34. หมวกและชฎา ประจำกายในวิชชา

“หมวก” หรือ “ชฎา” แห่งภาคจักรฯและภาคธรรม

ตามที่ผมได้เคยรจนาความเป็นมาของการสร้างบารมี 2 สายหลักของธาตุธรรม คือสายธรรม และสายจักรฯ ซึ่งทั้งกายธรรม และกายจักรฯ ก็สามารถใช้วิชชาได้ โดยมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียดนั้น ในบทความนี้ผมขอกล่าวถึง “หมวก” หรือ “ชฎา” ประจำกายจักรฯ และกายธรรม กล่าวคือ “หมวก” ของแต่ละกายนั้นจัดเป็น “ของกายสิทธิ์” เป็นวัตถุมีฤทธิ์ของทิพย์ นอกเหนือจากรูปลักษณ์ (form) ที่ให้ความสวยงาม และบ่งบอกถึงยศชั้นฐานะในวิชชาของผู้สวมใส่แล้ว หมวกยังมีหน้าที่ (function) ในการเก็บรักษาวิชชา ส่งฤทธิ์ ส่งอานุภาพ เป็นอาทิ

สำหรับกายจักรฯนั้น จะมีหมวกหลายตระกูลด้วยกัน สำหรับหมวกไทยจะมีรูปทรงคล้ายพระเจดีย์ยอดแหลม (stupa hat) และมักจะมีชั้นของหมวกมากหลายชั้นซ้อนๆ กัน ยิ่งหมวกสูงมาก ก็มักจะบ่งบอกฐานะในวิชชาที่สูงส่งของผู้สวมหมวก ซึ่งจะมีลวดลาย ความสวยงามวิจิตรพิสดาร ส่วนกายธรรม ก็มีหมวกได้เช่นกัน ซึ่งหมวกไทยของกายธรรมมักจะมีลักษณะคล้าย “กรวยหงาย” แลดูคล้ายหมวกของพระถังซำจั๋งในภาพยนตร์จีนเรื่องไซอิ๋ว ซึ่งหากกายธรรมมียศชั้นตำแหน่งด้วยก็จะมียอดแหลมอยู่บนหมวก แต่หมวกและยอดหมวกของกายธรรมจะไม่วิจิตรพิสดารมากเหมือนกายจักรฯ ทั้งนี้ ถ้าหากกายจักรฯ และกายธรรม ครองหมวก สวมเครื่องทรงด้วยกัน เราสามารถแยกแยะได้ว่า กายธรรมส่วนใหญ่จะยังคงมีลายพระอุณาโลมเวียนทักษิณาวัตร อยู่บนพระนลาฏ (หน้าผาก) โดยมีข้อยกเว้นบ้างสำหรับบางท่าน

หมวก หรือ ชฎา ที่กล่าวถึงในที่นี้ หมายถึง หมวกสวมพระเศียรของ “กายในวิชชา” อย่าง “พระธรรมกาย” หรือ “กายพระจักรพรรดิ” ซึ่งเมื่อสวมแล้ว หมวกจะ “ส่งฤทธิ์” เลี้ยงกาย และเมื่อสวมแล้ว เครื่องประดับประดากาย จะบังเกิดขึ้นตามมาเองโดยอัตโนมัติ ยิ่งถ้าหากหมวกสวยงามซับซ้อนละเอียดประณีตวิจิตรพิสดาร เครื่องทรงของกายก็จะวิจิตรประณีตมากขึ้นตามไปด้วย ยกเว้นกายธรรม หรือพระธรรมกาย หากทรงเครื่องประดับ ก็จะประดับอย่างเรียบๆ โดยอาจมีหมวก และมีสายสังวาลเฉวียงบ่าด้านหนึ่ง หรือไขว้ทั้งสองข้าง

สำหรับวิธีการประชุม “เรียกหมวก” หรือ “เรียกชฎา” ขึ้นมาครองนั้น ปกติแล้วทำกันในวิชชา ต้องมีวิชชามากจึงจะได้หมวก แต่ผู้รจนามีเทคนิควิธีการพิเศษ ซึ่งผู้รจนาได้จดลิขสิทธิ์ไว้ในโลกแห่งวิชชา นั่นก็คือการ “ตรัสสิทธิ์” เพื่อเรียกหมวก หรือเครื่องทรงเศียร อย่างเช่น รัดเกล้า (Head Band) และ จุลฎา (Coronet) โดยเรียกขึ้นมาจาก “จักรรัตนะ” คือ “จักรแก้ว” โดยการเรียกนั้น อาจเรียกโดยมี รัตนะ 7” บางส่วน หรือครบทั้งหมด ในการ “ตรัสสิทธิ์” เรียก คล้ายการ “ตรัสสารจักร” โดยตรัสเรียกเอง หรือจะเรียกโดยเชิญผู้ทรงวิชชาก็ได้ ด้วยการเอ่ยอ้างถึงสิทธิ์แห่งยศชั้นตำแหน่งฐานะต่างๆ อย่างเช่น ฐานันดร เครื่องราชฯ ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นต่างๆ รวมถึงพระครู และพระมหา สามเณรเปรียญ ตำแหน่งข้าราชการ ตำแหน่งนิติบุคคล ตำแหน่งทางวิชาการ อย่างเช่นศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ และอื่นๆ โดยการเรียกนั้น ส่วนมากจะต้องจ่ายบุญธาตุเป็นค่าประชุมหมวก แบ่งสรรให้กับ “เทวดาผู้เลี้ยง”  

การตรัสสิทธิ์เพื่ออ้างยศชั้นฐานันดร ประชุมเครื่องทรงเศียร (Head Gear) ขึ้นมาจากจักรแก้ว จะทำเอง หรือเชิญผู้ทรงวิชชาท่านอื่นๆ รัตนะอื่นๆ แต่ละสี มาเรียกให้ก็ได้ อย่างเช่น จ้าวธาตุ จ้าวธรรม จ้าวจักรฯ จ้าวสีฯ องค์สี องค์ธาตุ องค์ธรรม องค์จักรฯ นายมณีกร นายสุวรรณกร ฯลฯ มาร่วมตรัสสิทธิ์ต่อจักรแก้ว โดยจักรแก้วควรจะเป็นของเจ้าของหมวกเอง ซึ่ง “ผู้เลี้ยงประจำกาย” หรืออื่นๆ ครอบครองและปกครองอยู่ หากมีจ้าวสี องค์สี และนายมณีกร มาร่วมเรียกประชุมหมวก ก็อาจจะมีมณีสีแสงประดับอยู่บนหมวกด้วย พลอยทำให้เครื่องทรงทั้งกาย มีอัญมณีตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม มณีประดับหมวกและเครื่องทรงนั้นมีหลายประเภท อย่างเช่น มณีวิชชา, มณีฤทธิ์, มณีสิทธิ์, มณีดาว, มณีอำนาจ ฯลฯ ซึ่งการเชิญผู้ทรงวิชชามาประชุมหมวกขึ้น เจ้าของหมวกก็จำเป็นต้องจ่ายบุญธาตุหรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นๆ ให้ท่านผู้ทรงวิชชาเหล่านั้นด้วยเป็นค่าตอบแทนด้วย

ในการ “ตรัสสิทธิ์” นั้น เราสามารถเรียกประชุม "หมวก" จากการเป็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ หรือสมาชิก หน่วยงาน องค์กร สมาคม นิติบุคคล ชมรม ภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีบทบัญญัติเปิดช่องไว้ สำหรับสามัญชนคนธรรมดา ที่ไม่มียศชนชั้นวรรณะ ตำแหน่งฐานะใดๆ สามารถ "ตรัสสิทธิ์" อ้างถึงการเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4 ของประเทศไทย ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อประชุมเครื่องทรงเศียร (Head Gear) ขึ้นมาได้ ซึ่งประเทศชาวพุทธสามารถใช้วิธีในทำนองเดียวกันนี้ ส่วนประเทศที่ไม่ใช่ชาวพุทธก็เอ่ยอ้างบทบัญญัติขององค์การสหประชาชาติ ที่รับรองพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาสำคัญของโลก นอกจาก "พระพุทธศาสนาประจำชาติ" ซึ่งมีผลต่อการ "ประชุมหมวกขึ้น" แล้ว ประชาชนชาวไทย ยังสามารถประชุมเรียก "หมวก" โดยอ้างบทบัญญัตินรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 และ 4 คือ:

มาตรา ๓ อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน

นอกเหนือจากนี้ เรายังสามารถทำให้หมวกมีฤทธิ์มากขึ้นด้วยวิธีการหา “ดารา” มาประดับ ซึ่งก็ต้องไล่คว้าดารามาใส่ หรือจะเอาของละเอียดมาจากเครื่องบอกยศซึ่งพอจะแบ่งกันได้อย่างเช่นดาวประดับเครื่องแบบนายร้อยทหารตำรวจ หรือดูในวิชชาว่าเคยได้ดาราหรือไม่ในอดีตชาติ หรือ “เด็ดดารา” ออกมาจากพลอยประเภท “สตาร์” มิฉะนั้นก็เป็นจ้าวดาราซะเองในวิชชาครับ หรือจะเอาดาราจากวัตถุมงคลที่เกจิอาจารย์ท่านเสกไว้มาใส่ก็ย่อมได้

สำหรับท่านที่เป็นภิกษุสามเณร ได้รับพัดยศและพัดเปรียญ หากรู้วิธี "ผูกสิทธิ์" ในฐานะ "พระราชาคณะ" “พระรัตนตรัย” “พุทธบริษัท” ผู้ปกครองหรือสมาชิกแห่ง "ศาสนจักร" โดย เดินม้า เดินช้าง เดินสุขะรัตนะ เดินคลัง เดินพล เดินมณี เดินจักรฯ แล้วประชุมเรียก "หมวก" ขึ้นมา ก็น่าจะได้หมวกแบบมีขั้น ยิ่งถ้าหากพระภิกษุทำบุญบริจาคการกุศลด้วยอย่างเช่นบริจาคเงินให้โรงพยาบาลศิริราช และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นใดขั้นหนึ่ง ก็จะพอเป็นพื้นฐานสำหรับการ "ต่อยอด" หมวกขึ้นไปได้

บางท่านอาจสงสัยว่าเป็นชาวพุทธ ใยจึงต้องมายึดติดกับเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ ผู้รจนาขอเรียนอธิบายว่า “หมวกในวิชชา” จัดเป็นของกายสิทธิ์อันเป็นวัตถุมีฤทธิ์ คอยส่งกำลังฤทธิ์และกำลังวิชชาให้กับเจ้าของผู้สวมใส่ ในบางครั้งที่เกิดพบกับเหล่ามาร ภายในหรือภายนอกภพ 3 พระพุทธเจ้า และพระอริยบุคคล ที่มีฤทธิ์มากกว่า ก็จะสามารถเอาชนะมารได้โดยง่ายกว่า เมื่อเกิดการปะทะกัน หรือบางครั้งต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิซึ่งมีกำลัง อย่างเช่นยักษ์ดุร้าย หรือพญาครุฑ พญานาค ที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ก็อาจถึงกับต้องสู้รบกัน  ผู้ที่มีหมวกอันเป็นของกายสิทธิ์ก็จะมีกำลังเสริม สามารถพึ่งพาตนเองได้

ส่วนท่านใดที่มีหมวกแล้ว และหมวกมีหลายขั้น ก็สามารถ “ผนึกควบรวม” (merge) หมวก หรือ ชฎา ทั้งหมดทุกชั้นทั้งชิ้นเข้าด้วยกัน เพื่อให้ “วิชชาและฤทธิ์แน่น” ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ยศตำแหน่งฐานะที่อยู่ในรูปของหมวกติดแน่นเป็น “พลังทิพย์” ตามติดตัวไปภายภาคเบื้องหน้า ไม่ว่าจะยังเวียนว่ายตายเกิด หรือเข้าสู่พระนิพพาน ก็จะทรงฤทธิ์ทรงเดช เป็น “บารมีศักดิ์” ทรงยศมากกว่าผู้อื่น คล้ายพระอรหันต์ ก็มีพระอรหันต์ทั่วไป กับพระอสีติมหาสาวก และพระอัครมหาสาวก แต่ถ้ายังเป็นมนุษย์เวียนว่ายตายเกิด ก็จะเกิดเป็นมนุษย์ที่มียศศักดิ์คล้ายในอดีตชาติ เพราะหมวกกายสิทธิ์ส่งฤทธิ์หล่อเลี้ยงดลบันดาลให้เป็นไป โดยมีข้อควรระวังว่า เมื่อ “ผนึกควบรวม” หมวกแล้ว อาจทำให้ตำแหน่งในปัจจุบัน “หย่อน” ลงเหมือนการควบแน่น ที่ทำให้มวลสาร “งวดลง” ซึ่งผู้ทรงวิชชา จะมีเทคนิควิธีการ ในการควบรวมหมวกเพื่อไม่ให้เป็นผลเสียต่อตำแหน่งปัจจุบันก็ได้ เช่นการปรับขั้น ปรับชั้น และขั้นวงแหวนของหมวก เลื่อนขึ้น เลื่อนลง ก่อนจะผนึกควบรวม หรือ “แบ่ง/แลก วงแหวนขั้นหมวก” กับผู้อื่นแล้วค่อยผนึกควบรวม หรือวิธีอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้ก็เป็นได้

ส่วนเทคนิคการผนึกควบรวมหมวกนั้น ผู้รจนามีข้อแนะนำคือ ให้เจ้าของหมวก “ประชุมหมวก” ขึ้นตั้งแต่ยังได้ลำดับตำแหน่งต่างๆ ในขั้นล่าง และเมื่อใกล้จะถึงกำหนดได้เลื่อนตำแหน่งขึ้น ก็ให้รีบผนึกควบรวมหมวกไว้ก่อน พอรับตำแหน่งสูงขึ้นก็จะมี “วิชชาศักดิ์” ของตำแหน่งเดิมเป็นฐานรองรับ ยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการ C1 พอใกล้ถึงวาระเลื่อนขั้นเป็น C2 หรือ C3 ก็ผนึกควบรวมหมวกรอไว้ก่อน ทำเช่นนี้กระทั่งถึง C9, C10, C11. เมื่อได้ครบแล้ว หรือเกษียณ หรือจะลาออก ก็ผนึกควบรวมหมวกไว้ ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการ ส่วนผู้ที่มีเครื่องราชฯ ก็เริ่มรับพระราชทานตั้งแต่ชั้นเริ่มต้น เมื่อถึงกำหนดจะได้ขั้นสูงขึ้น ก็ผนึกควบรวมวิชชาศักดิ์ที่หมวกเอาไว้ แล้วค่อยรับชั้นสูงขึ้น ทำดังนี้เรื่อยไปกระทั่งถึงชั้นสายสะพาย หมวกที่ได้จะเป็นหมวกทรงวิชชาศักดิ์ที่มีอานุภาพแบบ “เต็มศักดิ์” ที่มี “ขั้นหมวก” ซ้อนเรียงกันแบบถี่ๆ และวิชชาแน่นทรงฤทธาอานุภาพมาก

ตัวอย่าง: เมื่อบุคคลได้ทำการกุศลตามอัตรา แล้วได้รับพระราชทานเครื่องราชฯชั้น “ดิเรกคุณาภรณ์ ขั้นเหรียญเงินแล้ว สามารถประชุมเรียกหมวกขึ้นมาได้ จากนั้นจึงผนึกควบรวมหมวกไว้ แล้วทำการกุศลตามอัตราอีก กระทั่งได้เครื่องราชฯดิเรกคุณาภรณ์ ขั้นเหรียญทอง ก็ให้ผนึกควบรวมหมวกไว้ แล้วทำการกุศลตามอัตรา กระทั่งได้เครื่องราชฯประเภทเดียวกันเป็นดวงดารา ขั้นที่ 5, 4, 3, 2, และ 1 ตามลำดับจากล่างขึ้นบน ซึ่งเจ้าของหมวกต้องผนึกควบรวมหมวกทุกครั้ง ก่อนจะได้เลื่อนขั้น กระทั่งถึงชั้นบนสุด คือชั้นสายสะพาย ดังนี้แล้วเจ้าของหมวกจะได้หมวก “ดิเรกฤทธิ์” แบบ “เต็มศักดิ์” ซึ่งหมวกนี้จะส่งฤทธิ์ให้ได้เป็นใหญ่ในภพชาติเบื้องหน้า ไม่ว่าจะอยู่ในโลกวิชชา หรือโลกทางวัตถุ, ศาสนจักร หรือราชอาณาจักร ดังนี้.


Q&A

ถาม: ปกติเมื่อควบรวมหมวกแล้ว วิชชาจะส่งฤทธิ์ได้หลายชาติ ก่อนจะคลายตัวลง ทำอย่างไรเวลางับหมวกแล้วจะอยู่ยั่งยืน ไม่มีเสื่อมคลายวิชชาแห่ง “บารมีศักดิ์”?

ตอบ:

(1) หมวกแต่ละขั้น งับแล้วถอยลง ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง เท่ากับมี 3 วงเต็ม ในแต่ละขั้นเหมือนเดิม ดุจดังว่าไม่ได้งับ เช่น เมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นที่ 5 พอหมวกขึ้นก็งับไว้ เมื่องับแล้วหากถอยลงจากยศ ก็ให้บริจาคกราบขอชั้นที่ 5 ใหม่ แล้วซ้อนเข้าไปในวงหมวกชั้นเดิมที่เคยงับ ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง สำหรับแต่ละชั้น เท่ากับว่าหมวกมีหลายชั้น แต่ละชั้นมี 3 วงแน่นเต็ม เพราะทำซ้ำ ทำดังนี้เรื่อยไป กระทั่งถึงชั้นที่ 1

(2) รวมทั้งหมดเป็นชั้นเดียวของหมวก คือรับพระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญเงิน เหรียญทอง ชั้น 5, 4, 3, 2, 1 แล้วซ้อนเป็นวงเดียวขั้นเดียวของหมวก แล้วค่อยงับทีเดียว เป็นขั้นเดียวกันที่แน่นมากๆ ครับ เท่ากับมี 5 หรือ 7 วง ใหญ่ (ซึ่งแต่ละวงใหญ่มี 3 วงรองซ้อนข้างใน ยกเว้นขั้นเหรียญเงิน เหรียญทอง อาจไม่ขึ้นในวิชชาเหมือนชั้นดาราฯ) รวมเป็น 1 ขั้นเดียวของหมวกนั้น

 

โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

26 สิงหาคม พ.ศ. 2564



โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์

21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

องค์ความรู้ในบทความนี้ บางส่วนได้จดลิขสิทธิ์ในวิชชาไว้ด้วย

หากท่านต้องการใช้วิธีการของเรา กรุณาติดต่อในวิชชาครับ ท่านที่ประสงค์จะใช้องค์ความรู้ในส่วนที่ผู้รจนาจดลิขสิทธิ์ไว้ในวิชชา จะต้องจ่ายบุญธาตุเป็นค่าลิขสิทธิ์ โดยแบ่งจ่ายให้กับ (1) เทวดาผู้เลี้ยง (2) ผู้ทรงวิชชาที่ช่วยเรียกหมวก และ (3) ผู้รจนาซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์วิธีการ

ทั้งนี้ขอให้ติดต่อพระพุทธรูปปางจักรพรรดิด้านล่างภาพลูกแก้วหลากสี ที่แสดงไว้ด้านบนของหน้าเว็บนี้ เพื่อสอบถามเพิ่มเติมและเจรจาตกลงจ่ายค่าลิขสิทธิ์

ผู้รจนาขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธมิให้บุคคลที่จะใช้วิธีการนี้ในทางที่อาจก่อให้เกิดโทษภัยต่อผู้อื่นอย่างไม่สมควร แม้ว่าจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ครับ ส่วนผู้ที่ลักลอบใช้โดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ก็จะ “ติดสิทธิ์” คงค้างต่อกันในวิชชาครับ