4. ธัมโมโทรนิคส์ (Dhammotronics)
Dhammotronics
“ธัมโมโทรนิคส์”
สัมพันธภาพเชิงระบบระหว่างมนุษย์ ธรรมะ จักรวาล
และสรรพสิ่ง
อธิบายความด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
B3rd
Edition
(by Pittaya Wong)
* ท่านสามารถดาวโหลดฉบับ PDF ได้จากด้านล่างสุดของหน้าเว็บนี้ครับ
คำนำ
พระพุทธศาสนานั้นถือได้ว่าเป็นศาสตร์
เพราะมีหลักคำสอนที่เป็นระบบ อิงตามหลักเหตุผลที่เป็นจริงและพิสูจน์ได้
โดยสิ่งที่เรียกว่าเป็น “ธรรมะ” คือองค์ความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล
และมีมาก่อนที่พระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลก การ “ตรัสรู้” ของพระองค์ จึงเป็นการเข้าถึงภาวะ ที่ทำให้สามารถล่วงรู้และหยั่งถึงองค์ความรู้เหล่านี้ได้
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบธรรมะที่มีอยู่ทั้งหมดกับ “ใบไม้ในป่า” แต่ธรรมะที่พระองค์ทรงเลือกมาสั่งสอนนั้นมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทั้งหมด
โดยพระองค์ทรงอุปมาว่าเป็นประดุจ “ใบไม้ในกำมือ” คือธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์นั่นเอง
ซึ่งก็เพียงพอแล้วต่อการนำมาฝึกฝนขัดเกลาตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากคุกคือวัฏสงสารและเข้าสู่นิพพานแดนบรมสุข
ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลา
คือไม่มีวันล้าสมัย มีความยากง่ายไปตามลำดับ ผู้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก
จะพบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้อุปมาอุปมัยในการสอน โดยเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ
ในยุคสมัยของพระองค์ เช่น โค กระบือ ล้อเกวียน พระอาทิตย์ พระจันทร์ ไฟ น้ำ
ภาชนะดินเผา ฯลฯ แต่ด้วยความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากมายนั้นได้เอื้อเฟื้อให้การอธิบายความธรรมะนั้นง่ายต่อการทำความเข้าใจของคนยุคใหม่ยิ่งขึ้น
โดยเปรียบเทียบกับอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ และหลักการวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ
ในชีวิตประจำวัน ที่ใครๆ ก็เข้าใจ เพื่อสื่อถึงสัมพันธภาพระหว่างตัวของเราเอง
กับธรรมะ ชีวิต โลก จักรวาล และสรรพสิ่ง ในเชิงระบบที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด
ท้ายที่สุดนี้
ผู้เขียนขอยืนยันตามหลักทั้งของพุทธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ว่า
ศรัทธาหรือความเชื่อนั้นควรยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานของปัญญา คือความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่น่าเชื่อถือได้
และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือสามารถพิสูจน์ทราบได้ด้วยตนเองว่า “เป็นจริง”
“เอหิปัสสิโก”
พิทยา ทิศุธิวงศ์
2561 B.E. (1st Edition in 2555 B.E.)
1. พุทธศาสตร์ กับ วิทยาศาสตร์
คนในยุคปัจจุบันได้มีโอกาสศึกษาวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น
และระบบความคิดก็พัฒนาขึ้นตามหลักของเหตุผล
จึงมักมองว่าบางสิ่งบางอย่างในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องงมงาย
เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แท้จริงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสมาตั้งสองพันกว่าปีแล้วว่า “เอหิปัสสิโก... เชิญมาพิสูจน์เถิด” ซึ่งโดยหลักการแล้ว
พุทธศาสตร์กับวิทยาศาสตร์นั้นตรงกันในแง่ของการใช้เหตุผลที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง
แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือเครื่องมือในการพิสูจน์ เพราะวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีทางวัตถุที่ค่อยๆ
พัฒนาการไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยในการพิสูจน์ แต่พุทธศาสตร์ใช้ “ใจ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมชั้นเลิศ
ที่ยังไม่มีใครลอกเลียนแบบได้มาเป็นเครื่องพิสูจน์
นักวิทยาศาสตร์อาจสร้างหัวใจเทียม ขาเทียม แขนเทียม ตาเทียม ดาวเทียม
และอะไรอีกสารพัด แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสร้าง “ใจ”
ขึ้นมาได้ เพราะใจมีความละเอียดอ่อน และซับซ้อนอย่างมากมายนัก
ที่สำคัญคือ
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยมีความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบการทำงานของใจ
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เวลายาวนาน กว่าจะค้นพบคลื่นความถี่
ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีตัวตนและมีประโยชน์ ดังนั้น
ก็คงจะเป็นเวลาอีกยาวนานพอสมควร
กว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะสร้างเครื่องมือที่สามารถส่องมองเห็น “ใจ” ได้อย่างเป็นรูปธรรม เว้นเสียแต่ว่า
จะทดลองกันด้วยการฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาการค้นคว้าและทดลอง เพื่อค้นพบว่าใจเป็นอย่างไรและมีระบบการทำงานอันน่ามหัศจรรย์เพียงใด
2. ใจ กับ สมอง
องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน
มักให้ความสำคัญกับ “สมอง” และมองข้ามการทำงานของร่างกายทั้งระบบที่สัมพันธ์กับ “ใจ” ทั้งนี้ก็เพราะคนทั่วไปยังไม่สามารถมองเห็นและจับต้อง
“ใจ” ได้
จึงเป็นการยากที่จะศึกษาและหาข้อสรุป อย่างไรก็ตาม โดยเริ่มแรกสุด
เราต้องยอมรับเสียก่อนว่ามนุษย์เราทุกคนมี “ใจ” และยังมี “วิญญาณ” หรือ “กายละเอียด” พร้อมด้วย “ระบบแผงวงจร”
ของชีวิตที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รับแรงดึงตรึงติดอยู่กับร่างกายของเราในขณะที่เรามีชีวิต
ในทำนองเดียวกันกับ “แรงดึงดูดของโลก” ที่มีกำลังมากสามารถดึงดูดวัตถุต่างๆ
ให้ติดอยู่กับผืนโลก โดยที่ไม่มีใครมองเห็นแรงดึงดูดนี้
และเมื่อวิญญาณหลุดออกจากร่างกายเป็นการถาวร ย่อมหมายความว่าร่างกายนั้น “ตาย” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เปรียบได้กับมนุษย์หรือวัตถุที่ออกไปอยู่นอกโลก พ้นจากแรงดึงดูด
ก็ลอยล่องฟ่องเบาไป ราวกับว่าไร้น้ำหนัก แต่ก็ยังมีตัวตน
เราสามารถพิสูจน์ถึงการทำงานของใจได้
ในกรณีของผู้ป่วยที่สมองตาย เมื่อสมองหยุดทำงานแล้ว
แต่เมื่อญาติของผู้ป่วยเข้ามาพูดคุยด้วย ร้องไห้แสดงความเสียใจ หรือทะเลาะกัน
ชีพจรของผู้ป่วยสมองตายกลับเต้นแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นั่นเป็นเพราะผู้ป่วยสมองตาย ไม่สามารถแสดงอาการโต้ตอบทางกายได้
เพราะสมองสั่งการไม่ได้ แต่ใจยังทำงานอยู่ ทำให้เขารู้สึกรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้
เมื่อรู้สึกเสียใจ ดีใจ หรือโกรธ แต่ไม่อาจบังคับร่างกายให้แสดงอาการ
ใจจึงแสดงออกให้รู้ผ่านชีพจรและการเต้นของหัวใจ
เหมือนกับตอนที่เรารู้สึกโกรธแล้วหัวใจเต้นแรงอย่างนั้น โดยสรุปคือ
ร่างกายไม่ได้มีสมองเป็นศูนย์กลางในการควบคุมเพียงอย่างเดียว
เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าคนเรานั้น “มีใจเป็นใหญ่
มีใจเป็นประธาน” นั่นก็เป็นเพราะว่า แท้จริงแล้ว
ใจต่างหากที่ควบคุมร่างกาย
เพียงแต่วิทยาศาสตร์ยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นที่จะเห็นได้ว่า “ใจ”
ควบคุม “กาย” อย่างไร
3. ใจกับผลึกน้ำ
เราเคยได้ยินเรื่องผลึกน้ำกันมาบ้างพอสมควร
ผลึกน้ำมีรูปร่างสวยงามหรือแปลกประหลาดแตกต่างกันไป ตามปัจจัยส่งผลต่างๆ อย่างเช่น
เสียงเพลง เสียงสวดมนต์ เสียงตำหนิด่าว่า หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
ที่มีผลกระทบต่อผลึกน้ำ แท้จริงแล้วใจของคนเราก็เป็นเช่นเดียวกันกับผลึกน้ำ
เพียงแต่ว่าใจของเรานั้นละเอียดกว่าน้ำมากนัก หากเราฟังเสียงเพลงที่ดุดันถ่ายทอดอย่างรุนแรง
ใจของเราก็แปรสภาพไปตามเสียงเพลงนั้น หรือหากเราฟังเพลงที่ใช้ภาษานุ่มนวลไพเราะ
ท่วงทำนองอ่อนโยน ใจของเราก็จะสวยงามอ่อนโยน ตามเสียงเพลงไปด้วย
ถ้าใครด่าว่าเราด้วยคำหยาบคาย ใจของเราก็อาจกลายสภาพเป็นใจที่ร้อนรุ่มพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงโต้ตอบ
หากเปรียบใจกับผลึกน้ำ เราจะพบว่า สภาพของใจมนุษย์ทั่วไปสามารถผันแปรไปตาม รูป
เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกนึกคิด ที่ได้ประสบและถ่ายทอดมาสู่ใจ
ซึ่งเราสามารถสังเกตและสัมผัสสภาพของใจที่แตกต่างกันออกไป ได้ด้วยตัวของเราเอง
เช่น ใจร้าย ใจร้อน ใจเย็น ใจว้าวุ่น
แต่สำหรับผู้ที่ฝึกสมาธิจนใจรวมแน่วแน่มากเพียงพอแล้ว
จะสามารถมองเห็นสภาพใจที่แตกต่างกันออกไปดังกล่าว คือ
ใจของมนุษย์หรือสัตว์นั้นจะเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ และมีสภาพต่างๆ กันออกไป
ซึ่งเห็นได้ด้วยสมาธิ เช่นเดียวกับการเห็นผลึกน้ำ ด้วยการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงมากนั่นเอง
4. ต้นกำเนิดความศักดิ์สิทธิ์
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า
ศาสนาพุทธนั้นมีความคล้ายคลึงกับวิทยาศาสตร์ คืออิงตามหลักเหตุและผล
โดยที่คำสอนต่างๆ นั้นพิสูจน์ได้ แต่คนเป็นจำนวนมากก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมชาวพุทธยังทำสิ่งที่ดูเหมือนงมงายหลายอย่าง
เช่นการรดน้ำมนต์ และกราบไหว้พระพุทธรูปที่ทำจากวัสดุซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจ อย่างหิน
ปูน หรือทองเหลือง และสวดมนต์อธิษฐานจิตเพื่อขอสิ่งต่างๆ อยู่เป็นประจำ
ซึ่งในการตอบปัญหานี้ ก็ต้องย้อนกลับไปที่ว่า พระพุทธศาสนานั้นอาศัยใจในการพิสูจน์องค์ความรู้ที่เรียกว่าธรรมะ
และใจนี่เอง คือเครื่องมือที่ทรงอานุภาพมากที่สุด
เมื่อพระสาธยายมนต์ด้วยใจที่จรดจ่อเป็นสมาธิ
คลื่นพลังจากใจของพระก็สถิตลงในน้ำที่บรรจุอยู่ในภาชนะ
ทำให้น้ำนั้นกลายเป็นน้ำที่มีพลังสถิตอยู่ ในทำนองเดียวกันกับน้ำกลั่นของแบตเตอรี่รถยนต์
ที่มีพลังไฟฟ้าสถิตอยู่ และสามารถชาร์จไฟฟ้าเพิ่มเข้าไปได้
หรือเหมือนกับเตาไมโครเวฟ ที่ปล่อยคลื่นลงไปในแก้วน้ำ
ทำให้โมเลกุลของน้ำสั่นสะเทือน กลายเป็นน้ำร้อนได้
ความแตกต่างของน้ำมนต์ในพระพุทธศาสนาก็คือ พระผู้สวดใช้พลังงานอันบริสุทธิ์จากใจถ่ายทอดผ่านคลื่นเสียงที่เปล่งออกมา
แล้วสถิตกระแสพลังแห่งความดีงามนั้นลงไปในน้ำ ซึ่งเป็นเสมือนสื่อ ใครที่นำไปดื่ม
หรือนำไปล้างหน้า กระแสพลังก็เชื่อมเข้าสู่ร่างกายของเขา
แล้วสลายพลังงานที่ไม่ดีภายในร่างกายและจิตใจ หลักการเดียวกันนี้
สามารถนำไปใช้อธิบายได้ต่อไปว่า พระพุทธรูปที่ทำจากวัสดุต่างๆ
รวมถึงพระเครื่องของชาวพุทธ มีความศักดิ์สิทธิ์ หรือมีพลังได้อย่างไร
5. ธรรมะมากจากไหน
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ได้มาจากการคิดค้น วิเคราะห์ วิจัย ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในความเป็นจริงนั้น ธรรมะ
คือความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงของโลก ชีวิต สรรพสัตว์ และสรรพสิ่งนั้นมีอยู่แล้ว
นับตั้งแต่ก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้
เปรียบเสมือนห้องสมุดที่รวบรวมองค์ความรู้อันเป็นความลับเอาไว้ทั้งหมด
ที่ไม่มีใครมีกุญแจเปิด ต่อเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา
จึงสามารถเข้าถึงภาวะที่ทำให้พระองค์สามารถไขความลับในเรื่องราวต่างๆ
ได้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งห้องสมุดนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล
แต่ทว่าอยู่ภายในศูนย์กลางกายของพระองค์เอง
ใครก็ตามที่สามารถปฏิบัติธรรมจนกระทั่งบรรลุธรรมตามอย่างพระองค์ ก็จะสามารถไขกุญแจ
เพื่อเข้าไปทำความรู้แจ้ง เห็นแจ้ง ในพระธรรม ตามอย่างพระพุทธองค์ได้เช่นกัน
ต่างกันตรงที่ว่า เมื่อมีกุญแจไขเข้าไปแล้ว จะมีกำลังในการเรียนรู้และรับรู้ได้มากน้อยแค่ไหน
ก็ขึ้นอยู่กับกำลังญาณหรือพลังสมาธิของแต่ละคน
6. ธรรมะกับใบไม้
“ธรรมะ” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ ที่พระพุทธเจ้าทรงทราบ
เปรียบเหมือนใบไม้ในป่า ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล แต่สิ่งที่ทรงนำมาสอน
เป็นเพียงประดุจใบไม้ในกำมือ ซึ่งก็มากเพียงพอแล้ว ต่อการละทิ้งวัฏสงสาร
เข้าสู่อายตนนิพพาน ตามมโนปณิธาน ที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้สมัยเป็นพระโพธิสัตว์
(มนุษย์หรือสัตว์ผู้บำเพ็ญตนเป็นพระพุทธเจ้า) แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ที่มุ่งหวังจะแก้ไขวัฏสงสาร
นำพาสรรพสัตว์เข้าสู่อายตนนิพพานได้ทั้งหมด
ต้องอาศัยความรู้ที่เกินกว่าใบไม้ในกำมือ
ต้องสั่งสมบุญบารมียาวนานกว่าปกติยิ่งขึ้นไปอีก เปรียบได้กับโปรแกรมระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์
ที่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ติดตั้งอยู่ ถ้าเราต้องการใช้โปรแกรม ยกตัวอย่างเช่น
โปรแกรมทำบัญชี
เราสามารถทำบัญชีให้เสร็จเรียบร้อยได้ด้วยความรู้ที่เกี่ยวกับคำสั่งในโปรแกรมบัญชี
ซึ่งซับซ้อนและยากในระดับหนึ่ง แต่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์โดยทั่วไปก็สามารถใช้งานได้
โดยใช้เวลาเรียนรู้ไม่นานมาก
แต่ถ้าหากเราต้องการแก้ไขโปรแกรมระบบปฏิบัติการพื้นฐานของคอมพิวเตอร์
ความซับซ้อนและความยากของงานจะมากขึ้นอีกหลายเท่า
และผู้ใช้คอมพิวเตอร์โดยทั่วไปไม่สามารถทำได้ ต้องอาศัย “โปรแกรมเมอร์”
หรือนักเขียนโปรแกรม ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า ในการทำการทำงานนี้
และถ้าหากการแก้ไขนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาที่มีความซับซ้อนมาก
ก็อาจใช้เวลายาวนานมากกว่า การใช้โปรแกรมทำบัญชี
โดยผู้ใช้คอมพิวเตอร์โดยทั่วไปนั่นเอง
7. มองไม่เห็น... แต่มีอยู่
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ใช้เหตุผลเป็นหลัก
จึงยืนอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน
แต่ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างพุทธศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็คือ...
พุทธศาสตร์ใช้ใจเป็นเครื่องพิสูจน์ทราบ
ในขณะที่วิทยาศาสตร์ใช้วัตถุเป็นเครื่องพิสูจน์ นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์คิดค้นกล้องดูดาว
มาส่องมองเห็นจักรวาลอันไกลโพ้น
รวมถึงกระบวนการเกิดขึ้นและดับสลายลงของจักรวาลและดวงดาวได้ฉันใด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรวจดูภพภูมิต่างๆ
ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยอาศัยใจที่เป็นสมาธิแน่วแน่
เป็นกล้องส่องฉันนั้น ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่า นิพพาน นรก สวรรค์ บุญ บาป นั้นมีหรือไม่มี
เหตุเพราะว่าเทคโนโลยีทางวัตถุยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะพิสูจน์
เหมือนกับผู้คนในยุคหลายพันปีที่แล้ว ที่ยังไม่ทราบว่ามีจักรวาลอื่นอยู่ด้วย
เพิ่งจะพิสูจน์ได้ในภายหลังเมื่อคุณกาลิเลโอสร้างกล้องดูดาวขึ้น หรือ คลื่นวิทยุ
คลื่นโทรศัพท์ ที่มองไม่เห็นและมีมานานแล้วในอากาศ เราก็เพิ่งค้นพบ
แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่นาน นิพพาน นรก สวรรค์ บุญ บาป
จึงยังคงรอคอยนักวิทยาศาสตร์ให้ก้าวไปถึงจุดที่พิสูจน์ได้ในสักวัน แต่ถ้าคิดจะพิสูจน์ด้วยวิธีของพระสัมมาพุทธเจ้า
ก็ไม่จำเป็นต้องรอคอยอีกหลายร้อยพันปี แต่สามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้ โดยอาศัย “ใจ” ของตัวเราเองที่สงบนิ่งเป็นสมาธิ
ถ้าเปรียบใจของเรากับกล้องดูดาว เราก็ต้องปรับสภาพใจ
เหมือนการปรับโฟกัสของกล้องดูดาว จนกว่าใจจะรวมเป็นสมาธิแน่วแน่ สามารถส่องเห็นนรก
สวรรค์ นิพพาน บุญ บาป ทั้งใกล้และไกล ได้อย่างชัดเจน
8. บุญกับบาป
เชื่อไหมครับว่าบุญบาปมีจริง? บางครั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าไฟรั่ว เราเผลอแตะเข้าก็โดนไฟดูด
เราสัมผัสได้ถึงพลังงานของมัน แม้เราจะมองไม่เห็นไฟฟ้า พลังงานบุญบาปก็เช่นกัน
เรามองไม่เห็น แต่เวลามันไหลผ่านใจ เราก็จะรู้สึกได้ ในตัวของเรามีพลังงานบุญ
กับพลังงานบาป เก็บเอาไว้อยู่ตลอดเวลา เป็นพลังงานที่มีความละเอียดสูง พลังงานบุญ
จะเหนี่ยวนำดึงดูดให้เกิดแต่สิ่งดีๆ กับตัวคุณ อย่างเช่น เป็นที่รักของเพื่อนๆ
หยิบจับลงทุนอะไรก็กำไรดีไปหมด มีโชคมีลาภ มีคนช่วยเหลือ มีความสุขความสำเร็จในชีวิต
ในขณะที่พลังงานบาป จะเหนี่ยวนำดึงดูดให้เกิดสิ่งแย่ๆ เช่นอยู่ดีๆ ก็เจ็บป่วย
หรืออยู่ดีๆ ก็มีคนหมั่นไส้ ไม่ชอบหน้า โดนกลั่นแกล้ง โดนใส่ร้าย ฯลฯ เวลาที่เราให้เงินหรือซื้อของให้พ่อแม่แล้ว
เรามีความสุขใจ รู้สึกดี นั่นเป็นเพราะกระแสบุญ ไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงใจ ตรงกันข้าม
เวลามีคนขับรถตัดหน้า เรารู้สึกโกรธ ไม่พอใจ ขุ่นเคือง
นั่นก็เพราะกระแสบาปไหลเข้ามาในใจเรา ความรู้สึกดีและความรู้สึกร้ายเหล่านี้
ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากการทำงานของพลังงานบุญและบาปภายในใจของเรา
ซึ่งเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน พลังงานเหล่านี้ ใช้แล้วก็หมดไป
แต่ก็สามารถชาร์จเข้าไปสู่ตัวของเราได้อีก เมื่อเรา คิด พูด ทำ สิ่งที่เป็นบุญ
เป็นคุณงามความดี พลังงานบุญก็จะไหลเข้ามาชาร์จเก็บไว้ใน “ดวงบุญ” และถ้าเรา คิด
พูด ทำ สิ่งที่เป็นบาป เป็นความเลวร้ายต่างๆ
พลังงานบาปก็จะไหลเข้ามาชาร์จเก็บไว้ใน “ดวงบาป” ซึ่งทั้งดวงบุญและดวงบาปนี้ก็ติดตั้งอยู่ภายในตัวเรา
โดยมีลักษณะเป็นทิพย์ ไม่สามารถจับต้องได้ด้วยมือเปล่า
และการได้พลังงานบุญพลังงานบาปนี้ ก็เป็นไปตามกติกาของกฎแห่งกรรม ที่มีการ
“คำนวณประมวล” อย่างเป็นรูปธรรม ว่าประกอบเหตุเช่นนั้น เช่นนี้
จะต้องได้พลังงานบุญหรือบาป กลับคืนมามากน้อยเท่าไร ทั้งนี้สามารถเปรียบได้กับ
โปรแกรมคำนวณภาษีออนไลน์ ซึ่งมีการป้อนข้อมูลรายละเอียดเข้าระบบไปว่า
เราทำอะไรไปบ้าง มากน้อยเท่าไร แล้วโปรแกรมก็ประมวลผลว่าเราจะต้องได้เงินภาษีคืน
หรือเสียภาษีเพิ่ม เท่าไร
แล้วโปรแกรมก็ฝากหรือหักจากบัญชีเงินฝากธนาคารของเราโดยอัตโนมัติ
9. อุทิศบุญ
การอุทิศบุญเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา
แม้นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ยังค้นคว้าไปไม่ถึง “บุญ” คือพลังงานอันบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นภายในใจ เมื่อเราคิดดี พูดดี ทำดี
พลังงานนี้ก็คล้ายๆ กับกระแสไฟฟ้า หรือคลื่น
ที่สามารถส่งผ่านจากสถานีหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่งได้ เมื่อผู้อุทิศบุญทำการอุทิศ
และผู้รับเปิดใจรับกระแสบุญนั้นแล้ว (ภาษาพระเรียกว่าการอนุโมทนา)
ต่างฝ่ายก็มีใจที่เป็น “บุญ” คือฝ่ายหนึ่งมีใจเป็นบุญกุศลที่จะอุทิศ
กับอีกฝ่ายมีใจเป็นบุญกุศลที่จะอนุโมทนา ดังนี้แล้ว
บุญก็เกิดขึ้นต่อทั้งผู้อุทิศและผู้อนุโมทนา
โดยที่ผู้อุทิศก็ไม่ได้สูญเสียบุญของตนเองไปเลย แต่ได้บุญเพิ่มจากการอุทิศบุญ
บุญที่ได้จะถูกเก็บไว้ในดวงบุญที่อยู่ ณ ศูนย์กลางกายของแต่ละคน
คอยบันดาลเป็นความสุขเป็นสิ่งดีงามสำหรับผู้รับได้
บรรพบุรุษชาวพุทธได้ใช้วิธีกรวดน้ำเพื่ออุทิศบุญ
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ใจจรดจ่อเป็นสมาธิอยู่กับสายน้ำ เมื่อใจเป็นสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน
จิตก็มีกำลังมากขึ้น มีใจมั่นคงและมุ่งมั่นในการอุทิศนั้นนั่นเอง
10. ส่วนบุญ ส่วนบาป
ไม่ว่าใครสักคนจะทำความดีที่ก่อให้เกิดบุญ
หรือทำความชั่วที่ก่อให้เกิดบาปก็ตาม หากมีใครอีกคน “อนุโมทนา” หรือแสดงความยินดีสนับสนุน
พลอยเห็นดีเห็นงามไปด้วย ไม่ว่าจะแสดงออกเป็นกริยาท่าทาง พูดออกมา หรือคิดอยู่ในใจ
ผู้ที่อนุโมทนาย่อมมีส่วนแห่งบุญหรือบาปนั้นตามไปเช่นกัน
ได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแรงของเจตนา ต่างแต่ว่า
ส่วนบุญหรือส่วนบาปที่ได้รับนั้นจะมีปริมาณไม่มากเหมือนผู้ที่ลงมือกระทำด้วยตนเอง
เช่นว่า หากคนลงมือตักบาตรได้บุญ 100% คนที่อยู่เฉยๆ
แต่อนุโมทนาขอมีส่วนในบุญ คิดแล้วพูดว่า “ดีจังเลยนะ
อนุโมทนาด้วยค่ะ” ก็จะได้สัก 10% เพราะมีจิตเป็นกุศลตามไปกับเขาด้วย เช่นเดียวกับคนทำบาป
อย่างเช่นโจรปล้นชิงทรัพย์ถูกจับตาย แล้วมีผู้อนุโมทนาบาปว่า “ตายเสียได้ก็ดี” ผู้ลงมือฆ่าได้บาป 100% ส่วนผู้สนับสนุนยินดีก็ได้บาปไปสัก10% เพราะมีจิตเป็นอกุศลยินดีในการฆ่า
จะเปรียบเทียบไปก็เหมือนกับคนกินยำมะม่วง
ผู้ที่กินได้สัมผัสรับรู้รสเปรี้ยวเด็ดเข็ดฟันแสบท้องด้วยตนเอง 100% แต่ผู้ที่พบเห็นแล้วแค่รู้สึกเปรี้ยวปากตาม น้ำลายสอ นึกอยากกินบ้าง
ราวกับมีส่วนรับรู้รสชาติตามไปด้วย แต่ก็ไม่เต็มที่
11. บารมีคืออะไร
บารมีในพระพุทธศาสนานั้นมี 10 อย่าง ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี
ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ซึ่งแท้จริงแล้ว
บารมีทั้ง 10 ก็คือ “พลังงานคุณธรรม”
ทั้ง 10 อย่างที่จำเป็นต่อการพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์
ถ้าพลังงานเหล่านี้ไม่เต็มเปี่ยม เราก็บรรลุธรรมไม่ได้
เปรียบเสมือนรถยนต์ที่พลังงานน้ำมันไม่พอ ก็วิ่งไปไม่ถึงจุดหมาย ฉันใดก็ฉันนั้น
หากเรามีพลังงานบารมีไม่พอ เราก็ไปไม่ถึงนิพพาน อย่างดีก็ไปได้แค่สวรรค์
หรือพรหมโลก อันที่จริงแล้วพลังงานบารมีก็มาจากบุญนั่นเอง แต่บุญสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็นบารมีทั้ง 10 ประการ หรือคุณธรรม 10 อย่าง
เหมือนกับแสงแดดสีขาวสว่างที่เรามองเห็นนั้น
แท้จริงแล้วแบ่งแยกออกเป็นหลายสีเรียกว่าสเป็คทรัม เมื่อเราบำเพ็ญคุณธรรม 10 อย่าง จะเกิดพลังงานบุญขึ้นมาและถูกเก็บไว้ภายในดวงบุญที่ศูนย์กลางกาย
เช่นเมื่อเราทำทาน ในขณะที่กิเลสคือความโลภหลุดออกไปจากใจด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น
ทำให้ใจเราบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเราทำทานบ่อยเข้ามากเข้า
ดวงบุญจากการทำทานก็เข้มข้นหนาแน่นมากขึ้นแล้วกลั่นตัวกลายเป็นดวงบารมี
คล้ายๆ กับแบตเตอรี่แบบ Rechargeable ที่ถูกอัดพลังไฟเข้าไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งแบตเตอรี่เต็มในที่สุด
แต่การชาร์จแบตเตอรี่อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่วนการสร้างบารมี
หรือสั่งสมบุญจนเกิดเป็นพลังบารมีที่เต็มเปี่ยมนั้น ใช้เวลาข้ามภพข้ามชาติ
เกินกว่าแสนชาติล้านชาติ พลังบารมีก็ถูกเติมเข้าไปเรื่อยๆ
อย่างนี้ในทำนองเดียวกันกับบารมีอื่นๆ ซึ่งดวงบารมีทั้ง 10 ดวง ก็ซ้อนรวมกันอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเรา ซึ่งเมื่อสะสมจนมากเพียงพอทั้งเชิงปริมาณและระยะเวลาในการบ่มตัวแล้ว
พลังบารมีหรือคุณธรรมจะทำให้เราบรรลุธรรมและหมดกิเลสไปได้ตามลำดับ
12. พลังงานชีวิต
ในการทำความเข้าใจว่า
มนุษย์อย่างเรา สัมพันธ์อย่างไรกับระบบกลไกของจักรวาล เราต้องทำความเข้าใจว่า
พลังงานชีวิตที่ใช้ขับเคลื่อนทุกอย่างให้เป็นไปตามกลไกมีด้วยกัน 3 แหล่ง คือ พลังงานที่เป็นกุศล หรือที่เราเรียกว่า “บุญ”
เป็นพลังงานบริสุทธิ์สีขาว แหล่งที่สองคือพลังงานที่เป็นอกุศล
หรือที่เราเรียกว่า “บาป” เป็นพลังงานดำสกปรก
สุดท้ายคือพลังงานที่เป็นอัพยากฤต คือ “ไม่บุญไม่บาป”
เป็นพลังงานสีเทาที่อยู่ระหว่างทั้งสองขั้ว พลังงานทั้ง 3 แหล่งนี้ ต่างก็มีภพที่เป็นเสมือนโรงงานผลิต คล้ายๆ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
แล้วส่งกระแสพลังงานของแต่ละฝ่ายมาหล่อเลี้ยงภพภูมิสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
รวมถึงทุกๆ ชีวิต ในจักรวาล ให้ดำเนินการเป็นไปตามกลไก หรือโปรแกรม
เช่นกฎไตรลักษณ์ และกฎแห่งกรรม เป็นต้น โดยที่พลังงานบุญให้ผลเป็นความดีงาม
ความสุข ความเจริญ พลังงานบาปให้ผลเป็นความชั่ว ความทุกข์ ความเสื่อม
พลังงานไม่บุญไม่บาป ให้ผลเป็นไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สุขไม่ทุกข์ (เป็นกลางๆ)
เราทุกคนนั้นเป็นเสมือน “ชีวยนต์” ที่อยู่ในระบบของสนามพลังงานทั้ง 3 ที่ถูกส่งมาอยู่ตลอดเวลา เพื่อแย่งชิงกันควบคุมปกครองระบบทั้งหมด
เหมือนประเทศมหาอำนาจของโลก 3 ประเทศ
ที่สร้างอิทธิพลในด้านต่างๆ ต่อประชากรโลก เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ นอกจากนี้
พลังงานทั้ง 3 ยังถูกเก็บเอาไว้ในร่างกายของเรา ณ
ศูนย์กลางกาย ภายในดวงบุญ ดวงบาป
และดวงไม่บุญไม่บาปซึ่งเป็นเสมือนบรรจุภัณฑ์ที่เก็บพลังงานเหล่านี้
ในทำนองเดียวกันกับแบตเตอรี่ที่เก็บพลังงานไฟฟ้า
13. พลังจากใจมุ่งมั่น
ชาวพุทธเป็นจำนวนมาก
พากันสงสัยว่า การอธิษฐานหลังจากทำบุญเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
จะเป็นการทำเพื่อหวังผลตอบแทนหรือเปล่า? แท้จริงแล้วการอธิษฐานเป็นบารมีที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องสั่งสมกันมายาวนาน
การอธิษฐานในสิ่งที่ดีงามจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ
คนโบราณกล่าวว่าการอธิษฐานก็เหมือนการคัดท้ายหางเสือของเรือ
เพื่อให้นาวาชีวิตล่องไปถูกทิศทางตรงตามที่ตั้งใจไว้ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงต้องบอกว่า
เป็นการตั้งตำแหน่งเป้าหมายให้กับระบบพิกัด GPS ก่อนออกเดินทาง
เพื่อให้เราขับเคลื่อนชีวิตไปถึงจุดนั้นได้โดยสวัสดิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น
ทุกครั้งที่เราอธิษฐาน จิตมักจะจรดจ่อแน่วแน่เป็นสมาธิมากบ้างน้อยบ้าง
ทำให้เกิดพลังจากการอธิษฐาน เราสามารถทดลองเองดูได้ว่าการอธิษฐานมีพลังอย่างไร
สมมติว่าเราจะออกไปทำงานตอนเช้าให้เราอธิษฐานในใจหรือว่าปากเปล่าสักสิบครั้งว่า “วันนี้ทำอะไรก็สำเร็จดีไปหมด” ทำอย่างนี้สัก 10 วัน ต่อจากนั้นก็ลองเปลี่ยนคำอธิษฐานเป็น “วันนี้ทำอะไรก็ซวยไปหมด”
ทำอย่างนี้อีกสัก 10 วัน
แล้วเราลองเปรียบเทียบดูว่า 10 วันแรกกับ 10 วันหลังนั้น จิตใจของเรามีพลังในการดำเนินชีวิตแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอธิษฐานมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ว่าขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อพระองค์สั่งสมบุญบารมีมากพอจนถึงระดับที่คำอธิษฐานนั้นสามารถเป็นจริงได้แล้ว พระองค์ก็ได้เป็นพระพุทธเจ้าสมดังที่อธิษฐานเอาไว้ ย้อนกลับมาที่การตั้งตำแหน่งเป้าหมายปลายทางในระบบ
GPS หากบุญบารมีเปรียบเสมือนน้ำมันในรถยนต์ของเรา
และการกำหนดปลายทางในระบบพิกัด GPS คือคำอธิษฐาน
การไปถึงเป้าหมายอย่างถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรถยนต์ของเรามีน้ำมันที่เพียงพอ
ถ้าหากเราอธิษฐานตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้า เส้นทางก็ย่อมยาวไกลกว่าปกติ
เมื่อเปรียบเทียบกับการอธิษฐานตั้งเป้าหมายเป็นพระอรหันต์ธรรมดา
ซึ่งสามารถถึงเป้าหมายได้โดยไม่ไกลนัก และใช้น้ำมันน้อยกว่า
14. อโหสิกรรม
คนเราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในโลกนี้
ก็ต้องมีผิดพลาดพลั้งล่วงเกินกันบ้างเป็นธรรมดา สิ่งที่สำคัญคือ
ทุกคนควรจะรู้จักขอโทษ (ขออโหสิกรรม) และยกโทษ (ให้อภัยทาน)
แก่กันและกันได้อย่างง่ายๆ อยู่เสมอ
ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเวรกรรมพัวพันอันยุ่งยากต่อการแก้ไขในภพชาติเบื้องหน้า
และตัดปัญหาในการจองเวรจองกรรมกลับมาแก้แค้นกันอีก
ลองนึกถึงเวลาที่เราใช้คอมพิวเตอร์แล้วเกิดทำงานผิดพลาด คอมพิวเตอร์ถามเราว่า
จะทำงานนั้นต่อไป (Ok) หรือ
ยกเลิก (Cancel) ถ้าเรากด Ok โปรแกรมก็อาจจะดำเนินงานผิดพลาดถึงขึ้นเสียหายหรือ Error แต่ถ้าเรากด Cancel ก็เหมือนการอโหสิกรรม...
ทุกอย่างเป็นอันยุติ.... นอกจากนี้ การขอขมา ขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน
อย่างเช่นในวันสงกรานต์
ยังเป็นโอกาสดีให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้สลายพลังบาปอันเกิดจากความอาฆาตแค้นที่อยู่ในใจของกันและกัน
พลังบาปเหล่านี้สถิตอยู่ในใจ และจะคอยผลักดันให้ก่อเวรก่อกรรมกันไปอย่างไม่รู้จบสิ้น
เหมือนเวลาเราเจอใครสักคนแล้วรู้สึกไม่ชอบหน้า เกลียดตั้งแต่แรกพบ
นั่นเกิดจากแรงบาปของการผูกอาฆาตจองเวรโดยไม่รู้ตัว เพราะเราเกิดใหม่
ก็ลืมเรื่องเก่า ดังนั้น การอโหสิกรรมซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บรรพบุรุษชาวพุทธทราบเรื่องนี้ดี
เราจึงมีธรรมเนียม ในการขออโหสิกรรมต่อผู้ใกล้วายชนม์ และในโอกาสสำคัญต่างๆ
อย่างเช่นวันสงกรานต์ และก่อนบรรพชาอุปสมบท เป็นต้น
15. ดินแดนต่างมิติ
ใครๆ
ก็พูดกันว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ เพราะคนสมัยใหม่มีระบบการศึกษาที่พึ่งพิงสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล
เมื่อไม่เคยเห็น ไม่เคยประสบพบเจอด้วยตนเอง ก็มักจะสรุปว่าไม่มีจริง
แต่ก่อนที่เราจะสรุปว่ามีหรือไม่มี เราต้องตั้งต้นที่ตัวของเราเองก่อนว่า
สิ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ทางกายภาพ แต่มีตัวตนอยู่จริงนั้นมีอยู่หรือไม่
เริ่มตั้งแต่ตัวของเราก็มี “ใจ” ซึ่งเรามองไม่เห็น แต่เราสัมผัสและรับรู้ได้ เวลา “โกรธ”
หรือ “รัก” สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ออกมาจากสมอง
แต่ออกมาจากใจ นอกจาก “ใจ” แล้วก็ยังมี
“วิญญาณ” หรือ “กายมนุษย์ละเอียด”
ของเราเอง ที่จะออกมาให้เห็นเฉพาะตอนหลับฝันเท่านั้น เวลาเราหลับฝัน
เราจะเห็นว่า ตัวเราเป็นตัวเราเสมอ ไม่เป็นคนอื่น
นั่นก็เพราะวิญญาณหรือกายมนุษย์ละเอียดของเราทำหน้าที่ฝันยามหลับ
แต่เรื่องที่ฝันมีจริงบ้างไม่จริงบ้าง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ส่วนว่าถ้าใครตาดี
ก็มีสิทธิ์เห็นวิญญาณของผู้อื่น อย่างที่เรียกว่าผีได้เช่นกัน เมื่อเป็นดังนี้แล้ว
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ภพภูมิอันเป็นสถานที่รองรับวิญญาณของคนที่ตายแล้วจะมีอยู่จริง
ในโลกมนุษย์คนรวยๆ ก็อยู่หมู่บ้านสวยๆ แพงๆ ประณีตมากน้อยต่างกันไปตามกำลังทรัพย์
คนจนๆ ก็อยู่ในถิ่นกันดาร อยู่ชุมชนแออัด ฉันใดก็ฉันนั้น วิญญาณหรือกายละเอียดที่มีบุญหรือพลังงานบริสุทธิ์สถิตอยู่มาก
ก็มีภพภูมิอันดีงามประณีตรองรับ เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์
ส่วนวิญญาณที่มีบาปหรือพลังงานด้านลบสถิตอยู่มาก
ก็มีภพภูมิอันเป็นทุกข์เป็นโทษรองรับ
โดยที่ทั้งสวรรค์และนรก ต่างก็มีแรงดึงดูดของตัวเอง เช่นเดียวกับโลกมนุษย์
สวรรค์ก็มีแรงดึงดูด ดึงวิญญาณที่มีพลังงานบุญอันเป็นทิพย์สะสมไว้มาก
ให้ไปอยู่ในสวรรค์ ส่วนนรกก็มีแรงดึงดูด
ดึงวิญญาณที่มีพลังงานบาปอันเป็นทิพย์สะสมไว้มาก ให้ไปอยู่ในนรก
ส่วนวิญญาณที่บุญบาปไม่มากพอจะไปที่ไหน ก็ลอยล่องอยู่ในโลกมนุษย์
16. สวรรค์และนรก
จากที่อธิบายมาก่อนหน้านี้ว่า
วิญญาณของมนุษย์นั้นอาจเปรียบได้กับ ภาพรูปกายโฮโลแกรมสี่มิติโปร่งแสงไร้น้ำหนัก
ที่อยู่ในอุปกรณ์ฉายภาพโฮโลแกรมที่สามารถจับต้องได้ ในทำนองเดียวกัน
ภพภูมิสวรรค์และนรกก็สามารถนำไปเปรียบได้กับ ภาพโฮโลแกรมของเมือง
ที่สร้างขึ้นด้วยพลังงานบุญ (สวรรค์) และพลังงานบาป (นรก)
ในทำนองเดียวกันกับที่กระแสไฟฟ้าถูกใช้สร้างภาพเมืองโฮโลแกรมสี่มิติ
สวรรค์และนรกจึงเหมือนกับเมืองโฮโลแกรมสี่มิติที่มีชีวิต
แต่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า
เช่นเดียวกันกับคลื่นและรังสีในอวกาศที่กล้องดูดาวส่องมองไม่เห็น แต่สามารถดักจับคลื่นและเห็นกระแสคลื่นได้ด้วยอุปกรณ์พิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น
เราอาจคำนึงถึงวิญญาณในสวรรค์และนรกว่าเป็น “รูปกายโฮโลแกรมสี่มิติที่มีชีวิต”
ซึ่งสามารถรับรู้ถึงความสุขและทุกข์ได้ เพราะวิญญาณก็ยังคงมี “ใจ”
ที่ถอดออกมาจากกายมนุษย์ของตนที่เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น วิญญาณจึงสามารถอยู่ในสวรรค์ได้อย่างมีความสุข
เพราะสวรรค์ถูกสร้างขึ้นด้วยพลังงานที่ดี
ในขณะที่วิญญาณในนรกต้องรู้สึกทุกข์ทรมานมาก เพราะนรกสร้างขึ้นจากพลังงานที่เลว เช่นเดียวกับความสุขความทุกข์ที่เราสัมผัสได้ด้วยกายมนุษย์ละเอียดหรือวิญญาณของเราขณะหลับฝันเห็นเหตุการณ์ดีร้ายต่างๆ
นอกจากนี้ สวรรค์ยังมี “แรงดึงดูด” เหมือนดวงจันทร์ ซึ่งมีแรงดึงดูดอ่อนๆ
ทำให้วิญญาณหรือเทวดาในสวรรค์สามารถล่องลอยได้ คล้ายเดินอยู่บนดวงจันทร์
ในขณะที่มีความสุขเพลิดเพลินอยู่กับรางวัลตอบแทนจากการทำดี
ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือพลังงานบุญที่ตนเองได้สั่งสมเอาไว้ ในทางตรงกันข้าม
วิญญาณในนรก หรือที่เรียกว่าสัตว์นรกต้องประสบกับแรงดึงดูดที่แรงกว่าของภพนรก
ซึ่งพวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานจากการทำโทษอันเป็นผลมาจากการสั่งสมพลังงานบาปที่ได้จากการคิด
พูด และทำชั่ว ในเมืองมนุษย์ โดยปกติแล้ว เทวดาสามารถเพลิดเพลินในสวรรค์อย่างมีความสุขจนกว่าพลังงานบุญของพวกเขาจะถูกใช้ไปจนถึงระดับหนึ่ง
จากนั้นพวกเขาก็จะต้องไปเกิดใหม่ ด้วยพลังงานบุญและบาปที่เหลืออยู่ในตัว
เช่นเดียวกับสัตว์นรกที่ทนทุกข์ทรมานกับการทำโทษ
จนกระทั่งพลังงานบาปที่สะสมไว้ลดลงไปถึงระดับหนึ่ง จากนั้นจึงไปเกิดใหม่ด้วยบุญและบาปที่เหลืออยู่ในตัว
ทั้งนี้ ทั้งเทวดาและสัตว์นรก ต่างก็มีอนาคตที่ไม่แน่นอนในการไปเกิดใหม่
เพราะอาจเกิดใหม่เป็นเทวดา(อีกครั้ง), เป็นมนุษย์, เป็นสัตว์, เป็นผี,
หรือเป็นสัตว์นรก (อีกครั้ง)
ขึ้นอยู่กับกรรมในอดีตอันหลากหลายที่เคยสั่งสมมาและปริมาณบุญและบาปที่ยังคงเหลืออยู่ในตัว
17. สมาธิกับไฟฉาย
หลายคนคงสงสัยว่านั่งหลับตาทำสมาธิ
ทำไมจึงสามารถเห็นโน่นเห็นนี่ได้ เห็นอยู่คนเดียว เพ้อฝันหรือจินตนาการไปหรือเปล่า
อันที่จริงแล้วสิ่งที่เราเห็นในสมาธินั้นก็มีทั้งของจริงและของไม่จริง ของไม่จริงเกิดขึ้นเพราะใจไม่บริสุทธิ์หยุดนิ่งไม่ดีพอ
แต่ในกรณีที่เห็นจริง ก็ต้องเอ่ยอ้างถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนว่า
ใจของมนุษย์นี้แต่เดิมเป็นประภัสสร พูดง่ายๆ ก็คือสว่างและสะอาด
เทียบได้กับไฟฉายที่ส่องสว่างอยู่เป็นปกติ ต่อมาถูกกิเลสครอบงำ จึงบดบังความสว่างนั้นเสีย
เหมือนกระจกไฟฉายถูกป้ายด้วยสีคล้ำสีดำ แสงสว่างไม่อาจเล็ดลอดออกมาได้
มีแต่ความมืด เมื่อมืดแล้ว เราก็มองอะไรด้วยใจไม่เห็น เช่นนรก และสวรรค์ เทวดา
และวิญญาณ มองได้แต่ด้วยตาเปล่า เห็นแต่วัตถุหยาบๆ ของทิพย์มองไม่เห็นแล้ว
การทำสมาธิ ก็เหมือนการชำระล้างมลทินของใจ ค่อยๆ ล้างสีคล้ำที่ทาทับกระจกไฟฉาย
จนกระทั่งค่อยๆ มีแสงสว่างเล็ดลอดออกมาให้เห็น เมื่อล้างออกจนหมด (หมดกิเลส)
กระจกไฟฉายก็เกลี้ยงเกลาใสแจ๋วดังเดิม แสงไฟสามารถส่องออกมาได้เต็มที่
คราวนี้อยากจะส่องมองอะไร ก็เห็นได้ทั้งนั้น (ภาษาพระเรียกว่าญาณทัสสนะ)
ตามกำลังแรงของไฟฉายซึ่งแตกต่างกันออกไป เมื่อเห็นแล้ว ก็มีความรู้
ความเข้าใจเกิดขึ้น ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเปรียบเหมือนดวงตะวัน ส่องเห็นได้ทั้งจักรวาลและข้ามจักรวาล
ส่วนพระสาวกก็สว่างรองลงมา เหมือนพระจันทร์ เหมือนสปอตไลท์ เหมือนไฟฉาย ใหญ่บ้าง
เล็กบ้าง แรงเทียนไม่เท่ากัน ตามกำลังบุญบารมีและอุปนิสัยที่สั่งสมมา
ที่พิเศษกว่านั้นก็คือการทำสมาธิรวมเป็นกลุ่ม นำจิตที่สว่างไสวของแต่ละคนมารวมกัน
ก็เหมือนการนำไฟฉายหลายกระบอก มารวบเข้าด้วยกัน ส่องไปทางไหน ก็เห็นพร้อมๆ กัน
เห็นได้ชัดกว่า และเห็นได้ไกลมากขึ้นกว่าการทำสมาธิอยู่คนเดียว
18. เมโมรี่ข้ามชาติ
การระลึกชาติ
ก็เหมือนกับที่เราถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือหรือกล้องวงจรปิด
แล้วเปิดย้อนดูภาพที่ถ่ายเอาไว้ทีละภาพหรือดูเป็นภาพเคลื่อนไหว
เพียงแต่ภาพที่เราเก็บเอาไว้ข้ามภพข้ามชาตินั้น เราถ่ายด้วย "ใจ"
แล้วเมโมรี่การ์ด ที่เก็บไฟล์ภาพเอาไว้ ก็เป็นเมโมรี่การ์ดแบบละเอียด
ไม่สามารถจับต้องได้ด้วยมือเปล่า เก็บไว้ในใจเราเอง
เมื่อไหร่ที่ใจของเราเป็นสมาธิสงบนิ่งละเอียดมากพอ เราก็จะสามารถเข้าไปเปิดเมโมรี่การ์ดย้อนอดีตชาติดูได้
เมื่อเราตายไป วิญญาณออกจากร่าง เมโมรี่การ์ดก็ติดไปกับวิญญาณของเรา
19. ไวรัสของใจ
กิเลสเป็นเสมือนไวรัสคอมพิวเตอร์
ที่ถูกส่งเข้ามาในระบบการทำงานของใจเรา ทำให้ทำงานได้ไม่ปกติ และ error บ่อยๆ บางครั้งถึงกับเครื่อง hang ไปเลย
กิเลสมีด้วยกัน 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ ความโลภ ความโกรธ
ความหลง แต่ถ้าแบ่งแยกย่อยโดยละเอียด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่ามี 1,500 ชนิด
นอกจากนี้เราอาจเปรียบเทียบกิเลสได้กับมลภาวะที่เข้ามาปนเปื้อนใจของเรา
ทำให้เราคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดี เมื่อคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดีแล้ว
เราก็ได้พลังบาปมาเก็บไว้ในใจ ตามกติกาของกฎแห่งการกระทำ
เพราะฉะนั้นกิเลสจึงเปรียบเสมือน Stimulant หรือตัวกระตุ้น
ชักนำไปในทางที่เสื่อม และกิเลสเหล่านี้ก็ถูกส่งมาจากแหล่งผลิต โดยทำงานร่วมกันกับ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง) ยกตัวอย่างเช่น
ตาเราเห็นรูปไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุด กิเลสในใจคือความโลภก็กระตุ้นให้เราอยากได้
ในที่สุดก็ไปกู้เงินหรือยืมเงินเขามาซื้อ ติดหนี้ติดสิน หรือสิ้นเปลืองเงินทั้งๆ
ที่มีไอโฟนรุ่นเดิมอยู่แล้ว หรือกิเลสกระตุ้นให้ติดในรส
รับประทานอาหารอย่างไม่บันยะบันยัง และทานแต่ของที่มีไขมัน มีน้ำตาลมาก
สุดท้ายก็เป็นโรคอ้วนและเจ็บป่วยด้วยโรคไขมันอุดตันเส้นเลือดเป็นต้น
ถ้าโลกนี้ไม่มีกิเลส คนเราก็จะมีใจที่สะอาดบริสุทธิ์อยู่เป็นปกติ
เหมือนร่างกายที่ไม่มีเชื้อโรคเลย ก็จะมีแต่ความสดชื่นสดใส ไม่เจ็บป่วย
แต่ตราบใดที่โรงงานผลิตกิเลสยังมีอยู่ สรรพสัตว์ก็ต้องพยายามต้านทานกิเลสนั้นไว้
เพื่อมิให้ปล่อยตนเองให้ถูกพัดพาไปสู่ความชั่วร้าย จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์
จึงจะเป็นผู้ที่กิเลสไม่สามารถเข้าไปในใจได้อีก โดยสิ้นเชิง
20. เมื่อยามทุกข์ใจ
ยามใดก็ตามที่เรารู้สึกทุกข์ใจ
เราต้องทบทวนหลักการเสียก่อนว่า ชีวิตของคนเรานั้นถูกควบคุมด้วยพลังงาน 3 ชนิด คือบุญ, บาป, และไม่บุญไม่บาป
ในขณะที่กระแสบุญทำให้มีความสุข กระแสบาปก็ทำให้มีความทุกข์ ส่วนกระแสไม่บุญไม่บาป
ก็ทำให้ไม่สุขไม่ทุกข์
การที่ใจเราเป็นทุกข์นั้นก็เป็นเพราะว่ากระแสบาปกำลังหลั่งไหลเข้ามาในใจเรา
วิธีแก้พื้นฐานก็คือให้เราคิดดี พูดดี และทำดีเพิ่มเติมให้มากๆ เพื่อเสริมพลังบุญเข้าไปในใจ
เมื่อใดที่กระแสบุญแรงชนะกระแสบาปได้แล้ว
ใจเราก็จะเปลี่ยนขั้วจากความทุกข์มาเป็นความสุขดังเดิม
21. วิญญาณ
ชาวพุทธส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องวิญญาณ
อย่างในละครผีๆ ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ว่าวิญญาณออกมาก่อกวนได้หลายรูปแบบ
แต่ก็ยังมีคนเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เชื่อเรื่องวิญญาณ โดยคิดว่า
คนเราก็มีเพียงร่างกาย ควบคุมด้วยสมอง
เมื่อตายแล้วทุกอย่างก็จบสิ้นและร่างกายก็แตกสลายไป
อันที่จริงแล้ววิญญาณหรือที่เรียกว่า “กายละเอียด” นั้นมีจริง มนุษย์และสัตว์ทุกชีวิตล้วนมีวิญญาณ
แล้วเราก็เห็นวิญญาณของตัวเองอยู่บ่อยครั้งเวลาหลับฝัน
นั่นคือวิญญาณของเราที่ออกจากร่างท่องไปตามสถานที่ต่างๆ
ทำให้เห็นเป็นเรื่องเป็นราว แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องราวที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง
ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่กายละเอียดถ่ายทอดให้เราได้ทราบผ่านความฝันนั้น
ก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ เหมือนเราฟังรายการวิทยุจากคลื่นสถานีต่างๆ
บางครั้งก็มีคลื่นแทรก บางครั้งก็สัญญาณหาย บางครั้งก็คลื่นชัดเจนดี
บางครั้งก็จูนเสียงชัดบ้างไม่ชัดบ้าง บางครั้งคลื่นก็ตีกัน
ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง บางครั้งก็เป็นรายการข่าว
คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น บางครั้งก็เป็นละคร คือเรื่องไม่จริง แต่ที่น่าแปลกคือ
บางครั้งเราฝันเห็นอนาคต หรือฝันเห็นอดีตชาติ
นี่คือการทำงานของวิญญาณหรือกายละเอียดของเราเอง และเราก็มักฝันว่าตัวเราเป็นตัวเราเองอยู่เสมอ
ไม่เป็นคนอื่น ยกเว้นแต่จะเป็นตัวเราในอดีตชาติ หรืออนาคต
นี้คือการเห็นวิญญาณของตนเองทุกคืนที่หลับฝัน แต่เราอาจมองข้ามไปเพราะไม่ได้สังเกต
และสิ่งที่วิญญาณเราเห็นก็อาจมีทั้งที่เห็นแล้วรู้และเข้าใจ หรือเห็นแล้วไม่รู้และไม่เข้าใจ
จะกล่าวไปการหลับฝันเห็นสิ่งต่างๆ ก็เหมือนใจที่เป็นสมาธิอ่อนๆ
ซึ่งสิ่งที่รู้และเห็นอาจจริงบ้างไม่จริงบ้าง ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
คล้ายกับการที่ผู้ฝึกสมาธิชำนาญแล้ว ถอดวิญญาณของตนออกไปท่องเที่ยวนั่นเอง
22. การเกิดใหม่
เมื่อเราได้เปรียบเทียบวิญญาณของมนุษย์กับภาพรูปกายโฮโลแกรมโปร่งแสงและไร้น้ำหนัก
จับต้องด้วยมือเปล่าไม่ได้ ที่ซ่อนอยู่ในอุปกรณ์ฉายโฮโลแกรม
ในแง่ของการเวียนว่ายตายเกิดนั้น ก็มีสาเหตุมาจากการที่รูปกายมนุษย์แก่ชรา
ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจนกระทั่งหมดอายุการใช้งาน
ไม่สามารถทรงอยู่ต่อไปได้อีก ดังนี้แล้ว วิญญาณซึ่งสถิตอยู่ในกายมนุษย์
จึงจำเป็นจะต้องแสวงหาเรือนกายใหม่ เป็นที่สถิตอยู่ วนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป
จนกว่าจะสะสมพลังงานบุญบารมีได้เต็มเปี่ยม ขจัดกิเลสได้หมดแล้ว
สามารถเข้าพระนิพพานไปเสวยสุขนิจนิรันดร์กาลได้
การแสวงหาที่เกิดใหม่ของวิญญาณมนุษย์ ก็เหมือนซิมการ์ด กับ โทรศัพท์มือถือ
เมื่อเราใช้โทรศัพท์จนเก่าและเสีย เราก็ต้องหาซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่
แล้วก็ถอดซิมการ์ดจากเครื่องเก่ามาใส่เครื่องใหม่
ซึ่งอาจเป็นโทรศัพท์ที่ดีกว่าเดิมหรือด้อยกว่าเดิมก็เป็นไปได้ ซึ่งในเรื่องของการเกิดใหม่นี้ สอดคล้องกันกับ “กฎอนุรักษ์มวลสารและพลังงาน”
โดยที่ ธาตุ (ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, อากาศ, วิญญาณ), ธรรม (กุศล, อัพยากฤต, อกุศล)
และพลังงานต่างๆ รวมถึง บุญ และ บาป ต่างหมุนเวียนเปลี่ยนแปรสภาพอยู่ในระบบปิด
คือวัฏสงสาร ยกเว้นแต่ในกรณีที่มีการปะทะกับของธาตุธรรมและพลังงานต่างขั้ว
จึงจะสามารถเกิดการ “สูญสลาย” ของมวลและพลังงานของแต่ละฝ่ายมากบ้างน้อยบ้าง
แต่ปรากฏการณ์นี้ก็มักไม่ได้เกิดขึ้นภายในระบบปิดของวัฏสงสาร โดยส่วนใหญ่แล้ว
มวลและพลังงานที่มีอยู่ในวัฏสงสารจึงยังคงหมุนเวียนผันแปรเปลี่ยนอยู่ภายในวัฏสงสารต่อไป
รวมถึงวิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิดเช่นกัน
23. กายภายใน
จากคำสอนในพระพุทธศาสนา
เราได้ทราบชัดเจนแล้วว่า นอกจากมนุษย์แล้ว ก็ยังมีวิญญาณที่อยู่อาศัยตามที่ต่างๆ
มียักษ์ มีนาค มีครุฑ มีคนธรรพ์ เทพบุตร เทพธิดา มีพรหม อรูปพรหม เป็นต้น
อาจมีคนสงสัยว่าพวกเขามาจากไหน แล้วเวลามนุษย์ตายไป จะกลายเป็นวิญญาณ เป็นเทวดา
เป็นพรหมได้อย่างไร แท้ที่จริงแล้วรูปกายต่างๆ เหล่านี้มีอยู่ในตัวของทุกคน
เหมือนตุ๊กตารัสเซียที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เปิดฝาตุ๊กตาตัวแรกออกมา
ก็เจออีกตัวอยู่ข้างใน เปิดฝาต่อไปอีก ก็เจออีกตัว ซ้อนกันไปเรื่อยๆ เป็นชั้นๆ
ยิ่งอยู่ลึก ก็ยิ่งมีความละเอียด ประณีต สวยงาม และบริสุทธิ์มากขึ้น
แต่ที่แตกต่างจากตุ๊กตารัสเซียก็คือ กายภายในของมนุษย์นั้น ยิ่งอยู่ลึกเข้าไป
ก็จะมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น กายเทวดาของเรา ใหญ่กว่ากายมนุษย์ของเรา ส่วนกายพรหมของเรา
ก็ใหญ่กว่าทั้งกายเทวดาและกายมนุษย์ บางคนอาจจะค้านว่า
ของใหญ่กว่าจะอยู่ในของเล็กกว่าได้อย่างไร ก็ให้เราดูอย่างภาพโฮโลแกรม 3
มิติของมนุษย์ ซึ่งซ่อนอยู่ในเครื่องฉายโฮโลแกรมที่มีขนาดเล็กกว่า
ทั้งหมดนี้เก็บเอาไว้อยู่ในกลางกายมนุษย์เหมือนกันทุกคน
ไม่ว่าจะนับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงคราวที่มนุษย์เสียชีวิตและต้องเกิดใหม่
ก็จะไปเกิดโดยอาศัยกายที่เหมาะสมตามกำลังบุญกำลังบาป และสภาวะของจิตในขณะนั้น
เหมือนเราแกะเอาฝาตุ๊กตารัสเซียออก ถอดเอาตัวนอกสุดที่เป็นเสมือนเปลือกทิ้งไป
แล้วเลือกเอาตัวข้างในที่เหมาะสมที่สุดไปใช้
24. แรงดึงดูดภายนอก
เมื่อเราได้ทราบแล้วว่า
มนุษย์เรามีกายภายในต่างๆ เก็บเอาไว้อยู่ข้างในตัว เราควรมีความรู้ต่อไปว่า
ตัวเรานั้นอยู่ท่ามกลางแรงดึงดูดที่โยงใยเป็นระบบตลอดทั้งจักรวาล เริ่มจากโลกใบนี้
ก็มีแรงดึงดูด ที่ดึงดูดกายมนุษย์เอาไว้ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว
ก็มีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน หน่วงเหนี่ยวกันไว้เป็นระบบ
แม้แต่นรกและสวรรค์ชั้นต่างๆ ก็มีแรงดึงดูด โดยสวรรค์แต่ละชั้นก็มีแรงดึงดูด
ที่จะดึง “กายทิพย์” ที่อยู่ภายในตัวมนุษย์ไปอยู่ที่นั่น
ให้พอเหมาะพอสมกับกำลังบุญภายในตัว พรหมโลก ก็มีแรงดึงดูดที่จะดึง “กายพรหม” ไปอยู่ที่นั่น หรือถ้าต้องเกิดเป็นสัตว์นรก
เพราะมีกระแสบาปอยู่ในตัวมาก นรกก็มีแรงดึงดูด ที่จะดึงวิญญาณไปอยู่ที่นั่น
หรือถ้าหากเป็นผู้หมดกิเลส จะได้ไปนิพพาน อายตนนิพพาน ก็จะมีแรงดึงดูด
ดึงเอากายธรรม ซึ่งเป็นกายที่ไม่มีกิเลส ไปอยู่ที่อายตนนิพพานซึ่งไม่มีการเกิด แก่
เจ็บ ตายอีก ตลอดทั้งจักรวาลจึงทำงานอย่างเป็นระบบ สัมพันธ์กับตัวของเราทุกคน
ชีวิตของเราที่อยู่ในวัฏสงสาร ก็เหมือนอยู่ในแผงวงจรระบบดิจิตอล
ที่ทำงานอย่างเป็นระบบ และเชื่อมถึงกันทั้งหมด โดยที่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น
ล้วนเป็นไปตามกลไกควบคุม และไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ
25. แรงดึงดูดภายใน
ไม่เพียงแต่โลกเท่านั้นที่มีแรงดึงดูดมนุษย์เอาไว้
หรือสวรรค์ที่มีแรงดึงดูดกายทิพย์หรือเทวดา
แม้แต่ร่างกายของมนุษย์เองก็มีแรงดึงดูดเช่นกัน โดยแรงดึงดูดนี้อยู่ตามฐานที่ตั้งของใจ
ได้แก่ ฐานที่ 1 อยู่ที่ปากช่องจมูก (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา)
คือประตูระหว่างกายกับภายนอก ฐานที่ 2 อยู่ที่หัวตา
ตรงที่น้ำตาไหล (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา) คอยดึงดูดภาพ ฐานที่ 3 อยู่ที่จุดกึ่งกลางศีรษะ คอยดึงดูดเสียง ฐานที่ 4 อยู่ที่เพดานปาก คอยดึงดูดกลิ่น ฐานที่ 5 อยู่ที่ปากช่องคอ
บริเวณที่อาหารสำลัก คอยดึงดูดรส ฐานที่6 อยู่ที่กลางลำตัวระดับสะดือ
คอยดึงดูดความรู้สึกสัมผัส และฐานที่ 7 คือฐานที่ตั้งถาวรของใจ
คอยดึงดูดส่วนต่างๆ ของใจให้มารวมกัน เมื่ออยู่ในสภาวะที่เป็นสมาธิ เรียกว่าศูนย์กลางกาย
อยู่เหนือจากฐานที่ 6 สูงขึ้นมา 2 นิ้วมือ ฐานที่ตั้งของใจ ตั้งแต่ฐานที่ 1 ถึง
ฐานที่ 6 คอยควบคุมการทำงานของประสาทสัมผัส
ทำให้เราส่งใจออกไปภายนอก กับสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ได้ดม ได้สัมผัส
และนำสิ่งเหล่านี้มาปรุงแต่ง เกิดเป็นความรู้สึกนึกคิดอยู่ภายในใจ
ซึ่งทำงานอย่างรวดเร็วมาก ผ่านกระบวนการต่างๆ เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น
26. กฎแห่งจักรวาล
กฎแห่งกรรมนั้นเป็นกฎที่มีอยู่แล้ว
และมีผลบังคับใช้ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลามายาวนาน
ตราบจนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม และได้รู้เห็นถึงกฎนี้
จึงนำมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้ทราบ
กฎแห่งกรรมนี้เองที่เป็นเสมือนโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของวัฏสงสารที่มีสรรพสัตว์
สรรพสิ่ง และภพภูมิต่างๆ ที่เป็นเหมือนฮาร์ดแวร์ เมื่อเราทำความดี บุญก็เกิดขึ้น
พลังงานบุญก็ถูกส่งมาจากแหล่งผลิต แล้วนำมาเก็บเอาไว้ที่ดวงบุญ
ซึ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ภายในดวงบุญ
ซึ่งภายในดวงบุญนั้นก็มีโปรแกรมที่ถูกตั้งขึ้นบรรจุเอาไว้ เช่นถ้าเราทำทาน
บุญที่ได้มีโปรแกรมตั้งเอาไว้ว่าให้ส่งผลให้รวย ถ้าเรารักษาศีล
บุญที่ได้มีโปรแกรมตั้งเอาไว้ว่าให้เกิดมาสวยหล่อแข็งแรง เป็นต้น
ลักษณะเดียวกันกับการทำบาป เวลาทำบาป ก็จะมีกระแสบาปส่งมาเก็บไว้ในตัวเรา
และในกลางดวงบาปก็จะมีโปรแกรมชีวิตตั้งเอาไว้ให้เป็นไปต่างๆ นาๆ เช่นดื่มเหล้า
ก็จะเกิดมาเป็นบ้า ใบ้ ปัญญาอ่อน กฎแห่งกรรมก็ควบคุมทุกชีวิตให้เป็นไปตามกฎ
ซึ่งมีความละเอียดอ่อนมาก ว่า ทำอย่างนี้ ให้ได้ผลอย่างนั้น เกิดเป็นอย่างนั้น
ไปอยู่ที่ภพภูมินั้น มีรูปร่างหน้าตาอย่างนั้น ซึ่งพลังงานของบุญ และพลังงานของบาป
ที่ถูกเก็บอยู่ในตัวเรานั้น จะเป็นพลังที่ดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น
ทั้งด้านดี และด้านร้าย เช่นให้ประสบอุบัติเหตุ ถึงเวลาดวงบาปก็ผลักดันให้เราขับรถออกไป
หมุนพวงมาลัยไปทางนั้น แล้วก็ไปชนกับอีกคัน ซึ่งไม่มีอะไรบังเอิญเลย
ทุกอย่างมีผังหรือโปรแกรมทำเอาไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น
แต่ก็พอจะเปลี่ยนแปลงได้บ้าง เหมือนอย่างที่มีคนพยายามทำบุญเพื่อแก้กรรม
ชาวพุทธจึงนับว่าโชคดี
ที่ได้เรียนรู้ว่ามีกฎแห่งกรรมคอยควบคุมบงการความเป็นไปของสรรพชีวิต
เมื่อเรารู้แล้ว เราก็หาทางแก้ไข ป้องกัน และดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีสติ
ไม่เผลอทำผิดพลาดตามกฎแห่งกรรมนั้น
27. เบื้องหลังชีวิต
เมื่อเราได้เห็นแล้วว่าชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในวัฏสงสารนี้อยู่ในระบบการควบคุมอย่างไร
เราอาจมองได้ว่า แท้จริงแล้วคนเราก็เป็นเหมือน “หุ่นชีวยนต์” ที่ดำรงอยู่ด้วยพลังงานบุญ, บาป และไม่บุญไม่บาป
ที่หล่อเลี้ยงใจอยู่ตลอดเวลา นอกเหนือไปจากพลังงานและสารอาหารที่หล่อเลี้ยงกาย
การทำงานทุกอย่างอยู่ภายใต้กลไกที่มีระบบชัดเจน เหมือนกับนาฬิกา
หากเรามองเพียงรูปลักษณ์ภายนอก เราจะเห็นเพียงเข็มนาฬิกาสองสามเข็มที่เดินหมุนเวียนไปเรื่อยๆ
แต่เบื้องหลังการทำงานของเข็มนาฬิกาเพียงสองสามเข็มคือกลไกอันสลับซับซ้อนมากมายอยู่ภายในเครื่องนาฬิกาที่มีฝาครอบปิดไว้
ถ้าเป็นนาฬิการุ่นเดิมหรือแบบออโตเมติค
ก็มีฟันเฟืองเป็นจำนวนมากทั้งตัวเล็กตัวใหญ่
หมุนรับส่งกันเป็นจังหวะขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
หรือถ้าเป็นนาฬิการะบบดิจิตอลก็มีแผงวงจรมีชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์อันซับซ้อนที่ส่งกระแสไฟฟ้าวิ่งวนกันอยู่อย่างรวดเร็ว
อย่างที่ไม่สามารถมองตามทันด้วยตาเปล่า แต่เราจะเห็นเพียงการแสดงผลที่อยู่บนหน้าปัดของนาฬิกาเท่านั้น
เบื้องหลังชีวิตของมนุษย์และสัตว์ก็เฉกเช่นเดียวกัน
ล้วนแต่มีกลไกอันสลับซับซ้อนควบคุมอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น เช่น มีระบบกลไก
การส่งพลังงานบุญ และพลังงานบาป และตั้งโปรแกรมกำหนดการส่งผลของกรรมดีและกรรมชั่ว
ซึ่งทำงานภายใต้โปรแกรมระบบปฏิบัติการหลัก คือกฎแห่งกรรม และกฎพระไตรลักษณ์
(ความไม่เที่ยง, ความเป็นทุกข์, และความไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง)
การดึงดูดวิญญาณของมนุษย์และสัตว์ไปสู่สวรรค์หรือนรก การส่ง “กุศลธรรม” และ
“อกุศลธรรม” มาหล่อเลี้ยงใจของสรรพสัตว์ และกฎกติกาในการสั่งสมพลังงานบุญ
ที่เปิดโอกาสให้บรรลุธรรมตามลำดับขั้น
เมื่อสะสมพลังงานบุญครบปริมาณและระยะเวลาบ่มบารมีตามที่กำหนด เป็นต้น
ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ มีระบบมีระเบียบในการดำเนินงานที่ชัดเจน ทำงานภายใต้การควบคุมของ
“เครื่องธาตุเครื่องธรรมอันเป็นทิพย์” ซึ่งเปรียบเสมือน
“ซุปเปอร์เมนเฟรมเซอร์เวอร์คอมพิวเตอร์” ของเครือข่ายทั้งหมดในธาตุธรรม
คือความมีอยู่และเป็นอยู่ของสรรพสิ่งและสรรพสัตว์
ซึ่งภาพจำลองของเครื่องธาตุเครื่องธรรมก็คล้ายกับภาพหน้าปกหนังสือธัมโมโทรนิคส์ฉบับนี้
แต่ของจริงนั้นใหญ่โตมโหฬาร และละเอียดซับซ้อนมากกว่ายิ่งนัก
ซึ่งเครื่องธาตุเครื่องธรรมนี้ ก็แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย แยกต่างหากกัน
และอยู่ต่างที่กัน คือเครื่องธาตุเครื่องธรรมของฝ่ายกุศล ฝ่ายอัพยากฤต
และฝ่ายอกุศล โดยเครื่องธาตุเครื่องธรรมนั้น มีผู้ควบคุมการทำงานก็คือ
“ต้นธาตุต้นธรรม” ของแต่ละฝ่าย
ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างเครื่องขึ้นและควบคุมกำกับการการทำงานของเครื่องของตน
เพื่อทำงานให้สรรพสัตว์และสรรพสิ่งเป็นสุข (ในกรณีเครื่องของฝ่ายกุศล),
ไม่สุขไม่ทุกข์ (เครื่องของฝ่ายอัพยากฤต) และเป็นทุกข์ (ในกรณีเครื่องของฝ่ายอกุศล)
28. เกิดมาทำไม
หลายท่านอาจสงสัยว่า
เมื่อชีวิตเป็นอย่างนี้แล้ว แท้จริงเรามาเกิดหรือดำรงอยู่เพื่อวัตถุประสงค์อะไร
คำตอบก็คือเราเกิดมาเพื่อสั่งสมพลังงานบุญ คือคุณธรรมและความบริสุทธิ์ให้มากที่สุด
(สร้างบารมี) และขจัดพลังงานบาป คือกิเลสและมลทินทั้งหลายให้หมดออกไปจากใจของเรา
เพราะถ้าหากเรามีพลังงานบุญมากพอ และมีพลังงานบาปอยู่น้อย
เราสามารถอาศัยพลังงานบุญบารมี ทำความสะอาดใจของเราให้มีคุณภาพสูงขึ้นและบรรลุธรรม
หรือบรรลุมรรคผลตามลำดับขั้นต่างๆ ตามกติกาของโปรแกรมกฎแห่งกรรม และสามารถพ้นจากความทุกข์
ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขทั้งในโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ พรหมโลก
จนกว่าจะเข้าถึงพระนิพพานในที่สุด เพื่อยุติการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารที่เสี่ยงต่อการเป็นทุกข์อย่างไม่มีวันจบสิ้นนี้ได้
นี่คือเป้าหมายของการเกิดมาของสรรพสัตว์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่ทราบกัน
คนที่มีศาสนาส่วนใหญ่ก็คาดหวังที่จะไปอยู่สวรรค์อันเป็นดินแดนแห่งความสุข
ศาสนาที่สอนการทำสมาธิ ก็สามารถไปได้ถึงพรหมโลก
มีเพียงพระพุทธศาสนาที่สอนให้ไปจนถึงพระนิพพาน ซึ่งชาวพุทธที่รู้แล้ว
ก็มีทั้งที่เบื่อหน่ายความทุกข์ อยากจะไปเสวยความสุขอันเป็นนิรันดรในพระนิพพาน
ในขณะที่ชาวพุทธอีกจำนวนไม่น้อย ยังอาลัยเสียดายความเพลิดเพลินทางโลก อยากเสวยสุขอยู่ในโลกมนุษย์หรือสวรรค์ต่อไป
29. ใจเหมือนวิทยุ
สถานีวิทยุส่งคลื่นได้หลายความถี่
บ้างก็เอฟเอ็ม บ้างก็เอเอ็ม บางคลื่นเป็นเพลงป็อบ บางคลื่นเป็นเพลงร็อค
บางคลื่นเป็นเพลงแจ๊ส จะว่าไปคนเราก็คล้ายๆ สถานีส่งคลื่นวิทยุ
บางคนส่งคลื่นความโกรธออกมา บางคนส่งคลื่นความหลง แม้คนเหล่านี้ไม่ปริปากพูดอะไร
แต่เราก็อาจสัมผัสคลื่นความถี่ต่ำจากพวกเขาได้
ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวไม่สบายใจที่จะต้องอยู่ใกล้
ต่างจากบางคนที่เป็นสถานีส่งคลื่นความเมตตากรุณาปรารถนาดีออกจากตัว
ย่อมทำให้ผู้เข้าใกล้เป็นสุขทั้งกายและใจ ใครที่มีสัมผัสไว
ก็จะรู้สึกรับรู้ได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม ในตลอดหมดสากลโลกทุกวันนี้สถานีคลื่นพลังหลักๆ
ทั้ง 3 ก็ส่งคลื่นสู้กันตลอดเวลา อีกทั้งยังส่งตัวแทนมาปะทะต่อสู้กันอีกด้วย
มนุษย์และสัตว์ล้วนดำเนินชีวิตอยู่ในวัฏสงสารไปยาวนานเช่นนี้
โดยไม่รู้ตัวมาก่อนเลย แต่เราจะสังเกตได้ว่า จิตของมนุษย์ธรรมดาสามัญนั้นไม่เคยว่างเว้นจากคลื่นทั้ง 3 คือความคิดดีที่เป็นบุญกุศล ความคิดไม่ดีที่เป็นบาปอกุศล ความคิดกลางๆ
ที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป ทั้ง 3 คลื่นนี้ผลัดกันแย่งชิงพื้นที่ในใจเราตลอดเวลา
โดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย มนุษย์เราจึงเป็นเสมือนเครื่องรับวิทยุ
รับสัญญาณจากสถานีใหญ่ เหมือนเราจูนคลื่นวิทยุเพื่อฟังเพลง
บางครั้งก็จูนติดสถานีนี้ บางครั้งก็จูนติดอีกสถานี
บางครั้งเสียงจากสองสถานีก็ตีกัน ถ้าใจเราจูนติดคลื่นของสถานีฝ่ายกุศล
เราก็มีความคิดที่ดี อยากใส่บาตร แล้วเราก็หุงข้าว ซื้อกับข้าว เดินออกไปใส่บาตร
แล้วฝ่ายกุศลก็เติมบุญเข้ามาในศูนย์กลางกายของเรา
เพื่อใช้บุญนั้นพัฒนาชีวิตและจิตใจของเรา
ให้กลับไปบริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิมให้ได้ จนกว่าบุญจะเต็มเปี่ยมจะได้บรรลุธรรม
ได้เป็นพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระอรหันต์ กลับเข้านิพพาน แต่ฝ่ายอกุศล
ก็พยายามส่งคลื่นคือกิเลสมาทำให้เราเสื่อม ให้ขี้เซา ให้ตื่นสาย ให้ขี้เกียจ
ไม่อยากทำบุญใส่บาตร ให้เราคิดอยากดื่มเหล้า ดื่มแล้วเขาก็เติมบาปเข้ามา
แล้วก็ตั้งโปรแกรมตามกฎแห่งกรรมว่า ต้องไปนรก ต้องเป็นบ้า ใบ้ ปัญญาอ่อน
ทำให้เราบรรลุธรรมไม่ได้ แล้วก็ห่างจากนิพพานมากเข้าไปอีก เพื่อให้เราสู้เขาไม่ได้
ส่วนสถานีคลื่นไม่บุญไม่บาป ก็ส่งคลื่นมา ถ้าเราจูนติดคลื่นนี้ เราก็ไม่อยากทำบุญ
ไม่อยากทำบาป อยากจะอยู่แบบไม่บุญไม่บาป ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ทำอะไรไปเพลินๆ
ซึ่งประเภทนี้เองที่เขาอ้างกันว่า ถึงไม่ได้ทำบุญ แต่ก็ไม่ได้ไปคดไปโกงใคร
ไม่ได้เบียนเบียนใคร ซึ่งคนที่เป็นลักษณะนี้ ไม่มีบุญจะไปสวรรค์ไปนิพพาน
ไม่มีบาปหนักจะไปนรก ตายแล้วก็กลายเป็นผีเร่ร่อนอยู่ในโลกมนุษย์
30. วิชชาธรรมกาย
“วิชชา” ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ วิชชา 3 (ระลึกชาติ, ตาทิพย์, หมดกิเลส) และ วิชชา 8 (ญาณคือเครื่องรู้,
ฤทธิ์ทางใจ, แสดงฤทธิ์ได้, หูทิพย์, รู้วาระจิต, ระลึกชาติ, ตาทิพย์,
ขจัดกิเลสให้หมดไป) ซึ่งองค์สมเด็จพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนสาวกของพระองค์ให้ได้บรรลุกันไปตามกำลังบุญบารมี
อย่างไรก็ตาม “วิชชา” ซึ่งแปลว่า “ความรู้แจ้ง” นั้น
เป็นสิ่งที่มีมาแต่ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้แล้ว เพียงแต่รอคอยให้ผู้ปฏิบัติได้รู้
ได้เห็น เข้าใจ และเข้าถึง สมเด็จพระพุทธโคดมได้เคยตรัสเอาไว้ว่า
ความรู้หรือธรรมะที่พระองค์ทรงนำมาถ่ายทอดแด่สาวกนั้น เป็นประดุจใบไม้ในกำมือ
ซึ่งเพียงพอแล้วต่อการนำพระสาวกไปสู่มรรคผลนิพพาน เมื่อเทียบกับจำนวนของใบไม้ในป่า
ซึ่งเป็นธรรมหรือวิชาความรู้ที่พระองค์ทรงทราบ และมีอยู่อีกมาก “วิชชาธรรมกาย” ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด
จนฺทสโร) ได้ค้นพบ และนำมาถ่ายทอด จึงเป็นประดุจใบไม้ในป่า
ซึ่งถูกค้นพบและนำมาถ่ายทอด
เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่ที่สุดแห่งธรรม เปรียบได้กับ
พีชคณิต และแคลคูลัส ทางวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งแม้จะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่ต่างก็เป็นวิชาที่ยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน
ไม่ขัดแย้งกันเลย ซึ่งผู้ปฏิบัติวิชชาธรรมกายที่เชี่ยวชาญ จะสามารถใช้ วิชชา 8 ได้
ยกเว้นข้อสุดท้ายคือ “ขจัดกิเลสให้หมดไป” ซึ่งผู้ปฏิบัติวิชชาธรรมกายมักจะยังไม่ประหารกิเลสให้หมดสิ้น
(โดยปกติแล้วบุคคลที่หมดกิเลสจะต้องเข้าสู่พระนิพพาน)
เพราะยังปรารถนาที่จะยังอยู่ในวัฏสงสารต่อไปเพื่อสร้างบารมีให้เพิ่มพูนและทำหน้าที่ตามมโนปณิธานของท่านผู้นำสายวิชชาธรรมกาย
คือหลวงพ่อสด จนฺทสโร (พระมงคลเทพมุนี) โดยเฉพาะ นั่นคือการสู้รบกับหมู่มาร
ด้วยอำนาจจิตวิชชาธรรมกาย
เพื่อแก้ไขปัญหาในวัฏสงสารที่สรรพสัตว์ต้องทนทุกข์ยาวนานราวกับจะไม่มีวันจบสิ้น
และนี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดข้อด้อยของสายวิชชาธรรมกายบ้าง
กล่าวคือผู้ปฏิบัติที่มุ่งทำภารกิจของสายวิชชาธรรมกาย
จะยังคงมีกิเลสเหลืออยู่มากบ้างน้อยบ้าง
ทำให้ยังคงมีความยินดียินร้ายในเรื่องต่างๆ อยู่เฉพาะแต่ละบุคคลไป
แต่ผู้ปฏิบัติสายวิชชาธรรมกายท่านใดที่ปรารถนาจะตัดกิเลสบรรลุเป็นพระอริยบุคคล
แล้วละเข้าสู่พระนิพพาน ก็สามารถทำได้ตามกำลังบุญบารมีของตน
31. ศูนย์กลางกาย
ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 คือฐานที่ตั้งถาวรของใจ เป็นจุดที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ เมื่อเวลาเราเกิด
วิญญาณหรือกายละเอียดของเราจะเดินทางผ่านฐานที่ 1, 2, 3, 4, 5,
6 และไปหยุดอยู่ ณ ฐานที่ 7 ของบิดา
ต่อเมื่อบิดามีความสัมพันธ์กับมารดาถูกจังหวะ จึงเคลื่อนจากฐานที่ 7 (กลางท้องเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ)
ของบิดา ผ่านฐานที่ 6 (กลางท้องระดับสะดือ),
5 (เหนือลูกกระเดือก), 4 (ปากช่องคอบริเวณอาหารสำลัก),
3 (กึ่งกลางศีรษะ), 2 (หัวตาบริเวณน้ำตาไหล
หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา), 1 (ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย
ชายข้างขวา) ออกจากร่างกายของบิดา และเข้าไปสู่ ฐานที่ 1 ของมารดา ผ่านฐานที่ 2, 3, 4, 5, 6 และไปหยุดอยู่ที่ฐานที่ 7 ของมารดา ซึ่งเป็นตำแหน่งของครรภ์ แล้ววิญญาณจะสวมเข้าไปอยู่ในไข่ของมารดาที่ได้รับเชื้อของบิดา
แล้วพัฒนาเกิดเป็นรูปกายอยู่ ณ จุดนั้น เวลาที่เราจะตาย ใจของเราจะกลับมาหยุดอยู่
ณ ฐานที่ 7 ก่อน แล้ววิญญาณ
หรือกายละเอียดก็จะถูกดึงถอนออกมา ผ่านฐานที่ 6, 5, 4, 3, 2, 1 และหลุดออกจากร่างกายไป เหลือเพียงร่างกายที่ไร้วิญญาณ ในเวลาหลับ
เมื่อเรานอนหลับแล้วใจของเราที่ส่งออกไปภายนอกอยู่ตลอดเวลา ก็จะกลับมาอยู่ ณ
ฐานที่ 7 มีลักษณะเป็นสมาธิอ่อนๆ ส่วนในเวลาตื่น
ใจก็จะตื่นโดยตั้งต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นี้เหมือนกัน
แล้วจึงค่อยส่งใจออกไป ตามสิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส และความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่งขึ้น
ไม่ว่าดีหรือร้าย
32. แผงวงจรของชีวิต
ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเสมือนที่ตั้งแผงวงจรของร่างกาย
คือเป็นตำแหน่งที่ตั้งของจุดควบคุมธาตุทั้ง6 ได้แก่ธาตุดิน
ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุ
ซึ่งควบคุมกลไกการทำงานทั้งหมดของร่างกาย เพียงแต่ว่า แผงวงจรนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
เหมือนระบบวงจรที่ถูกโปรแกรมไว้ในโปรเซสเซอร์ คือตัวประมวลผลหรือสมองของคอมพิวเตอร์
ที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า นอกจากนี้
ยังเป็นที่ตั้งของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ของมนุษย์
ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ดวงบุญ ดวงบาป
ดวงไม่บุญไม่บาป ดวงบารมีทั้ง 10 ทัศ ดวงธรรม
ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุติ ดวงวิมุติญาณทัสนะ กายภายในต่างๆ
เริ่มตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายพรหม กายพรหมละเอียด
กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรมโคตรภู กายธรรมโคตรภูละเอียด
กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระโสดาบันละเอียด กายธรรมสกิทาคามี
กายธรรมสกิทาคามีละเอียด กายธรรมอนาคามี กายธรรมอนาคามีละเอียด กายธรรมอรหัต
กายธรรมอรหัตละเอียด ฯลฯ ทั้งหมดนี้เก็บไว้ภายในศูนย์กลางกายทั้งสิ้น
33. ทางเชื่อมนิพพาน
ดังที่ทราบแล้วว่า
คนเรามีกายภายในต่างๆ ซ้อนกันอยู่ และเวลาตายนั้น กายที่เหมาะสมตามกำลังบุญบาป
และสภาวะจิตขณะนั้นจะถูกดึงออกจากศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ผ่านฐานที่ 6, 5, 4, 3, 2 ออกไปจนถึงฐานที่ 1 แล้วถูกดึงดูดโดยกำลังดึงดูดของภพภูมิที่รองรับ เพื่อเข้าไปสู่ภพภูมินั้นๆ
อย่างเช่นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดึงดูดกายทิพย์ไปอยู่ ณ ที่นั้น หรือมหานรกขุม 5 ดึงดูดวิญญาณลงไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้น เป็นต้น
สำหรับการไปสู่อายตนนิพพานนั้นกลับตรงกันข้าม
เพราะแทนที่จะถูกดึงออกจากศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ใจจะต้องดิ่งเข้าไปสู่ภายในฐานที่ 7 ลึกยิ่งๆ ขึ้นไป โดยใจจะต้องหยุดนิ่ง ละเอียดบริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วกายธรรมอรหัต
หรือกายธรรมอรหันต์
ซึ่งถูกเก็บไว้ภายในตัวของเราจะถูกดึงถอดออกมาเข้าไปสู่อายตนนิพพาน
ซึ่งนิพพานนั้นมี 2 สภาวะ
คือนิพพานขณะยังมีชีวิตอยู่ เรียกว่านิพพานเป็น คือจิตของเราเข้าสู่สภาวะนิพพานที่อยู่ภายในตัว
ในขณะที่ยังมีชีวิต และนิพพานตาย ก็คือร่างกายมนุษย์หมดอายุขัยแล้ว
จึงถอดเอาแต่กายธรรมอรหัต หรือกายธรรมอรหันต์ เข้าไปเสวยบรมสุขอยู่ในอายตนนิพพาน
โดยถอดทุกกายที่เหลือทิ้งเอาไว้ทั้งหมด
แล้วมุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางกายด้วยกายธรรมอรหัต ผ่านหนทางสายกลาง
ซึ่งเชื่อมเข้าสู่อายตนนิพพาน ซึ่งเป็นภพภพหนึ่ง ที่อยู่นอกวัฏสงสาร และเป็นอิสระจากกฎไตรลักษณ์
ส่วนผู้ปฏิบัติสมาธิในสายอื่นก็สามารถ “นิพพาน”
ได้ในรูปแบบที่ต่างกันออกไปจากสายวิชชาธรรมกาย หรือแม้แต่ “นิพพานดับสูญ”
ก็ย่อมเป็นได้ ตามแต่ความปรารถนาของผู้ปฏิบัติแต่ละบุคคล
34. อายตนนิพพาน
อายตนนิพพานเป็นภพหนึ่งที่มีลักษณะกลม
เหมือนกับโลก ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ที่กลม
ต่างแต่ว่าอายตนนิพพานนั้นปราศจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ใดๆ ทั้งปวง
มีเพียงธรรมธาตุอันบริสุทธิ์ อายตนนิพพานนั้นเป็นเมืองแก้ว
ไม่ได้หมายความว่ามีแก้วกระจกเหมือนอย่างแก้วในเมืองมนุษย์
แต่เป็นแก้วคือธรรมธาตุที่ใสสว่างสะอาดบริสุทธิ์ล้วนๆ
พอจะเปรียบเทียบได้กับแก้วใสซึ่งเป็นข้าวของเครื่องใช้ของมนุษย์
ที่นั่นเต็มไปด้วยกายธรรม ซึ่งกายธรรมเหล่านี้เป็นของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้า ที่ถอดขันธ์แล้วเข้านิพพานด้วยกายธรรมของท่าน
มีจำนวนมากมายมหาศาล อย่างที่เรียกได้ว่า “มากกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทรทั้ง 4”
กายธรรมของแต่ละพระองค์ มีลักษณะเป็นกายพระมหาบุรุษครบถ้วน
มีเกตุดอกบัวตูม ใสสะอาดบริสุทธิ์เหมือนแก้วเนื้อละเอียด และมีความสว่างไสว
ทุกพระองค์ล้วนเรียงรายอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ
เสวยวิมุติสุขอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ
ไม่ต้องตายอีกต่อไป อีกทั้งยังมีสภาพเป็นนิจจัง คือเที่ยงแท้ สุขัง
เปี่ยมไปด้วยความสุข และอัตตา คือเป็นตัวตนอันแท้จริง สถิตอยู่ในอายตนนิพพาน
ที่พ้นจากกฎไตรลักษณ์ ส่วนผู้ปฏิบัติสายอื่นอาจเห็นหรือสัมผัสพระนิพพานได้ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป
ขึ้นอยู่กับภูมิจิตและภูมิธรรม บ้างก็เห็นเป็นดวงกลมสว่าง
บ้างก็เห็นเป็นมวลธรรมอันบริสุทธิ์ บ้างก็เห็นเป็นปราสาท ศาลา โรงธรรม
ที่มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ประทับอยู่ ดังนี้
35. กายธรรมในอายตนนิพพาน
ว่าด้วยพระนิพพานของสายวิชชาธรรมกายนั้น
จะเห็นเป็นกายธรรมเรียงรายประทับนั่งสมาธิอยู่ในนิโรธสมาบัติในที่กว้างใสสะอาด กายธรรมแต่ละกายในอายตนนิพพานนั้นมีขนาดเท่ากันทั้งหมด
คือมีหน้าตักกว้าง 20 วา สูง 20 วา แม้แต่รูปร่างหน้าตาก็ละม้ายคล้ายกัน มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน
ทุกพระองค์ประทับอยู่บนแผ่นฌาน
ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมเหมือนเหรียญกษาปณ์ที่มีความหนา
นี่เองเป็นที่มาของคำที่ว่า มวลมนุษยชาตินั้นมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน
คือจุดดั้งเดิมของทุกชีวิตนั้น ทุกคนเหมือนกันหมด ไม่มีความแตกต่างกันเลย
กายธรรมในอายตนนิพพานนั้นมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น “รัศมีความสว่าง”
และ “บริวาร” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุญบารมีของท่าน
กายธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแวดล้อมด้วยกายธรรมของพระอรหันต์สาวก
โดยประทับเรียงเป็นวงที่มีลักษณะคล้ายขดของก้นหอยหมุนวนไปทางขวา
โดยเรียงลำดับของพระสาวกไปตามกำลังบารมี
ส่วนกายธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้าจะประทับอยู่พระองค์เดียว
ปราศจากกายธรรมที่เป็นบริวาร
36. ที่สุดแห่งธรรม
เราได้เห็นแล้วว่าวัฏสงสารมีระบบการทำงานเช่นนี้
เหมือนคุกที่ขังสรรพสัตว์เอาไว้ โดยมีระบบกลไกควบคุมอัตโนมัติ มีการทำโทษ
มีการให้รางวัล ดีบ้าง ร้ายบ้าง ไม่แน่นอน ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
มีเพียงผู้ที่พ้นจากวัฏสงสาร ถอดขันธ์ที่เหลือทิ้งเอาไว้
นำกายธรรมเข้าสู่อายตนนิพพานเท่านั้น จึงจะสามารถพ้นไปจากวังวนแห่งวัฏสงสารได้
และวัฏสงสารก็ดำเนินไปเช่นนี้มานานแสนนานแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีอันสิ้นสุดได้
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้น
เพื่อขนสรรพสัตว์เข้าสู่อายตนนิพพานไปพระองค์แล้วพระองค์เล่า
จนกระทั่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นมาแล้วนับพระองค์ไม่ถ้วน
ปริมาณมากกว่าเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทรทั้ง 4 รวมกัน
แต่สรรพสัตว์ก็ยังไม่หมด จึงมีพระบรมโพธิสัตว์บางพระองค์
ที่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นนี้
เพื่อไม่ให้สรรพสัตว์ต้องทนทุกข์อีกต่อไป ด้วยการล้มล้างระบบกลไกการทำงานทั้งหมด
ซึ่งมีวิธีที่จะเป็นไปได้ ก็คือต้องสลายต้นกำเนิดบาปและกิเลส ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากภพมาร
(มารโลก) ทั้งนี้ต้องอาศัยกำลังบุญบารมี คือพลังงานบริสุทธิ์มหาศาล ประกอบกับ “วิชชา” ในการแก้ไข พูดง่ายๆคือ
เหมือนโปรแกรมเมอร์ที่พยายามแก้ไขโปรแกรมคอมพิวเตอร์
และลบไวรัสที่ติดอยู่ในเครื่อง จนไปถึงขั้นจัดการกับผู้ที่ส่งไวรัสมานั่นเอง หากสามารถทำได้สำเร็จ
ก็จะไม่มีบาป ไม่กิเลส ไม่มีการให้ทุกข์ให้โทษ และการทรมานสรรพสัตว์อีกต่อไป
สรรพสัตว์ทั้งหลายก็จะอยู่อย่างเป็นสุขเท่านั้น ไม่มีความทุกข์
ราวกับอยู่ในเมืองสวรรค์ หรือเมืองนิพพาน ดังนี้จึงชื่อว่าเป็น “ที่สุดแห่งธรรม”
37. จุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง
ชีวิตของเราในวันนี้
สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ จักรวาล อนันตจักรวาล วัฏสงสาร กฎแห่งกรรม
และทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด ที่มีอยู่ทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากธาตุธรรมทั้ง 3 ฝ่าย จากเดิมที่ไม่เคยมีอะไร มีแต่ความว่างเปล่า
แต่แล้วก็เกิดมีธาตุธรรมบังเกิดขึ้นมา ได้แก่ธาตุธรรมฝ่ายกุศล (สีขาว)
ธาตุธรรมฝ่ายอกุศล (สีดำ) และธาตุธรรมฝ่ายอัพยากฤต (สีเทา) กำเนิดของธาตุธรรมทั้ง 3 มีขนาดเล็กเหมือนเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร เกิดขึ้นท่ามกลางความว่างเปล่านั้น
โดยมีเหตุมาจาก “องค์ปฐมธาตุปฐมธรรม” ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดมาก่อนใคร
ท่ามกลางความว่างเปล่า โดยมีความเป็นไปคล้ายสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ ที่เกิดขึ้นได้
เมื่อมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสมพอดี เมื่อท่านเกิดมาแล้วยาวนาน
ท่านก็สังเกตตนเองจนทราบว่า ในตัวของท่าน มีธาตุธรรมต่างๆ ปะปนอยู่
ท่านจึงลองขับออกมาจากกายของท่าน จึงเป็นต้นกำเนิดของธาตุธรรมทั้ง 3 คือ ธาตุธรรมฝ่ายกุศล (สีขาว) ธาตุธรรมฝ่ายอกุศล (สีดำ)
และธาตุธรรมฝ่ายอัพยากฤต (สีเทา) เมื่อขับออกมาแล้ว ธาตุธรรมเหล่านี้ก็คล้ายๆ
กับเชื้อราที่ขึ้นอยู่บนขนมปัง เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วต่างก็วิวัฒนาการขยายใหญ่ขึ้น
เกิดเป็นภพ เป็นระบบ เป็นกลไก เป็นกายต่างๆ โดยเริ่มแรกเดิมที
ธาตุธรรมแต่ละฝ่ายก็ต่างคนต่างอยู่ เหมือนขั้วพลังอำนาจที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง
คล้ายๆ กับเรื่องของ หยิน-หยาง ของชาวจีน
ต่อมาธาตุธรรมฝ่ายอกุศล ซึ่งมีสีดำนั้น
เกิดมีความคิดที่จะครอบครองและครอบงำธาตุธรรมที่เหลือ จึงประกอบวิชชาขึ้น
การประกอบวิชชาก็เหมือนกับการเขียนโปรแกรม ว่าให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้น
ทำอย่างนั้นให้ได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้ให้เป็นอย่างนั้น โดยที่ธาตุธรรมฝ่ายกุศล
กับอัพยากฤต ไม่ทันรู้ตัว แต่เมื่อมารู้ภายหลังก็ถูกครอบงำเสียแล้ว
เหมือนประเทศสามประเทศที่ต่างคนต่างอยู่อย่างสงบ แต่แล้วมาวันหนึ่งก็มีประเทศหนึ่งวางแผนจะยึดอีกสองประเทศ
จึงเตรียมกำลังทหาร เตรียมอาวุธ ศึกษาการรบ
แอบวางกำลังโอบล้อมอีกสองประเทศเอาไว้อย่างไม่ทันรู้ตัวนั่นเอง
แต่ก็ไม่มีใครยอมเสียอธิปไตยของตนง่ายๆ จึงมีการต่อสู้กันเกิดขึ้น
และต่อสู้แย่งชิงกันอยู่ทุกวินาที ดังที่เราจะสังเกตได้ว่า ความดี ความชั่ว
และความไม่ดีไม่ชั่ว ต่างเกิดขึ้นในใจเรา สลับกันไปอยู่อย่างนี้นับตั้งแต่เกิด
จนตาย
38. แต่ละธาตุธรรมมีกายธรรม
จากเดิมที่มีธาตุธรรมบังเกิดขึ้นเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร
เหมือนจุดเล็กๆ ในท่ามกลางห้วงแห่งความว่างเปล่า ต่อมาจุดเล็กๆ
นั้นก็ขยายเป็นธาตุธรรมต่างๆ สร้างภพ สร้างภูมิ สร้างพลังงาน สร้างยนต์กลไก
ระบบต่างๆ และประกอบกายขึ้นมาเป็น “กายธรรม” หรือ “ธรรมกาย” เป็นจำนวนมาก
ในทำนองเดียวกับที่ไข่ของมารดา ผสมกับเชื้อของบิดา แล้วเกิดจุดเล็กๆ ที่มีชีวิต
ซึ่งพัฒนาการเป็นรูปเป็นร่าง เติบโตเป็นกายมนุษย์ที่มีหัว มีตัว มีแขน มีขา
อย่างที่เราเห็น แล้วมนุษย์นั้นก็สร้างบ้านสร้างเมือง สร้างสิ่งต่างๆ มากมาย
กายธรรมก็เช่นเดียวกัน คือเป็นต้นแบบของกายมนุษย์
และเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดทุกสิ่งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นนิพพาน พรหมโลก สวรรค์ นรก โลกมนุษย์
และจักรวาล กายธรรมของธาตุธรรมฝ่ายกุศล มีลักษณะใสสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน
คล้ายกับแก้วหรือเพชร มีรัศมีสว่างไสว กายธรรมฝ่ายอกุศล มีลักษณะดำเหมือนนิล
มีรัศมีหม่นๆ ที่บาดเคืองตาเคืองใจ กายธรรมฝ่ายอัพยากฤต มีลักษณะเป็นสีออกเทาๆ
เหมือนตะกั่ว มีรัศมีที่ไม่สว่างไม่หม่น กายธรรมที่สร้างขึ้นโดยธาตุธรรมแต่ละฝ่าย
ก็เป็นเสมือนประชากรหรือกองกำลังทหารของธาตุธรรมแต่ละฝ่ายนั่นเอง
กายธรรมทั้งหมดของทั้ง 3 ฝ่าย มีลักษณะคล้ายๆ กัน
คือมีลักษณะมหาบุรุษครบ 32 ประการ
เหมือนพระพุทธรูปสีขาว สีดำ และสีเทา แต่จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย
กายธรรมทั้งหมดจะอยู่ในท่าขัดสมาธิ มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพมาก สามารถประกอบวิชชา
คือเขียนหรือควบคุมโปรแกรมชีวิตต่างๆ เช่น ทำให้เกิด ทำให้แก่ ทำให้เจ็บ
และทำให้ตาย ทำให้มีความสุข ทำให้ร่ำรวย ทำให้บรรลุธรรม เป็นต้น
ซึ่งมนุษย์และสัตว์ ล้วนมีกายธรรม ซ้อนสถิตอยู่ลึกเข้าไป ภายในตัว ด้วยกันทั้งสิ้น
เป็นกายหรือวิญญาณดั้งเดิมของมนุษย์แต่ละคนและสัตว์แต่ละตัว
39. การปะทะกันของพลังทั้ง 3 ขั้ว
เราได้ทราบแล้วว่าใน
“ธาตุธรรม” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้
แบ่งออกเป็นสามขั้ว คือฝ่ายขาว ฝ่ายดำ และฝ่ายเทา เดิมทีแต่ละฝ่ายต่างคนต่างอยู่
เมื่อฝ่ายดำคิดขยายธาตุธรรมของตนเอง และครอบงำธาตุธรรมอื่น จึงเกิดการต่อสู้
ขัดขืนขึ้น ก็เหมือนกับประเทศมหาอำนาจในโลกนี้ ที่แข่งขันกัน
ต่อสู้กันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม กำลังทหาร และในทุกด้าน เพื่อแย่งความเป็นใหญ่ในโลกใบนี้
การปะทะกันของสนามพลังทั้งสามขั้วนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
แม้ในขณะนี้ เวลานี้ เดี๋ยวนี้ และมีการปะทะกันมาแล้วยาวนาน จะนับจะประมาณไม่ได้
โดยแต่ละธาตุธรรมก็มีกองบัญชาการ ฐานทัพ หรือสถานีของตนเอง
ที่ใช้ในการส่งคลื่นพลังของตนออกมา สำหรับสถานีของฝ่ายกุศล ก็คือ “พระนิพพาน” สถานีของฝ่ายอกุศลก็คือ “ภพมารหรือมารโลก”
สถานีของฝ่ายอัพยากฤตก็คือ “ภพของฝ่ายอัพยากฤต”
นอกจากนี้ก็ยังมีสถานที่ส่วนกลางที่เป็นเสมือน “สนามรบ”
ที่ธาตุธรรมแต่ละฝ่ายส่ง “กายธรรม” ของตนมาต่อสู้ปะทะกัน เหมือนประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศ
ที่ไม่รบกันที่เมืองหลวงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่รบกันที่แนวชายแดน เป็นต้น นอกจากการปะทะกันในสนามพลังของธาตุธรรม
3 ฝ่ายแล้ว ยังมีการต่อสู้ ต่อรอง แทรกแซงกันและกัน ด้วยฤทธิ์, สิทธิ์, อำนาจ,
และวิชชา (หมายถึงความรู้แจ้ง) ก่อให้เกิดเป็นภพภูมิ โลก จักรวาล สวรรค์ นรก กามภพ
รูปภพ อรูปภพ กฎไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม จากมนุษย์ยุคเริ่มแรกสุด
ที่ภาคกุศลส่งมาต่อสู้กับภาคอกุศล (มาร) ซึ่งเคยมีรูปกายมหาบุรุษและคุณสมบัติอันเลิศประดุจพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น
ก็ถูกทำให้ผันแปร กลายเป็นมนุษย์บ้าง สัตว์บ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง
ที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไปอยู่ในวัฏสงสาร ภายใต้กฎแห่งกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้
เป็นผลจากการต่อสู้ ต่อรอง แทรกแซงกันและกัน ของธาตุธรรมทั้ง 3 ฝ่าย นั่นเอง
40. ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมนุษย์
หากถามว่า
มนุษย์เราดำเนินชีวิตไปวันๆ ไม่น่าจะเกี่ยวกับกายธรรมของทั้งสามขั้ว
ที่ท่านปะทะกันเลย ท่านจะปะทะหรือต่อสู้กันก็ต่อสู้กันไป
มนุษย์และสัตว์ไม่เห็นจะเกี่ยวแต่อย่างใด ความเป็นจริงแล้วก็คือ
หน้าที่ดั้งเดิมของมนุษย์ก็คือการสลายพลังของฝ่ายอกุศล เพราะมนุษย์ก็คือ “ชีวยนต์” ที่ฝ่ายกุศลพัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่นี้
เดิมทีธาตุธรรมแต่ละฝ่ายก็มีเพียง “กายธรรม” ซึ่งเป็นกายละเอียดๆ ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ต่อสู้กันอยู่
แต่เนื่องจากฝ่ายอกุศลทำวิชชาหรือเขียนโปรแกรมไว้ล่วงหน้า ฝ่ายกุศลตกเป็นรอง
จึงประกอบวิชชาเขียนโปรแกรมสร้างมนุษย์ขึ้นมา
เพื่อให้กายมนุษย์เป็นกายที่มีอานุภาพมาก และแข็งแรง
มีประสิทธิภาพสูงในการสลายพลังของฝ่ายอกุศล แทนที่จะมีเพียง “กายธรรม” ซึ่งละเอียดและเกิดการแตกสลายของพลังได้ง่าย
หากถูกฝ่ายตรงข้ามทำลายด้วยพลังอำนาจจิต เราจะเห็นได้ชัดว่ากายมนุษย์มีอานุภาพมากกว่ากายทิพย์กายละเอียดหรือพรหมได้อย่างไร
ให้ดูตัวอย่างในคืนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
คืนนั้นหมู่มารซึ่งเป็นกายละเอียดมากันเต็มไปหมด
ถึงขนาดเทวดาและพรหมต้องหนีไปขอบจักรวาล แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงนิ่งเฉย
ไม่หวั่นเกรง และสามารถเอาชนะหมู่มารในครั้งนั้นได้ด้วยพลังบุญบารมีที่พระองค์สะสมเอาไว้
โดยที่ร่างกายของพระองค์ไม่บาดเจ็บแต่อย่างใดเลย
นี่เป็นตัวอย่างของการใช้กายมนุษย์เพื่อสู้กับกายละเอียดของมาร
เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า แต่เดิมที มนุษย์เราทุกคนก็เป็นเหมือน “ชีวยนต์” ของธาตุธรรมฝ่ายกุศล ที่ถูกส่งมาเพื่อทำหน้าที่สลายพลังของฝ่ายบาปอกุศลที่มีอยู่ในสรรพสิ่ง
ด้วยการเข้านิโรธสมาบัติ เดิมทีมนุษย์ทุกคนจึงมีรูปกายเหมือนกับกายธรรม
คือมีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ คือกายเหมือนพระพุทธเจ้า
เป็นกายที่บริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ฝ่ายอกุศลก็ไม่ยอมให้ทำได้สำเร็จโดยง่าย
จึงประกอบวิชชาหรือเขียนโปรแกรมแทรกแซงให้กายมนุษย์ของเราผิดเพี้ยน ผิดรูป วิกล
กลายเป็นรูปร่างต่างๆ นาๆ แตกต่างกันไป พิการบ้าง เป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง
เป็นคนสองเพศบ้าง หรือแม้แต่กลายเป็นสัตว์รูปร่างต่างๆ ทำให้ไม่สามารถสู้กับเขาได้
เพราะเป็นรูปกายที่ไร้ประสิทธิภาพ แล้วก็จับมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายขังไว้ในคุก
คือวัฏสงสารเหมือนอย่างทุกวันนี้ จะมีก็แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ที่จะได้รูปกาย “มหาบุรุษ” อันสวยงามและแข็งแกร่งกลับคืน
41. พัฒนาการกลับไปจุดเริ่มต้น
ตอนนี้เราคงทราบดีแล้วว่า
มนุษย์ทุกคนนั้นแท้จริงแล้ว “กลายพันธุ์” ด้วยกันทั้งนั้น ทางเดียวที่จะแก้เกมของฝ่ายอกุศลได้
ก็คือต้องสั่งสมบุญสร้างบารมี และแก้ไขโปรแกรม (วิชชา)
เพื่อให้รูปกายของมนุษย์กลับเป็นกายมหาบุรุษดังเดิม
เมื่อได้กายมหาบุรุษแล้วก็ปฏิบัติธรรม เข้านิโรธสมาบัติ สามารถรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมฝ่ายกุศลที่อยู่ลึกๆ
ภายในกายมนุษย์ของเราได้ เมื่อนั้น เราจะกลับกลายเป็นผู้ที่มีฤทธิ์ มีเดช
มีอานุภาพมาก เหมือนเมื่อครั้งที่มาเกิดเป็นมนุษย์ยุคแรกๆ (ยุคดั้งเดิมเริ่มแรก
หรือ “ปฐมกาล” ก่อนที่จะมีพรหม)
จากนั้นจึงจะสามารถประกอบวิชชา คือเขียนโปรแกรม
เพื่อแก้ไขวัฏสงสารและทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสลายขั้วพลังของฝ่ายบาปอกุศล ที่สร้างวัฏสงสารมาขังสรรพสัตว์
ตามเจตนารมณ์เดิมของฝ่ายกุศลที่ส่งมวลมนุษย์มาเพื่อทำภารกิจอันสำคัญนี้
42. ทางเลือกของสรรพชีวิต
เมื่อเราได้รู้ความเป็นจริงทั้งหมดแล้วว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างในวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมเราจึงมาเป็นมนุษย์
และทำไมจึงมีวันนี้ นับจากจุดนี้เป็นต้นไป จึงขึ้นอยู่กับเราเอง
ว่าเลือกที่จะทำอย่างไรต่อไปดี ซึ่งทางเลือกก็มีด้วยกัน 3 ทางคือ (1) ยอมเป็นเชลย ท่องวัฏสงสารต่อไป
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ ยอมถูกขังอยู่เช่นนี้เรื่อยไป (2) ซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขตนเอง ด้วยการสั่งสมบุญสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม
แล้วดำเนินจิตเข้าสู่ศูนย์กลางกาย เมื่อเข้าถึงกายธรรมอรหัตแล้ว
ก็อาศัยกายธรรมอรหัตนั้นมุ่งเข้าสู่นิพพาน เป็นเหมือนหน่วยคอมมานโดที่ถูกส่งมาสู้
แต่แล้วถูกจับขังคุกเป็นเชลย จึงหาทางหนีออกจากคุก หวนกลับคืนสู่มาตุภูมิคือกลับเข้าพระนิพพาน
และ (3) ซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขตนเอง
สั่งสมพลังบุญบารมีให้มากพอที่จะสู้กับเขา ดำเนินจิตเข้าสู่ศูนย์กลางกาย
จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม แต่ยังไม่เข้านิพพาน แล้วรวบรวมทีมงาน ศึกษาวิชชา
หรือวิธีเขียนโปรแกรมชีวิต เพื่อมุ่งแก้ไขระบบทั้งหมดตามเจตนารมณ์เดิม
และเพื่อสลายขั้วพลังฝ่ายอกุศลจนกระทั่งสำเร็จและบรรลุถึง “ที่สุดแห่งธรรม”
ให้จงได้ ซึ่งเมื่อเราทุกคนทราบความเป็นมาและความเป็นไปแห่งตนแล้ว
จะเลือกหนทางใด ก็สุดแท้แต่ใจปรารถนาเทอญ...