21. การบ่มบารมี 10 ทัศ ด้วยอินทรีย์ทั้ง 5

การบ่มบารมี 10 ทัศ ด้วยอินทรีย์ทั้ง 5

โดย Pittaya Wong +
www.meditation101.org
27 ตุลาคม 2560




ในการบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ทัศ อันได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา นั้น ผู้บำเพ็ญต้องอาศัย “อินทรีย์ 5” คือความสามารถทางจิต เป็นหลักในการบ่มบารมี อันได้แก่ (1) สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธา (2) วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร (3) สตินทรีย์ คือ ความระลึกได้ (4) สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่น (5) ปัญญินทรีย์ คือ ความเข้าใจ โดยที่บุคคลอาจมีอินทรีย์ทั้ง 5 ข้อ ร่วมกันในการบ่มบารมีของตน แต่จะมีข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อ ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ อันได้แก่ ปัญญิณทรีย์ (พระปัญญาธิกะ), สัทธินทรีย์ (พระศรัทธาธิกะ), และ วิริยินทรีย์ (พระวิริยาธิกะ) ส่วน สตินทรีย์ และสมาธินทรีย์ นั้น มีอยู่ในการบำเพ็ญบารมีของบุคคลทุกประเภท


พระปัญญาธิกะ อาศัยปัญญา คือความรู้ ความเข้าใจ บ่มบารมีทั้ง 10 ทัศ โดยนัยนี้ บารมีเต็มเปี่ยมโดยไม่เนิ่นช้า จิตมี ปัญญินทรีย์เป็นกำลัง ฉลาดในการบำเพ็ญ รู้อุบายแห่งความเสื่อม และความเจริญ เพื่อพระโพธิญาณ ตรัสรู้ได้ด้วยกำลังบารมีที่สะสมได้น้อยกว่า โดยมีพระสัพพัญญุตญาณที่เท่ากันกับพระสามัญพุทธเจ้าโดยทั่วไป

พระศรัทธาธิกะ อาศัยความเชื่อที่มั่นคงในพระโพธิญาณที่แรงกล้ากว่า เพื่อบ่มบารมีทั้ง 10 ทัศ จิตมี สัทธินทรีย์เป็นกำลัง สะสมและบ่มบารมีทั้ง 10 ทัศ ให้เต็มเปี่ยมถึงพร้อม โดยอาศัยระยะเวลาพอประมาณ จึงตรัสรู้ โดยมีพระสัพพัญญุตญาณที่เท่ากันกับพระสามัญพุทธเจ้าโดยทั่วไป

พระวิริยาธิกะ อาศัยความพากเพียร เพื่อบ่มบารมีทั้ง 10 ทัศ จิตมี วิริยินทรีย์เป็นกำลัง สะสมและบ่มบารมีทั้งหมดให้เต็มเปี่ยมด้วยจิตที่มีวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้าในพระโพธิญาณ ใช้ระยะเวลายาวเนิ่นนานกว่า และสั่งสมกำลังบารมีได้มากกว่าจึงตรัสรู้ โดยมีพระสัพพัญญุตญาณเท่ากันกับพระสามัญพุทธเจ้าโดยทั่วไป

อธิบายความโดยพิสดารว่า พระโพธิสัตว์แต่ละประเภท สั่งสมอบรมบ่ม "ธรรม" ได้พอๆ กัน แต่ต่างกันโดย "ธาตุ" คือพลังงานบุญบารมี หรือ “บุญธาตุ” ที่สะสมได้ มีมากน้อยไม่เท่ากัน

ส่วนพระโพธิสัตว์ประเภทที่อธิษฐานขอเข้าพระนิพพานเป็นคนสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน และวัชรยาน อาจเรียกโดยพิสดารได้ว่าเป็น "พระวิริยปัญญาธิกะ" บ้าง หรือ "พระวิริยศรัทธาธิกะ" บ้าง คือพระโพธิสัตว์ที่สั่งสมบ่มบารมีด้วยอินทรีย์ประเภทต่างๆ ตามที่อธิบายความไว้ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่มีความสมัครใจที่จะสะสมบ่มบารมีด้วยระยะเวลาที่นานกว่า หรือยาวนานอย่างไม่มีกำหนด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การบำเพ็ญบารมีนั้น มีหน่วยนับเป็นกาลเวลา ไม่นิยมนับหน่วยตามพลังงานบุญบารมีที่สะสมได้ อุปมาได้กับขนมปัง 3 ก้อน ซึ่งมีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ด้วยส่วนผสมเดียวกัน ขนมปังก้อนเล็ก สุกดีในระยะเวลาอันสั้น ขนมปังก้อนกลาง สุกดีในระยะเวลาปานกลาง และขนมปังก้อนใหญ่สุกดี ในระยะเวลาที่นานกว่า เมื่อสุกแล้ว มีรสชาติอร่อยเหมือนๆ กัน แต่ต่างตรงที่ปริมาณ คือก้อนใหญ่กินได้อิ่มจุใจมากกว่าก้อนที่เล็กกว่า เปรียบเทียบได้กับพระพุทธเจ้าสามัญแต่ละพระองค์ที่อบรมบ่มบารมีด้วยอินทรีย์ที่แตกต่างกัน แต่เมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณเท่าๆกัน แต่มีกำลังสามารถต่างกัน นำพาสรรพสัตว์เข้าพระนิพพานได้มากน้อยไม่เท่ากัน

ท้ายที่สุดนี้ อธิบายความว่า บุญบารมีนั้นต้องอาศัยอินทรีย์แต่ละประเภทในการอบรม และอาศัยระยะเวลาในการ "บ่ม" ตัว ทั้ง "ธรรม" และ "ธาตุ" ที่จะรองรับให้พอเหมาะพอสมกัน จนเกิดเป็นการ "ตรัสรู้" หรือ "บรรลุมรรคผล" ได้ในที่สุด ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ว่าจะเป็น พระขีณาสพ พระเอตทัคคะ พระอสีติมหาสาวก พระอัครมหาสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ พระพุทธเจ้าจักรพรรดิ โดยพิสดาร ดังนี้แล...