35. เศรษฐศาสตร์ สำหรับกุมารทองและนางกวัก

เศรษฐศาสตร์คืออะไร? (เวอร์ชั่น D)


เศรษฐศาสตร์คือวิชาหรือ “องค์ความรู้” ว่าด้วยการนำเสนอ ตรรกะปรัชญาประกอบกับ เครื่องมือทางคณิตศาสตร์เพื่อสะท้อน, สื่อสาร, คาดการณ์ และอธิบายให้เห็นถึง สาเหตุแห่งความเป็นมา และผลที่เป็นไปแล้ว หรือน่าจะเป็นไป ของปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับและขอบเขตต่างๆ อันเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งสังคม, มหาชน, กลุ่มคน, ส่วนบุคคล ที่มัก “สร้าง” และ/หรือ “รับ” อิทธิพลทางจิตวิทยาอันเกิดจาก สัญชาติญาณ, จริต, อัธยาศัย, ทัศนคติ, มโนคติ, อุดมคติ, ความพึงพอใจ, เจตนารมณ์, นโยบาย และธรรมชาติของสรรพปัจจัยแวดล้อมร่วมทั้งหลาย ที่ส่งผลต่อการนำเสนอ และตอบสนอง ในรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งของตนเอง และ/หรือ ผู้อื่น ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือความเสมอเดิม ในคุณค่า และมูลค่าแห่งการบริหารจัดการ, ผลิต, บริการ, อุปโภค, บริโภค, ลงทุน, แสวงหา, แลกเปลี่ยน และเก็บรักษา ซึ่งสินทรัพย์ และทรัพยากรทั้งหลาย ในลักษณะของ “เหตุ” และ “ผล” ที่เชื่อมโยง อ้างอิง รับส่งถึงกันและกัน เป็นระบบ, วงจร, และวัฏจักร.  

 

โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

นวัตกรธรรมเศรษฐศาสตร์ และองค์ธรรมวิศาสตร์

3 ตุลาคม พ.ศ. 2565



จิตวิทยา และเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยมูลค่าของเงิน

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ มักจะอ้างทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ อย่างกราฟ และสมการ เป็นเครื่องยืนยันตรรกะ ซึ่งจากที่ผมได้เคยศึกษาเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานมา ทำให้พบว่า ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ หลายอย่างไม่สามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้จริงทั้งหมด เพราะสถานการณ์จริง มักจะมีปัจจัยส่งผลบางอย่าง หรือหลายอย่าง ที่อยู่นอกเหนือกรอบขอบทฤษฎี เช่น ตลาดมืดและ “เงินคอรัปชั่น” และ “สินค้านำเข้า/ส่งออก หนีภาษี” ซึ่งทำให้ตัวเลข GDP และรายงานทางเศรษฐกิจ ไม่ตรงตามจริง เป็นเหตุให้นักบริหารเศรษฐกิจระดับประเทศ อาจถึงขั้นตัดสินใจผิดพลาด

ตามที่ผมได้เคยโพสต์ไว้ในเฟสบุ๊คเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เงินเฟ้อ เป็นเรื่องของ อุป(ปา)ทานหมู่ซึ่งเป็น วาทะทางเศรษฐศาสตร์ที่วิวัฒน์มาจากโพสต์เก่าก่อนของผมนานมาแล้ว ที่นำเสนอปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ ว่าเป็นเรื่องของ จิตวิทยา ที่มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ ในการแสวงหา ใช้จ่าย ลงทุน ซื้อขาย แลกเปลี่ยน สะสม ทั้งโดยแต่ละตัวบุคคล และมหาชน ยิ่งเรื่องเงินเฟ้อที่ผมอธิบายไว้นั้น เป็นหลักฐานที่ดี ว่าจิตวิทยาทำงานอย่างไรในระบบเศรษฐกิจ โดยคร่าวแล้ว ตามที่ผมเคยโพสต์ไว้ในเฟสบุ๊ค ผมได้นำเสนอว่า ค่าของเงินอยู่ที่ ความมั่นใจซึ่งความมั่นใจของสมาชิกใน อาณาเศรษฐกิจหนึ่งๆ ได้รับผลกระทบหรืออิทธิพลโดยตรงทางจิตวิทยาในหลายระดับ ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐ ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการอธิบายปรากฏการณ์นี้

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ทราบดีว่า ในการพิมพ์ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ รวมถึงปล่อยเงินดิจิทัล แต่ละประเทศจะต้องมีเงินทุนสำรองเป็นเงินสกุลต่างๆ และแสวงหาทองคำมาสำรองในคลัง ที่มากพอตามสัดส่วน เพื่อรับประกันค่าเงินของตนเองที่ปล่อยออกมา ทั้งในท้องถิ่น (domestic) และระหว่างประเทศ (international) แต่เราก็ทราบดีอีกว่า ประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียน เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ได้โดยไม่ต้องเก็บเงินทุนสำรอง หรือทองคำสำรอง ในสัดส่วนที่มากเหมือนอย่างประเทศอื่นจะทำกัน นั่นหมายความว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาพิมพ์ธนบัตรและปั๊มเหรียญออกมาเปล่าๆ ได้ ต่างจากประเทศอื่นที่พอจะพิมพ์ธนบัตรและปั๊มเหรียญ ก็จะต้องสำรองเงินสกุลและทอง สิ่งนี้ทำให้หลายๆ คน โดยเฉพาะนักการเมือง ที่ต้องการบริหารเศรษฐกิจประเทศของตนให้ดี ต่างพากันสงสัยว่า แล้วทำไมประเทศของตน จึงจะทำ QE หรือพิมพ์ธนบัตรและปั๊มเหรียญออกมา โดยไม่ต้องสำรองทองคำมากตามสัดส่วนกำหนด หรือไม่สำรองเลย บ้างไม่ได้หรือ ซึ่งผมเองได้อธิบายเรื่องเงินเฟ้อไว้แล้ว ว่าการพิมพ์ธนบัตรโดยที่ไม่สมส่วนกันกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ทั้งภาคผลผลิต ภาคบริการ ภายในตลาดซื้อขาย แลกเปลี่ยนหนึ่งๆ จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธนบัตรกลายเป็นเศษกระดาษ ธนบัตรใบละหนึ่งล้าน สามารถซื้อไข่ไก่ได้ตะกร้าเดียว ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐอเมริกา มิได้เข้าข่ายประเทศที่มีเงินเฟ้อ ถึงขนาดจะต้องพิมพ์ธนบัตรใบละพัน หมื่น แสน ล้าน มาใช้ เพราะประเทศนี้มีมาตรการทางเศรษฐกิจที่เข้มงวด เคร่งครัด และมีเครื่องมือ วิธีการอันกว้างขวางไปทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนในการสำรองทองคำ ไม่จำเป็นต้องมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่ต้องการพิมพ์ธนบัตรออกมาในมูลค่าที่เท่าๆ กัน แล้วเพราะเหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น? ผมขอให้ความเห็นว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีระบบระเบียบทางเศรษฐกิจดีมาก เหมือนคนเรามีเครื่องเสียงดีๆ ที่ทำงานได้ดี และมีปุ่มปรับเปลี่ยนต่างๆ มากพอ ให้ผู้ใช้ จูนปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ จนกว่าจะได้เสียงเพลงที่พอใจ ทั้งนี้เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ล้วนอยู่ในระบบระเบียบ ซึ่งผู้บริหารประเทศสามารถเรียกรายงานแต่ละเรื่อง แต่ละอย่างมาดูประกอบการตัดสินใจได้ แทบจะไม่มีตลาดมืดเลย เพราะเหตุนี้เอง เมื่อใครบอกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยดี แต่โดยรวมแล้วก็ยังดีกว่าประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ อยู่หลายขั้น ในทางโลกแล้ว ประชาชนยังคงอยู่ดีกินดี มีความสุขสบาย ทำงานน้อย แต่คุณภาพชีวิตสูงกว่า ด้วยความเอื้อเฟื้อจากรัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลกลาง ด้วยการบริหารงานที่มีศักยภาพ  ประสิทธิภาพ และสวัสดิการที่ดีพอ

สำหรับเรื่อง จิตวิทยาที่ทำให้ชาวต่างประเทศ ยังคงต้องการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะทราบว่า มีเงินสกุลสำรอง และทองคำสำรองอยู่น้อยกว่า ตามสัดส่วน ผมขออธิบายว่า สหรัฐอเมริกาทำได้ดี ในเรื่องของการสร้าง ความมั่นใจให้กับชาวอเมริกันด้วยกันเอง และชาวต่างประเทศ และสิ่งนี้คือ จิตวิทยาที่ผมกล่าวถึง คือความ มั่นใจในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีสาเหตุมาจากสิ่งต่างๆ หลากหลาย และความมั่นใจนี้เอง ที่ทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงมีอยู่มากทั่วโลก และตราบใดที่ความต้องการเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีมาก คุณค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะยังคงมีมากพอ ตามกลไกของ อุปสงค์และ อุปทาน

ความมั่นใจในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากไหน? มาจากสรรพสิ่งต่างๆ อันเนื่องด้วยประเทศสหรัฐฯ (Things American) ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ, ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ, นโยบายของประเทศ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ, กำลังอาวุธและกองทัพ, กฎระเบียบ มาตรการ และกฎหมายที่ดี ซึ่งมีการบังคับใช้ที่ดี, ดาราฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงโด่งดัง, นักร้องที่มีเพลงอันน่าประทับใจ เปิดทัวร์คอนเสริ์ทไปทั่วโลก, เทคโนโลยีอันทันสมัย, องค์การนาซาที่บุกเบิกอวกาศเหนือใคร, บริษัทเอกชนใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนทั้งโลก อย่างเฟสบุ๊ค, ไมโครซอฟท์, แอปเปิ้ล, อะเมซอน, โบอิ้ง, ฟอร์ด, สตาร์บั๊คส์, ซิสเลอร์, เคเอฟซี, แมคโดนัลด์ และอื่นๆ, ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ, ผู้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์อยู่เรื่อยๆ, ความมั่นคงของประเทศ, นักการเมืองที่มีชื่อเสียง, แบรนด์สินค้าและบริการของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ อย่างไนกี้, มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก, อัตราประชากรที่มีการศึกษาสูงกว่าประเทศอื่น, ภาษาอังกฤษที่คนทั่วโลกต้องยอมเรียนเป็นภาษาที่สอง, วัฒนธรรมอเมริกัน ประเพณี และวันสำคัญ, สถาบันทางการเงินระดับโลกที่มีชื่อเสียงดี เป็นที่น่าเชื่อถือ, นักกีฬาที่แข่งได้เหรียญทองโอลิมปิค, ขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่กว้างขวาง และเกียรติประวัติของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เอง ที่ยังคงทรงคุณค่าอยู่เสมอมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะเปลี่ยนผู้บริหารไปอย่างไร

ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า เพียงแค่ธนบัตรหรือเหรียญเดียว จะมีกลไกและมาตรการ รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง อันซับซ้อนประกอบกันอยู่มากมาย ที่ค้ำประกันคุณค่าแห่งธนบัตรหรือเหรียญๆ นั้น ซึ่งเราก็พอจะเห็นได้ว่า ประเทศอื่นๆ ที่มีอิทธิพลทางจิตวิทยามวลชนโลกคล้ายๆ สหรัฐอเมริกา อย่างสหราชอาณาจักร, จีน, เยอรมนี, สวิสเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ก็มีเงินสกุล ที่ได้รับความไว้วางใจ และความมั่นใจจากคนในประเทศและชาวโลกมากน้อยกันตามลำดับ ส่วนประเทศที่สร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นได้น้อยมาก ก็มีผลกระทบต่อเงินสกุลของตนเป็นเงาตามตัว ทำให้มีธนบัตรใบละหมื่น ใบละแสน ใบละล้าน ซึ่งซื้อไข่ไก่ได้ตะกร้าเดียวครับ ดังฉะนี้.

 

บทความนี้สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์ (รจนาธร)

15 มกราคม พ.ศ. 2566

www.Meditation101.org


Dhammonomics: เงินเฟ้อคืออะไรในเชิงจิตวิทยา?

เงินเฟ้อมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมส่งผล แต่โดยนัยยะทั่วไปประการหนึ่ง คือเกิดจากภาวะที่เงินในระบบมีมากกว่ามูลค่าผลผลิตและบริการที่แท้จริง (อาจอยู่ในรูปของ GDP) ซึ่งส่งผลทาง “จิตวิทยามวลชน” ที่ทำให้ “มโนคติ” ในการตัดสินใจใช้จ่ายและเก็บออมเงินและทรัพยากร กอปรเป็น “พฤติกรรม” ในการอุปโภค และบริโภค กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มีทรัพยากรใดมากเฝือ ความเห็นคุณค่า (value) ที่กำหนดได้เป็นราคา (price) ต่อปริมาณ (quantity) ก็จะด้อยลงโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น “เพชร” กับ “ก้อนหิน” ถ้าโลกของเรามีเพชรมากพอๆกับก้อนหิน มนุษย์ก็จะไม่ให้คุณค่า มากนัก เช่นเดียวกันกับเงินในระบบเศรษฐกิจ ถ้ามีปริมาณเงินหมุนเวียนมากเกินไป เงินนั้นก็จะด้อยค่าลง ตามกลไกเศรษฐกิจ แต่อาจไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมส่งผล เช่นการแทรกแซงจากภาครัฐ และอื่นๆ   

เหตุผลในเชิงจิตวิทยา และพระพุทธศาสนาสามารถอธิบาย “มโนคติ” ที่เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ได้ว่า ปกติแล้วเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า “ความต้องการ” หรือ “อุปสงค์” หรือ Demand ของมนุษย์นั้นไม่มีวันหมด เทียบได้กับ “ตัณหา” หรือ “ความทะยานอยาก” หรือ “Craving” ของมนุษย์ซึ่งมีอยู่เรื่อยๆ โดยนัยนี้ เมื่อมนุษย์มีเงิน หรือทรัพยากร ที่ “เติมเต็ม” ความต้องการ หรือ ความทะยานอยากนั้น ก็จะเกิด “ความพึงพอใจ” ซึ่งภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Utility of Satisfaction เมื่อเกิดความพึงพอใจแล้ว ความต้องการก็ระงับหรือบรรเทาเบาบางลง เมื่อความต้องการเกิดขึ้นอีก ก็ต้องเติมเต็ม คือบริโภคอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิด “มโนคติ” ของมนุษย์แต่ละคน ว่าจะให้ความสำคัญกับเงินและทรัพยากรต่างๆ มากน้อยเพียงใด คิดเป็นราคาเท่าใด ต่อปริมาณเท่าใด เพื่อนำมา “สนองตัณหา” คือการเติมเต็มความต้องการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจนั้น ถ้าเพชรในโลกมนุษย์เป็นสิ่งหายาก และมีจำนวนน้อย มนุษย์ก็เติมเต็มความต้องการได้ไม่มาก ความต้องการที่ยังมากอยู่ ก็จะส่งผลให้คำนึงถึงเพชรว่ามีค่ามาก มีราคาสูง แต่เมื่อใดที่โลกมนุษย์มีเพชรมากมายเหมือนก้อนหิน มนุษย์ได้เพชรมาเติมเต็มความต้องการมากจนเหลือเฟือ ความต้องการก็น้อยลง ส่งผลให้คำนึงถึงเพชรว่ามีคุณค่าน้อย มีราคาน้อย ดังนี้.  

โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

Economic Commando

19 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org


Dhammonomics: เงินเฟ้อคืออะไร? ทำไมรัฐบาลไม่สามารถพิมพ์เงินแจกฟรีได้?

เงินเฟ้อคืออะไร? เงินเฟ้อคือสภาวการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ มีเงินหมุนเวียนมากเกินกว่ามูลค่าผลผลิตและบริการที่แท้จริง (อาจอ้างอิงตาม GDP) ซึ่งส่งผลต่อ ดุลยภาพ” หรือ "จุดตกลงยอมรับ" (equilibrium) แห่งอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ของสินค้าและบริการ แต่ละอย่างละอย่าง ที่ต่างก็หน่วงเหนี่ยว ยึดโยง กันและกัน ใน ห่วงโซ่อุปทานทำให้ส่งผลถึง ราคา” (price) และ ปริมาณ” (quantity) ที่ต่างก็อิงกันและกันไว้ในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ กอปรเป็น ค่าครองชีพของแต่ละระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลพิมพ์เงินป้อนเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก โดยที่มูลค่าผลผลิตและบริการที่แท้จริงของประเทศมีน้อย กลไกของตลาด ซึ่งถือได้ว่าเป็น "จิตวิทยา" อย่างหนึ่ง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ขาย และผู้ซื้อ ก็คือจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพราะเงินที่พิมพ์ป้อนเข้ามามากนั้น "ไม่มีมูลค่า" มากนัก ที่กำกับโดยผลผลิตหรือบริการต่างๆ ซึ่งอิงกันและกันอยู่เป็นทอดๆ เช่น มานี มีแม่ไก่ 1 ตัว แม่ไก่ออกไข่ได้วันละ 10 ฟอง มานีขายไข่ฟองละ 3 บาท เมื่อรัฐบาลพิมพ์เงินแจก ลูกค้ามานีมีเงินมากขึ้น จึงแย่งกันซื้อไข่ไปหมด บางคนยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อแย่งซื้อ เพราะเงินได้มาฟรีๆ ไม่ค่อยเสียดาย ราคาของไข่ไก่จึงเพิ่มขึ้นเป็นฟองละ 4 บาท นี้เป็นตัวอย่าง แต่สถานการณ์จริงมีความหลากหลาย ไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป

ห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลถึงราคาก็คือ “ดุลยภาพ” หรือ จุดตกลงยอมรับ (equilibrium) ของ ความต้องการสินค้า (อุปสงค์ / demand) และ การผลิตและบริการเพื่อตอบสนอง (อุปทาน / supply) ที่ตกลงกันได้ ด้วย “ราคา” และ “ปริมาณ” ในการซื้อขายสินค้า และบริการ แต่ละอย่าง เมื่อมีสินค้าและบริการหลายอย่าง ก็ต้องคำนึงถึงราคาหลายราคา เช่น ห่วงโซ่อุปทานของ “ก๋วยเตี๋ยว” หนึ่งชาม ได้แก่ จุดตกลงยอมรับราคาและปริมาณ ของชามก๋วยเตี๋ยว, ช้อน, ตะเกียบ, เส้นก๋วยเตี๋ยว, ถั่วงอก, ลูกชิ้น, กระเทียม, น้ำมัน, พริกป่น, น้ำตาล, น้ำปลา, ผงชูรส, ส่วนผสมน้ำซุป, เตาแก๊ส, ตะบวย, ตะกร้อลวกเส้น, เนื้อหมูและกระดูกหมู, น้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, โต๊ะและเก้าอี้กินก๋วยเตี๋ยว, ค่าเช่าร้าน, พัดลม, แอร์, ค่าเดินทางไปซื้อวัตถุดิบ, ค่าจ้างคนงาน และอื่นๆ ซึ่งสินค้าทั้งหมดเหล่านี้เป็นห่วงโซ่อุปทานของก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ถ้าหากค่าน้ำมันขนส่งขึ้นราคา สินค้าทั้งหมดดังกล่าวนั้น ล้วนอาศัยยานพาหนะในการขนส่งจากแหล่งผลิตมายังตลาด ต้นทุนรวมของทุกรายการจึงทำให้ก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคา ในทำนองเดียวกันกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนรวมทุกรายการของก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคาเช่นกัน.

สงวนลิขสิทธิ์ โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

Economic Commando

18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org



 


Q&A: การแลกเปลี่ยนเงินสกุลแบบเก่า คือการใช้ธนบัตร น่าจะเริ่มล้าสมัย และปัจจุบันมีการโอนเงินผ่านระบบไซเบอร์มากขึ้น จะคุ้มค่าหรือไม่ หากเราจะรวบรวมธนบัตรใบละ 1 หรือ 5 ดอลลาร์ มาแลก?

คำตอบคือ ให้ประยุกต์ใช้ครับ หมายความว่า หากมีการโอนเงินจ่ายด้วย Wire Transfer, Online Banking, Credit Card หรือ QR Code เพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการ เช่น

ค่าแท็กซี่ 1 - 5 ดอลลาร์ ให้คิดอัตรา USD1 = 30 บาท

ถ้าจ่ายค่าอาหาร 10 - 49 ดอลลาร์ ให้คิดอัตรา USD1 = 32 บาท

ถ้าจ่ายค่าที่พักโรงแรม 50 - 100 ดอลลาร์ ให้คิดอัตรา USD1 = 33 บาท

คือแทนที่จะเป็นธนบัตร ก็นับเป็นมูลค่าเงินที่ใช้ในการโอนจ่ายครับ และในทางกลับกัน เราสามารถนำมาใช้กับเงินบาทได้ด้วย ยิ่งปัจจุบันนี้เริ่มมีการใช้ “บาทดิจิทัล” ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังทดลองใช้อยู่ครับ.


สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org


Q&A: มูลค่า foreign reserve แต่ละปี ต้องสูญเสียเงินมหาศาล เพราะอัตราเงินเฟ้อ ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้?

คำตอบคือให้เก็บอยู่ในรูป "ธนบัตร" ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนดีที่สุด เช่น ใบละ USD 50 - 100 หรือมิฉะนั้น ก็ซื้อธนบัตรใบละ USD 1 - 5 มาสะสม แล้วนำไปแลกใบละ USD 100 ก็จะกำไรส่วนต่าง หรือมิฉะนั้น ต้องนำเงิน foreign reserve แลกไปแลกมาเป็นระยะๆ เมื่อถึงจังหวะอัตราเงินเฟ้อจะเกิดขึ้น โดยต้องดูนโยบายธนาคารชาติของเจ้าของเงินสกุลด้วย อนึ่ง ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทย อาจจะทำแบบเงินดอลลาร์สหรัฐ คือมีอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับธนบัตรชนิดต่างๆ เพื่อทำ Exchange Rate Band เช่น

ธนบัตร 1000 บาท แลกได้ USD 1 / 30 Baht

ธนบัตร 500 บาท แลกได้ USD 1 / 31 Baht

ธนบัตร 100 บาท แลกได้ USD 1 / 32 Baht

นอกจากนี้ เรายังสามารถประยุกต์ใช้ Double / Triple Exchange Rate ภายในประเทศ ในทำนองเดียวกับที่ผมเสนอเรื่อง 1 บาท = 100 - 103 สตางค์ ซึ่งเป็นเพียงอัตราแลก ไม่มีธนบัตรหรือเหรียญ circulate เราสามารถผนวกเทคนิคนี้เข้าด้วยกัน สำหรับใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจภายในประเทศภายใต้กำกับการของธนาคารแห่งประเทศไทยครับ

อย่างไรก็ตาม หากการแลกเปลี่ยนเงินสกุลจาก foreign reserve ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือน quick asset อื่นๆ ให้ลองทำวิธีที่ผมเคยเสนอคือ Currency Bidding หรือ "ประมูลเงินสกุล" เพื่อให้ได้อัตราที่ดีที่สุด หรือยอมขาดทุน เท่าทุน ในการแลกเปลี่ยนเงินสกุล โดยแลกกับ "กำไร" อย่างอื่น เช่น นำเงินดอลลาร์ไปซื้อน้ำมันดิบมาขายต่อ แล้วนำกำไรมาหักลบกลบหนี้จ่ายคืนเข้า foreign reserve ครับ

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org


Q&A: เงินเฟ้อแก้ได้แล้ว ฟองสบู่แตกจะทำอย่างไร?

คำตอบคือ รัฐบาลน่าจะมอบหมายให้ "ธนาคารอาคารสงเคราะห์" เป็นผู้ deal กับธนาคารพาณิชย์ ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาพิเศษ ก่อนจะถูกนำไปสู่การบังคับคดีประมูลขาย โดยรัฐบาลอาจจะอนุมัติให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ แล้วนำเงินนั้นไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่เรากู้มา แล้วนำสินทรัพย์นั้นไปขายให้ข้าราชการ ประชาชน และสมาชิกสหกรณ์ (อีกแล้ว) ในราคาและอัตราดอกเบี้ย ที่ดีและเป็นมิตร ตามนโยบายธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งมิได้แสวงกำไร เมื่อขายได้แล้ว ก็นำเงินคืนให้ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้อาจใช้เทคนิค Money Juggling ตามที่ผมเคยเสนอ คือธนาคาร A กู้จากธนาคาร B แล้วธนาคาร B กู้จากธนาคาร C ซึ่งกู้อีกทีจากธนาคาร A ทำให้เงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศและควบคุมได้ตามแต่จะเจรจาตกลง

โดยนัยนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์อาจจะไม่จำเป็นเลย ที่จะต้องสร้างอาคารขึ้นเอง ซึ่งคุณภาพอาจไม่ทัดเทียมกับที่เอกชนสร้างครับ ดังนี้แล้วเท่ากับว่า สินทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์จะกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ไม่ใช่ชุมชนคนรายได้ต่ำ เหมือนอย่างบ้านเอื้ออาทร ครับ สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ช่วยธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก็อาจได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาล เช่นสามารถซื้อขายเงินสกุลต่างประเทศกับรัฐบาล โดยรัฐบาลเล่นอัตราค่าเงินบาท เงินสตางค์ แล้วค่อยให้แลก สำหรับนำไปทำ foreign reserve ฯลฯ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ก็สามารถร่วมมือกับธนาคารในการขายอาคารพาณิชย์ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ร่วมมือกับธนาคาร ในการขายอาคารโรงงาน ซึ่งอาจทำตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยเน้นผู้สูงวัยที่เกษียณงาน นอกจากนี้หากภาครัฐสามารถร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ในการคุมกำเนิดการสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆได้ ให้อุปสงค์ สอดคล้องกับอุปทาน ก็น่าจะพอแก้ไขภาวะฟองสบู่แตกได้ครับ.

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org


Q&A: การเล่นอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลภายในประเทศจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง?

คำตอบคือ ค่าเงินจะขึ้นลงเหมือนราคาทองและราคาน้ำมันภายในประเทศที่ภาครัฐพอจะกำกับได้ ดีกว่าปล่อยลอยตัว 100% เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ เช่นบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยมีผลประกอบการรวม 120 ล้านบาท พอจะแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐส่งกลับบริษัทแม่ที่สิงคโปร์รัฐก็อาศัยค่าเงินสตางค์นั้น ทำให้เงินบาทแข็งค่า ด้วยการกำหนดให้ 1 บาท เท่ากับ 103 สตางค์ เพื่อให้บริษัทแลกเงินดอลลาร์สหรัฐได้มากขึ้น โดยแลกกับธนาคารไทย เพื่อเอาใจนักลงทุนครับ แล้วธนาคารไทย ก็ได้ดอลลาร์เก็บไว้ใช้ หรืออาจขายให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับทำ foreign currency reserve เมื่อแลกเสร็จก็ปรับอัตราคืนที่เป็น 1 บาท 100 สตางค์ แล้วรัฐบาลจะทำกองทุนมารองรับเหมือนกองทุนน้ำมันก็ได้ครับ

วิธีที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าอ่อนค่าโดยรัฐมิได้กำหนดเองน่าจะทำได้ด้วยการทำตลาดเงินสกุลแบบปิดเพื่อค้ากันเฉพาะภายในประเทศไทย แล้วรัฐนำทองคำ หรือเงินสกุล จากกองทุนมาซื้อขายด้วยวอลุ่มที่มากพอจะทำให้ค่าเงินเปลี่ยนในช่วงสั้นๆครับ นอกจากนี้ก็มีการใช้เงินบาทซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และใช้เงินสกุลซื้อทองคำครับ ถ้าขายเป็นแท่งแล้วกำไรก็ขายไป ถ้าไม่กำไรก็ทำเป็นเหรียญกษาปณ์ครับ แล้วเล่นทอง เหรียญกษาปณ์ทองคำจำหน่ายเฉพาะในประเทศก็หมดเกลี้ยงแล้วครับ ยิ่งทำตามที่ผมบอกคือปรับมูลค่าหน้าเหรียญให้สูงหน่อยครับ หากมูลค่าหน้าเหรียญกษาปณ์ทองคำ ลดลงเพราะเงินเฟ้อ มูลค่าเหรียญกษาปณ์ทองไม่ค่อยจะด้อยค่าลง ด้วยความที่เป็นโลหะล้ำค่า และคุณค่าทางจิตใจในการสะสม ประกอบกับเป็น quick asset ที่แลกเป็นเงินสดได้ง่าย ถ้ามูลค่าหน้าเหรียญจะลดก็ลดตั้งแต่เหรียญของเมื่อร้อยปีก่อนแล้วครับ แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเลย

อนึ่ง มีหลายวิธีที่จะรักษามูลค่าหน้าเหรียญของกษาปณ์ทองคำ เช่นระบุเป็น ‘Thai Dollar’ คือนำมาแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้ที่ธนาคารในประเทศไทย หรือ ‘Year Value’ คือราคาตามปีปฏิทินที่เพิ่มเรื่อยๆ เช่นในปี พ.ศ. 2565 เหรียญมีราคา 2565 บาท ปี พ.ศ. 2600 เหรียญมีราคา 2600 บาท หรือราคาตามราคาประเมินที่ภาครัฐทำรายงานประเมินไว้ในแต่ละปี ซึ่งมีคุณค่าตามอัตราเงินเฟ้อและอุปสงค์ในการสะสมครับ

เรื่องเหรียญกษาปณ์ทองคำปลอมนั้นไม่ยากแล้วครับ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เพียงแต่เปิดให้มีการลงทะเบียน และโอนกรรมสิทธิ์ บันทึกผู้เป็นเจ้าของมาตามลำดับ รวมถึงรหัสเหรียญ เหมือนใบหุ้น หรือสมุดเล่มทะเบียนรถยนต์ แล้วรัฐบาลอาจจะร่วมมือกับสถาบัน GIA ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบอัญมณี สามารถตรวจสอบว่าเหรียญทองคำนั้นแท้หรือไม่แท้ด้วยครับ.

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

16 ถึง 18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org

 

Q&A: ปัจจุบันนี้มีคนเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลง รูปแบบการอุปโภค บริโภคต่างไป ทำอย่างไรธุรกิจร้านค้าจะอยู่รอดได้?

คำตอบคือ อ้างถึงโครงการ The Cyber Mall ที่ผมเคยเสนอไว้ คือสร้างช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์สำหรับคนขายของออนไลน์แล้วมีหน้าร้านเล็กๆให้ มีอ็อฟฟิส และพื้นที่แพ็คของด้านหลัง มี 3 ขนาดให้เลือก แล้วในคอมเพล็กซ์มีร้านบริการส่งพัสดุ มีร้านขายบรรจุภัณฑ์ มีร้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มีไวไฟให้ใช้ฟรี มีโกดังให้เช่า มีเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ มีฟู้ดคอร์ท มีบริษัทอบรมขายของออนไลน์ อย่างเรดดี้แพลเน็ท มีรถบรรทุกให้เช่า มีอ็อฟฟิสเสปซให้เช่า มีลานแสดงสินค้าย่อมๆ มีธนาคาร มีเนอสเซอรี่ดูแลเด็กอ่อน มี DTAC Shop ครบวงจรอยู่ในคอมเพล็กซ์ เปิดให้เช่า โดยภายในห้างจะมีระบบเชื่อมโยง “หลังร้าน” ที่แต่ละร้านสามารถขนของเข้าออก และนำไปส่งผ่านบริษัทรับส่งสินค้าและไรเดอร์ได้ โดยไม่ทำลายบรรยากาศหน้าร้านครับ.

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

16 ถึง 18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org

 

Q&A: ทำอย่างไร ระบบสหกรณ์ออนไลน์จะใช้ได้ผล?

คำตอบคือ น่าจะทำสหกรณ์คล้ายผู้ใช้บัตรเครดิตครับ คือใครซื้อมากได้เงินคืน 3% ของยอดใช้จ่ายทุกเดือน แต่เราให้ซื้อแบบเดบิต ยกเว้นลูกค้าธุรกิจที่จะมีวงเงินสินเชื่อในการซื้อของด้วยครับ โดยจะทำระบบแพลทฟอร์มที่มีเสถียรภาพสูงก็แค่เทคโอเวอร์บริษัทออนไลน์ช้อปปิ้งมาทำต่อยอดครับ และถ้าหากรัฐบาลตั้งสหกรณ์แห่งชาติ โดยมีสหกรณ์ท้องถิ่น และสหรกรณ์อื่นๆ เป็นลูกข่าย ซึ่งทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกในท้องถิ่น ผสานความร่วมมือกับภาครัฐซึ่งเป็นผู้จัด “แพลทฟอร์ม” ผลักดันให้ประชาชนเข้าสู่การซื้อขายออนไลน์ ที่สนับสนุนผู้ผลิตภายในประเทศ ประเทศไทยจะไม่ขาดดุลการค้าสะสม และความเสียหาสะสมในรูปของเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนมหาศาล ที่แต่ละรัฐบาลได้กู้สะสมรวมกันไว้ นอกจากนี้ยังสามารถจัดเก็บภาษีซื้อขายออนไลน์ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยอาจคิดเพียง VAT 3% คือภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยอัตราที่เข้าใจง่าย และไม่ซับซ้อน หรือถ้ารัฐบาลจะจัดให้ สหกรณ์ออนไลน์ กลายเป็น “ร้านค้าดิวตี้ฟรี” คือซื้อขายไม่เสียภาษี ทุกรายการ หรือบางรายการ ที่เป็นโปรโมชั่น โดยเพียงแต่จ่ายค่าสมาชิกบำรุงสหกรณ์ หรือซื้อหุ้นสหกรณ์ ก็จะเป็นแรงจูงใจที่ดีให้มีผู้หันมาใช้กันมากขึ้นครับ.

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

16 ถึง 18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org

 

Q&A: ในกรณีของสหกรณ์ออนไลน์ รัฐบาลจะเข้าควบคุมธุรกิจหรือไม่?

คำตอบคือ ก็น่าจะกึ่งๆครับ แต่นโยบายของผมคือให้บริหารลูกค้าผ่านธนาคารพาณิชย์ เช่นการปล่อยกู้ก้อนใหญ่ และการแนะนำให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ลูกค้า ซึ่งผมอยากให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยครับ

เรื่องห้างสรรพสินค้าสหกรณ์ออนไลน์นั้น ประชาชนจะได้ประโยชน์มากครับ และน่าจะตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคไซเบอร์ ลูกค้าที่ประกอบอาชีพค้าขาย จะสามารถสั่งซื้อสินค้าในราคาที่เลือกได้มากขึ้น ส่วนยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และโชว์ห่วย จะกลายเป็น "หน้าร้าน" ให้กับเราทั่วประเทศ โดยไม่ต้องลงทุนไปซื้อ ไปเช่า เพียงแต่วางระบบและปรับตัวกันบ้าง หน้าร้าน สามารถ รับ-ส่ง สินค้า กระจายเข้าชุมชน อย่างรวดเร็วกว่า การสั่งไรเดอร์มาส่ง ซึ่งบางอย่างลูกค้าไม่อยากจะรอ ก็ไปรับของ หรือให้หน้าร้านในชุมชนมาส่งครับ เราสามารถเชื่อมทุกภาคส่วนเข้าหากัน โดยให้มีผู้สูญเสียรายได้ น้อยที่สุด รวมถึงเชิญผู้ที่อาจจะเสียประโยชน์มาร่วมเป็น “หุ้นส่วน” ครับ

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

16 ถึง 18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org

 

นานาสาระ: Dhammonomics เรื่อง Pirajak's Band of Interest Rates เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ

วิธีการคือเล่น debit กับ credit ในระบบบัญชี กล่าวคือ ประชาชนสามารถซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นจากเงินเฟ้อ ด้วยวงเงินเครดิตกับธนาคารพาณิชย์ หรือสหกรณ์โดยไม่มีดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาหนึ่งปี หรือตามแต่จะระบุ แต่ประชาชนจะต้องมีบัญชีเงินฝากรายได้จากธุรกิจกับธนาคารเดียวกัน โดยมีดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่ เมื่อหักลบกับเครดิตแล้ว ชดเชยเงินเฟ้อไปในตัว วิธีการนี้เป็นการเล่นเทคนิค debit/credit ในบัญชีครับ ส่วนประโยชน์ที่ธนาคารจะได้รับคือมีลูกค้าที่มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ และมีลูกหนี้ ซึ่งหนี้นั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่นขอลดหย่อนภาษี หรือขอกู้จากธนาคารรัฐ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยครับ ส่วนธนาคารรัฐ ก็กู้จากธนาคารออมสิน หรือธนาคารพาณิชย์อีกที ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็ทำ reserve โดยอาจจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนกับธนาคารพาณิชย์ แล้วปล่อยตัวเลขออกมาให้กู้ครับ เมื่อระบบการเงินใช้เทคนิคต่างๆ ตามที่ผมเสนอแล้ว จะเป็นคล้ายสหรัฐฯที่มีกลไกต่างๆ แล้วพิมพ์เงินออกมาใช้เองเพียงอย่างเดียวก็หาไม่ แต่ต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง ความมั่นคง และมาตรฐานของการปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบ ที่สถาบันการเงินสามารถรักษาเสถียรภาพไว้ได้โดยมีหลักประกันอย่างทองคำ และเงินสกุล รวมถึงสินทรัพย์ต่างๆ รวมอยู่ด้วย

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

16 ถึง 18 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org


เศรษฐกิจยุคโควิด 19: ปัญหาและทางแก้ไข

ช่วงนี้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขยับขึ้นราคา เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันคือ

(1) ไวรัสโควิดระบาด ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ในการรักษาสุขอนามัย ค่าใช้จ่ายหลายอย่างอันเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมกันเพิ่มมากขึ้น

(2) ไวรัสโควิดระบาด ประชาชนทำงานตามปกติไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยี work from home ซึ่งมีต้นทุนทางอุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าประเทศ ไม่สามารถผลิตเอง

(3) ไวรัสโควิดระบาด ประชาชนทำงานไม่ได้ การปิดร้าน ทำให้รายได้ลด และลูกค้าน้อย ทำให้ไม่เกิด economy of scale คือจุดคุ้มทุนขยับสูงขึ้น

(4) ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ต้นทุน ตลอดห่วงโซ่อุปทานรวมกัน สูงขึ้นตาม

(5) มาตรการเงินเยียวยาชดเชย (subsidy) ของประเทศไทย และต่างประเทศ ทำให้เกิดเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนฉุดกันและกัน

(6) มีผู้ฉวยโอกาสนี้ ขึ้นราคาสินค้าไปพร้อมๆ กัน

(7) ฯลฯ

ผมขอเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเพิ่มสูง เฉพาะหน้านี้ ด้วยการปัดฝุ่นโครงการ "ธงฟ้าประชารัฐ" โดยรัฐบาลจัดหา จัดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายในราคาประหยัด ทั่วประเทศ และถ้าจะให้มีผลดีระยาว ควรสร้าง National E-Cooperative Market Platform คือแพล็ทฟอร์มการค้าออนไลน์ด้วยระบบสหกรณ์ ที่สนับสนุนเฉพาะสินค้าที่ผลิตในไทยราคาประหยัด เป็นธรรม ค้าขายในหมู่คนไทย มีระบบรับประกันคุณภาพสินค้า และจัดส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่วนหนึ่งอาจซื้อขายด้วย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินเยียวยาจากภาครัฐ ผนวกทั้งระบบออนไลน์ (on-line) เข้ากับออฟไลน์ (off-line) ที่เป็นหน้าร้าน คือออเดอร์ออนไลน์ แล้วแพลทฟอร์ม แจ้งไปยังร้านค้าในท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกธงฟ้าประชารัฐ ให้จัดส่งให้ หรือมารับที่หน้าร้าน ทั้งนี้อาจดำเนินในรูปของ “รัฐวิสาหธุรกิจ” ที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ร่วมลงทุนและอำนวยการในลักษณะของการเนติพิสิทธิ์ (charter) หรืออยู่ในพระอุปถัมภ์ หรือเป็นสหกรณ์ตามกฎหมาย โดยที่ประชาชนคนไทยทุกคนที่มีบัตรประชาชนจะเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ และมี “หุ้นส่วน” ที่ปันผลทุกปี

อนึ่ง วิธีที่จะลดต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างรวดเร็วและไม่ใช้เงินมาก ก็ต้องรู้จักทำเทรดดิ้งซื้อมาขายไป เหมือนอย่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งผมเคยแนะนำไว้แล้ว คือซื้อหุ้นบริษัทเทรดดิ้งดีๆ แล้วให้บริษัทนั้นเป็นตัวแทนซื้อขายให้เรา โดยอยู่ในรูปของชาวต่างชาติ และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อทำ G2G Market และ G2B Market

นอกจากนี้ ถ้ารัฐบาลไทยเปิดให้ SME แปลงกิจการเป็นหุ้นให้ภาครัฐถือหุ้นเพื่ออุ้มธุรกิจไว้ แล้วหุ้นนั้นมีสิทธิ์แลกซื้อสินค้าฟรีที่ผลิตในไทย จำหน่ายผ่านสหกรณ์ออนไลน์แล้ว SME นำสินค้านั้นไปใช้อุปโภคบริโภคพร้อมทั้งเป็นทุนในการประคับประคองกิจการต่อไปก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น โดยที่การจ่ายเงินเยียวยาไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อมากนัก

ถ้าภาครัฐแทรกแซงกลไกตลาดได้ วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นไม่ยาก แต่เป็นเพราะระบบเศรษฐกิจเสรีอย่างตะวันตกที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศทำให้เกิดตกหล่มแก้ไม่ตก เพราะถ้าทำก็จะทำให้เกิดการละเมิดระบบที่วางไว้และผิดกฎหมาย การปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามกลไกของตลาด จึงก่อให้เกิด Market Pain หมายความว่า การขาดทุน และขาดดุล ตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน จะทำให้มีผู้สูญเสีย ยกตัวอย่างเช่น มีร้านกาแฟอยู่ในตำบลจำนวน 3 แห่ง เมื่อภาครัฐไม่จำกัดหรือควบคุม ก็มีร้านกาแฟมาเปิดขายเพิ่มเรื่อยๆ เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด เป็น 6-7 แห่ง เมื่อมีร้านกาแฟมากขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ หรือความต้องการกาแฟในตำบลมีเท่าเดิม คือประชากร 400 คน ร้านกาแฟที่ขาดทุนก็ต้องปิดตัวไป เกิดความสูญเสีย แต่ถ้าภาครัฐเข้าแทรกแซง ไม่อนุญาตให้เปิดร้านกาแฟเกิน 4 แห่ง ทุกร้านก็จะพอทำกำไร และอยู่ในธุรกิจได้

การลดราคาสินค้าอย่างง่ายๆ ทำได้ด้วยระบบเดียวกับ World Dollar ที่ผมเคยเสนอ แต่ทำเฉพาะภายในประเทศหรือภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศเช่น ไทย ลาว เมียนมาร์ แล้วเล่นกำหนดราคาทอง เข้ากับสกุลเงิน พ่วงกับบิทคอยน์ แล้วกำหนดควบคุมตรึงราคาสินค้าหลักเช่นไข่ไก่, น้ำมัน, ข้าวสาร ฯลฯ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนทองคำและไข่ไก่กับสินค้าอื่นๆ โดยใช้สินค้าเป็นตัวกำหนด เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 1 วัน เท่ากับไข่ไก่ 30 ฟอง, อาหารตามสั่ง 1 มื้อ เท่ากับ ไข่ไก่ 8 ฟอง, น้ำมันหนึ่งลิตร เท่ากับ ไข่ไก่ 10 ฟอง, ข้าวสารหนึ่งกิโลกรัม เท่ากับ ไข่ไก่ 12 ฟอง โดยที่เราเลือกแปลงค่าจากดัชนีราคาสินค้าจากบันทึกในช่วงที่เศรษฐกิจดี และเงินเฟ้อต่ำ และไม่ว่าค่าเงินจะเฟ้อสักเท่าใด อัตราแลกเปลี่ยนสินค้าที่แทนค่าด้วยไข่ไก่ควรจะคงเดิม สาเหตุที่ผมแนะนำให้ทำดังนี้ก็เพราะ “ระบบบาร์เธอร์ซิสเต็ม” (สินค้าแลกสินค้า โดยไม่ใช้เงิน) ถ้าใช้ดีๆจะไม่ค่อยมีเฟ้อ ยกเว้นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการหักเหของความต้องการของตลาดครั้งสำคัญ เช่นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมจากการดื่มน้ำอัดลม มาดื่มกาแฟสด

อาเซียนดอลลาร์ และสุวรรณภูมิดอลลาร์ สามารถเกิดขึ้นได้ ในทำนองเดียวกับ เวิลด์ดอลลาร์ โดยเป็นเพียงอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง ไม่มีเหรียญกษาปณ์ และธนบัตร ไม่ต้องใช้หลักประกันด้วยทองคำ หรือเงินสกุล แต่อาศัยกฎหมายของประเทศในการรับรอง ดังนี้แล้วเราสามารถจูน (tune) ค่าเงินสกุล ด้วย เวิลด์ดอลลาร์, อาเซียนดอลลาร์, สุวรรณภูมิดอลลาร์, ที่มีธนาคารโลก, ธนาคารอาเซียน, หรือธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด ส่วนในประเทศไทยก็ทำได้ด้วยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนบิทคอยน์, ตำลึง, บาท, สลึง, สตางค์, เฟื้อง เราจะสามารถเล่นมายากลค่าเงินสกุลได้ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เช่นวันจันทร์ 1 บาท เป็น 100 สตางค์ วันอังคาร 1 บาท เท่ากับ 96 สตางค์ ถ้าเงินบาทแข็งหรืออ่อนในแต่ละวัน มันก็จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และราคาทองคำ โดยที่เงินสตางค์อาจจะไม่มีธนบัตรหรือเหรียญให้ใช้ แต่เป็นเพียง “อัตราแลกเปลี่ยน” หรือ “อัตราอ้างอิง” ที่ใช้ในประเทศ หรือภูมิภาคเท่านั้น อย่างเช่นในประเทศกลุ่มดินแดนสุวรรณภูมิ แต่เราต้องเก่งพอจะคิดเกมการเงินขึ้นมาเล่นได้ โดยทำภายในขอบเขตอำนาจที่มีอยู่ภายในประเทศ ถ้าจะลงรายละเอียดกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต้องมีข้อมูลรอบด้านมากพอ และต้องศึกษาเพิ่มเติม

ส่วนเรื่องน้ำมันขึ้นราคา ให้ใช้ เงินสกุลต่างประเทศ, สุวรรณภูมิดอลลาร์, หรืออาเซียนดอลลาร์ซื้อ โดยทำกลไกอัตราแลกเปลี่ยนอันชาญฉลาด กล่าวง่ายๆ คือเล่นกับอัตราแลกเปลี่ยน อย่าใช้เงินบาทซื้อ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าครับ ยกตัวอย่างเช่น เอาเงินสกุลจาก Currency Basket หรือ Foreign Reserve ของประเทศไปซื้อน้ำมัน แล้วเอาเงินสกุลอื่นแลกกลับเข้า Reserve ไป โดยเลือกเงินสกุลที่ประเทศผู้ขายน้ำมันต้องการ และซื้อน้ำมันได้ราคาดีกว่า ด้วยความแข็งค่า หรืออ่อนค่าของเงินสกุลนั้น เมื่อซื้อมาแล้ว ก็แบ่งไปขายประเทศอื่นด้วยราคาที่ดีกว่า แล้วได้เงินสกุลที่นำมาเล่นแลกเปลี่ยนได้อีก ก่อนที่จะเคลียร์คืนเข้า Foreign Reserve อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังสามารถเปิด “ประมูลซื้อน้ำมัน” ว่าประเทศใดจะเสนอขายด้วยราคาที่ดีที่สุด โดยเราจะจ่ายเป็นเงินสกุลที่ประเทศเหล่านั้นชอบ อย่าง US Dollar ส่วนแหล่งผลิตน้ำมันในประเทศอย่างอ่าวไทย สาเหตุที่คนไทยไม่ได้ใช้ ก็เพราะเวลาประมูล บริษัทขุดเจาะน้ำมันต่างชาติมีเทคโนโลยีการขุดที่ดีกว่า และมีเงินทุนและข้อเสนอที่ดีกว่า จึงมักจะชนะการประมูล ประกอบกับนักการเมืองและรัฐบาลต้องการเงินก้อน ผู้ประกอบการไทยจึงมักไม่ชนะประมูล เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการตั้งบริษัทเป็นสัญชาติไทยแบบร่วมทุนแล้ว “เข้าถือหุ้น” ในบริษัทขุดเจาะน้ำมัน เช่น เชฟรอนไทยแลนด์ จะสามารถมีบทบาทในการกำหนดนโยบายของบริษัทร่วมกันได้มากขึ้น ดังฉะนี้.

 

สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

12 – 14 มกราคม พ.ศ. 2565

www.Meditation101.org


เศรษฐศาสตร์คือสาขาวิชาความรู้ที่อธิบายปรากฏการณ์อันเกี่ยวเนื่องด้วยทรัพยากรในสังคมมนุษย์ โดยเริ่มแรก เศรษฐศาสตร์อธิบายว่าทรัพยากรนั้นมนุษย์แสวงหาได้มา, แลกเปลี่ยน, ใช้สอย, และสะสมอย่างไร ในรูปแบบและหน้าที่ต่างๆ

ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ต่างก็มีระบบที่ล้ำยุคในการจัดระบบระเบียบเศรษฐกิจ โดยที่ องค์กรภาครัฐ และเอกชน รวมถึงเครื่องมือ และกฎหมาย รวมถึงมาตรการและวิธีการต่างๆ ถูกสร้างขึ้น เพื่อควบคุมกลไกการทำงานของเศรษฐกิจ มิได้ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนา ไม่สามารถควบคุมเศรษฐกิจได้เต็มศักยภาพเหมือนอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะมีรูปแบบทางการเมือง การปกครอง การศึกษา และวัฒนธรรม ธรรมเนียมท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น การคอรัปชั่น และกิจกรรมตลาดมืด เช่นการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด ซึ่งมิได้รายงานให้ภาครัฐทราบ รวมถึงกิจกรรมซื้อขาย รวมถึงนำเข้าสินค้าและส่งออกต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือรายงานตัวเลขไม่ตรงตามจริง รวมถึงนักการเมือง และข้าราชการ ที่ทำงานตามธรรมเนียมของการเอื้อเฟื้อต่อผลประโยชน์ ซ้ำร้ายก็คือ บางประเทศจำเป็นต้องเปิดประเทศ และรับอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจ โดยที่ยังไม่พร้อมจะควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า การลงทุนต่างๆ ประเทศโลกที่สามที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจหรือ “คงอยู่รอด” จึงมักเป็นประเทศที่พบสูตรสำเร็จที่ลงตัวทางเศรษฐศาสตร์สำหรับตนเอง แม้ไม่ได้ประยุกต์ใช้หลักการและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อย่างชาติตะวันตก ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีน และประเทศเวียดนาม

ต่อไปนี้เป็นลำดับข้อเพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์:

1.      โลกของเรามีทรัพยากรต่างๆ อยู่มาก ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรเวลา

2.      ด้วยทรัพยากรดังกล่าว ก่อให้เกิดกิจกรรมที่มีมูลค่าของ

2A. ทรัพยากรธรรมชาติ 2B. ผลผลิต 2C. การบริการ

3.       ในสังคมมนุษย์ที่มีเจริญแล้ว ได้มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกัน

3A. การแลกเปลี่ยนแบบดั้งเดิม คือใช้ทรัพยากร แลกทรัพยากร เช่น ข้าวสาร แลกกับถ้วยชามกระเบื้องดินเผา

3B. แลกเปลี่ยนโดยใช้เงินตรา ซึ่งมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แทนมูลค่า

4.      การแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้วยทรัพยากรนั้น ไม่สะดวกสบาย ต่อการขนส่ง และสภาพคล่อง ในการเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสิ่งอื่น มนุษย์จึงนิยมใช้ “เงินตรา” ในการแทนมูลค่า

5.      เงินตราที่ถูกกำหนดขึ้นให้มีมูลค่าตามกฎหมาย อาจอยู่ในรูปของเปลือกหอย, เหรียญกษาปณ์, เงินกระดาษ, และวัสดุรูปลักษณ์ต่างๆ

6.      ในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ จำนวนเงินที่ควรมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ควรจะอยู่ในกรอบมูลค่ากิจกรรมแลกเปลี่ยนทรัพยากร

7.      ถ้ามีเงินตราอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากเกินกว่ากิจกรรมแลกเปลี่ยนทรัพยากร จะเกิดเงินเฟ้อ คือมูลค่าเงินลดลง เช่น จากกาแฟแก้วละ 35 บาท กลายเป็น 45 บาท

8.      ถ้ามีเงินตราอยู่ในระบบเศรษฐกิจน้อยเกินกว่ากิจกรรมแลกเปลี่ยนทรัพยากร จะเกิดเงินฝืด คือมูลค่าเงินสูงขึ้น เช่น จากกาแฟ แก้วละ 35 บาท กลายเป็น 30 บาท (แต่กรณีนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก)

9.      เมื่อเราทำกิจกรรมอันเนื่องด้วยทรัพยากร แล้วได้เงินตรามา เราสามารถที่จะ “แลกเปลี่ยน” เป็น ผลผลิต บริการ และทรัพยากรธรรมชาติ ณ เวลานั้นๆ ได้ แต่ถ้าเราเก็บออมเงินไว้ โดยที่อัตราเงินเฟ้อ (คือมูลค่าเงินลดลง) เร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินออม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เงินตรา ของเราจะมีมูลค่าที่แท้จริงน้อยลงภายในระยะเวลาหนึ่งๆ และไม่สามารถแลกเปลี่ยน ผลผลิต บริการ และทรัพยากรธรรมชาติได้มากเหมือนเมื่อครั้งได้เงินตรามาใหม่ๆ

10. ในการหลีกเลี่ยงปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้มูลค่าเงินลดลง ประชาชนนิยม ฝากเงินออม แบบที่มีดอกเบี้ยสูง, ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้น, ซื้อทองคำ หรือแลกเปลี่ยนเงินเป็นเงินสกุลอื่น ที่ “แข็งค่า” หรือ “เฟ้อน้อย” กว่าเงินสกุลเดิม หรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือกำไร จากเงินตรา

เล่าเรื่อง “เงินเฟ้อ”

Inflation หรือ "เงินเฟ้อ" คือปรากฏการณ์ที่ราคาสินค้าต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าและบริการนั้นๆ เพิ่มเติม หรือมี แต่เกิดจากปัจจัยส่งผลทางเศรษฐกิจต่างๆ ในขณะที่มูลค่าของเงินสกุลซึ่งแสดงถึงกำลังซื้อสินค้านั้นๆ ต่อหน่วยได้ลดลง ทั้งนี้ราคาสินค้าต่อหน่วยที่เพิ่มสูงขึ้น และกำลังซื้อของเงินสกุลต่อหน่วยที่ลดลง มีสาเหตุมาจากปัจจัยส่งผลอันหลากหลายในระบบเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

เงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ ก็คล้ายอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ที่มีแต่ลมในกระเพาะ ทำให้ไม่สบายกาย ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อและการแก้ไข มีลักษณะเป็นวัฏจักร ประเทศที่มีเงินเฟ้อมาก จะสังเกตได้ง่ายคือ “เงินสกุล” มีมูลค่าสูง แต่คุณค่ามีน้อย หมายความว่า ตัวเลขแทนค่าเงินมีมาก แต่กลับเป็นกำลังซื้อเพียงเล็กน้อย เช่นเงินธนบัตรใบละหนึ่งแสน สามารถซื้ออาหารธรรมดาได้เพียงมื้อเดียว

การที่เงินสกุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง จะเกิดอาการเฟ้อขึ้นมานั้น มีสาเหตุ หรือ “ปัจจัยส่งผล” ได้มากหลากหลายอย่าง เช่นราคาสินค้าที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจมาก เกิดเปลี่ยนแปลง, อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน เพราะการค้าระหว่างประเทศ และการซื้อขายเก็งกำไรค่าแลกเปลี่ยนเงินสกุล, ความเจริญ และความซบเซาของเศรษฐกิจ, ตลาดทุน (หุ้น), ราคาทองคำ, เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างมีนัยยะสำคัญ, กฎหมาย, เสถียรภาพในการปกครองประเทศ, การเมืองท้องถิ่น, การเมืองระหว่างประเทศ, ความรู้ความสามารถในการทำพาณิชย์ท้องถิ่น และระหว่างประเทศ, การนำเข้า และส่งออกสินค้า ฯลฯ

ยกตัวอย่างเงินเฟ้อจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

1.      รัฐบาลต้องการสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง จึงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

2.      เมื่อค่าแรงขึ้น ต้นทุนสินค้าและบริการหลายประเภทในวงจรการผลิตจึงสูงขึ้นทั้งหมด

3.      เมื่อต้นทุนสูงขึ้น กำไรจากธุรกิจลดลง ผู้ประกอบการจึงขึ้นราคาสินค้า

4.      เมื่อขึ้นราคาสินค้า ค่าครองชีพก็สูงขึ้นอีก เช่นของหวานน้ำแข็งใสถ้วยละ 10 เพิ่มเป็น 20 เพราะน้ำตาล แป้ง น้ำแข็ง ภาชนะ ช้อน ขึ้นราคาอย่างละสองสามบาท รวมกันเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

5.      ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ต้องพบกับราคาน้ำแข็งใสที่สูงขึ้นตาม จากเดิมที่จ่าย 10 ต้องมาจ่าย 20 ราคาสินค้าขึ้น โดยไม่ได้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอะไรเพิ่มเติม ส่วนมูลค่าของเงินสกุลก็ลดลง จากกำลังซื้อ 10 บาท ต่อหนึ่งจาน เป็น 20 บาท

6.      เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นสักระยะหนึ่ง พอถึงวันแรงงาน สหภาพแรงงานก็ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก โดยนัยนี้ ตัวเลขค่าแรงสูงขึ้นสักระยะ แล้วค่าสินค้า ค่าน้ำแข็งใสก็สูงขึ้นตาม โดยที่คุณภาพและปริมาณของน้ำแข็งใสเท่าเดิม แล้ววงจรก็หมุนวนไปเรื่อยๆ อย่างนี้ กระทั่งน้ำแข็งใสมีราคา 25 บาท

7.      เมื่อชาวต่างประเทศพัฒนาน้ำแข็งใส โดยเพิ่มคุณค่าทางการผลิตและการให้บริการ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ น้ำแข็งใสธรรมดา กลายเป็น “บิงซู” ที่อร่อย มีการจัดสถานที่อย่างดี สามารถตั้งราคาได้ถ้วยละประมาณ 150 – 200 บาท ต่อถ้วย ประชาชนก็นิยมรับประทาน เพราะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ส่วนน้ำแข็งใสดั้งเดิมของไทยก็เสื่อมความนิยมไป มีคนรับประทานกันน้อย เมื่อทานกันน้อย ต้นทุนก็สูง เพราะ economy of scale กล่าวคือ จากเดิมที่ซื้อถ้วยพลาสติกคราวละจำนวนมากๆ ในราคาขายส่ง 100 ใบ ใบละ 1.50 บาท ก็ต้องซื้อน้อยลงเหลือ 50 ใบ ใบละ 2 บาท ต้นทุนก็สูงขึ้น ราคาก็ต้องสูงตามต้นทุน ในขณะที่ความนิยมในการซื้อน้อยลง เมื่อกำไรไม่คุ้มทุน ก็ต้องปิดกิจการ โดยนัยนี้ เงินก็ไหลออกนอกประเทศ โดยเฉพาะร้านบิงซูที่เป็นแฟรนไชส์ของต่างประเทศ

8.      หากพิจารณาดูว่า สินค้า และการบริการ สัญชาติไทยมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ที่มีความต้องการอุปโภคบริโภคน้อยลง เหมือนอย่างน้ำแข็งใส เมื่อรวมกันมากๆ หลายสิ่งหลายอย่าง จึงมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม กล่าวคือสินค้าสัญชาติไทยที่อยู่รอดได้ในเศรษฐกิจมีน้อยลง เพราะความต้องการน้อยลง บางอย่างราคาสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคไม่นิยมแล้ว และคนส่วนใหญ่หันไปใช้สินค้าต่างประเทศ เงินส่วนใหญ่ไหลออกนอกประเทศ เศรษฐกิจภายในประเทศก็เริ่มซบเซา เพราะชาวต่างประเทศมีงานทำ จากการขายสินค้าให้คนไทย ส่วนคนไทยด้วยกัน ไม่มีงานทำ เพราะผลิตออกมาแล้วขายได้น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งผลถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนี้.


โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

www.meditation101.org

28 November 2021