญจะส่งให้เธอไปเกิดในสวรรค์ ซึ่งนกกระยางก็รับปาก ต่อมาไม่นาน เธอก็เสียชีวิตเพราะหาปลาตายมากินไม่ค่อยจะได้ เมื่อตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ มีโอกาสทำบุญทำกุศลมากกว่าเดิม เมื่อเสียชีวิตแล้วก็ไปเกิดเป็นเทพธิดา และต่อมาพระอินทร์ก็มารับไปเป็นภรรยา ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอีกครั้งบนสรวงสวรรค์

ข้อคิดเพื่อสัตว์เลี้ยง:

การรักษาศีลนั้น เป็นบุญที่มากกว่าการทำทาน เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ขนาดมนุษย์ทั่วๆ ไปยังรักษาศีลไม่ค่อยจะได้ สำหรับสัตว์ก็ยังถือว่ายากมาก แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่ทำได้ เพราะนกกระยางก็ได้ทำให้ดูแล้วเป็นแบบอย่าง ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง หากมีความปรารถนาให้สัตว์เลี้ยงได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ได้เกิดเป็นคน เป็นเทวดาในวันข้างหน้า ต้องพยายามเลี้ยงดูพวกเขา โดยไม่ปล่อยให้เขาทำบาปทำกรรม อย่าให้ทำผิดศีล เช่น อย่าปล่อยให้น้องหมา น้องแมว มีสามีภรรยาหลายตัว ต้องคอยควบคุมดูแลเอาไว้ แล้วก็อย่าปล่อยให้เขาทำบาป เช่น อย่าให้น้องแมว ไปกัดนก กัดหนู หรือจิ้งจก อย่าให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาด อย่าให้มีจิ้งจก หนู แมลงสาบ เลี้ยงปลา ก็อย่าให้ลูกน้ำหรือสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร ควรให้อาหารเม็ด จะได้ไม่ต้องบาปทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง เวลาเลี้ยงอาหาร ถ้ามีหลายตัว ก็แบ่งให้พอดีๆ แยกส่วน แยกสถานที่ให้ดี อย่าให้พวกเขาขโมยแย่งอาหารของกันและกัน สำหรับเจ้าของที่เอาไวน์ เบียร์ หรือสุรา ให้น้องหมา หรือสัตว์เลี้ยงรับประทาน ก็ควรเลิกดื่ม ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง แต่เปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์อย่างเช่นนม น้ำผัก น้ำผลไม้ หรือน้ำเอ็นไซม์ ที่ดีต่อสุขภาพเป็นต้น แล้วเราก็ต้องหมั่นพูดคุย บอกสอนให้พวกเขารักษาศีลทั้ง 5 ข้อ เหมือนพระอินทร์ที่บอกนางนกกระยาง เพียงแต่การบอกการสอนสัตว์นั้น ไม่เหมือนมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องท่องให้ฟังเป็นภาษาบาลี ว่าเป็นข้อๆ แต่ให้บอกอย่างง่ายๆ เหมือนเราพูดกับเด็กทารก เราก็พูดภาษาของเด็ก เราพูดกับสัตว์เลี้ยง เราก็ต้องมีวิธีการที่จะทำให้สัตว์เข้าใจและจดจำ เช่นเดียวกับการสอนพวกเขา ว่าให้อึตรงไหน ฉี่ตรงไหน ฝึกสอนไปเรื่อยๆ แล้วพวกเขาจะเข้าใจและจดจำได้เอง ว่าอย่างไหนที่เจ้านายชอบหรือไม่ชอบให้ทำ

บทที่ 7

ช้างเกเร

เชื่อไหมว่า คนที่ดูละครกับคนที่ดูสารคดีนั้น มีความคิดอ่านและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ในขณะที่ละครมักมีแต่เรื่องรักโลภโกรธหลงและใช้อารมณ์หลากรสเพื่อสร้างสีสัน ให้สุข ให้เศร้า สนุก หรือเกลียดชัง คนที่ดูละครบ่อยๆ ก็จะซึมซับวิธีการคิด การพูด และการแสดงออกเป็นการกระทำ จากตัวละครนั้นอย่างไม่รู้ตัว แล้วเผลอแสดงออกมาในชีวิตประจำวัน ส่วนคนที่ดูสารคดีจะเรียนรู้การนำเสนออย่างมีเหตุผล การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และใช้ปัญญาพิจารณามากกว่าใช้อารมณ์ สัตว์เลี้ยงก็ไม่ต่างจากคนมากนัก เพราะสัตว์ก็เคยเกิดเป็นคนมาก่อน สัตว์เลี้ยงที่เรียนรู้พฤติกรรมแย่ๆ ผ่านเจ้าของ และสิ่งที่อยู่แวดล้อม ก็มีแนวโน้มที่จะแสดงออกในทางที่ไม่ดี หรือมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบไปด้วย อย่างเช่น ถ้าหากเจ้าของรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา อยากกินก็กิน ไม่อยากกินก็ไม่กิน หรือหลับนอนไม่เป็นเวลา สัตว์เลี้ยงก็จะพลอยเป็นไปด้วย เพราะมันก็ใช้ชีวิตตามอย่างเจ้าของ เพราะฉะนั้นหากเราสงสัยว่าทำไมสัตว์เลี้ยงของเราถึงมีอุปนิสัยที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์บางอย่าง ก็ขอให้รู้ไว้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

เรื่องของช้างเกเร เป็นตัวอย่างที่ดีมากเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของสัตว์ ในสมัยหนึ่ง มีพระราชาซึ่งโปรดปรานช้างมงคลของพระองค์มาก ช้างมงคลก็หมายถึงช้างที่มีลักษณะดี ถือว่าเป็นช้างนำโชค ที่จะนำสิ่งดีงามมาให้กับเจ้าของ พระองค์ก็ดูแลและเลี้ยงช้างตัวนี้เป็นอย่างดี ภายในโรงเลี้ยงช้าง โดยมีนายควาญช้าง คอยอาบน้ำทำความสะอาด และให้อาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ อาจเรียกได้ว่า อยู่สุขสบายกว่าคนทั่วไปเสียอีก แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ช้างที่เคยเรียบร้อยสุภาพ ก็กลับกลายเป็นช้างที่ดุร้าย คอยอาละวาดทำร้ายผู้อื่น พระราชาทรงแปลกใจมาก ว่าทำไมอยู่ดีๆ ช้างของพระองค์จึงมีนิสัยแย่ลง จึงทรงปรึกษาเรื่องนี้กับบัณฑิตประจำพระราชสำนัก เมื่อบัณฑิตได้ทราบเรื่องแล้ว เขาก็ไม่ได้ด่วนสรุป แต่ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเสียก่อน โดยไปสังเกตดูความเป็นอยู่ของช้างที่โรงช้างตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน และพบว่าในตอนกลางคืนนั้น จะมีพวกมิจฉาชีพมาจับกลุ่มคุยกันอยู่หลังโรงช้าง ชอบคุยกันแต่เรื่องที่ไม่ดี เรื่องราวของความโหดเหี้ยมและสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาทำมา บัณฑิตจึงไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ ว่าช้างมีอุปนิสัยเปลี่ยนไป เพราะได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่ไม่ดีไม่งามจากกลุ่มมิจฉาชีพ จากนั้นจึงดำเนินการแก้ไข ด้วยการไล่คนเหล่านี้ออกไปเสียจากที่นั้น แล้วสั่งให้บัณฑิตนักปราชญ์มาจับกลุ่มเสวนา นำเสนอแต่เรื่องดีๆ อยู่ที่หลังโรงช้าง ในเวลาไม่นานนักหลังจากนั้น ช้างมงคลก็กลับกลายเป็นช้างที่สุภาพ เรียบร้อยน่ารักเหมือนเดิม

ข้อคิดเพื่อสัตว์เลี้ยง:

สิ่งแวดล้อม ถือว่ามีอิทธิพลต่อสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมาก เพราะจะก่อให้เกิดเป็นนิสัยและพฤติกรรมทั้งในทางดีและในทางเสีย โดยที่เจ้าของอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เราจึงต้องหมั่นสังเกตดูพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง ว่าเพราะเหตุใดจึงแสดงออกมาในทางที่ไม่ดี เกรี้ยวกราด เครียด ดุร้าย ขี้โมโห ขี้หงุดหงิด ทำร้ายเจ้าของ หรือถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง เป็นต้น จากนั้นจึงหาวิธีแก้ไข โดยอาจปรึกษากับสัตวแพทย์ หรือผู้ที่ชำนาญในการฝึกสอนสัตว์เลี้ยง แต่โดยเบื้องต้นแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของ ควรจัดสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสัตว์เลี้ยง ให้มีที่หลับนอนที่สะอาดเรียบร้อย เป็นสัดส่วน มีที่ขับถ่าย มีที่เดินหรือวิ่งออกกำลังกาย ไม่ถูกล่ามโซ่หรือจับขังในกรงตลอดเวลา และคอยดูแลอาหารว่ารับประทานแล้วจะไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ดูแลสุขภาพและสุขลักษณะอย่างดีเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะตัวเจ้าของเอง ถือว่ามีอิทธิพลต่อสัตว์เลี้ยงมาก เพราะถ้าหากเจ้าของขี้โกรธ ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ ดุร้าย เปิดดูรายการโทรทัศน์ หรือวิทยุ ที่มีแต่เรื่องราวของการใช้ความรุนแรง มีดนตรีที่ดุดัน ให้น้องหมาและน้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ดูบ่อยๆ พฤติกรรมของพวกเขาก็อาจเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เหมือนกับช้างมงคลของพระราชา ที่กลายเป็นช้างเกเร เพราะฟังพวกโจรคุยแต่เรื่องร้ายๆ อยู่บ่อยๆ เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เราต้องรู้จักไตร่ตรอง พิจารณาดูสิ่งแวดล้อมของพวกเขา ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ แล้วลองแก้ไข หรือนำไปปรึกษากับสัตวแพทย์ เพื่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติม ในบางกรณี อาการดังกล่าวอาจเป็นมาตั้งแต่สัตว์เลี้ยงนั้นเกิด แต่เจ้าของที่ซื้อสัตว์เลี้ยงนั้นมาไม่ทราบ หรืออาการและนิสัยบางอย่างก็เป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงชนิดนั้น หรือสายพันธุ์นั้น ซึ่งผู้เป็นเจ้าของควรศึกษาให้ดีเสียก่อนที่จะนำมาเลี้ยง อย่าคิดเพียงว่าจะเลี้ยงเพราะความสวยงาม ความน่ารัก หรือถูกใจเท่านั้น

บทที่ 8

กระแตพระโพธิสัตว์

ในโลกของเรานี้ มีสัตว์อยู่จำนวนมากมายมหาศาลยิ่งกว่าประชากรมนุษย์เสียอีก ลองคิดดูว่าในบ้านของเรานี้ มีมนุษย์อยู่กี่คน แล้วมีสัตว์อยู่จำนวนเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ หรือแม้แต่กระทั่งแมลงตัวน้อยๆ สัตว์ทั้งหลายล้วนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นน้องหมาที่ขี้เล่น ส่วนน้องแมวขี้อ้อน บางครั้งเราเห็นมันแสดงอาการแปลกๆ ก็ยากที่จะคิดออกว่ามันกำลังทำอะไรกันแน่ ยิ่งไปกว่านี้ หากเราได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะพบว่าสัตว์บางตัวนั้น เป็นสัตว์ประเสริฐ ที่เรียกกันว่า “พระโพธิสัตว์” หมายถึงผู้ที่ตั้งใจบำเพ็ญตนสั่งสมความดีเพื่อให้ได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางครั้งพระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นลิง วัว ช้าง ม้า นก หรือแม้แต่สัตว์ตัวเล็กๆ อย่างกระแต ตามแต่กรรมจะบันดาลไป แต่สิ่งที่ทำให้สัตว์ที่เป็นพระโพธิสัตว์แตกต่างจากสัตว์ทั่วๆ ไป ก็คือ สัตว์ที่เป็นพระโพธิสัตว์นั้นมีจิตสำนึกในการสร้างความดี ใครจะรู้เลยว่า น้องหมา น้องแมว น้องนก น้องช้าง หรือน้องปลาที่เราเลี้ยงไว้ อาจจะเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้

เป็นเรื่องคาดไม่ถึง หากเราจะกล่าวว่า เคยมีกระแตตัวหนึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วกระแตตัวนั้นก็ได้พัฒนาตนข้ามภพข้ามชาติจนได้บรรลุธรรมกลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด เรื่องราวมีอยู่ว่า สมัยหนึ่งมีกระแตตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในรังกับครอบครัว กระแตตัวนี้เป็นพระโพธิสัตว์มาเกิด อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีฝนตกหนัก น้ำได้พัดพาเอารังของกระแตไหลลงสู่ทะเล ที่โชคร้ายก็คือ ลูกกระแตนั้นติดอยู่ในรัง เมื่อกระแตพระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น แทนที่จะตัดสินใจไปหารังสร้างครอบครัวใหม่ ปล่อยลูกกระแตไปตามยถากรรม มันกลับมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ไม่ธรรมดา เพราะคิดหาทางที่จะช่วยลูกให้ได้ จึงนำเอาหางของมันจุ่มลงไปในน้ำทะเลที่ริมฝั่ง แล้วยกหางขึ้นเพื่อสะบัดน้ำออก ด้วยหวังว่าจะวิดน้ำทะเลจนแห้งแล้วลงไปช่วยลูกที่ติดอยู่ในรัง กระแตพระโพธิสัตว์ทำอยู่เช่นนี้ถึง 7 วันเต็มๆ แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าน้ำทะเลจะงวดแห้งลงเลย พระอินทร์มองลงมาจากสวรรค์ เห็นกระแตพระโพธิสัตว์ทำเช่นนั้นจึงลงมาหากระแตแล้วห้ามปรามว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่กระแตพระโพธิสัตว์กลับไล่พระอินทร์ให้ออกไปจากที่นั้น พร้อมกับบอกว่าไม่อยากเจรจากับคนเกียจคร้านอย่างท่าน ว่าแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้หางวิดน้ำทะเลต่อไป พระอินทร์เห็นแล้วทนไม่ได้ จึงเหาะไปในทะเลแล้วนำลูกน้อยของกระแตพระโพธิสัตว์มาส่งคืน ในที่สุด กระแตพระโพธิสัตว์จึงได้พบกับลูกน้อยอีกครั้ง สมดังปรารถนา

ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า คุณพ่อกระแตตัวนี้ได้บุญบารมีตรงไหนกัน เพราะสิ่งที่เขาทำก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเสียด้วยซ้ำไป ออกจะดูน่าขำขันหรือไร้สาระ แต่พระไตรปิฎกกลับสรุปว่าการที่คุณพ่อกระแตทำเช่นนี้ เป็นการสั่งสม “วิริยะบารมี” ซึ่งเป็นหนึ่งในบารมีสิบทัศที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ต้องสั่งสมให้เต็มเปี่ยม มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย การวิดน้ำทะเลด้วยหางของคุณพ่อกระแตอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น มุ่งหมายเพื่อจะช่วยชีวิตของลูกน้อย และดวงจิตของท่านก็เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นพากเพียรในการทำสิ่งดีงาม แม้รูปกายภายนอกจะเป็นเพียงสัตว์โลกตัวเล็กๆ ก็ตาม แต่ใจของคุณพ่อกระแตนั้นยิ่งใหญ่ พลังใจนี้เองที่ถูกเก็บสั่งสมอยู่ในดวงจิตของท่าน และเป็นเหมือนกับแบตเตอรี่ที่ถูกชาร์จพลังกระแสไฟเข้าไปเก็บไว้เรื่อยๆ จนกว่าจะเต็ม ถ้าหากคุณพ่อกระแตทำตัวเหมือนสัตว์ทั่วๆ ไป คือปล่อยลูกน้อยไปตามกรรมแล้วได้แต่เสียใจ ใจก็ไม่เกิดพลังใดๆ ขึ้นมาเลย ในทางตรงกันข้าม จิตใจจะอยู่ในสภาพเศร้าสร้อย เสียใจ อาลัยอาวรณ์ เป็นใจที่อ่อนแอเสียด้วยซ้ำ เรื่องราวนี้จึงแสดงให้เห็นว่า “ใจ” เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ส่วนรูปกายภายนอกนั้นก็มีส่วนสำคัญ แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอันดับรองลงมา เพราะฉะนั้น เราไม่ควรมองเห็นสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงแค่ของเล่นแก้เหงา หรือเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ด้อยกว่าเราเสมอไป เพราะแท้จริงแล้ว เขาอาจกลายเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้าก็เป็นได้

ธรรมะสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง

ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ตลอด 45 ปีแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นมีมากถึง 84,000 หมวดหมู่ (พระธรรมขันธ์) ครอบคลุมเนื้อหามากมาย ตั้งแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างเรื่องของการแปรงฟันไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างกำเนิดจักรวาล ส่วนเรื่องของการดูแลสัตว์เลี้ยงนั้น เราก็สามารถที่จะหยิบยกธรรมะง่ายๆ บางหมวดหมู่มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยง และตัวสัตว์เลี้ยงเอง ซึ่งโดยเบื้องต้นในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง (ก) พรหมวิหาร 4 (ข) สังคหวัตถุ 4 และ (ค) ปฏิรูปเทส 4

() พรหมวิหาร 4 = เมตตา + กรุณา + มุทิตา + อุเบกขา

เจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรเริ่มต้นจากการดูแลใจของตัวเอง ให้มีคุณภาพดี ใจที่มีคุณภาพดี ก็คือใจที่มีคุณธรรมนั่นเอง คุณธรรมเบื้องต้นสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงคือ พรหมวิหาร 4 เป็นการเตรียมใจให้พร้อมต่อการพบกับสัตว์เลี้ยงที่ส่วนใหญ่มักใช้สัญชาติญาณในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภูมิที่ด้อยกว่ามนุษย์ ทั้งในแง่สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ คุณธรรม เราต้องเตรียมใจพร้อมไว้ก่อนเลยว่า สัตว์นั้นอาจจะพูดไม่รู้เรื่องเหมือนมนุษย์ และอาจแสดงออกไปตามอารมณ์อย่างที่คาดเดาไม่ได้ บางทีอาจทำในสิ่งที่ขัดใจเรา สร้างความเสียหาย สกปรกเลอะเทอะ หรือแม้แต่ทำร้ายเราก็เป็นไปได้

เจ้าของควรตั้งจิตให้มีเมตตาอยู่เสมอ คือมีความรักและความปรารถนาดี อยากให้สัตว์เลี้ยงอยู่เป็นสุข และพร้อมที่จะอภัยให้พวกเขาเสมอ ไม่ผูกโกรธ ผูกแค้นต่อพวกเขา มีความกรุณา อยากช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้น มีมุทิตา เมื่อพวกเขามีความสุข เราก็มีความยินดี พลอยสุขใจไปด้วย และมีอุเบกขาคือ เมื่อเราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเขาให้เป็นไปในทางที่ดีได้ ทั้งๆ ที่พยายามด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว เราก็ต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่โมโหโกรธเคือง เดือดเนื้อร้อนใจหรือทุกข์ใจไปด้วย หรือถ้าหากพวกเขาเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายไป เราก็ต้องรู้จักปลงเช่นกัน ว่าเป็นธรรมดาของชีวิต และไม่เสียใจเศร้าโศกใดๆ เพราะเราได้เลี้ยงดูและรักษาพวกเขาอย่างดีที่สุดแล้ว

() สังคหวัตถุ 4 = ทาน + ปิยวาจา + อัตถจริยา + สมานัตตา

เมื่อเรามีพรหมวิหาร 4 ซึ่ง เป็นการทำดีต่อสัตว์เลี้ยงด้วยจิตใจแล้ว เราก็สามารถแสดงออกมาเป็นคำพูด และการกระทำที่ดีงามด้วย เราเรียกธรรมหมวดนี้ว่า “สังคหวัตถุ” หมายถึงความประพฤติที่เป็นการสงเคราะห์ต่อสัตว์เลี้ยงทั้ง 4 ประการ ได้แก่ ทาน คือการให้ การแบ่งปัน ให้อาหาร ให้ข้าว ให้น้ำ ให้ยารักษาโรค ให้สิ่งต่างๆ อันสมควรต่อการดำรงชีวิตอย่างสะดวกปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงของเรา เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดี โดยการให้นี้ต้องไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น คือไม่ให้เกินกำลัง ไม่สิ้นเปลืองจนเกินไป ต้องให้อย่างสมเหตุสมผล เพราะเราต้องแบ่งสรรปันส่วนเอาไว้เลี้ยงดูบิดามารดา และสมาชิกครอบครัว ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า นอกจากนี้เราต้องให้ “อภัยทาน” แก่พวกเขาด้วย โดยไม่ทำร้าย หรือฆ่าพวกเขา ไม่ว่าจะลงมือทำด้วยตนเอง หรือใช้ให้คนอื่นทำ ส่วนปิยวาจา คือการสื่อสารกับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือภาษากิริยาท่าทาง ต้องสื่อออกมาจากใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา พูดและสอนพวกเขาอย่างปรารถนาดี ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง และไม่พูดโกหกหลอกลวงหรือกลั่นแกล้งพวกเขา เพราะไม่ว่าพวกเขาจะฟังรู้เรื่องหรือไม่ก็ตาม ตัวเรานั่นเองที่ได้รับบาปก่อนใคร เพราะคำพูดออกมาจากจิตที่เป็นอกุศล ไม่บริสุทธิ์ใจ ข้อต่อไปคือ อัตถจริยา คำช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เลี้ยงผ่านการกระทำต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา เท่าที่เราจะทำได้ เช่นพาไปพบสัตวแพทย์ยามเจ็บป่วย หรือช่วยรักษาพยาบาลเท่าที่จะทำได้ หากเป็นสัตว์ใช้งาน ก็ใช้งานแต่พอดี ไม่ปล่อยให้ทำงานหนักเกินไป ตกทุกข์ได้ยากอย่างไรก็ไม่นิ่งดูดาย ให้คอยช่วยเหลือ ข้อสุดท้ายคือ สมานัตตา คือประพฤติต่อพวกเขาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ตลอดช่วงระยะเวลาที่พวกเขาอยู่ในการดูแลของเรา ไม่ใช่ว่าตอนเล็กๆ ดูน่ารัก ก็ดูแลเป็นอย่างดี พอแก่ตัว ดูไม่น่ารักหรือใช้งานไม่ได้ ก็เลี้ยงอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ เป็นต้น     

() ปฏิรูปเทส 4 = คนเป็นที่สบาย + อาหารเป็นที่สบาย + สถานที่เป็นที่สบาย + ธรรมะเป็นที่สบาย

ธรรมะอีกหมวดที่สำคัญสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง คือปฏิรูปเทส หมายถึงการบริหารจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ซึ่งปกติแล้วธรรมะหมวดนี้ใช้สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรม แต่เราก็อนุโลมนำมาประยุกต์ใช้กับสัตว์เลี้ยงได้เช่นกัน เริ่มจากคนเป็นที่สบาย คือให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในความดูแลของคนที่ไม่เป็นโทษเป็นภัยไม่ทำร้ายพวกเขา อย่างน้อยๆ ก็ควรเป็นคนที่รักสัตว์บ้าง และมีความพร้อมในด้านต่างๆ ที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี ถ้าหากเราจะยกสัตว์เลี้ยงหรือลูกของสัตว์เลี้ยงให้กับคนอื่น ก็ต้องพิจารณาข้อนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ข้อต่อไปคือ อาหารเป็นที่สบาย คือมีความเหมาะสม เหมาะต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ไม่จำเป็นต้องอร่อย หรือถูกใจพวกเขาเสมอไป คือเราก็ไม่ต้องตามใจปากของพวกเขา แต่ต้องดีต่อสุขภาพ ไม่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากเกินไป ปริมาณอาหารไม่มากไม่น้อยเกินไป และควรให้ทานอาหารเป็นเวลา สถานที่เป็นที่สบาย หมายถึง สัตว์เลี้ยงควรมีที่อยู่ ที่กิน ที่ขับถ่าย อันเหมาะสม สะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัย ต่อทั้งตัวสัตว์เลี้ยงเอง และผู้อื่น เลี้ยงเอาไว้ในที่อันสมควร ถ้าจำเป็นต้องกักขังสัตว์นั้น ก็ต้องพิจารณาถึงบาปบุญคุณโทษด้วย เพราะเจ้าของอาจได้รับกรรมต้องถูกกักบริเวณเอาบ้าง ควรมีสถานที่กว้างขวางพอให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างมีอิสระพอสมควรตามประสาสัตว์ ที่ต้องวิ่ง ต้องกระโดด ส่วนธรรมะเป็นที่สบาย ในที่นี้อาจหมายถึง การที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับการฝึกสอนในเรื่องต่างๆ บ้าง เช่นการขับถ่าย การรู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ทะเลาะกัน ไม่แย่งอาหารกัน สอนให้พวกเขาได้รู้ว่า เมื่อทำดี ทำถูกต้อง ก็จะได้รับรางวัล ได้รับการชื่นชม เมื่อทำผิด ทำไม่ถูกต้อง ก็จะถูกทำโทษ โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยง อาจจะศึกษาวิธีฝึกสอนสัตว์เลี้ยงจากสัตวแพทย์ หรือศึกษาจากเว็บไซท์ต่างๆ ที่ยิ่งไปกว่านี้ ธรรมะเป็นที่สบาย ยังหมายถึงการที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถนำธรรมะมาหล่อเลี้ยงใจของสัตว์เลี้ยงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำความดี มีจิตเป็นบุญกุศล ตามแต่อัตภาพจะเอื้อเฟื้อ ดังเทคนิควิธีการที่ได้กล่าวมาแล้วในบทต้นๆ

จากใจสู่ใจ

จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยง สามารถแสดงออกทางกาย วาจา และใจ ได้อย่างไร เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรัก ความเมตตา ปรารถนาดี ที่มีต่อพวกเขา ส่วนเทคนิควิธีการพิเศษสุด ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนสามารถทำได้ก็คือ “การทำสมาธิ” เพื่อแผ่เมตตา (ในกรณีที่สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่) หรือแผ่ส่วนบุญ(ในกรณีที่เสียชีวิตแล้ว) เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีความสุข วิธีการนี้ เป็นการสื่อจาก “ใจ” ของเรา สู่ “ใจ” ของพวกเขาโดยตรง ราวกับระบบบลูทูธ (Bluetooth)

เริ่มจากทำใจให้เป็นสมาธิ มีจิตตั้งมั่น ตั้งใจให้เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา ปรารถนาดี นึกถึงบุญกุศลคุณงามความดีที่เราทำมาจนกระทั่งใจเบิกบานสดใสเป็นสุข แล้วจึงนึกเผื่อแผ่ให้กับสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ปรารถนาให้พวกเขาสุขกาย สบายใจ ไม่มีทุกข์ โศก โรค ภัย เปรียบเสมือนเราเป็นสถานี ที่ส่งคลื่นกระแสแห่งความรักความเมตตาปรารถนาดี ไปสู่ดวงใจของสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ใจของพวกเขาก็จะซึมซับได้โดยอัตโนมัติ สามารถช่วยปรับปรุงพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงที่ดุร้าย เกรี้ยวกราด เจ้าอารมณ์ ให้มีจิตใจที่สดใส และอารมณ์ดีมากกว่าเดิม

ก่อนอื่นคุณเจ้าของควรอยู่ในท่านั่งท่าใดก็ได้ที่สบาย จะนั่งบนเก้าอี้ บนเตียง บนโซฟา หรือบนพื้น นั่งขัดสมาธิหรือนั่งห้อยเท้าก็ได้ หายใจเข้าออกลึกๆ สัก 3 – 7 ครั้ง ผ่อนคลายทั้งร่างกาย แล้วค่อยๆ หลับตาเบาๆ ทำใจราวกับว่าเรากำลังจะนอนหลับ ปล่อยวางทุกสิ่ง ทุกเรื่องราว นึกถึงพระจันทร์เต็มดวง นวลสว่างลอยอยู่ในกลางท้องเพื่อแทนดวงใจอันงดงามของเราเอง นึกเท่าที่นึกได้ จะชัดหรือไม่ชัดก็ไม่เป็นไร ถ้านึกแล้วรู้สึกตึงหรือเครียด หรือนึกไม่ออก ก็ไม่ต้องนึกก็ได้ เพราะการนึกมโนภาพขึ้นมานี้ก็เพียงเพื่อให้ใจมีที่ยึดเกาะจรดจ่ออย่างสงบ และป้องกันความฟุ้งซ่านที่มาในรูปแบบของภาพความคิด คล้ายกับตอนที่ครูให้เราเลี้ยงผลึกสารส้ม เราก็ต้องหย่อนเส้นด้ายที่ผูกชิ้นสารส้มเล็กๆ เอาไว้ที่ปลาย ลงไปในน้ำเพื่อให้ผลึกมายึดเกาะและพัฒนาเป็นก้อนผลึกที่สวยงาม ไม่อย่างนั้นผลึกก็จะเกาะตัวกระจัดกระจายไปทั่ว จากนั้นจึงท่องคำภาวนาในใจ จะท่องคำว่า “สัมมา อะระหัง” “พุทโธ” “นะมะพะทะ” หรือคำอื่นๆ ที่เป็นคำดีงาม อย่าง “สงบสบาย” หรือ “สว่างหนอๆๆ” ก็ได้ ท่องไปสักหนึ่งร้อยครั้ง หรือมากกว่านี้ เพื่อให้ใจสงบเป็นสมาธิ พ้นจากความฟุ้งซ่านในรูปของเสียงความคิด

เมื่อใจนิ่งสงบดีแล้ว ถ้าเรานึกภาพดวงจันทร์กระจ่างสว่างเย็นได้ ก็ให้จินตนาการว่า ดวงจันทร์นั้นแทนดวงใจของเราที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา ปรารถนาดี แล้วค่อยๆ แผ่ความสว่าง คือแสงแห่งความเมตตาปรารถนาดีนั้นครอบคลุมตัวสัตว์เลี้ยงทั้งหลายที่อาจจะนอนหมอบอยู่ใกล้ๆ หรือแม้จะอยู่ต่างห้องต่างที่ก็ตาม หรือจะนึกภาพสัตว์เลี้ยงของเราเอาไว้ในกลางดวงสว่างที่ลอยอยู่กลางท้องเรานั้นก็ได้ตามแต่ถนัด แต่ถ้าเรานึกภาพดวงจันทร์ไม่ออก ก็เพียงแค่ทำความรู้สึกขึ้นมา คือต้อง build อารมณ์แห่งความสุข ความรัก ความเมตตาขึ้นมา ให้ใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตาปรารถนาดี แล้วแผ่ขยายความรู้สึกนั้นออกไป เหมือนพระจันทร์ที่แผ่รัศมีความสว่างนวลๆ ไปทั่วท้องฟ้า แล้วนึกในใจขอให้พวกเขามีความสุขกายสบายใจ ปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ขอบคุณพวกเขาที่รักและซื่อสัตย์กับเรา พร้อมทั้งอโหสิกรรมให้กับเขาถ้าหากได้เคยล่วงเกินกัน สำหรับสัตว์ที่เสียชีวิตไปแล้ว เราก็นึกอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ทำเช่นนี้สักพัก ไม่เกิน 5 – 10 นาที ทำเป็นประจำทุกวัน ในตอนเช้าหลังจากตื่น และก่อนเข้านอน แล้วคุณจะพบว่าสัตว์เลี้ยงของคุณมีความสุขมากขึ้น และที่สำคัญคือ ตัวคุณเองก็มีความสุขมากยิ่งขึ้นด้วย

จบเล่ม

พระพุทธศาสนาสอนให้เรารู้ว่า ในโลกใบนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยแรงกรรม แรงบุญ และแรงบาปที่เราต่างได้เคยทำเอาไว้ สัตว์เลี้ยงที่เป็นที่รักของเราในวันนี้ อาจจะเคยเกิดเป็นเพื่อน เป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นคนคุ้นเคยกันมาก่อน เราถึงรักและห่วงใยพวกเขา หรือเกิดมาเจอกับพวกเขา เราจึงควรดูแลเอาใจใส่พวกเขาเป็นอย่างดี อย่าคิดว่าพวกเขาเป็นสัตว์แล้วเราเป็นเจ้าของ เราจะทำอย่างไรก็ได้ เพราะแท้จริงแล้ว กายภายนอกของพวกเขาเป็นสัตว์ แต่กายภายใน หรือวิญญาณของพวกเขานั้นเป็นคน เพียงแต่พวกเขากำลังเสวยวิบากกรรม ต้องมามีรูปกายภายนอกที่เป็นสัตว์ เมื่อเราตัดสินใจที่จะเลี้ยงสัตว์ เราต้องมั่นใจว่า เลี้ยงแล้วจะไม่เป็นบาปเป็นกรรม มิฉะนั้นภพชาติหน้าเราอาจต้องเกิดมาเป็นสัตว์ให้เขาทำทารุณกรรมบ้างก็เป็นได้ ที่สำคัญคือพระพุทธศาสนาสอนเราว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำอย่างไรได้อย่างนั้น ไม่ว่าจะทำกับคนหรือสัตว์ก็ตาม เราทำกับสัตว์อย่างไร สักวันหนึ่งกรรมนั้น ไม่ว่าดี หรือชั่ว ก็ต้องตอบสนองกลับมา ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ใครเลยจะรู้ได้ว่า หากเราดูแลน้องหมา น้องแมวเป็นอย่างดี ให้ความรัก ความอบอุ่น ความปรารถนาดี คอยฝึกสอน แผ่เมตตา และหาวิธีให้พวกเขาได้บุญติดตัวไปบ้าง สักวัน เขาอาจได้เกิดเป็นคน แล้วกลับมาดูแลเราเป็นอย่างดี ด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ และจริงใจได้เช่นกัน

 

เกี่ยวกับผู้แต่ง

Pittaya Wong เป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่เด็ก สัตว์เลี้ยงที่เขาชื่นชอบก็คือปลา โดยเฉพาะปลาทองตัวอ้วนปุ๊กลุ๊ก ที่ว่ายน้ำสยายครีบและหางพริ้วไปมาฝ่าฟองอ็อกซิเจน และปลาคาร์พสีสันสดสวย แหวกว่ายอยู่ในน้ำด้วยท่วงท่าที่สง่างาม เขาพยายามทำตู้ปลาและบ่อปลาให้น่าอยู่และสะอาด เพื่อให้ปลาทุกตัวอยู่อย่างมีความสุข แต่สุดท้ายปลาก็ตายกันหมด ด้วยโรคภัยไข้เจ็บบ้าง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเขา บ้าง สัตว์เลี้ยงอันดับรองลงมาที่เขาได้ใกล้ชิด ก็คือน้องหมาโดยเฉพาะเจ้า “มารวย” ชิทสุตาบอด ที่เขา โปรดปราน เพราะมันดูตลก น่ารัก และน่าสงสารในเวลาเดียวกัน ซึ่งเขาก็แกล้งมันเป็นประจำ โดยจับมาอุ้มให้นอนหงายแล้วแกว่งไปมาเหมือนเด็กอ่อน จนมันถอนหายใจดังๆ อย่างรำคาญ นอกจากนี้ยังมี “เจ้าซน” “ซูกัส” “ป๊อปปี้” “หมีดำ” “หมีแดง” “พารวย” “น้องหมี” และ “ซูซี่” ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขาในฐานะ “เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย” ต่อเมื่อเขาได้ศึกษาธรรมะมากขึ้น ก็รู้ว่าแม้เราจะทำกับสัตว์เลี้ยงด้วยความรักความเอ็นดู แต่หลายๆ อย่างก็ดูเหมือนจะเป็นกรรมที่ล่วงเกินต่อเกินและกัน จึงขอแต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่ออุทิศบุญกุศลทั้งปวงให้กับครูบาอาจารย์ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมถึงญาติมิตร ผู้มีพระคุณ และสัตว์เลี้ยงทั้งหลายที่ เขาเคยเลี้ยง ด้วยหวังว่าสัตว์เหล่านี้จะมีความสุขมากขึ้น มีทุกข์น้อยลง แล้วสักวัน พวกเขาอาจได้เกิดเป็นคน เป็นเทวดา เป็นนางฟ้า ได้สั่งสมบุญ ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพิ่มเติม จนกระทั่งพ้นจากวังวนของวัฏสงสารไปด้วยกัน หรืออาจจะมีสักตัว ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ผู้นำแสงสว่างมาสู่โลกนี้ก็เป็นได้...

ร่วมบริจาค

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่รักและสงสารสัตว์ มีความปรารถนาที่จะช่วยให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยมากขึ้น ท่านสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือสัตว์ผ่าน “องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก” สำนักงานสาขาประเทศไทย โดยดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/

หรือดูเว็บไซท์รับบริจาคขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สำนักงานสาขาประเทศไทย ตามด้านล่างนี้:

https://donate.worldanimalprotection.or.th/DonateNow.aspx?ctrk=header_donatebtn_15&_ga=1.56761964.773590778.1460102928

หมายเหตุ: ผู้แต่งหนังสือธรรมะเพื่อสัตว์เลี้ยง ไม่ได้รับส่วนแบ่งใดๆ ทั้งสิ้น จากเงินบริจาคของท่าน

หากท่านต้องการติดต่อผู้แต่ง เพื่อเสนอแนะ หรือขอตีพิมพ์หนังสือนี้ กรุณาติดต่อที่ www.meditation101.org