27. บทสรุปการศึกษาและปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

Super Executive Summary: 

บทสรุปรวบยอดการศึกษาและปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

By Pittaya Wong

22 May 2019

 



แนวทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เริ่มต้นจากสั่งสมบุญบารมี
โดยการสั่งสมบุญนั้นมี 10 วิธี เรียกว่าบุญกริยาวัตถุ 10 ประการ คือ

(1) ให้ทาน (2) รักษาศีล (3) เจริญสมาธิภาวนา (4) ประพฤติเคารพอ่อนน้อม (5) ช่วยเหลือผู้อื่น (6) อนุโมทนาบุญ (7) อุทิศบุญ (8) ฟังธรรม (9) แสดงธรรม (10) ทำความเห็นให้ถูกต้องตามธรรม

ในการบำเพ็ญบุญกริยาวัตถุ 10 ดังกล่าว เมื่อบำเพ็ญแล้วจะได้ พลังงานบุญสะสมไว้ในตัวเรา โดยพลังงานบุญจะถูกจัดเก็บในรูปของ บารมี 10 ทัศเหมือนเราหยอดกระปุกออมสินมีเหรียญหลายขนาดหลายมูลค่า แล้วนำเหรียญเหล่านั้นออกมาเข้าเครื่องนับเหรียญ เครื่องก็จะแบ่งแยกเหรียญตามขนาดต่างๆ กันให้โดยอัตโนมัติ แล้วจัดเก็บเป็นช่องเป็นสัดส่วนต่างหากกัน ฉันใดก็ฉันนั้น บุญที่ได้จากการบำเพ็ญบุญกริยาวัตถุ 10 ก็ถูกจัดเก็บเป็นบารมี 10 ประเภทคือ

(1) ทานบารมี คือใจกว้างใจเสียสละ
(2) ศีลบารมี คือความข่มใจ
(3) เนกขัมมบารมี คือใจสันโดษ
(4) ปัญญาบารมี คือความรู้ความเข้าใจ
(5) วิริยบารมี คือใจมีกำลังบากบั่น
(6) ขันติบารมี คือใจอดทนอดกลั้น
(7) สัจจะบารมี คือใจจริง จริงใจ
(8) อธิษฐานบารมี คือใจที่มุ่งมั่น
(9) เมตตาบารมี คือใจอ่อนโยนนุ่มนวล
(10) อุเบกขาบารมี คือใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย

โดยการบำเพ็ญบุญ เพื่อสะสมเป็นบารมีนั้น ไม่ได้นับเอาปริมาณของบุญเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จก้าวหน้า แต่วัดกันที่กำหนดระยะเวลา ดังนี้

(1) บำเพ็ญบารมียาวนานครบเวลา 1 แสนกัป มีกำลังมากพอจะเป็นพระอรหันต์ 
(2) บำเพ็ญบารมียาวนานครบเวลา 2 อสงไขย มีกำลังมากพอจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
(3) บำเพ็ญบารมียาวนานครบเวลา 20 อสงไขย 1 แสนมหากัป มีกำลังมากพอจะเป็นพระปัญญาธิกพุทธเจ้า 
(4) บำเพ็ญบารมียาวนานครบเวลา 40 อสงไขย 1 แสนมหากัป มีกำลังมากพอจะเป็น พระศรัทธาธิกพุทธเจ้า
(5) บำเพ็ญบารมียาวนานครบเวลา 80 อสงไขย 1 แสนมหากัป มีกำลังมากพอจะเป็น พระวิริยาธิกพุทธเจ้า

ซึ่งการบำเพ็ญบารมีในพระพุทธศาสนานั้นนับหน่วยเป็นช่วงเวลาในการ บ่มปัจจัยร่วมคือทั้ง ธาตุ (บุญธาตุคือบุญเชิงปริมาณว่าปริมาณมากน้อย) และ ธรรม (กุศลธรรมคือคุณภาพของบุญว่าสะอาดมากน้อย) อุปมาเหมือนการอบขนมปัง หากเราอบขนมปังก้อนเล็ก ต้องให้ความร้อนพอเหมาะกับระยะเวลา ขนมปังสุกพอดีในระยะเวลาอันสั้น (เปรียบเสมือนพระอรหันต์) ส่วนการอบขนมปังก้อนใหญ่ ต้องให้ความร้อนพอเหมาะกับระยะเวลาที่นานกว่า (เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้า) เพื่อให้ได้ขนมปังที่สุกพอดี รับประทานได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การบำเพ็ญบุญบารมี ก็คือการ บ่มบุญที่สะสมได้ให้เป็นบารมีด้วยปริมาณ, ความสะอาด, คุณภาพ, และระยะเวลา ที่พอเหมาะพอสมนั่นเอง

เมื่อบำเพ็ญบุญบารมี บ่มครบตามกำหนดเวลาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็ต้องหาทางบรรลุ ซึ่งผู้ปฏิบัติบางท่านก็ออกแสวงหาธรรม แต่บางท่านก็มีผู้มาโปรด ทั้งนี้ทั้งนั้นการบรรลุธรรมก็มีสองแบบคือ

(A) เจโตวิมุติ ก็เจริญสติสมาธิ ทำฌาน มีกรรมฐาน 40 วิธี ก็เลือกวิธีที่ถูกอัธยาศัย ไม่มีวิธีใดที่ถูกต้องที่สุด หรือดีที่สุดเสมอไป แต่ต้องเลือกวิธีที่ใช้แล้วทำได้ผลดี โดยกรรมฐาน 40 วิธีมีดังนี้ (ที่มา http://www.vimokkha.com/krammathan.htm)

หมวดกสิน 10 เป็นการทำสมาธิด้วยวิธีการเพ่ง
1. ปฐวีกสิน เพ่งธาตุดิน
2. อาโปกสิณ เพ่งธาตุน้ำ
3. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
4. วาโยกสิน เพ่งลม
5. นีลกสิน เพ่งสีเขียว
6. ปีตกสิน เพ่งสีเหลือง
7. โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง
8. โอฑาตกสิณ เพ่งสีขาว
9. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
10. อากาศกสิณ เพ่งอากาศ

หมวดอสุภกรรมฐาน 10 เป็นการตั้งอารมณ์ไว้ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยงดงาม มีแต่สิ่งสกปรกโสโครก น่าเกลียด
11. อุทธุมาตกอสุภ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายบวมขึ้น พองไปด้วยลม ขึ้นอืด
12. วินีลกอสุภ วีนีลกะ แปลว่า สีเขียว 
เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวในที่มีผ้าคลุมไว้ ฉะนั้นตามร่างกายของผู้ตาย จึงมีสีเขียวมาก 
13. วิปุพพกอสุภกรรมฐาน เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
14. วิฉิททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลางกาย 
15. วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกยื้อแย่งกัดกิน
16. วิกขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจาย มีมือ แขน ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง
17. หตวิกขิตตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
18. โลหิตกอสุภ คือ ซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
19. ปุฬุวกอสุภ คือ ซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
20. อัฏฐิกอสุภ คือ ซากศพที่มีแต่กระดูก

อนุสสติกรรมฐาน 10 อนุสสติ แปลว่า ตามระลึกถึง เมื่อเลือกปฏิบัติให้พอเหมาะแก่จริต จะได้ผลเป็นสมาธิมีอารมณ์ ตั้งมั่นได้รวดเร็ว
21. พุทธานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
22. ธัมมานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
23. สังฆานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
24. สีลานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์
25. จาคานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงผลของการบริจาคเป็นอารมณ์
26. เทวตานุสสติเป็นกรรมฐาน ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์
27. มรณานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
28. กายคตานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในจาคะจริต
29. อานาปานานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในโมหะ และวิตกจริต
30. อุปสมานุสสติกรรมฐาน ระลึกความสุขในพระนิพพานเป็นอารมณ์

หมวดอาหาเรปฏิกูลสัญญา
31. อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพ่งอาหารให้เห็นเป็นของน่าเกลียด บริโภคเพื่อบำรุงร่างกาย ไม่บริโภคเพื่อสนองกิเลส
หมวดจตุธาตุววัฏฐาน
32. จตุธาตุววัฏฐาน 4 พิจารณาร่างกายประกอบด้วยธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ

หมวดพรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นที่อยู่ของพรหม พรหมแปลว่าประเสริฐ
พรหมวิหาร 4 จึงแปลว่า คุณธรรม 4 ประการ ที่ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นผู้ประเสริฐ ได้แก่
33. เมตตา คุมอารมณ์ไว้ตลอดวัน ให้มีความรัก อันเนื่องด้วยความปรารถนาดี ไม่มีอารมณ์เนื่องด้วยกามารมณ์ เมตตาสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นทุกข์
34. กรุณา ความสงสารปรานี มีประสงค์จะสงเคราะห์แก่ทั้งคนและสัตว์
35. มุทิตา มีจิตชื่นบาน พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่มีจิตริษยาเจือปน 
36. อุเบกขา มีอารมณ์เป็นกลางวางเฉย

หมวดอรูปฌาณ 4 เป็นการปล่อยอารมณ์ ไม่ยึดถืออะไร มีผลทำให้จิตว่าง มีอารมณ์เป็นสุขประณีต ในฌานที่ได้ ผู้จะเจริญอรูปฌาณ 4 ต้องเจริญฌานในกสินให้ได้ฌาณ 4 เสียก่อน แล้วจึงเจริญอรูปฌาณจนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
37. อากาสานัญจายตนะ ถือ อากาศเป็นอารมณ์ จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตย่อใหญ่เล็กได้ ทรงจิตรักษาอากาศไว้ กำหนดใจว่าอากาศหาที่สุดมิได้ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
38. วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้ ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมด ต้องการจิตเท่านั้น จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
39. อากิญจัญญายตนะ กำหนดความไม่มีอะไรเลย อากาศไม่มี วิญญาณก็ไม่มี ถ้ามีอะไรสักหน่อยหนึ่งก็เป็นเหตุของภยันตราย ไม่ยึดถืออะไรจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์
40. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งที่มีสัญญาอยู่ก็ทำเหมือนไม่มี ไม่รับอารมณ์ใด ๆ จะหนาว ร้อนก็รู้แต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ปล่อยตามเรื่อง เปลื้องความสนใจใด ๆ ออกจนสิ้น จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์

ซึ่งกรรมฐาน 40 วิธีนี้ หากบุญบารมีครบเต็มตามเกณฑ์ ก็สามารถทำให้เกิด มรรคสมังคีคือจิตที่ทรงอยู่ในอารมณ์แห่งศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ประดุจเครื่องมือ และมีกำลังบุญบารมีเป็นพลังส่ง สามารถรื้อถอนสังโยชน์คือกิเลสเบื้องต่ำเบื้องสูงที่หยั่งรากอยู่ในใจออกมา แล้วบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล อันมีพระนิพพานเป็นเบื้องปลายได้ แต่ถ้าหากบุญบารมียังไม่ครบเต็มตามเกณฑ์ หากบรรลุผลแห่งการปฏิบัติ ก็จะได้เพียงฌาน

(B) ปัญญาวิมุติ ก็เจริญปัญญา ฟังเทศน์ ฟังธรรม เล่าเรียน เขียนอ่าน ไตร่ตรอง พิจารณา ใคร่ครวญ ธรรมอันมี 84000 พระธรรมขันธ์ ไม่ว่าจะแบบดั้งเดิม แบบย่อ หรือแบบพิสดารออกไปได้นับแสนนับล้านอย่าง ก็ให้เลือกฟังหรือเรียนธรรมในรูปแบบที่เหมาะกับจริต บางท่านมีปัญญามาก เป็นพหูสูต ฟังธรรมขยายยืดยาวแล้วไม่พอใจ ใจไม่สงบ ก็ไม่บรรลุ บางท่านปัญญาน้อย ฟังธรรมแบบย่อแล้วก็ไม่รู้มากพอจะทำความเข้าใจ ก็ไม่บรรลุ การศึกษาธรรมเพื่อความหลุดพ้น จึงควรเลือกศึกษาที่เหมาะกับจริตของตน ในทำนองเดียวกันกับการเลือกวิธีกรรมฐาน

เมื่อผู้ศึกษาพิจารณา ใคร่ครวญ ทำความเข้าใจธรรม กระทั่งเกิด มรรคสมังคีโดยมีบุญบารมีที่บำเพ็ญไว้ครบเกณฑ์เป็นกำลัง ก็สามารถละกิเลสสังโยชน์ได้ตามส่วน บังเกิดเป็นมรรคผลขั้นต่างๆ อันมีพระนิพพานเป็นเบื้องปลาย แต่ถ้าหากบุญบารมียังสะสมมาไม่ครบตามเกณฑ์ แม้จะฟังธรรม หรือศึกษาธรรมมากเพียงใด ก็จะยังไม่บรรลุมรรคผลเป็นปัญญาวิมุติได้ แต่ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจ และเป็นบุญกุศลสะสมต่อไป

อันว่าบุญบารมีนั้น เป็นพลังงานที่หล่อเลี้ยงสรรพสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ พระอริยบุคคล ปุถุชน หรือสัตว์เดรัจฉาน ตราบใดที่บุคคลยังเป็นปุถุชน หรือเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น ก็ยังต้องบำเพ็ญสะสมบุญบารมีเอาไว้ใช้ต่อไป ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะไม่บำเพ็ญบุญก็ได้ เพราะจะได้รับ "สายปุญญาภิสันธาน" เอาไว้ใช้หล่อเลี้ยงตลอดเวลา ดังฉะนี้.

- Pittaya Wong
www.meditation101.org