24. ขั้นยศของเทวดา
ขั้นยศของเทวดา หรือ
"ชั้นของประกาศิต" ทั้ง 12 ประเภท
ฉบับที่ 2B ปรับปรุงล่าสุด ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564
โดย
ครูวิชชา
และ พิรจักร ทิศุธิวงศ์
(นามเดิม พิทยา ทิศุธิวงศ์ / นามปากกา Pittaya
Wong)
www.meditation101.org
สังคมของเทวดานั้น
จะว่าไปก็คล้ายๆ สังคมของบางประเทศที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์
และมีระบบอำมาตย์ ขุนนาง มนตรี ซึ่งนับถือกันตามยศศักดิ์ ที่ได้มาตามบุญกรรมที่ทำไว้
จัดได้ว่าเป็นสังคมที่ “เจ้ายศเจ้าอย่าง” อยู่ไม่น้อย ยกเว้นเทวดาที่เป็นพระอริยบุคคล
จะไม่ค่อยน้อยเนื้อต่ำใจในบุญวาสนา
แต่เทวดาพระอริยบุคคลก็มักจะได้รับความเคารพนับถือยกย่องเหนือผู้อื่นอยู่เป็นปกติสามัญ
คล้ายพระสงฆ์ในเมืองมนุษย์ ที่ผู้คนมีความเคารพยำเกรงให้อยู่เป็นปกติโดยทั่วไป
ต่างแต่ว่าเทวดาพระอริยบุคคลชั้นต้นยังคงมีคู่ครองและครอบครัวได้ ส่วนเทวดาประเภทอื่นๆ
ทั้งพุทธศาสนิกชนเอง และบ้างที่มาจากศาสนาอื่น ก็นับถือกันตามบุพกรรม
ใครทำความดีเอาไว้มากในเมืองมนุษย์ ก็ได้รับการนับถือมากกว่า ซึ่งความดีของเทวดา
ที่มาจากเมืองมนุษย์นั้น แบ่งได้เป็น 12 ประเภทหลักๆ และแบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีกหลายสิบประการ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะประเภทหลักๆ
ดังนี้:
(1) ยศขั้น "ธรรมา"
เป็นยศของเทวดาที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น เป็นผู้ “ทรงธรรม” ถือว่าเป็น
“ผู้ดี” ในเหล่าเทวดาด้วยกัน เพราะปกตินั้นเทวดามีอุปนิสัยใจคองดงามดีอยู่แล้ว
ยิ่งเป็นพระอริยบุคคล ก็จะยิ่ง “สำรวย” มากกว่าใครอื่น
(2) ยศขั้น "ประภา" เป็นยศของเทวดาที่มีรัศมีกายสว่างมาก
นับเป็นเทวดาที่ได้รับความนับหน้าถือตา เพราะรัศมีเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่ายสำหรับเทวดาด้วยกัน
และเป็นที่ประทับใจต่อผู้พบเห็น ใครจะมากหน้า น้อยหน้า ก็วัดกันตรงนี้
เหมือนในเมืองมนุษย์ที่เขาชื่นชอบว่าใครผิวขาวมีออร่า ก็เป็นที่รักมากกว่าคนอื่น
แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะบางคนอื่นเขาเข้มขำก็มี แต่ปกติแล้วนิยมชมชอบผิวขาวสะอ้าน
บ้างก็ว่า “ขาวอมชมพู” ไปถึงขนาดนั้น และโดยปกติแล้ว เทพจำพวกประภาก็มักจะมี “วรรณะ”
งาม เพราะรัศมีขับให้ผิวพรรณแลดูเปล่งปลั่งไปในตัว ถ้าปรารถนายศขั้นนี้
ให้ทำบุญค่าไฟฟ้าส่องสว่างวัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมที่มีผู้ทรงภูมิธรรมชั้นสูง
หรือจุดประทีปโคมไฟ บูชาพระรัตนตรัย
(3) ยศชั้น “รังสี” คือ
เทวดาที่มีรัศมีหลากสีสันสวยงาม บ้างก็มี 7 สี
บ้างก็มี 10 สี หรือถึง 108 สี หรือมากกว่า เป็นเทวดาผู้เจิดแจ่มอยู่บนสวรรค์
เพราะรัศมีเป็นเรื่องที่เทวดาเขาถือกันมาก เนื่องจากเป็นจุดเด่นที่เห็นได้มาแต่ไกล
แต่เทวดาเขาตาดี เห็นอะไรก็เห็นชัด มองเสื้อมองผ้า ก็มองทะลุไปถึงเส้นด้าย
ขนาดนั้น หากมองรัศมีสีสันแล้วก็เห็นกำซาบเข้าไปในจิตใจ คือจะรู้สึกชื่นชม เบิกบาน
หรืออ้อยสร้อย น้อยใจในรัศมีของตนขึ้นมาทีเดียว เทวดาที่รัศมีสวยๆ
นั้นบ่งบอกถึงกรรมเก่าที่บำเพ็ญมาดี จะกล่าวไปก็เหมือนมนุษย์ที่โปรไฟล์ดี
จบมหาวิทยาลัยชั้นดังมีชื่อเสียง พอบอกชื่อมหาวิทยาลัย อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกคนก็ให้เกียรติ ฉันใดก็ฉันนั้น เทพรังสี
ทำกรรมเก่ามาดีจึงได้รังสีสวยสดงดงาม เป็นบุญตาของเหล่าเทวดาที่ได้เห็น
เทวดาเหล่าอื่นที่รัศมีอ่อนด้อย พอเห็นรัศมีสวยๆ มาแต่ไกลเคลื่อนมาทางทิศของตน
บ้างก็ต้องหลบหลีก บ้างก็ยกหัตถ์ขึ้นถวายความเคารพ มันถึงขนาดนั้นเชียว ซึ่งบุพกรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาที่มีรัศมีหลากสีสันนั้น
ก็อย่างเช่น การถวายดอกไม้หลากสีบูชาพระสถูปเจดีย์ หรือบูชาพระรัตนตรัย หรืออื่นๆ
เช่นการตั้งธงหลากสีบูชาพระเจดีย์ หรือการจุดพลุไฟหลากสี
เฉลิมฉลองวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และอื่นๆ อย่างเช่นการปรุงรังสีและรัศมีขึ้นด้วยวิชชา
ซึ่งเทวดาในยศชั้นนี้ มีชื่อเรียกว่า “จ้าวรังสี”
(4A) ยศขั้น "จริยา" คือยศของเทวดาที่มีศีล
ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไม่ว่าจะขณะเป็นมนุษย์อยู่ หรือเป็นเทวดา เทวดาเหล่านี้มีความประพฤติดี
เรียกได้ว่าเป็นเทวดาดีในหมู่เทวดาด้วยกัน ทั้งๆที่เทวดาปกติก็มีความประพฤติชอบอยู่แล้ว
แต่เทวดาก็ยังมีที่ติบ้าง อย่างเช่นเรื่องความสัมพันธ์หนุ่มสาว
แย่งสมบัติกันไม่ได้ ก็แย่งเพื่อน แย่งแฟน แย่งบริวารที่มาเกิดใหม่ในสวรรค์
หรือทะเลาะเบาะแว้งเวลารถเฉี่ยวรถชน หรือมีใครเหาะผ่านเหนือปราสาทวิมานแห่งตน
ส่วนทว่าเทพจริยานั้นมีน้ำใจอารีอารอบ ไม่ค่อยหาเรื่องสร้างปัญหารบกวนใครต่อใคร
ประพฤติตัวเป็นต้นแบบอย่างทางจริยธรรมให้กับเหล่าเทวดาทั้งหลาย เข้าข่ายเป็นนักบวชหรือผู้ถืออุโบสถศีล
ตามวัดวาอารามในเมืองมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงวันพระวันโกน วันๆ
นั่งเสวยสุขกับการท่องบ่นมนตรา สนทนาธรรม กระทั่งผองเทวดาพากันเรียก “พ่อ” เรียก
“แม่” กันเป็นแถบๆ หากปรารถนายศขั้นนี้ ให้รับศีล หรืออาราธนาศีล 5 ข้อ หรือ 8 ข้อ กับผู้ทรงธรรม หรือพระอริยบุคคล หรือพระสงฆ์
แล้วรักษาศีลตามที่อาราธนาไว้ให้บริสุทธิ์อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในวันอุโบสถ
และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หากเป็นพระภิกษุก็ให้ยึดมั่นในพระธรรมวินัย
ปฏิบัติตามศีลสิกขาบท และมีศีลาจารวัตรอันชอบอย่างเต็มที่
(4B) ยศขั้น "สุคนธา"
คือยศของเทวดาที่มีกลิ่นกายหอมเย็นอบอวลเป็นพิเศษ เทวดาชั้นนี้เป็น “เทวดาชั้นดี”
ด้วยบุพกรรมที่ทำมาในเมืองมนุษย์คือเป็นคนพูดจาดี ไม่ใช่ถวายเครื่องหอมอย่างเดียว
น้ำคำนี้เองที่ทำให้ปากหอม กายหอม ไม่เหม็นสวะ ใครที่พูดคำหยาบ
โกหกหลอกลวงอยู่เป็นประจำ กลิ่นตัวจะเหม็นสาบ ใครที่พูดจริง พูดเพราะ น้ำคำชวนฟัง
น่าเคารพนับถือ กลิ่นกายจะหอมละไม เป็นที่น่าแปลก
ว่าเพราะเหตุใดคำพูดจึงส่งผลถึงกลิ่น แต่บุพกรรมก็ส่งผลอย่างนั้น จ้าวสุคนธา เป็นเทพดีที่ใครๆ
ก็นับถือ เหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ที่เจรจาชอบ เป็นอรรถเป็นธรรม พูดจาน่าเชื่อถือ เชื่อฟัง
ใครๆ ก็เคารพ และชื่นใจที่ได้อยู่ใกล้ เทวดาชั้นนี้ทำให้เทพบริวาร
และเทวดาที่พบเห็นรู้สึกชื่นใจ เพราะเครื่องหอมประจำตัวประจำใจ พาให้ใจของตนเอง
และผู้อื่นเบิกบาน ประดุจได้รับสุคนธ์บำบัดอยู่ตลอดเวลา ใครที่ปรารถนายศขั้นนี้
ให้สรงน้ำพระด้วยการรินน้ำอบไปที่พระหัตถ์และพระบาทของรูปเหมือนพระพุทธเจ้า
พระจักรพรรดิ พระสงฆ์ พระอริยะบุคคล และผู้ทรงคุณ รวมถึงกล่าววาจาชอบ
เป็นวาจาสุภาษิต พร้อมทั้งถวายดอกไม้หอม และเครื่องหอม บูชาพระรัตนตรัยอยู่เสมอๆ
(5) ยศขั้น "เดชา" คือยศของเทวดาที่มีฤทธิ์เดชมาก อานุภาพมาก หากปรารถนายศขั้นนี้ ให้ทุ่มเทแรงกายช่วยงานพระพุทธศาสนา เช่น ช่วยล้างจานชาม ยกของ ขนของ ก่อสร้าง ฯลฯ และเมื่อกล่าวมั่นให้คำสัญญาใดๆ ไว้ ก็ต้องทำตามที่กล่าวให้สำเร็จ จึงจะมากไปด้วยฤทธิ์ เทวดาประเภทเดชา มักเหาะเหิน เดินอากาศ เร็วคล่องว่องไว บางครั้งมีศึกในหมู่เทวดา ก็ต้องอาศัยเทวดาประเภทนี้เข้าช่วยเป็นกำลังพล
(6) ยศขั้น "รัตนา"
เป็นตำแหน่งของเทวดา ที่มีเครื่องประดับและทิพยสมบัติที่ประดับประดาไปด้วยอัญมณี เป็นเหมือนคนรวยๆ
ที่กล่าวขานกันว่าเป็น “ตู้เพชรเคลื่อนที่” ดังเช่นเหล่าคุณหญิงคุณนายมหาเศรษฐี
ที่เครื่องประดับสวยหรู ดูโก้ ราคาแพงลิบลิ่ว หาใครจะมาสวมใส่อย่างนี้ได้ก็ยาก
แต่เครื่องประดับอันเกิดจากบุญถวายเพชรนิลจินดาของแท้ กับของเทียม
หรือแก้วกระจกนั้นก็ต่างกัน กล่าวคือ
เครื่องประดับเทวดาอันเกิดจากบุพกรรมทำบุญด้วยเพชรนิลจินดาของแท้นั้นจะมีฤทธิ์ให้ความสุขความน่าเพลิดเพลินเจริญใจ
และเปล่งประกายแวววาวระยิบระยับสวยสดงดงาม
แลดูน่าชื่นใจมากกว่าของผู้ที่ถวายด้วยของเลียนแบบ
เทวดาประเภทนี้เข้าข่ายเทวดามหาเศรษฐี
(เทวดาส่วนใหญ่ก็รวยสมบัติกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว แต่ต่างกันที่ความ “วิจิตร”
ของทรัพย์สมบัติเท่านั้น) และด้วยความเป็นเทวดามหาเศรษฐี ก็ทำให้ใครๆ
ต่างพากันมารุมมาตอม อยากรู้จักมักจี่ เพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ตน
จะได้ประกาศไปว่าตนได้เป็นเพื่อนหรือรู้จักกับมหาเศรษฐีตู้เพชรเคลื่อนที่เหล่านั้น
หากปรารถนายศขั้นนี้ ให้ทำบุญอัญมณีประดับผอบพระบรมสารีริกธาตุ, พระอุณาโลมของพระพุทธรูป,
พระมงกุฎและเครื่องทรงพระพุทธรูปปางพระจักรพรรดิ, และเครื่องประดับพระพุทธรูปปางต่างๆ,
หรือยอดปลีพระเจดีย์, ยอดฉัตรพระเจดีย์
หรือจะถวายอัญมณีสำหรับบรรจุในพระพุทธรูปและพระเจดีย์ เป็นต้น
(7) ยศชั้น “พิมาน” คือเทวดาที่มีที่อยู่อาศัย หรือ “วิมาน” ขนาดใหญ่โตโอฬารเป็นพิเศษ ซึ่งวิมานของเทวดา แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือวิมานเงิน วิมานทอง และวิมานแก้ว แต่โดยความยิ่งใหญ่แล้วก็ไล่ลำดับต่างกันไปอีกเช่น วิมาน, พิมาน, เทวปราสาท, เทวนครา, ปราสาทนครา, เทพนคร, ภพเทวะ ฯลฯ ซึ่งการที่บุคคลจะมาเกิดเป็นเทวดาประเภทนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “จ้าวพิมาน” บ้างก็มีบุพกรรมจากการสร้างเสนาสนะ อาคารสถานที่ ถาวรวัตถุ วัดวาอาราม ถวายพระพุทธเจ้า ถวายพระสงฆ์ จึงเป็นเหตุให้มีวิมานใหญ่ แต่ก็ไม่เสมอไป บางท่านอาจทำบุญอื่น แต่เป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก เช่นการทำบุญกับพระภิกษุรูปเดียวที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เป็นต้น เทวดาชั้นนี้มักจะได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เทวดาอยู่เนืองๆ เหมือนไปจัดปาร์ตี้เลี้ยงรุ่นของเพื่อนๆ นักเรียน ก็ต้องไปบ้านของเพื่อนนักเรียนที่รวย และมีบ้านขนาดใหญ่ จึงเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ตน และพรรคพวกเพื่อนพ้องก็พากันนึกรัก เพราะช่วยเอื้ออำนวยการณ์ได้เป็นอย่างดี เวลาไปคุยออกสื่อกันในหมู่เทวดา ว่าได้ไปงานบ้านนั้น บ้านนี้ ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าตนเองมีความสำคัญในสังคมเทวดาเขา
(8) ยศขั้น "วิจิตรา" คือยศของเทวดาที่มีรูปงามยิ่ง บ้างก็รวมไปถึงทิพยสมบัติก็สวยงามวิจิตรประณีต เทวดาชั้นนี้เข้าข่าย “เทพี” ซึ่งปกติเทวดาก็หน้างามหุ่นสวยกันอยู่แล้ว แต่เทพวิจิตราเป็น “หัวหน้าคนสวยคนงาม” เป็นเจ้าคนงามในหมู่คนงามด้วยกัน เปรียบกับนางสาวไทย หรือมิสยูนิเวอร์ส ที่สวยสุดๆ ปกติก็จัดว่าเป็นดาราบนสวรรค์ไปในตัวอยู่แล้ว ส่วนความประพฤตินั้นไม่นับเข้ากับใบหน้า เพราะบ้างก็มีเรื่องระหองระแหงเกี่ยวกับความสัมพันธ์รักต่อเทวดาหนุ่มๆ หรือสาวๆ ด้วยกัน เป็นที่น่าอิดหนาระอาใจต่อเทวดาผู้ปกครอง ที่ต้องคอยตัดสินคดีความให้ แต่ก็ไม่เสมอไป บ้างก็สวยแล้วนิสัยดี แต่มีน้อย ส่วนใหญ่สวยแล้วก็เจ้าปัญหา เหมือนดาราในเมืองมนุษย์ที่รักๆ เลิกๆ แต่งๆ แล้วก็หย่าๆ อย่างนั้นไป หากปรารถนายศขั้นนี้ ให้ถวายดอกไม้และเครื่องประดับประดาบูชาพระรัตนตรัยอันวิจิตรประณีตอยู่เสมอๆ และรักษาศีลให้ครบถ้วน
(9) ยศขั้น "โยธิน" คือยศของเทวดาที่มีเทพบริวารมาก
ซึ่งเทพบริวารมีทั้งแบบที่เป็นมนุษย์ไปเกิดร่วมวิมานบนสวรรค์
หรือเป็นกายสิทธิ์ที่ถูกเนรมิตให้เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของบุญ เทวดาขั้นนี้ถือว่าเป็น
“เจ้าคณะ” คือนอกจากมีเพื่อนแล้ว ยังมีบาทบริจาริกามากมาย มาคอยห้อมล้อมรับใช้ เป็นข้าทาสบริวาร
(แต่ธรรมเนียมสวรรค์เขาไม่ปกครองกันอย่างดุดัน อาจจะมีติติงแรงๆบ้าง
แต่ไม่ทำให้เสียใจหนัก แค่พอน้อยอกน้อยใจแล้วปรับปรุงตัว)
เทวดาขั้นนี้มักจะเป็นหัวหน้าหมู่ชนในสมัยเป็นมนุษย์
ได้เคยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้คนไว้เป็นอเนกปริยาย คล้ายนักการเมืองท้องถิ่น
ที่ใครมาหาก็หยิบจับส่งเสียช่วยเหลือ ร่วมทุกข์ร่วมสุข กับหมู่ชนกระทั่งเป็นที่รัก
และฝากฝังชีวิตกันเอาไว้ บ้างก็เคยเกิดเป็นพระมหากษัตริย์แห่งนคร,
ผู้ว่าการรัฐหรือเมือง, หรือบ้างก็แคว้นเล็กๆ ไปถึงแคว้นใหญ่ๆ,
รวมถึงหัวหน้าชนเผ่า ที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับอาณาประชาราษฎร์
แล้วประชาชนก็แซ่ซ้องสรรเสริญกระทั่งถึงขั้นอธิษฐานตนขอเป็นข้ารับใช้และเป็นพสกนิกรต่อไปอีกในภพเบื้องหน้าก็มี
หากปรารถนายศขั้นนี้ ให้หมั่นรวบรวมพวกพ้องในการทำการบุญการกุศลหรือ
ให้ทำบุญสังฆทานสมทบค่าจัดจ้างคนงานในวัดวาอาราม และอนุเคราะห์เกื้อกูลช่วยเหลือผู้คนให้มากเข้าไว้
เท่าที่จะทำได้
(10) ยศขั้น "ดุริยางค์" คือยศของเทวดาที่มีวงดนตรีชั้นเลิศขับกล่อมให้เพลิดเพลินเป็นพิเศษ
ทำให้ร่าเริงบันเทิงใจมาก พาให้สบายใจไปตามๆ กัน และเป็นนักสร้างความบันเทิงให้กับผองเทวดาผู้มาอยู่ใกล้ๆ
นิสัยอาจจะคล้ายคนธรรพ์แต่ไม่ใช่คนธรรพ์ คือชอบเสียงดนตรี แต่อาจไม่เล่นเอง
แต่เป็นเจ้าของวงดนตรี มีนักร้อง นักแสดงในสังกัดจำนวนมาก หากปรารถนายศขั้นนี้
ให้ประโคมดนตรีด้วยตนเอง หรือจัดจ้างให้มีการประโคมดนตรี, การแสดงขับร้องฟ้อนรำ บูชาพระรัตนตรัย,
หรือซื้อกล่องดนตรีหรือเครื่องเล่นเสียงมาเปิดบรรเลงหรือเพลงอันสมควร
บูชาถวายพระรัตนตรัย และงานพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และงานสาธารณชนทั่วไป
อย่างริ้วขบวนร่ายรำ ประโคมดนตรีขบวนแห่นาคเข้าโบสถ์
หรือขบวนแห่เทียนพรรษาก็เข้าข่ายนี้
(11) ยศขั้น "พัสตรา"
เป็นยศของเทวดาที่มีผ้าอาภรณ์เนื้อละเอียดประณีตสวยงามยิ่ง เสื้อผ้าอาภรณ์หรูหรา
แลดูภูมิฐาน เป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าเทวดาหนุ่มสาว (เทวดาที่ขึ้นสวรรค์มาใหม่ๆ
ยังตื่นเต้นกับทิพยสมบัติ) เป็นเหมือนพวกนายแบบนางแบบเสื้อผ้าดีไซเนอร์ชั้นนำในเมืองมนุษย์
ที่เขาใส่ออกงานหรูหราปาร์ตี้กัน ใครแต่งตัวดีกว่า ผ้าดีกว่า ก็มีคนมาชื่นมาชม
มองกันตั้งแต่หัวจรดเท้า และเทวดาก็มีตาทิพย์ที่หากตั้งใจมองก็จะเห็นไปถึงเนื้อผ้า
ใยผ้า ดูออกแยกถูกว่าผ้าดีมากดีน้อยเพียงไร แต่ก็ไม่มีที่ติ ทำให้เทพพัสตรากลายเป็นมิตรรักของเหล่าแฟนคลับ
ที่มาปรากฏตัวกี่หน ก็มีชุดดีๆเด็ดๆ มาให้มองให้ดูกันอยู่เรื่อยๆ
ราวกับออกมาจากแค็ตตาล็อค หรือแค็ทวอล์ค ยิ่งถ้าหากหน้าตาดีด้วย
(เทวดาปกติหล่อสวยกันทุกองค์ แต่จะ “หมดจด” ก็ต่างกันว่ามากน้อย) ก็เข้าข่ายเป็น
“ดารา” ของเหล่าเทวดาปานนั้นเชียว หากปรารถนายศขั้นนี้ ให้ถวายผ้าไตรจีวรหรือผ้าเนื้อดีมีประโยชน์แด่พระอริยบุคคล
และพระสงฆ์
เทวดาตนหนึ่งอาจจะดำรงยศศักดิ์เพียงตำแหน่งเดียว หรือมากกว่าก็ได้ ยิ่งมียศศักดิ์หลายขั้น ก็ยิ่งเป็นที่เคารพ นับถือ ยำเกรง ของเหล่าเทวดาอื่นๆ และถ้าหากมีงานประชุมในเทวสมาคม เทวดาที่มียศศักดิ์เหล่านั้น ก็จะได้รับเกียรติให้นั่งใกล้องค์ประธาน มากกว่าเทวดาทั่วไป นอกจากนี้ ขั้นยศของเทวดาแต่ละประเภท ยังสามารถจำแนกแบ่งออกเป็นลำดับๆ ได้อีก เช่น "จ้าวประภา" สามารถแบ่งเป็นระดับ "อาภา" และ "ปภัสสรา" ส่วน "จ้าวสุคนธา" สามารถแบ่งเป็นระดับ "สุวคนธ์" และ "รสสุคนธ์" ได้อีก เป็นต้น
สำหรับ “สมณเทวา” นั้นไม่ได้จัดอยู่ในลำดับศักดิ์แห่งเทพเทวาทั้ง 12 ขั้น ยกเว้นแต่สมณเทวาท่านที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคล บุพกรรมที่ทำให้เทวดาได้เป็นสมณเทวา
ตามตำราว่าไว้ก็คือ
สามารถทรงจำและสาธยายพระปาฏิโมกข์ของพระภิกษุได้ครบถ้วนคล่องแคล่วขณะเป็นพระภิกษุมนุษย์
กระทั่งละสังขาร และได้มีโอกาสสวดพระปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์อยู่เนืองๆ
ขณะที่ทรงพระปาฏิโมกข์อยู่นั้นด้วย แต่ในทางวิชชา สมณเทวาสามารถเป็นได้ด้วยการ
“บวชในวิชชา” อันเป็นผลให้ “กายทิพย์” ของผู้ทรงวิชชากลายเป็น “พระ”
ซึ่งโดยมากแล้วจะขึ้นไปบวชกับพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน ผู้ทรงเป็นเจ้าของพระศาสนาในโลกมนุษย์
แต่ก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถทำได้ หลากหลายรูปแบบต่างกันไป
เทวดาส่วนใหญ่คุ้นเคยกับความหรูหราอู้ฟู่แห่งทิพยสมบัติ เมื่อมาพบกับสมณเทวาผู้แลดูสมถะอยู่ในสวรรค์
บ้างก็รู้สึกแปลก และไม่รู้จะทำเยี่ยงไร ก็เลยหลีกพ้นไป
บ้างก็พอทราบคุ้นกับธรรมเนียมปฏิบัติต่อพระสงฆ์ ก็เข้าไปทักทายถามไถ่
ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเทวดาที่เพิ่งขึ้นไปเกิดใหม่ๆ ส่วนพระภิกษุที่บวชนานๆ หลายๆ
พรรษา ไม่จำเป็นเสมอไปว่ามรณภาพไปแล้วจะได้เป็นสมณเทวา
แต่โดยหลักแล้วเทวดาส่วนมากไม่รู้จักเรื่อง “วิชชา” มากพอ
จะเคารพนับถือโดยมากก็เฉพาะ “พระอริยบุคคล” และ “เทพพรหม” ผู้ทรงธรรม
ซึ่งมาแสดงธรรม ณ เทวสภา ด้วยรัศมีเรืองรองอร่ามงามตา น้ำเสียงไพเราะเสนาะโสต
กริยาน่าเคารพเลื่อมใส ส่วนสมณเทวาที่รัศมีน้อยกว่า และมิได้เป็นพระอริยเจ้า
ก็อาจได้รับการให้ความสำคัญน้อยกว่า
ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดจากการจัดลำดับที่นั่งในเทวสภา อย่างไรก็ตาม
ผู้ทรงวิชชาบางท่าน อาจยินดีเลือกที่จะเป็นสมณเทวา เพราะเป็นแล้วก็ไม่ต้องข้องในกิจต่างๆ
อันมากมายภายในสังคมของชาวสวรรค์ มีการประชุม จัดเลี้ยง สังสรรค์ และอื่นๆ
อีกทั้งเพศภาวะแห่งการเป็นสมณเทวา ก็ทำให้เหล่าเทวดาพากันระมัดระวังสำรวมต่อท่าน
ซึ่งบ้างก็ไม่กล้าพูดด้วย จึงทำให้ลดธุระอันเป็นโลกียะ
และกิจแห่งการเป็นฆราวาสไปในตัว ดังฉะนี้.
สำหรับอานิสงส์แห่งบุญกรรมที่ส่งผลให้บุคคลมีกายทิพย์สวยงาม
และมีลักษณะดีตามขั้นของประกาศิตทั้ง 12 ประเภทหลักนี้ ต่างจากอานิสงส์ที่ส่งผลถึง “กายพระจักรพรรดิ” และ
“กายธรรม” ในวิชชา กล่าวคือ กายทิพย์ หรือ กายเทวดา เป็นกายในสายธาตุสายธรรม ที่อยู่ใกล้กายมนุษย์
เมื่อกายมนุษย์ทำบุญ อานิสงส์จะส่งผลถึงกายทิพย์
ทำให้กายทิพย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีโดยรวดเร็ว และโดยง่าย ต่างจาก
“กายพระจักรพรรดิ” และ “กายธรรม” (พระธรรมกาย)
ซึ่งเป็นกายที่อยู่ลึกเข้าไปในสายธาตุสายธรรม ซึ่งบุญกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงกายในวิชชาได้ทีละน้อย
เปรียบเสมือนผลไม้ดอง ที่รสเค็มจะซึมเข้าผิวชั้นนอกได้ภายในระยะเวลาไม่นาน
ส่วนเมล็ดหรือแกนของผลไม้ ต้องใช้เวลานานกว่า ที่รสเค็มจะซึมเข้าไปถึงเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพได้
แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะมีเทคนิคทางวิชชา หรือบางเรื่องซึ่งเป็นข้อยกเว้น ที่ทำให้กายในวิชชาเปลี่ยนไปได้โดยฉับพลัน
ยกตัวอย่างเช่นการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แล้วนำของทิพย์มาใส่กายในวิชชา ซึ่งทำให้กายพระจักรพรรดิ
และกายธรรม หรือพระธรรมกาย มีเครื่องประดับเกิดขึ้นบ้าง
และมีฤทธิ์มีอำนาจเพิ่มขึ้นมาจากปกติ ดังฉะนี้แล.
หมายเหตุ: ยศของเทวดาตามที่พรรณนามานี้ ได้เรียงลำดับตามความสำคัญโดยคร่าว หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม ขอให้ถามลูกแก้ว
ซึ่งแสดงภาพไว้ด้านบนของบทความนี้ที่ www.meditation101.org
รจนาข้อ
(1) ถึง (10) เมื่อ 26 เมษายน 2561
รจนาข้อ
(11) ถึง (12) เมื่อ 9 มิถุนายน 2563
ปรับปรุงเนื้อหาข้อ
(1) ถึง (12) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่
28 พฤษภาคม 2564