25. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ กับกำลังพระจักรพรรดิ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

และกำลังพระจักรพรรดิ

ฉบับที่ 2 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่
28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โดย คณะพิรจักร ทิศุธิวงศ์

www.meditation101.org

 

 

จากที่ได้เคยอธิบายไว้ในบทความก่อนๆ ว่าการบำเพ็ญบารมีในโลกของเรานั้นมี 2 สายหลัก คือ (1) สายธรรม และ (2) สายจักรฯ ผู้รจนาได้อธิบายถึงการบำเพ็ญบารมี หรือการทำงาน รวมทั้งประเภทของพระองค์ธรรม และพระจักรฯ อย่างคร่าวๆ ไว้ในบทความของเว็บไซท์ www.meditation101.org สำหรับบทความนี้เราจะกล่าวถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (Royal Decoration) ซึ่งส่งผลต่อ กำลังพระจักรพรรดิโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วิชชาหรือภายในโลกแห่งญาณอันเป็นทิพย์

หากถามว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่สร้างขึ้นจากโลหะ ตกแต่งให้ดูสวยงามล้ำค่า จะมีผลต่อวิชชาได้อย่างไรจะไม่เป็นการ ยึดติดกับโลกแห่งวัตถุ และโลกธรรม คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา และสรรเสริญ มิใช่หรือผู้แต่งขอเท้าความไปถึงจุดกำเนิดแห่งความศักดิ์สิทธิ์ใน วิชชาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นั่นก็คือ กำลังจากผู้เลี้ยงผู้รักษาในภาษาวิชชา หรือภาษาบ้านๆ ว่า เทวดาประจำเมืองเพราะเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ประเทศที่ยังคงมีระบอบกษัตริย์) และดาราอิสริยาภรณ์ (ประเทศที่ปกครองโดยระบอบอื่นๆ) ล้วนก่อกำเนิดขึ้นในโลกทิพย์ ก่อนที่จะเกิดมีขึ้นในโลกมนุษย์ ซึ่งภาษาวิชชาท่านเรียกว่า “ของละเอียดเกิดขึ้นก่อนของหยาบ”

กล่าวคือ เมื่อประชาชนของแผ่นดินรวมตัวกันขึ้นแล้วก่อร่างสร้างตัวเป็นชุมชน เป็นเมือง หรือประเทศชาติ ที่มีระบบระเบียบในการปกครอง ไม่ว่าจะด้วยความสามัคคีปรองดอง, การสู้รบ, หรือเจรจาต่อรองอย่างสันติวิธี ก็ตาม ประเทศนั้นๆ จะมี ผู้เลี้ยงผู้รักษาหรือ เทวดาประจำเมืองคอยดูแลช่วยเหลือ ซึ่งในเมืองไทยของเราเรียกท่านว่า “พระเสื้อเมือง” คือเทวดาประจำเมืองที่เคยเป็น “บรรพบุรุษ” ของแผ่นดินที่มีกำลังมาก อย่างเช่นหัวหน้าชนเผ่า, เจ้าเมือง, เจ้าแคว้น, เจ้านาง, พ่อขุนฯ, วีรบุรุษ, วีรสตรี, หรือมุขอำมาตย์ราชมนตรีผู้เป็นใหญ่ มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

เราสามารถจัดหมวดหมู่การทำหน้าที่ของเทวดาผู้เลี้ยงเข้ากับรัตนะ 7 คือ (1) จักรแก้ว คืออำนาจการบริหารงานราชการแผ่นดิน ควบคุม และปกครอง (2) ดวงแก้ว คือความรู้ เทคโนโลยี และวิทยาการ (3) ขุนพลแก้ว คือกำลังทรัพยากรบุคคล ทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือน (4) ขุนคลังแก้วคือเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ทรัพย์สินสิ่งมีค่าต่างๆ การซื้อขาย หมุนเวียนแลกเปลี่ยนทรัพยากร (5) นายแก้ว/นางแก้ว คือความสวยงาม ความบันเทิง ความเพลิดเพลินใจ มีศิลปะ วัฒนธรรม และการแสดงเป็นต้น (6) ช้างแก้ว คือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อำนวยการดูแล และช่วยเหลือ มีโรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร งานภาคบริการต่างๆ และ (7) ม้าแก้ว คือระบบการคมนาคมสัญจร ขนส่ง ถนนหนทาง และยวดยานพาหนะ

ด้วยอำนาจแห่งผู้เลี้ยงผู้รักษาหรือเทวดาประจำเมืองนี้เอง ที่มีอิทธิพลต่อความเจริญก้าวหน้า ความคงอยู่ หรือความเสื่อมถอย ของประเทศชาติ อยู่ที่ประมาณ 40 - 45% ของโลกภายนอก (ส่วนหยาบ) ส่วนที่เหลือจะเป็นปัจจัยส่งผลจากอื่นๆ เช่นพระบุญญาธิการ, ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงานของ พระมหากษัตริย์ อำมาตย์ เสนาบดี ผู้ปกครองอย่าง ประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรี, ข้าราชการการเมือง, ข้าราชการประจำ,  รวมถึงพ่อค้าแม่ค้า มหาเศรษฐีประจำเมือง คณาจารย์ใหญ่คือนักปราชญ์ผู้นำทางความคิดของสังคมและประเทศ รวมถึงสมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีล

โดยผู้เลี้ยงผู้รักษาหรือเทวดาประจำเมืองจะทำหน้าที่ ส่งฤทธิ์จากโลกทิพย์ เพื่อกำกับการให้ประเทศชาติเป็นไปตามการควบคุมตามอัธยาศัยของเทวดาประจำเมือง โดยได้รับอิทธิพลจาก “ภพผู้เลี้ยง” คอยจูงใจ ส่งผลต่อระบอบการปกครองของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความแข็งแกร่งของผู้เลี้ยงผู้รักษา หรือเทวดาประจำเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สามารถรักษาเอกราชของประเทศ และสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้ โดยสิ่งที่เทวดาประจำเมืองได้เป็นการตอบแทน ก็คือเกียรติภูมิและความนับหน้าถือตา ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่ทำงานแบบ “อุทิศตน” ให้กับส่วนรวม โดย “ฤทธิ์” ของเทวดาประจำเมือง จะถูกส่งลงมาเป็นชั้นๆ จากภพทิพย์ภายในเรื่อยมา ถึงภพทิพย์ภายนอก โดยมีต้นแหล่งคือภพผู้ปกครอง ซึ่งมีทั้งฝ่ายพระ (เมืองนิพพาน) และฝ่ายมาร (มารโลก) ที่มีพระพุทธเจ้าฝ่ายพระ และพระพุทธเจ้ามาร คอยทำหน้าที่ปรุงฤทธิ์หล่อเลี้ยงด้วยสมาบัติของตน

ยิ่งเทวดาประจำเมืองออกฤทธิ์หล่อเลี้ยงประเทศชาติมากเท่าไร ภพทิพย์ก็จะส่งกำลังมาหนุนกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ อุปมาเหมือนคนออกกำลังกายเล่นฟิตเนส ที่ยิ่งออกแรง ก็ยิ่งแข็งแรง มีพละกำลังมากขึ้น จากการออกกำลังกายนั้น แต่บางครั้งเทวดาประจำเมือง ก็แบ่งกันเป็นฝักฝ่าย และเล่นการเมืองในภพทิพย์ต่อกันและกัน อาจถึงขั้นขัดแย้ง ลุกลามเป็นการแบ่งแยกการปกครอง และแบ่งแยกดินแดน ส่งผลให้เกิดความบาดหมางของประเทศชาติในเมืองมนุษย์ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเทวดาประจำเมืองที่มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องแบ่งบทบาทหน้าที่กับเทวดาประจำเมืองที่มาจากข้าราชการการเมือง อย่างประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ความไม่ลงรอยกันจึงเกิดขึ้น หรือเหมือนอย่างเทวดาประจำเมืองที่เป็นชาวต่างศาสนิก แตกแยกกันอยู่ในภพทิพย์ และแย่งกันปกครอง ส่งผลให้เกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนในเมืองมนุษย์เหมือนที่ฉนวนการ์ซาร์

ด้วยอำนาจของผู้เลี้ยงผู้รักษาและเทวดาประจำเมืองนี้เอง ที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันการปกครองในระบอบต่างๆ ของชาติ เรืองอำนาจหรือ ซบเซาโดยสะท้อนออกมาให้เห็นเป็น ความนิยม ความนับถือ และบทบาทอันสำคัญมากหรือน้อยของสถาบันนั้นๆ ที่มีต่อสังคมชาติ อย่างไรก็ตาม อำนาจเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันและกันกับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์และ “ดาราอิสริยาภรณ์” ซึ่งถูกสร้างและกำหนดความสำคัญโดยสถาบันการปกครองของแต่ละประเทศ เพราะ พลังทิพย์จากภพผู้เลี้ยงฯ ทั้งชั้นนอก และชั้นในลึกๆ เข้าไปนั้น หล่อเลี้ยงทั้งสถาบันการปกครอง อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ และ สิ่งต่างๆ ที่เนื่องด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้มีความ ศักดิ์สิทธิ์เพราะถ้าหากปราศจากความศักดิ์สิทธิ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ นั้นก็จะ ไม่ได้รับการให้ความสำคัญ

โดยนัยนี้ ผู้ทรงวิชชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้ง “พระองค์ธรรม” และ พระจักรฯพร้อมทั้ง พระรัตนะบุคคลที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระมหากษัตริย์ในแต่ละราชอาณาจักร หรือผู้นำประเทศ จะมีกำลังอันเป็นทิพย์เสริมเพิ่มเติมในวิชชา ซึ่งเป็นกำลังที่ถูกประชุมขึ้นมาจากในภพผู้เลี้ยง โดยเมื่อนำ “ส่วนละเอียด” ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาสวมใส่ “กายในวิชชา” อย่างกายพระจักรพรรดิ หรือพระธรรมกาย ก็จะทำให้เกิดมี เครื่องทรง หรือ เครื่องประดับ” เพิ่มขึ้นมา และมีฤทธานุภาพ และอำนาจในวิชชาเกิดขึ้น แต่จะเป็นการสิ้นเปลืองพลังจากภพทิพย์บ้าง ซึ่งผู้เลี้ยงอาจกำหนดขอบเขตจำกัดของพลังทิพย์ที่จะส่งเลี้ยงเครื่องราชฯ แต่ละดวง นอกจากกำลังในวิชชาจากภพทิพย์แล้ว ก็ยังมี “กายสิทธิ์” ที่คอยรักษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมถึง “เทวดานางฟ้าผู้รักษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์” ซึ่งปกติแล้วพระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองประเทศ ซึ่งเป็นผู้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือดาราอิสริยาภรณ์ ชั้นนั้นๆ จะเป็นผู้มอบหมายเทวดานางฟ้าบริวารของตน ให้มาคุ้มครองรักษาผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ถ้ามี) แต่ก็ไม่เสมอไป

สำหรับราชอาณาจักรไทยนั้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สำคัญมีอยู่โดยหลักที่ 36 ชั้น โดยที่พระองค์ธรรม, พระจักรฯ, และพระรัตนะบุคคลที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ตรงกันกับสายงานของตน ก็จะมีกำลังในวิชชาเด่นขึ้นเฉพาะด้านเป็นพิเศษ (แต่ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ธรรม, พระจักรฯ และพระรัตนบุคคล จะไม่สามารถรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่นอกเหนือจากประเภทของตน) โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของราชอาณาจักรไทย ที่ ตรงประเภทกับพระจักรฯ และพระรัตนบุคคล พอจะระบุได้โดยคร่าวดังนี้

     1.     พระจักรฯ / จักรแก้ว = ชั้นจักรีบรมราชวงศ์ / ชั้นมงกุฎไทย

     2.     พระมณี = ชั้นดารานพรัตน์ราชวราภรณ์

     3.     พระปรินายก หรือขุนพลแก้ว = รามาธิบดีชั้นที่ 2 (มหาโยธิน)

     4.     พระคหปติรัตนะ หรือขุนคลังแก้ว = ชั้นดิเรกคุณาภรณ์

     5.     พระสุขรัตนะ หรือ นาย/นางแก้ว = ชั้นจุลจอมเกล้า

     6.     พระคชารัตนะ หรือ ช้างแก้ว = ชั้นช้างเผือก

     7.     พระอาชารัตนะ หรือ ม้าแก้ว = รามาธิบดี ชั้นที่ 4 (อัศวิน)

โดยปกติแล้ว เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือดาราอิสริยาภรณ์ จะอยู่ในรูปของ “ดวงดาว” หรือ “ดารา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความโดดเด่นเจิดจรัส แต่ก็ยังมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในบางประเทศซึ่งใช้สัญลักษณ์ “สุริยะ” หรือ “พระอาทิตย์” รวมถึง “จันทระ” หรือ “พระจันทร์” เป็นเหตุให้ผู้ได้รับพระราชทาน มีกำลังในวิชชามากน้อยต่างกันไป ตามแต่ “ภพหล่อเลี้ยงประจำดารา / จันทรา / สุริยะ” นั้นๆ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละประเภทมีกำลังไม่เท่ากัน แต่ถ้ายิ่งมีกำลังมาก ก็จะเปลืองกำลังจากภพผู้เลี้ยงมาก) ส่วนเครื่องราชที่เป็นดวงตราพระมหากษัตริย์ อย่างชั้นดาราจุลจอมเกล้า ก็จะมีคณะของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ เป็นผู้หล่อเลี้ยงรักษา และเมื่อกำลังจากภพผู้เลี้ยงเครื่องราชฯ หมดลง เครื่องราชฯ ชั้นนั้นๆ ก็จะเป็นอันพ้นสมัยไป ยกตัวอย่างเช่นเครื่องราชฯชั้น “รามาธิบดี” และ “รามกีรติ” ซึ่งไม่มีใครในยุคสมัยภายหลังได้รับพระราชทานอีก

บางท่านอาจสงสัยว่า ในเมื่อการนำส่วนละเอียดของเครื่องราชฯ มาสวมใส่กายในวิชชา จะทำให้เครื่องราชฯ หมดเปลืองกำลังจากภพผู้เลี้ยงอันเป็นทิพย์ แล้วการครอบครองเครื่องราชฯ จะมีประโยชน์อะไร? ซึ่งการที่จะตอบคำถามนี้ ผู้รจนาขอกล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของเครื่องราชฯ คือ “เกียรติภูมิ” สำหรับผู้ได้รับพระราชทาน และในเมืองมนุษย์ก็สวมใส่เครื่องราชฯกันเฉพาะในงานรัฐพิธี ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ทรงวิชชาสามารถนำส่วนละเอียดของเครื่องราชฯ มาใส่ชั่วครู่ชั่วคราวในงานประชุมวิชชา หรือประชุมกับเทวดาได้ และในหมู่ผู้ทรงวิชชาด้วยกัน เมื่อมีผู้ใด “ประดับดาราอิสริยาภรณ์” ชั้นสูงกว่าอยู่ในวิชชา ผู้ทรงวิชชาทั่วไปท่านอื่นๆ ก็มักจะต้อง “ค้อมคำนับ” เพื่อเป็นการให้เกียรติกัน ยกเว้นผู้ทรงวิชชาแก่กล้า ที่มีวิชชาศักดิ์มาก ก็อาจจะไม่ต้องคำนับ ซึ่งบางครั้งการคำนับก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ทรงวิชชา เพราะการประชุมวิชชาบางงาน มีผู้ร่วมงานมาก กว่าจะจบงานก็คำนับจนเหนื่อยเมื่อยในญาณไปตามๆกัน

เคล็ดลับองค์ความรู้พิเศษสำหรับสำหรับบทความนี้ก็คือ ผู้ทรงวิชชาที่ได้รับพระราชทาน เครื่องราชฯ สามารถ “ล็อค” เครื่องราชฯ ของตนเอาไว้ในวิชชาได้ เพื่อให้เป็น “บารมีศักดิ์” ติดตัวไปในภพชาติเบื้องหน้า หมายความว่า เมื่อล็อคเครื่องราชฯในวิชชาแล้ว เมื่อเกิดใหม่ในภพชาติเบื้องหน้า ก็จะมีเครื่องราชฯของละเอียดติดตัวไป ส่งผลให้เกิดภพใหม่คราใด ก็มักจะมีสิทธิ์ได้รับเกียรติยศคล้ายๆ ชาติก่อน โดยอาจอยู่ในรูปแบบของเครื่องราชฯ หรืออื่นๆ ตามแต่ที่มีในยุคสมัยนั้นๆ โดยอาจจะ “หย่อน” กว่าของเดิมบ้าง แต่สามารถ “ต่อยอด” จากของเดิมนั้นได้ แต่การจะทำเช่นนี้ ก็อาจจำเป็นต้องต่อรองแลกเปลี่ยนกับ “ภพเจ้าของ” เครื่องราชฯ ที่ต้องการจะล็อคไว้ในวิชชา ซึ่งอาจต้องแลกเปลี่ยนเป็นบุญธาตุ หรืออื่นๆ แต่การล็อคยศศักดิ์จากเครื่องราชฯ และพัดยศ หรือสิ่งอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้นั้น มักนิยมทำกันตอนบั้นปลายของชีวิต เพราะเมื่อล็อคแล้ว อาจมีผลให้เครื่องราชฯของหยาบนั้น “หมดฤทธิ์” ลง มีผลถึงส่วนหยาบคือ อาจทำให้เกิดการ “ริบคืน” หรือมีเหตุอันจะต้องสูญเสียเครื่องราชฯ และยศศักดิ์นั้นไป เพราะส่วนละเอียดนั้นหมดไปก่อนแล้ว

องค์ความรู้เรื่อง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ กับกำลังพระจักรพรรดินี้ มิใช่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เปรียบได้กับ “ใบไม้ในกำมือ” แต่เป็นประดุจ “ใบไม้ในป่าประดู่ลาย” ที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอน อย่างไรก็ตาม ผู้รจนาได้นำมาถ่ายทอดเพื่อเป็น ศึกษาบันเทิง” (Edutainment) ซึ่งท่านที่มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อยู่แล้ว และอาจมองไม่เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่ตนมี ก็อาจจะได้ประโยชน์มาก ส่วนท่านที่ยังไม่มี และพอจะมีหนทางได้รับพระราชทานมา แลกกับการทำประโยชน์ประการใดประการหนึ่ง ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี  ทั้งนี้ผู้รจนาบทความนี้ได้นำความรู้มาเผยแพร่โดยไม่มุ่งหวังทรัพย์สินใดๆ ตอบแทน เป็นการเผยแพร่เป็นวิทยาทาน หากมีข้อผิดพลาดแต่ประการใด ผู้รจนาขอน้อมรับไว้ด้วยดี ขอขอบพระคุณครับฯ อนึ่ง ถ้าหากท่านมีข้อสงสัยแต่ประการใด กรุณาติดต่อสอบถามครูวิชชาได้ที่ www.watluangphorsodh.org

 

List of the 36 Major Orders of Royal Thai Decoration

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของราชอาณาจักรไทย โดยหลักมี 36 ประเภทตามลำดับศักดิ์ มีดังนี้

1.Order of the Rajamitrabhorn (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์  (ร.ม.ภ.)

2.Order of the Royal House of Chakri (Thailand)

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.)

3.Order of the Nine Gems

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.)

4.Order of Chula Chom Klao - Special Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)

5.Ratana Varabhorn Order of Merit

เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.)

6.Order of Chula Chom Klao - 1st Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)

7.Order of Rama 1st Class

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 (เสนางคะบดี) (ส.ร.)

8.Order of the White Elephant - Special Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

9.Order of the Crown of Thailand - Special Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ         (ม.ว.ม.)

10.Order of the White Elephant - 1st Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

11.Order of the Crown of Thailand - 1st Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)

12.Order of the Direkgunabhorn 1st class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นปฐมดิเรกคุณาภรณ์(ป.ภ.)

13.Order of Chula Chom Klao - 2nd Class upper (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)

14.Order of Rama 2nd Class

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 2 (มหาโยธิน) (ม.ร.)

15.Order of the White Elephant - 2nd Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)

16.Order of the Crown of Thailand - 2nd Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)

17. Order of the Direkgunabhorn 2nd class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นทุติยดิเรกคุณาภรณ์ (ท.ภ.)

18. Order of Chula Chom Klao - 2nd Class lower (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)

19.Order of Rama 3rd Class

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 3 (โยธิน) (ย.ร.)

20.Vallabhabhorn Order

เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ (ว.ภ.)

21.Order of Chula Chom Klao - 3rd Class upper (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)

22.Order of Rama 4th Class

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 4 (อัศวิน) (อ.ร.)

23.Order of the White Elephant - 3rd Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)

24.Order of the Crown of Thailand - 3rd Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)

25.Order of the Direkgunabhorn 3rd class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นตติยดิเรกคุณาภรณ์(ต.ภ.)

26.Order of Ramkeerati (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ     -

27.Order of Chula Chom Klao - 3rd Class lower (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)

28.Order of the White Elephant - 4th Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)

29.Order of the Crown of Thailand - 4th Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)

30.Order of the Direkgunabhorn 4th class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)

31.Order of Chula Chom Klao - 4th Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.)

32.Order of Chula Chom Klao - 4th Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)

33.Order of the White Elephant - 5th Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นเบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)

34.Order of the Crown of Thailand - 5th Class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)

35.Order of the Direkgunabhorn 5th class (Thailand)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ (บ.ภ.)

36. Vajira Mala Order ribbon.png

เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา   (ว.ม.ล.)

 

ที่มาของรายการ: 

https://th.wikipedia.org/wiki/รายชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

 

หมายเหตุ:  ท่านที่ต้องการบริจาคเป็นสาธารณกุศล โดยมีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอรับพระราชทานเครื่องราชฯ สามารถติดต่อได้ที่ "ศิริราชมูลนิธิ" ตามเว็บลิงค์ด้านล่างนี้ โดยสามารถอ่านรายละเอียดได้จากภาพด้านบนของหน้าเว็บนี้

http://www.si.mahidol.ac.th/office_m/foundation/join/benefit.html

 

* ทางเว็บไซท์ www.meditation101.org มิได้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากยอดบริจาคของท่าน


นานาสาระ: ปกิณกะ เรื่องฤทธิ์ในวิชชาของ “ดาราอิสริยยศ”

ผมได้เคยรจนาบทความเกี่ยวกับดาราอิสริยยศเอาไว้แล้ว แต่ในบทความนี้ จะขอเสริมเรื่องการใช้ดาราเพื่อเสริมกำลังชีวิตครับ กล่าวคือ ดารานั้นมีลักษณะคล้าย “ดวงประลัยฤทธิ์” ที่ปลดปล่อยพลังงานออกมาเรื่อยๆ แต่ดาราก็มีทั้งแบบดาราทั่วไปที่ ล่องลอยตามภพ ที่ผู้ทรงวิชชาสามารถ “คว้า” มาใส่ตนเองในวิชชา หรือเป็นดาราที่ “ภพ” และ “ผู้ทรงวิชชา” ผลิตขึ้น สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในวิชชาได้เช่นกัน หรือมีบางท่านนำมาซ้อนปลุกเสกลงในวัตถุมงคลของเมืองมนุษย์ แต่สำหรับบทความนี้ขอนำเสนอเฉพาะ “ดาราอิสริยยศ” ที่ภพผู้เลี้ยงผู้รักษาท่านประชุมขึ้น เพื่อแสดงลำดับเกียรติศักดิ์ของแต่ละอาณาจักร

ดาราอิสริยยศนั้น ก่อเกิดจากเทวดาผู้เลี้ยงผู้รักษาของอาณาจักรแต่ละแห่ง ซึ่งท่านดำริจะให้มีขึ้น จากนั้นจึงประมวลวิชชาเพื่อประชุมของละเอียด หรือของทิพย์ขึ้นก่อน แล้วของหยาบที่จับต้องได้จึงจะมีเกิดขึ้นตามมา โดยประมวลวิชชาจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรุงขึ้นในลักษณะ “ร่วมกัน” ทั้งสายสะพายและแพรแถบสีต่างๆ, รวมถึงมณี (ถ้ามี), บุคคลผู้เนื่องด้วยดารานั้นๆ (ในกรณีของดาราแห่งบุคคลสำคัญ อย่างเช่นพระราชา และพระราชินี), ตราประกาศิต, ตราศาสนจักร อีกทั้งลำดับศักดิ์, บทบัญญัติ และกฎหมาย ที่จะรับรองดาราอิสริยยศแต่ละดวง รวมถึงเทวดา และกายสิทธิ์ ที่จะประจำการรักษาดารานั้นๆ

ความเหมือน และความแตกต่างของดาราอิสริยยศกับดาราต่างๆในวิชชา ก็คือ ดาราทุกประเภทมีของละเอียดอันเป็นทิพย์ประจำอยู่ แต่ดาราอิสริยยศที่มีสิ่งประดับกายของหยาบนั้น ถ้าจะขอครอบครองของทิพย์ ก็จะต้อง “เรียก” จากเทวดาผู้เลี้ยงผู้รักษาประจำตัวบุคคล แล้ว “จ่ายธาตุบุญ” ให้เทวดาผู้เลี้ยง บุคคลจึงจะได้ดาราของทิพย์ อันมีกำลังและประเภท ตามดาราอิสริยยศของหยาบที่ตนมีอยู่ มาครอบครองในวิชชา ซึ่งผู้ทรงวิชชาท่านก็ว่ากันว่า ดาราตามธรรมชาติในวิชชาที่ล่องลอยไปมานั้น ก็กว่าจะคว้ามาได้ก็ไม่ง่าย ส่วนดาราที่เขาผลิตขายกันในวิชชา ก็มีฤทธิ์ แต่ไม่มีลำดับศักดิ์ประกอบ แล้วถ้าเราซื้อได้ คนอื่นเขาก็ซื้อหามาได้เหมือนอย่างเรา ส่วนดาราอิสริยยศนั้น มี “วิชชาศักดิ์” ประชุมรวมอยู่ ซึ่งถ้าหากเจ้าของเรียกมาจากผู้เลี้ยง แล้วเก็บรักษาไว้ในสายธาตุสายธรรมของตน ก็จะมีอานิสงส์ทำให้เป็นผู้ที่มี “ศักดิ์และเกียรติยศ” ในภพชาติต่อๆไปอีก ด้วยฤทธิ์ของดาราอิสริยยศของทิพย์ที่มีคอย “ส่งวิชชา” ให้เป็นไป ซึ่งประเด็นนี้ผมได้เคยรจนาไว้แล้ว แต่สาระสำคัญที่จะกล่าวถึงวันนี้ก็คือ การใช้ดาราในวิชชาในรูปแบบอื่นๆ อีก

นอกจากการนำดารามาประดับกายในวิชชา อย่างเช่นที่พระอุณาโลม, รัดเกล้า, ทับทรวง, หัวเข็มขัด, ธำมรงค์ หรืออื่นๆ เพื่อเสริมอิทธิฤทธิ์แล้ว ถ้าเราแบ่งดาราอิสริยยศของทิพย์มาใส่ไว้ใน “ดาวประจำตัว” หรือจะ “ตั้งภพ” สำหรับดารานั้นให้กลายเป็นดาวประจำตัว ก็จะเป็นคุณต่อชีวิตเจ้าของอีกเช่นกัน ซึ่งการนำดาราของทิพย์มาใส่ดาวเจ้าชะตาในวิชชาสามารถแบ่งกำลังดาราออกมาได้ ประมาณ 3 - 7 ครั้ง ถ้าดาวประจำตัวของผู้ทรงวิชชามี “กำลังดารา” แล้ว “กายในวิชชา” อย่างกายพระจักรพรรดิ และกายพระพุทธราช ก็มีด้วย จะทำให้บังเกิดเป็นฤทธิ์ที่แรงเนื่องถึงกัน

ส่วนสายสะพายที่มาพร้อมกับดาราอิสริยยศนั้น จะส่งอานิสงส์เป็นผ้าคลุมสี (cloak) ต่างๆ สำหรับกายในวิชชา โดยสีจะเป็นไปตามสีของสายสะพายประกอบดาราอิสริยยศ ซึ่งผ้าคลุมนี้จะทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ความรวดเร็วว่องไว ในการเหาะเหินเดินอากาศของกายในวิชชา ซึ่งถ้าถูกใจก็พึงสวมใส่ไว้ แต่ถ้าไม่ประสงค์จะเก็บรักษาไว้ก็สามารถนำไปแลกกับ “เจ้าสี” หรือ “องค์สี” ซึ่งมีสายธาตุสีตรงกับสีของสายสะพาย อาจจะแลกเปลี่ยนได้อะไรดีๆ กลับคืนมา อย่างเช่นมณีสีต่างๆ

นอกจากนี้ วิธีทำให้ดาราแรงขึ้น ก็คือเราสามารถ “จัดลักขณา” ของดวงดาวประจำตัวให้ตรงกับทิศของภพสี ที่ส่งวิชชาอันเป็นสีของสายสะพายและแพรแถบ หรือคำนวณจัดลักขณาตำแหน่งดาราให้เสริมกันและกัน ทั้งนี้อาจต้องใช้วิชาโหราศาสตร์เข้าช่วยด้วย ส่วนวิธีทำให้ดาราแรงขึ้นอีกวิธีที่เคยปรารภไว้แล้วคือการไต่ระดับดาราทีละขั้นแล้ว “เรียกส่วนละเอียด” จากผู้รักษาแบบจ่ายธาตุบุญทีละขั้นๆ จากล่างสุดขึ้นชั้นบนแล้ว “สะสมทบกำลังดารา” เข้าไว้ด้วยกันทีละชั้น ไปเรื่อยๆ ตราบกว่าจะได้ชั้นสูงสุด

ทว่า วิธีการอื่นๆ นั้นรวมถึงการ "ทรงมณี" ที่ตรงกับสีของสายสะพาย เช่น หากจะสวมผ้าคลุมสีเขียว ก็ทรงมณีลังการเพชรเขียว หรือลดามณีเขียว กายในวิชชาก็จะมีฤทธิ์วิชชาแรงมากขึ้น ส่วนการจัดลักขณาดาราก็อย่างเช่น บุคคลเกิดวันพุธ เป็นวันสีมงคลคือสีเขียว แล้วเราได้สายสะพายสีเขียวก็แบ่งดาราชั้นนั้นไปใส่ดาวเจ้าชะตาแดนเกิด สำหรับพระดารานพรัตน์นั้น มีวิธีใช้คือคำนวณองค์จักรราศีทั้ง 9 เพื่อเข้ารักษาดวงพระชะตา ตามกำลังดาราและลักขณา โดยผู้ทรงวิชชาอาจตั้งภพสำหรับมณีแต่ละดวงแล้วประชุมขึ้นโดยมีสีเขียวเป็นสียืนพื้นวิชชา เนื่องจากเป็นสีของสายสะพายและแพรแถบที่ร่วมปรุงวิชชาประชุมดาราอิสริยยศขึ้นมาแต่แรกเดิมที ก่อนจะมีของหยาบ

จะเห็นได้ว่า ดาราอิสริยยศนั้นเป็นสิ่งทรงคุณค่าในทางวิชชา นอกเหนือจากความภาคภูมิใจที่ได้มาด้วยความทุ่มเทเสียสละในรูปแบบต่างๆ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของผู้สถาปนาดาราอิสริยยศแต่ละประเภทขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญของพระอาณาจักร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการใช้ดาราอิสริยยศในวิชชาก็คือความซื่อสัตย์และซื่อตรงต่ออาณาจักร เพราะผู้สถาปนาดารานั้น ท่านสามารถ “ตรัสสิทธิ์” เข้าระงับฤทธิ์ของดาราได้ หากผู้ทรงวิชชานำมาใช้ในทางที่ไม่สมควร ดังฉะนี้.

บทความนี้สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

5 ตุลาคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org