7. บทความเรื่อง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา? (Article)
บทวิเคราะห์เรื่องการตีความ
“ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน”
โดย พิทยา ทิศุธิวงศ์ (M.A. in Translation)
www.meditation101.org
จากการที่นักวิชาการในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากได้มีความเชื่อและความเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ตัวตน โดยอ้างตามพระคาถาภาษาบาลีว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ” ที่มีใน สังคเวคปริกิตตนปาฐะ ซึ่งได้รับการแปลเป็นว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน” นั้น ข้าพเจ้า ในฐานะที่ได้ศึกษาศาสตร์แห่งการแปลภาษาในระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานครฯ ได้ตั้งข้อสังเกตจากการตรวจสอบพระคาถาภาษาบาลีดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์มิติของภาษาเพิ่มเติม โดยพระคาถาดังกล่าวมีความว่า “รูปัง อะนิจจัง, รูปไม่เที่ยง; เวทนา อะนิจจา, เวทนาไม่เที่ยง; สัญญา อะนิจจา, สัญญาไม่เที่ยง; สังขารา อะนิจจา, สังขารไม่เที่ยง; วิญญานัง อะนิจจัง, วิญญาณ ไม่เที่ยง; รูปปัง อนัตตา, รูปไม่ใช่ตัวตน; เวทะนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน; สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน; สังขารา อนัตตา, สังขารไม่ใช่ตัวตน; วิญญาณัง อนัตตา, วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน; สัพเพ สังขารา อนิจจา, สังขารทั้งหลาย ทั้งปวง ไม่เที่ยง; สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ, ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน ดังนี้...."
จากการสังเกตและวิเคราะห์นั้น ข้าพเจ้าพบว่า ก่อนหน้าที่จะถึงท่อนความพระบาลีว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ” ซึ่งถูกแปลว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน” และได้รับการตีความอย่างกว้างขวางว่า “ธรรมทั้งหมดทั้งปวงที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ตัวตน” นั้นมีความบกพร่องในแง่ของการแปล กล่าวคือ ในการแปลหรือตีความท่อนพระบาลีดังกล่าว เราจำเป็นจะต้องอ้างอิงไปถึงบริบทที่มีมาก่อนหน้าตามลำดับของพระคาถา ซึ่งก็คือ “รูปปัง อนัตตา, รูปไม่ใช่ตัวตน; เวทะนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน; สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน; สังขารา อนัตตา, สังขารไม่ใช่ตัวตน; วิญญาณัง อนัตตา, วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน; สัพเพ สังขารา อนิจจา, สังขารทั้งหลาย ทั้งปวง ไม่เที่ยง...” ซึ่งพระคาถานี้ได้พรรณนามาก่อนหน้าว่า ธรรมใดบ้างที่เป็นอนัตตา และเป็นอนิจจา ก่อนที่จะถึงท่อนที่ว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ”
เมื่อเราดูบริบทก่อนหน้าและใจความที่มีมานั้นแล้ว เราพบว่า ในการพรรณนาลักษณะนี้ มีความต่อเนื่องกันของใจความ เราจึงสามารถแปลพระคาถาทั้งหมดให้สอดคล้องและเป็นใจความเดียวกัน โดยเฉพาะในท่อน “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ” ว่า "รูปไม่ใช่ตัวตน, เวทนาไม่ใช่ตัวตน, สัญญาไม่ใช่ตัวตน, สังขารไม่ใช่ตัวตน, วิญญาณไม่ใช่ตัวตน, สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง, ธรรมทั้งหลายทั้งปวง [ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านั้น] ไม่ใช่ตัวตน" โดยไม่ได้หมายถึง "ธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นที่มีอยู่” แต่หมายเอาเฉพาะ “ธรรม” ที่กล่าวถึงมาก่อนหน้าในพระคาถาบาลีนี้เท่านั้น เท่ากับว่า เป็นการสรุปปิดท้าย เพื่อตอกย้ำ ในการพรรณนาพระคาถา ซึ่งการใช้ภาษาลักษณะนี้ คล้ายๆ กับ การใช้ “The” ที่มีในภาษาอังกฤษ คือ เมื่อมีการพรรณาใจความมาก่อนหน้าในบริบทแล้ว หากจะกล่าวถึง “ประธาน” อีกครั้งในครั้งต่อๆ มา สามารถใช้ The แทนการเรียก “ประธาน” นั้นซ้ำๆ กันได้ เช่น “There are many good doctors at Siriraj hospital. The doctors graduated from Mahidol Medical School.” จะเห็นได้ว่า The ที่ใช้ในประโยคที่สอง มีใจความเชื่อมกับประโยคก่อนหน้า และมีนัยยะทางไวยากรณ์ที่สัมพันธ์กัน ถึงแม้ว่า เราจะไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการอธิบายการแปลพระบาลีได้โดยตรง แต่การพรรณนาความของภาษาในลักษณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วๆ ไป ในหลายๆ ภาษา
สำหรับคาถาพระบาลีที่อ้างอิงถึงข้างต้นนั้น ในฐานะนักแปล ข้าพเจ้าขอแนะนำ ให้ศึกษาอรรถและพยัญชนะพระบาลีดั้งเดิมของบท สังคเวคปริกิตตนปาฐะ ว่าเข้าข่ายเดียวกันกับที่ใจความที่มีมาก่อนหน้า เชื่อมโยงกับใจความที่ต่อท้ายในลักษณะอ้างอิงถึงกันจริงหรือไม่ เพราะถ้าหากเราแปลเฉพาะท่อนนั้นๆว่า "ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน" และตีความว่า “ธรรมทั้งหมดทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน” ดังนี้แล้ว "อนัตตา" ซึ่งเป็นธรรมประการหนึ่งในบรรดาธรรมทั้งหลายทั้งปวง ก็จะเป็น "อนัตตา" ไปด้วยเช่นกัน คือหักล้างกันเองในความหมาย