11. ประกาศิต เพื่อการสร้างบารมี
ฉบับที่ 4
โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์
www.meditation101.org
ประกาศิต ในทางวิชชาคือ “สัญลักษณ์แห่งพลังทิพย์”
ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(ก)
ดวงประกาศิตทิพย์ที่เหล่าเทพเทวาสร้างขึ้น (celestial token) เพื่อใส่เก็บไว้ในกายของบุคคล
เพื่อส่งพลังฤทธิ์และอำนาจทิพย์
(ข)
ประกาศิตในรูปลักษณ์ของ “ดวงตราสัญลักษณ์” (Logo or Emblem) หรือ “แบรนด์” ประจำห้างร้านค้า
กิจการธุรกิจ บุคคล ตำแหน่ง ยศ ศักดิ์ ลำดับขั้น ทั้งที่เป็นของกลาง หรือเป็นของส่วนตัว
ซึ่งเทพเทวาจะกำหนดขั้นลำดับชั้น พร้อมทั้งส่งกำลังทิพย์หล่อเลี้ยงรักษา
เพื่อให้มีสิทธิ์ ศักดิ์ อำนาจ ตามบทบัญญัติ และมีชื่อเสียง การยอมรับนับถือกันในสังคมมนุษย์และเหล่าเทพเทวา
เช่นตราประทับราชการ ตราประทับบริษัท หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน
สาระเกี่ยวกับประกาศิต
[1] ผู้ที่ควบคุมดูแลการใช้ประกาศิตในเมืองมนุษย์
และเมืองสวรรค์ ก็คือเหล่า “พระพรหม” ซึ่งทรงฤทธิ์ ทรงเดช ด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัติ
และบางองค์ก็เป็นพระอริยบุคคล เมื่อว่างจากการเข้าฌาน และกิจการงานอื่นๆ มหาพรหม
ซึ่งมี “มหาพรหมประธาน” เป็นผู้นำ
ก็จะแบ่งกำลังกันมาดูแลรักษา ส่งพลัง ให้กับประกาศิตของมนุษย์และเทวดา พร้อมทั้งออกกฎระเบียบ
กติกา มารยาท ต่างๆ ไว้กำกับการใช้ประกาศิต เพื่อควบคุมระเบียบสังคมของชาวสวรรค์
[2] สำหรับประกาศิตทิพย์นั้น
พระพรหม และเหล่าเทพเทวา จะผลิตขึ้นด้วยฤทธิ์ แล้วนำมาใส่ไว้ในกายของบุคคลผู้ทำความดี
และมีเกียรติในการออกงานพิธีต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะนำมาใส่ขณะนอนหลับ
ส่วนประกาศิตแบบดวงตราสัญลักษณ์นั้น โดยเริ่มแรกสุดในการ “ตรา” ประกาศิต ขึ้น เจ้าของประกาศิต
ซึ่งอาจจะเป็นองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคล ก็จะต้อง “จ้างวาน” ให้ “นายช่าง” เป็นผู้รังสรรค์วาดออกแบบให้
หรือซื้อสำเร็จรูป ตามความชอบ และพึงพอใจ ของผู้เป็นเจ้าของประกาศิตนั้น
เมื่อตราประกาศิตขึ้นมาแล้ว เจ้าของประกาศิต ก็ต้องทำการประกาศใช้ ประกาศิตนั้นๆ
ด้วยการนำมาสำแดงให้สาธารณชนได้ทราบ หรือ “จดทะเบียน”
ดวงตรานั้นอย่างเป็นทางการ ตามกฎหมายในหลายๆ ประเทศ
ยกเว้นแต่จะใช้เป็น “ตราลับ” ก็ไม่ต้องสำแดง
[3] ประกาศิตทั้งที่อยู่ภายในตัวบุคคล
และแบบดวงตราสัญลักษณ์ มีลำดับขั้น ชั้น ชนิด และประเภทต่างๆ เช่น “สยมภู” (ศักดิ์อันเป็นใหญ่ในหมู่พระพุทธเจ้า) “สุริยะ” “จันทระ” “ดารา”
“เดชา” “จักรา” “วิเชียร”
“รัตนา” “ประภา” “อาภา”
“มณี” “ฤทธา” “วิไล”
“พิไล” “ประไพ” และอื่นๆ
ซึ่งลำดับขั้นเหล่านี้ “ผูก” อยู่กับ “ประกาศิต” นั้น
และชื่อลำดับขั้น ชั้น ชนิด และประเภทเหล่านั้น
จะบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะตัวของเจ้าของดวงตราประกาศิต เช่น ถ้าหากเจ้าของประกาศิต เป็นเทวดาที่มีรัศมีสีสันสวยงามแผ่กว้างออกไปมากกว่าเทวดาเหล่าอื่น
ก็อาจได้ตำแหน่งชั้น “เจ้ารังสี” หรือ “เจ้ารังสิยา” หรือถ้าหากเป็นเทพที่มีความหอมแผ่ออกมาเป็นพิเศษ
เพราะอานิสงส์แห่งบุญที่ทำไว้ในขณะเป็นมนุษย์ (เทวดาทั่วๆ
ไปก็มีกลิ่นกายหอมอยู่แล้ว) ก็อาจจะมีชื่อกับตำแหน่งเป็น “สุวคนธ์” หรือ “สุคันธา” แต่ถ้าหอมในระดับที่อยู่ในอันดับหอมที่สุดในบรรดา 3 หรือ 7 อันดับแรกของสวรรค์
ก็จะได้รับตำแหน่ง “เจ้า” เป็น “เจ้าสุวคนธ์” หรือ “เจ้าสุคันธา”
แต่ถ้ากลิ่นกายหอมด้วย และทรงคุณพิเศษด้วย
ก็อาจจะได้ตำแหน่งเป็น “เจ้าสุคันธราช” เป็นชั้นพิเศษยิ่งขึ้นไปกว่า “เจ้าสุคนธา” ด้วยกัน
[4] เมื่อบุคคลใช้ดวงตราประกาศิต
ทำงานต่างๆ หรือใช้ร่วม ใช้ประกอบ การบุญ การกุศล และการงานพิธีต่างๆ
ซึ่งสำแดงประกาศิต ประกอบอยู่ด้วย เช่นถวายตาลปัตรแด่พระสงฆ์ในงานพิธี
โดยมีดวงตราประกาศิตปักอยู่บนตาลปัตร หรือทำธุรกิจ หรืองานราชการ
มีการประทับตราประจำองค์กร หรือประจำตำแหน่ง
ประกอบกับคำสั่งหรือประกาศแจ้งตามอำนาจหน้าที่ ดังนี้แล้ว “มหาพรหม”
ซึ่งแบ่งงานกันแล้วในหมู่ของพวกท่าน
ก็จะส่งฤทธิ์มาหล่อเลี้ยงดวงตราประกาศิต ให้มีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือ
ความเป็นที่น่านิยมชมชอบ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลไปถึงกิจการขององค์กร หรือบุคคล
ที่จะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในทางอ้อม
[5] เทวดาก็เช่นเดียวกันกับมนุษย์
ส่วนใหญ่จะมีดวงประกาศิตแบบสถิตอยู่ภายในตัว ยกเว้นบางตนก็จะมีดวงตราสัญลักษณ์ด้วย
ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญในบางสิ่งบางอย่าง หรือในงานที่ทำ
บางท่านก็เป็นผู้ที่นิยมชมชอบในเรื่องนี้ จึง “เล่นประกาฯ” เป็นงานอดิเรก คือออกแบบ และ/หรือ แสวงหาดวงตราประกาศิต
แล้วก็ใช้ในโอกาสต่างๆ จนกระทั่งจากประกาศิตที่ไม่มีกำลังหรือความสำคัญใดๆ
เป็นพิเศษ ก็กลับเป็นดวงตราที่มีพลัง ถูกสำแดงใช้ในงานต่างๆ จนกระทั่งผู้อื่น “รู้จักกันดี” รวมถึง “ชื่นชมชื่นชอบ” และรู้สึก “มั่นใจและเชื่อถือ” ในดวงตราประกาศิต
และรวมถึงตัวเจ้าของประกาศิตนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นดวงตราประกาศิต
ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งติดไว้หน้าอาคารสำนักงาน พิมพ์ไว้บนซองจดหมาย
กระดาษจดหมาย ใบปลิว แผ่นพับ และหน้าเว็บไซท์
ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เห็นดวงตราประกาศิตขององค์การสหประชาชาติ
ก็จะรู้สึกว่าน่าเชื่อถือ นับถือ และเป็นองค์กรที่สำคัญ และถ้าหากผู้มีตาทิพย์ มีญาณทัสนะ
ก็จะสามารถมองเห็นหรือสัมผัสพลังที่แผ่ออกมาจากดวงตราประกาศิตนั้นได้
ซึ่งเป็นพลังที่พระพรหมส่งมาหล่อเลี้ยงเอาไว้ ดวงตราประกาศิตบางดวง ก็มีกำลังมาก
สำแดงไปได้ทั่วโลก อย่างเช่นแบรนด์ร้านอาหาร แบรดน์สินค้า แบรนด์ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ แบรนด์แอพพลิเคชั่น
เครื่องอุปโภค บริโภค ต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
[6] สำหรับเหล่าเทวดา
จะมีการแบ่งชนชั้นวรรณะของเทวดา ตามตำแหน่งลำดับขั้น ซึ่งมีความสำคัญในภพเทวดา
เช่น เวลาประชุมใหญ่ เหล่าเทพ (ทั้งพรหม และเทวดา) ก็จะจัดอันดับแท่นนั่งประชุม
เรียงตามลำดับขั้นนั้น ซึ่งจะผูกอยู่กับประกาศิตภายในตัว อีกทั้งจะผูกอยู่กับประกาศิตแบบดวงตราสัญลักษณ์ด้วย
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของเหล่าเทวดา ว่าใครจะนั่งหน้า ใครจะนั่งหลัง
ใครนั่งอันดับใด เหมือนงานพระราชพิธีในเมืองมนุษย์ เจ้าพนักงานพระราชพิธีจะจัดเก้าอี้ให้ตามลำดับแห่งยศฐานันดร
และยศถาบรรดาศักดิ์ นอกจากนี้ยังมีผลต่อสังคมเทวดา เช่นเวลาเข้าประชุมในเทวสภา
จะมีการประดับประดาธงซึ่งมีดวงตราสัญลักษณ์ประกาศิตของ “บุคคลสำคัญ”
ที่เข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เทพพรหม
หรือเทวดา (ถ้าท่านมีดวงตราประกาศิตประจำตัว) นอกจากนี้เวลาเทวรถ ผ่านมาประจันหน้ากันบนเส้นทาง
เทวดาที่ศักดิ์น้อยกว่า ประกาศิต “อ่อน” กว่า ก็จะต้องหลบทางให้ หรือเวลาสมาคมกัน
เขาก็จะให้เกียรติตามลำดับชั้น ลองจินตนาการบรรยากาศคล้ายๆ งานสโมสรสันนิบาตระดับประเทศ
หรือระดับโลก ว่ามีเหล่าผู้มีบรรดาศักดิ์มาสมาคมกัน เขาก็จะให้เกียรติกันตามยศ
และเป็นที่นับหน้าถือตากันอย่างนั้น ดังที่กล่าวมานี้ เป็นงานของเทวดา
แต่ถ้ามนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ลำดับศักดิ์ของเทวดา
ไม่ว่าจะเพราะเป็นผู้ที่ทรงคุณ และ/หรือ ใช้ดวงตราประกาศิตหรืออื่นๆ เทวดาเขาก็จะเคารพนับถือกัน ถ้าหากมีงานพิธีที่เทวดาจะเข้าร่วมด้วย
อย่างเช่นการหล่อพระพุทธรูป ที่มีการอัญเชิญเทวดาต่างๆ
เมื่อเทวดามาถึงก็จะแสดงความเคารพมนุษย์ผู้ทรงคุณที่ได้ลำดับศักดิ์แห่งประกาศิตนั้น
หรือเมื่อผ่านไปยังวัดวาอาราม สถานที่ต่างๆ ที่มีเทพเทวาสายพระพรหม และเทวดาเฝ้าดูแลรักษา
โดยเฉพาะที่มีการตั้งศาลไว้ เทพเทวาก็จะแสดงความเคารพผู้ที่มีประกาศิตลำดับใหญ่
ดังนี้ เป็นต้น
[7] ตำแหน่งชั้นสูงของเทวดา
ซึ่งผูกอยู่กับประกาศิตที่สถิตอยู่ภายในตัวนั้น ยกตัวอย่างเช่น “เจ้าอำไพ” “เจ้าประภา” “เจ้ารังสี”
“เจ้าดารา” “เจ้าจักรา” “เจ้าสุวคนธ์” ซึ่งแต่ละตำแหน่งอาจมีการจำกัดจำนวนผู้ที่จะได้ยศขั้นนั้น
ไม่ใช่ตำแหน่งที่ครอบครองกันได้อย่างไม่มีจำกัด แต่ก็ไม่เสมอไป
[8] สำหรับคนที่เล่นหรือใช้ดวงตราสัญลักษณ์ประกาศิต
เวลาสำแดงประกาศิตในขณะทำความดี สร้างบุญกุศล เช่น ซองใส่ปัจจัยถวายพระ
เป็นซองที่มีดวงตราประกาศิตขององค์กร หรือบุคคลอยู่ “ทิพยจักรพรรดิ” ซึ่งคอยควบคุมดูแลสมบัติอันเป็นทิพย์
ก็จะปรุงแต่งสมบัติทิพย์ของผู้ทำบุญกุศล และสำแดงประกาศิตนั้น
ให้สมบัติทิพย์มีลวดลายดวงตราประกาศิตติดอยู่ด้วย ราวกับว่าเป็น Signature หรือลักษณะเฉพาะตัวอย่างนั้น
[9] การใช้ดวงตราประกาศิตมีความสัมพันธ์กันทั้งในโลกทิพย์และโลกมนุษย์
เมื่อเจ้าของประกาศิตใช้ดวงตราประกาศิตบ่อยเข้า กำลังก็สะสมมากขึ้น กระทั่งสำแดงไปได้ทั่วโลก
ส่วนหยาบๆ ก็มีผลทางจิตวิทยา ถ้าหากจะว่าตามหลักวิชาการของมนุษย์
ดวงตราประกาศิตก็คือ “แบรนด์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยในการจดจำให้แก่ผู้พบเห็น
และผู้ใช้ก็ต้องมีการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ใช้สำแดงเวลาทำความดีให้บ่อยครั้ง
เพื่อให้ผู้พบเห็นมีทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์ และจดจำได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงในการใช้ประกาศิต ในอกุศลกรรมต่างๆ หรือ
ใช้แบรนด์ในทางที่สร้างความเสื่อมเสียด้วย ดังนี้แล้ว ประกาศิตจะ “เอื้ออำนวย” กิจการงานของเจ้าของประกาศิต
ไม่ว่าจะเป็นงานทางโลก หรืองานทางธรรม รวมถึงความเป็นที่นับถือเชื่อถือ
ทั้งในสังคมมนุษย์ และสังคมเทวดา ถ้าหากเราตั้งองค์กร มูลนิธิ สมาคม ชมรม หน่วยงาน
หรือกลุ่มคณะบุคคล เพื่อร่วมทำกองการบุญกุศล เราก็ควรจะตราและประกาศใช้ ประกาศิตที่เหมาะสม
อันจะเป็นกำลังเสริม ให้กิจการงานสร้างบารมีของเรานั้น ก้าวหน้าขึ้น ดีขึ้น
โดยทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย ถ้าอยากให้องค์กร
หน่วยงาน หรือบุคคลที่เป็นเจ้าของประกาศิตเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
ก็ต้องหมั่นทำงานให้ก้าวหน้า แล้วสำแดงประกาศิต ไปด้วยเรื่อยๆ ควบคู่กันไป
กล่าวคือ ถ้าโลโก้เราสวย สะดุดตา จำง่าย และมีผลต่อจิตใจในแง่บวกหรือลบ
นั่นก็คือใจที่รับรู้ได้ และเมื่อเราใช้โลโก้ในการทำผลงาน ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการ
ที่มีคุณภาพ ผู้คนก็จะจดจำติดใจว่า เมื่อเห็นแบรนด์นี้ คือบริการ และ/หรือ
ผลิตภัณฑ์ ที่ดีมีคุณภาพ หรือไม่ดี ไม่มีคุณภาพ แต่นอกจากลักษณะและสีของโลโก้หรือประกาฯ
แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย
[10] ในการทำบุญนั้น
หากเราสำแดงดวงตราประกาศิต จะทำให้ได้บุญมากขึ้น เพราะในการทำทาน
เราคำนึงถึงปัจจัยส่งผล 4 อย่าง คือ 1. วัตถุทานบริสุทธิ์ 2. ผู้ให้บริสุทธิ์ 3. ผู้รับบริสุทธิ์ 4. เจตนาบริสุทธิ์
ประกาศิต
เป็นเครื่องหมายรับประกันในส่วนของผู้ให้ และเมื่อใช้ในการทำทาน
ก็รับประกันในส่วนของวัตถุ หมายความว่า ผู้ที่ได้ประกาศิตชั้นสูง
ส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ทรงวิชชา ทรงศีล ทรงธรรม ทรงคุณ เท่านั้น ไม่มีใครทุจริตผิดศีลร้ายแรง
เพราะถ้าหากใครทุจริต ขั้นประกาศิตจะลดลง เพราะโดนปรับ "ทุจริยา" อนึ่ง
ประกาศิต เป็น เครื่องหมายแห่งเกียรติคุณ เมื่อใช้ในการทำบุญทำทาน
เป็นการบ่งถึงทานที่บริสุทธิ์ทรงเกียรติ อานิสงส์จึงมากกว่าปกติ
[11] การ
“เล่นประกาฯ หรือ เล่นประกาศิต” ที่เป็นดวงตราสัญลักษณ์นั้น ผู้เล่นต้อง “สำแดง”
ดวงตราสัญลักษณ์นั้นบ่อยๆ อย่าง “สมควร” เช่น
เมื่อทำบุญด้วยการมอบซองปัจจัยที่มีดวงตราประกาศิตประทับเอาไว้
ภาพดวงตราประกาศิตส่วนละเอียดก็จะลอยขึ้นกลางงานพิธี นี้คือลักษณะของการ
"สำแดง" ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า มีเจ้าของ "ประกาศิต"
มาร่วมงาน แต่จะเป็นเช่นนี้ได้ ก็เฉพาะประกาศิตชั้นสูงเท่านั้น
เมื่อผู้ทรงวิชชาหรือผู้ทรงประกาศิตอื่นๆ
ที่เป็นเจ้าของงานพิธีทราบว่ามีเจ้าของประกาศิตใหญ่ มาร่วมพิธีงานบุญ
ท่านก็จะใช้วิชชาคำนวณบุญบารมีให้เป็นพิเศษ ทำให้ผู้ร่วมงานได้บุญบารมีมากขึ้น
สิ่งสำคัญในการสำแดงประกาศิตคือ
เมื่อมอบซองหรือวัตถุทานที่มีดวงตราประกาศิตแสดงอยู่ไว้แล้ว
เจ้าของงานต้องรับประกาศิตเอาไว้ บางงานมอบซองแล้ว เขาเขียนใบอนุโมทนาบัตร
แล้วส่งซองคืน อย่างนี้ก็ไม่เป็นอันรับ
จะต้องเอาซองเปล่านั้นไปหย่อนตู้รับบริจาคเพื่อให้ตราประกาศิตตกเป็นของเจ้าของงานพิธี
เพื่อให้เป็นการ "ครบองค์" แห่งการ "เล่นประกาฯ" เหมือนทำทาน
ผู้ให้มอบแล้ว ผู้รับก็ต้องรับกลับไป ถ้าผู้ทำทาน มอบให้แล้ว ผู้รับส่งกลับคืน
ก็ยังไม่ครบองค์ฯ หรือเหมือนการประทับตราประกาฯ ส่วนใหญ่ก็มีเพียงสีแดง
กับสีน้ำเงิน ถามว่าทำไมไม่ประทับตราเป็นสีอื่น..
นี่ก็เป็นธรรมเนียมของการเล่นประกาฯ ที่ท่านนิยมกัน คือประทับเป็นสีแดง
หรือสีน้ำเงิน เป็นส่วนใหญ่ แต่จะใช้สีอื่นก็ไม่ผิด
[12] การสำแดงดวงตราประกาศิต ที่เป็นไปตามกติกามารยาทของการเล่นประกาฯ นั้น เมื่อสำแดงประกาศิตในงานบุญพิธีแล้ว ผู้ทรงวิชชาจึงคำนวณบุญให้เป็นพิเศษเฉพาะประกาศิตขั้น "สยมภู" หรือสูงกว่าเท่านั้น ที่ผู้ทรงวิชชาจะคำนวณบุญให้ และสาเหตุที่ผู้ทรงวิชชาคำนวณให้ก็เพราะผู้ทรงวิชชาจะหักส่วนแบ่ง 50%ยกตัวอย่างเช่น จ้าวประกาฯไปทำบุญหล่อพระ ถ้าไม่สำแดงประกาฯ จะได้บุญ 100 หน่วย แต่เมื่อสำแดงประกาฯ ผู้ทรงวิชชาก็คำนวณบุญให้เป็นกรณีพิเศษ รวมแล้ว ได้ 210 หน่วย ผู้ทรงวิชชา หักส่วนที่เพิ่มมา 110 หน่วย ที่ 50% คือ 55 หน่วย ดังนี้ สรุปคือ เจ้าของประกาฯ ได้บุญสุทธิ 155 หน่วย
[13] ในกรณีที่ดวงตราสัญลักษณ์ประกาศิตเป็นประกาฯชั้นสูง ผู้รับพึงมียินดี
ที่ได้รับวัตถุทานที่มีประกาศิต ส่วนเจตนา ก็มีเจตนาอันดี และแรงกล้ามากขึ้น
เมื่อผู้ถวายทานใส่ใจในการสำแดงประกาศิต พร้อมทั้งได้
"อานิสงส์แห่งประกาศิต" คือสิทธิพิเศษต่างๆ ที่จะได้
เมื่อได้รับประกาศิต เช่นเดียวกับการที่พระสงฆ์รับผ้ากฐิน แล้วได้อานิสงส์ต่างๆ
ตามพุทธบัญญัติ และด้วยเหตุผลอื่นๆ ตามกติกาการเล่นประกาฯ ซึ่ง “เครื่องธาตุเครื่องธรรม” ก็จะนำ input ต่างๆ เหล่านี้
ประกอบเข้าด้วยกันโดยคำนึงถึงดวงจิตที่เกิดดับทั้งหมดในกระบวนการ ที่เกิดจาก
กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำบุญ
เพื่อคำนวณจ่ายบุญและตั้งโปรแกรมเป็นแผนผังแห่งผลกรรมว่าจะส่งผลในอนาคตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ด้วยเหตุนี้ การทำบุญพร้อมสำแดงประกาศิต จึงมีอานิสงส์มากกว่าปกติธรรมดา
ในทำนองเดียวกัน การสำแดงประกาศิตเพื่อใช้ในทางผิดศีลผิดธรรม ในทางมิชอบ
อย่างเช่นสุราแบรนด์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียง ก็จะได้บาปมากขึ้นเป็นพิเศษ ดังนี้.
[14]
ดวงตราประกาศิต หรือ “แบรนด์” ที่มีลำดับขั้นในโลกทิพย์นั้น
ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แทน quality ของคน สัตว์
สิ่งของ สถานที่ ต่างๆกันไป มีศักดิ์ศรี, เกียรติภูมิ,
คุณค่า, ยศ, สิทธิ์,
ศักดิ์, อำนาจ, ความเป็นที่ยอมรับนับถือ
เป็นอาทิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักไม่ปรากฏมีอย่างเด่นชัดเป็นรูปธรรมในวัตถุทาน
เมื่อเราตราประกาศิตในวัตถุทาน ก็เท่ากับเพิ่มตัวแปร (คือ factorial
variable) ในการคำนวณบุญตามโปรแกรมกฎแห่งกรรม
เหมือนโปรแกรมคำนวณภาษีออนไลน์ หากเราป้อนค่า input ต่างกันไป ผลจากการคำนวณก็ต่างมากน้อยกันไป หรือเหมือน
“ระดับขั้นของสมาชิกภาพ” องค์กร
หน่วยงาน ร้านค้า ที่มีสิทธิพิเศษมากน้อยต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น
สมาชิกบัตรทองของสายการบิน เมื่อเทียบกับสมาชิกขั้นแพลทตินั่ม
ก็จะแลกแต้มได้ไม่เท่ากัน หรือเปรียบเทียบได้กับ “สมาชิกผู้ขายตรง”
ที่แบ่งเป็นลำดับขั้น เช่น ระดับทอง ระดับเงิน ระดับทับทิม
ระดับเพชร ระดับมรกต ระดับมงกุฎ ซึ่งแต่ละขั้นเปรียบได้กับขั้นของประกาศิต
ที่ได้รับอัตราผลกำไรได้มากน้อยไม่เท่ากัน ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
[15] พระพรหมผู้คำนวณบุญอันเป็นอานิสงส์จากประกาศิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายบุญคือ
เทวานั้นท่านสามารถแทรกแซงกระบวนการขั้นตอนเกิดบุญได้
เพราะสายธาตุสายธรรมมีลำดับขั้นตอนที่ต้องผ่านกายทิพย์ และอื่นๆ
กว่าจะถึงเครื่องธาตุเครื่องธรรม อุปมาเหมือนสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายที่ส่งผ่านเราท์เตอร์
แล้วมีการติดตั้งอุปกรณ์เร่งความแรง และขยาย bandwidth ในการกระจายสัญญาณ
ให้กระจายได้ดีขึ้น และมากขึ้น และในบางกรณี พระพรหมผู้ทรงวิชชา ก็คำนวณจ่าย
แบ่งสิทธิพิเศษ แยกต่างหาก ออกจากเครื่องธาตุเครื่องธรรมอีกด้วย
สำหรับการคำนวณของเครื่องธาตุเครื่องธรรม
ก็คำนวณจากจิตที่เกิดขึ้นเป็นดวงๆนับจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม บุญบาป ธาตุธรรม
ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ
โดยเครื่องคำนวณเร็วมากเหมือนเราป้อนข้อความส่งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ข้ามทวีปไปต่างประเทศ
แล้วถึงผู้รับภายใน 1-2 วินาที ในโลกธาตุนี้
เราทำบุญ เครื่องก็คำนวณจ่ายบุญประมวลเป็นโปรแกรมเป็นผังบุญว่าจะเกิดอะไรดีๆ
เวลาทำบาป ฝ่ายบาปเขาก็ตั้งโปรแกรมของเขา เมื่อทำบุญปนบาป
ก็ต่างฝ่ายต่างตั้งโปรแกรม ทีนี้มายุ่งตอนบังคับส่งผล
ต่างฝ่ายต่างบังคับให้เป็นจริงตามโปรแกรมที่กำหนด ก็ขึ้นอยู่กับว่า ณ เวลานั้นๆ
ระหว่างพระ (พระนิพพาน) กับมาร (มารโลก) ใครมีกำลังมากกว่ากัน
ต่างฝ่ายต่างประชันฤทธิ์สู้กันด้วยวิชชา, ฤทธิ์, สิทธิ์, อำนาจ
โดยมีโปรแกรมกฎแห่งกรรมที่ต่อรองยอมความ (settle) กันไว้เป็นสนธิสัญญาก่อนหน้านั้นเป็น platform โดยการประชันฤทธิ์นั้นอาจรุนแรงถึงขึ้นทำร้ายทำลายล้างกันและกันภายใน “สนามรบ” ของธาตุธรรม คือพื้นที่กลางสำหรับต่อสู้
[16] ระหว่างผู้ทรงวิชชา 2 ท่าน
ที่วิชชาพอๆกัน ลำดับขั้นธรรม และขั้นจักรฯ พอๆกัน
ผู้ทรงวิชชาที่มีประกาศิตสถิตภายในตัวมากกว่า และยศสูงกว่า และ/หรือ เป็นเจ้าของดวงตราสัญลักษณ์ประกาศิตที่มีขั้นสูงกว่า ส่วนมากแล้วจะได้รับเกียรติและการให้ความสำคัญมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน เทวโลก
และภพทิพย์โดยทั่วไป ยกเว้นผู้ทรงวิชชาบางท่าน ที่ยศใหญ่มากๆ ในวิชชา เมื่ออยู่ในที่ประชุมวิชชา
ก็จะนับถือกันโดยขั้นวิชชาเป็นหลัก
[17]
ดวงตราสัญลักษณ์ประกาศิตที่สวยงาม เมื่อใช้ประกอบการทำบุญ
จะทำให้ทิพยสมบัติมีลวดลายละเอียดประณีตสวยงาม นอกจากนี้ รูปลักษณ์ของดวงตรา
จะส่งผลต่อความเจริญในส่วนหยาบประมาณ 20-50% เช่น
ดวงตราของสตาร์บั๊คส์ ที่เป็นนางเงือกสวมมงกุฎรูปดาว ก็จะส่งผลให้ ส่วนหยาบ
คือร้านสตาร์บั๊คส์ มีความโดดเด่น แต่ก็มีองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ร่วมด้วย
เช่นความรู้ความสามารถในการบริหาร และบุญเก่าของเจ้าของกิจการ อนึ่ง ประกาศิตที่มีลำดับชั้น
เปรียบเสมือนเครื่องรับประกันคุณภาพ อาทิเช่น ความบริสุทธิ์ของเจ้าของประกาฯ
คือผู้ให้ และวัตถุทาน และเพิ่มความสวยงาม, ความน่าประทับใจ, การให้ความสำคัญ, เกียรติภูมิ, ความน่ายินดี เหมือนอย่างดวงตราโลโก้ของนาฬิกาโรเลกซ์ หรือรถเบนซ์
หรือเสื้อตราโปโล หรือลาคอสท์ ที่ทำให้ผู้ใช้ หรือผู้ได้รับ
รู้สึกถึงฐานะอันเลิศที่ “ทรงคุณค่า” “ภูมิฐาน”
และน่า “ภาคภูมิใจ” ในวัตถุที่มีตราประกาศิตสำแดงอยู่อีกด้วย
[18]
สายบุญจากการเล่นประกาฯ ก็คือ "ปุญญาภิสันธาน" หรือท่อธารแห่งบุญ
ที่บุคคลได้จากการมี กาย วาจา และใจ ที่เป็นกุศล โดยปกติแล้ว เมื่อบุคคลทำบุญกุศล
ภาคผู้เลี้ยงจะรายงาน กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ส่งเป็นทอดๆ ผ่านไปถึง
"เครื่องธาตุเครื่องธรรมฝ่ายกุศล" เครื่องก็จะคำนวณ กายกรรม วจีกรรม
และมโนกรรม ที่เป็น input แล้วตั้งโปรแกรมตามกฎแห่งกรรม เพื่อตั้งผังอานิสงส์ที่จะได้รับ พร้อมจ่าย
"กระแสบุญ" ส่งมายังบุคคลนั้นๆ ในการทำบุญธรรมดา กระแสบุญ หรือ
ปุญญาภิสันธาน อาจจะไหลมาเก็บไว้ในดวงบุญของตัวบุคคล มากบ้าง น้อยบ้าง
แต่เมื่อใดที่บุคคลทำบุญที่มีอานิสงส์ไม่หมดสิ้น
ก็จะได้รับสายบุญส่งมาจรดที่กลางตัวบุคคลนั้นๆ
โดยบุญจะไหลมาอย่างตลอดต่อเนื่องเรื่อยไป ไม่มีหมด
สำหรับผู้ที่
"เล่นประกาฯ" ผู้ทรงวิชชา จะคำนวณเสริม เพิ่มเติมจาก
เครื่องธาตุเครื่องธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสายบุญชนิดต่างๆ แล้วแบ่งกัน ระหว่าง 1. เจ้าของประกาฯ 2.
เจ้าของงานบุญพิธี และ 3. ผู้ทรงวิชชาผู้คำนวณ
สายบุญที่ได้จากการเล่นประกาฯ
มีดังนี้ (จากสำคัญน้อย ไปมาก)
1. สายสันวิวัฎฐายี
2. สายมหาสันวิวัฏฐายี
3. สายบรมสันวิวัฎฐายี
4. สายระฆา
5. สายสุรฆา
6. สายอธิฆา
7. สายสันฎิฆา
อย่างไรก็ตาม
แม้สายบุญจะส่งบุญมาต่อเนื่อง แต่บุคคลก็จะสามารถรองรับบุญได้มากน้อยไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับ "ธาตุ" ที่มีมากหรือน้อย โดยที่บุญจากสายบุญเหล่านี้
มีลักษณะคล้าย "บุญจากการนั่งสมาธิ"
[19] ท่านใดที่ชอบ
หรือสนใจเล่นดวงตราประกาศิต เวลาทำบุญ จะตรัสคาถาเอ่ยอ้างประกาศิตประจำ “ธนบัตร” ที่ใช้ทำบุญได้
ธนบัตรของแต่ละประเทศส่วนใหญ่มักจะมี “ดวงตราประกาศิต”
อยู่ด้วยกันทั้งนั้น เช่นตราครุฑพ่าห์ของประเทศไทย
และดวงตรานกอินทรีย์ของธนบัตรดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอื่นๆ บ้างก็เป็นดวงตราประจำประเทศ
ดวงตราของรัฐบาล ดวงตราประจำบุคคล หรือนอกเหนือจากนี้
ซึ่งดวงตราประกาศิตบนธนบัตรนั้น สามารถ “ให้คุณ” ได้ในส่วนของ “คุณสมบัติของทรัพย์ที่ใช้ทำทาน”
ซึ่งผู้ทรงวิชชาที่กำกับการใช้ประกาศิตของมนุษย์นั้น สามารถ “คำนวณ” ให้ก่อเกิดเป็นอานิสงส์ผลบุญได้มากน้อยต่างกันไป
การทำบุญแบบเอ่ยอ้างตราประกาศิตบนธนบัตรนั้น
ปรากฏว่าได้อานิสงส์เพิ่มมากขึ้นไปอีกแบบ
เมื่อเทียบกับธรรมดาที่ใส่ซองประทับตราประจำตัว แต่การจะอ้างประกาศิตใดๆ
ก็ต้องสำแดงตรานั้นให้ปรากฏ จึงอาจไม่ใส่ซอง เหมาะสำหรับทำบุญหยอดตู้หรือยื่นส่งมอบใบธนบัตร
(โดยอาจมีสลิปเล็กๆ
ที่ประทับตราประกาศิตประจำตัวของเราเหน็บติดไปด้วยพร้อมระบุชื่อนามสกุล
และจำนวนเงินบริจาค) แต่ที่อ้างประกาศิตแล้วได้อานิสงส์มากก็เพราะผู้อ้างเป็น “เจ้าประกาฯ” บุคคลทั่วไปอาจจะได้ไม่มาก
กล่าวคืออ้างประกาศิตบนธนบัตรแล้วอาจถึงขั้นได้ “ศักดิ์สิทธิ์”
กับ “อัศจรรย์” สำหรับคนที่ยังไม่มีวิชชา
หรือไม่ชำนาญการตรัสคาถา อาจจะกล่าวเพียงว่า “ด้วยดวงตรา...
ที่สำแดงบนธนบัตรนี้ขอทำบุญ...” มีท่านสงสัยถามประมาณว่าทำอย่างไรจะสำแดงตราประกาศิตบนธนบัตรได้
โดยที่เราใช้ประกาฯเราด้วย คำตอบคือนำธนบัตรใส่ถุงพลาสติกใส
แล้วติดสติ๊กเกอร์ใสตราประกาศิตของเราโดยไม่บังกัน หรือเป็นธนบัตรเปล่าๆ
แนบสลิปประทับตรา ตามที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม โดยธรรมเนียมแล้ว
เมื่อเจ้าของประกาศิต ส่งประกาฯเวลาทำบุญ ผู้รับจะต้องรับไปเก็บไว้ แต่ถ้าผู้รับส่งคืน
เช่นยื่นซองเปล่า หรือสลิปคืน
ให้นำซองหรือสลิปนั้นไปใส่ตู้รับบริจาคที่ตรงกับประเภทของการทำบุญ การใช้ดวงตราของเจ้าประกาฯทำบุญ
ก็ได้ปริมาณบุญมากขึ้นหลายเท่า แต่เอ่ยอ้างดวงตราบนธนบัตรแล้วได้ “ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเปรียบเสมือน “หัวบุญ” ที่เข้มข้น อุปมาได้กับบุญที่ได้ทำกับผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ
ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะพระพรหมผู้ทรงวิชชาผู้ดูแลเรื่องดวงตราสัญลักษณ์ท่านคำนวณให้ได้ดังนั้น
ส่วนพระพรหมผู้ทรงวิชชาเองก็ได้ “ค่ากำเน็จ” เป็นส่วนแบ่งไป การเล่นดวงตราสัญลักษณ์ประกาศิตเล่นได้ 2 แบบ คือเล่นเป็นดวงตราที่จับต้องได้ กับเล่นในวิชชาเป็นภาพนิมิต
ดวงตราควรจะพอเหมาะกับกำลังและอัธยาศัยวาสนาบารมีของเรา
คะเนดูว่าจะไม่ต้องเปลี่ยนประกาฯบ่อยๆ เมื่อได้เลื่อนขั้น แต่อาจเพิ่มเสริมเติมองค์ประกอบได้
ส่วนสีของประกาศฯก็สำคัญ ควรเป็นสีที่เราชอบ และถูกโฉลก
ผู้ทรงวิชชาแก่กล้าอาจจะเล่นประกาฯในวิชชา เพราะงานการเกี่ยวกับการตราประกาฯ
นั้นอาจเป็นธุระมากเกินไป ขณะเวลาท่านกำลังเข้าวิชชา
ซึ่งบางท่านก็เข้าวิชชาตลอดทั้งวัน ทุกอิริยาบถ อนึ่ง การใช้ประกาฯนั้น
ผู้ทรงวิชชาท่านอื่นๆ ที่พบเห็นดวงตราประกาศิต จะสามารถตรวจได้
ว่าประกาฯนี้เคยตราใช้ทำอะไรมาแล้วบ้าง ผู้ทรงวิชชาที่ไม่ปรารถนาจะทิ้งร่องรอยไว้
จึงอาจไม่นิยมเล่นประกาฯแบบที่จับต้องได้ หรือแบบหยาบๆ
[20] ประกาศิตที่เป็นดวงตราสัญลักษณ์นั้น
เมื่อเล่นกระทั่งได้ขั้นต่างๆ แล้ว ผู้เล่นสามารถ “แลก”
เป็นดวงประกาศิตของทิพย์เพื่อสถิตเก็บไว้ภายในตัว
นำติดไปภพชาติเบื้องหน้าได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังจะเปลี่ยนภพภูมิ
และประสงค์จะได้อานิสงส์แห่งประกาศิตไปใช้ในภพชาติเบื้องหน้า
ไม่เว้นแม้แต่กายพระจักรพรรดิ และกายธรรม (พระธรรมกาย) ก็สามารถเก็บดวงประกาศิตทิพย์ไว้ภายในตัวได้
โดยการแลกนั้น จะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับขั้นของดวงตราสัญลักษณ์
และเจ้าของประกาศิตจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการแลกเป็นบุญธาตุ และการแลกนั้น
สามารถแสดงความจำนงได้ว่า จะใส่ดวงประกาศิตของทิพย์ไว้ในกายใด
จะใส่ในกายพระจักรพรรดิ, กายธรรม (พระธรรมกาย), หรือ กายทิพย์ ก็ย่อมได้ เมื่อใส่ในกายใด ก็จะทำให้กายนั้นมีความยิ่งใหญ่
และมี "บารมีแห่งเกียรติยศ" เพิ่มมากขึ้น เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ในลักษณะเดียวกันกับ บุญ บารมี บาป กรรม และอัธยาศัยสั่งสม หากจะอุปมาไป ดวงประกาศิตทิพย์ภายในตัว ก็คล้ายเงินที่ฝากอยู่ในบัญชีธนาคาร ในขณะที่ดวงตราสัญลักษณ์ประกาศิตที่จับต้องได้ เป็นเสมือน "ธนบัตร" ซึ่งแลกไปแลกมา เข้าบัญชีธนาคารได้
[21] ถ้าหากท่านมีความสนใจเรื่องประกาศิต
ปรารถนาที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม ขอเชิญติดต่อได้ที่ www.watluangphorsodh.org หรือถ้าหากว่าท่านเป็นผู้ที่มีรู้มีญาณ
ก็ลองสังเกตดูว่าเวลาเทวดาประชุมกัน ใครนั่งอยู่ลำดับต้นๆ ของที่ประชุม มียศ
มีตำแหน่ง มีประกาศิต ว่าอย่างไร ยศใดสูงกว่ายศอื่น ยศใดด้อยกว่า ดังนี้
สำหรับกระผม พิรจักร ทิศุธิวงศ์ ผู้รจนาความนี้ พอมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ประกาศิตอยู่บ้าง
แต่ก็ต้องขออภัยหากยังขาดความสมบูรณ์
ซึ่งท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีความรู้มากกว่านี้ ก็ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย
และหากมีข้อชี้แนะแต่ประการใด ผู้รจนาขอน้อมรับเอาไว้ ณ โอกาสนี้
จบบรรพ์
รจนา โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์
(นามเดิมที่ 1 ของผู้รจนา: พิทยา ทิศุธิวงศ์)
(นามเดิมที่ 2 ของผู้รจนา: พิรจักร สุวพรรดิเดชา)
ฉบับเดิม: วันที่ 19 มกราคม 2561
ฉบับปรับปรุงใหม่ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564