36. พลวปัจจยาการ
พลวปัจจยาการ
สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์
23 - 24 มกราคม พ.ศ. 2565
อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง “ความเป็นไป” ของสรรพสิ่ง
และสรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมถึงตัวตนของเราเอง? ผมมักจะอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ
ว่ามี “ปัจจัยร่วมส่งผล” อยู่บ่อยๆ
กระทั่งมีท่านสงสัยว่า ปัจจัยที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง จึงขอเรียบเรียงสรุป “ปัจจัยร่วมส่งผลต่อสรรพสิ่งและสรรพสัตว์” โดยตั้งชื่อว่าเป็น
“พลวปัจจยาการ” ออกเป็น 21 ข้อ ดังนี้ครับ:
(1) กรรมเก่า และกรรมปัจจุบัน (2) มานะแห่งตน และผู้อื่น (3) บุญบารมี และบาป (4) โลกียะ และโลกุตระทรัพย์และสมบัติ (5) ความผันผวนจากโลกธรรม
(6) วิชชา และครูวิชชา (7) วิชา,
ครูวิชา, วิทยาการ และเทคโนโลยี (8) รัตนะเจ็ด,
กายสิทธิ์ และของกายสิทธิ์ (9) ดวงตราประกาศิต
และดวงประจุประกาศิต (10) ภาคผู้เลี้ยงผู้รักษา และสมบัติภาคผู้เลี้ยงผู้รักษา
(11) เทวดา และอมนุษย์ (12) คุณภาพและปริมาณ “ธรรม” (13) คุณภาพและปริมาณ “ธาตุ” (14) ยุคสมัยแห่งกาลอันเจริญและเสื่อม (15) โชค และเคราะห์ (16) กำลังแห่งสายธาตุสายธรรมและภพผู้เป็นเจ้าของธาตุธรรม
(17) ความได้เปรียบเสียเปรียบจากศึกสงคราม, ต่อกร, ต่อรอง แห่งธาตุธรรม (18) ฤกษ์และชะตาราศี (19) เวลา (20) ความบังเอิญ และอื่นๆ (21) ปฏิจจสมุปบาทแห่ง ข้อ (1) ถึง (20):
(1) กรรมเก่า
/ กรรมปัจจุบัน (1 – 80%)
กรรมคือโปรแกรมที่กำกับการทำงานของวัฏสงสาร เหมือนซอฟท์แวร์
ที่ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์คือ โลก, คน, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่, เวลา
ให้เป็นไปตามที่ฝ่ายพระนิพพาน กับมารโลกได้ตกลงกันไว้
เหมือนกฎหมายที่ได้จากสนธิสัญญาสงบศึกสงคราม โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็แทรกแซงกันและกันอยู่เรื่อยๆ
บางครั้งกรรมจึงเป็นธรรม แต่บางครั้งก็ไม่ นั่นคือกรรมเก่า
แต่กรรมปัจจุบันก็มีส่วนในการลิขิตชีวิตอยู่ด้วย ถ้าบุคคลไม่ขวนขวายอะไรเลย
เฝ้ารอให้บุญส่งผลให้ประสบความสำเร็จอย่างเดียว
บุญก็จะไม่ได้ช่องหรือโอกาสมากพอจะส่งผล ยกตัวอย่างเช่น
บุคคลเคยถวายยาแด่พระภิกษุที่อาพาธในชาติก่อน และในชาติปัจจุบัน เมื่อเจ็บป่วย
ก็จะหายได้ด้วยการทานยา ถ้าบุคคลรอบุญกรรมในอดีตส่งผล โดยไม่ยอมทานยา
ก็อาจจะหายป่วยได้ยาก เพราะชาติก่อนทำบุญแบบต้องมียาร่วมอยู่ด้วย.
(2) มานะแห่งตน
/ ผู้อื่น จากวาสนาและอัธยาศัย (1 – 15%)
มานะความเพียรพยายามของตนเอง และของผู้อื่น ซึ่งมีวาสนาและอัธยาศัยเดิมเป็นเครื่องประกอบ
สามารถหักเหกระแสกรรม และออกแบบชีวิตของตนเองได้ส่วนหนึ่ง เช่นคนที่เกิดมายากจน
แต่เพียรพยายามทำงาน และทำบุญควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ ถึงที่สุด
ก็ประสบความสำเร็จในชีวิต เหมือนอย่างเจ้าสัว และเถ้าแก่ หลายๆ ท่านในประเทศไทย
ที่อพยพมาจากประเทศจีน แทบจะไม่มีสมบัติติดตัวอะไรเลย แต่ขยันหมั่นเพียร สู้ชีวิต
กระทั่งมีความมั่งคั่ง มีกิจการบริษัทใหญ่โต เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม
และใจบุญอีกด้วย ส่วนวาสนาและอัธยาศัย ก็คือนิสัยสั่งสมจากอดีตชาติถึงปัจจุบัน
และการปลูกฝังพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อม ที่กอปรให้เป็นนิสัยในปัจจุบัน
ส่งผลถึงความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิต.
(3) บุญบารมี
/ บาป (1 – 25%)
บุญคือพลังงานที่เกิดจากการทำดี
ส่วนบาปก็คือพลังงานที่เกิดจากการทำชั่ว ใครมีบุญมาก ก็มักจะมีความสุขและความสำเร็จ
ใครมีบาปมาก ก็มักจะมีความทุกข์และความล้มเหลว ใครมีทั้งบุญและบาป
ก็จะส่งผลสลับกัน หรือผสมปนเปกันไป ทำให้ประสบกับทั้งความสุขและความทุกข์
เช่นคนที่ฆ่าสัตว์มาทำอาหารถวายพระ บุญก็จะทำให้ร่ำรวยมีโภคทรัพย์
แต่บาปก็ทำให้เจ็บป่วย บุญและบาปที่สะสมอยู่ในตัวบุคคล
จึงเป็นกระแสพลังที่ดึงดูดสิ่งดี และสิ่งเลวร้ายเข้ามาในชีวิต
ไม่ว่าจะถึงวาระแห่งกรรมหรือไม่ การที่เรามีคนที่มีบุญมากอยู่ในครอบครัว, องค์กร,
หรือสังคม จึงเป็นสิ่งดี เพราะบุญของเขาจะนำพาสิ่งดีๆ มาสู่คณะ เช่นพระสีวลี
ซึ่งท่านทำทานมามาก เมื่อบวชแล้วบุญก็ส่งให้ท่านเป็นพระที่มีลาภมาก แม้คณะสงฆ์จะจาริกไปยังถิ่นทุรกันดาร
หากมีพระสีวลีร่วมคณะเดินทางไปด้วย ก็จะไม่อดอยาก.
(4) ทรัพย์และสมบัติ
(1 - 15%)
ทรัพย์และสมบัตินั้นไม่ได้หมายถึงทรัพย์สินในครอบครองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่หมายถึงคุณภาพและคุณสมบัติของชีวิต ที่มีเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็น โลกียทรัพย์,
โลกุตรทรัพย์, มนุษยสมบัติ, สวรรค์สมบัติ, และนิพพานสมบัติ
สามารถนำไปต่อยอดเสริมเพิ่ม เป็นความสุขความสำเร็จต่อๆ ไปได้อีก
เช่นคนที่เป็นพระโสดาบันมาแต่กำเนิด ซึ่งบรรลุมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ เมื่อเกิดมาแล้ว
ก็มีจิตใจดีงามเป็นปกติ รักษาศีลเป็นปกติ และประพฤติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรม
ทำให้มีความสุขมากกว่าคนทั่วไป.
(5) ความผันผวนแห่งโลก
(1 – 20%)
โลกธรรม 8 คือ ลาภ/เสื่อมลาภ, ยศ/เสื่อมยศ, สรรเสริญ/นินทา, สุข/ทุกข์ เป็นธรรมชาติของโลก ที่ทำให้ลาภ, ยศ, ความชื่นชมสรรเสริญ, และความสุข ของมนุษย์
ผันแปร เพิ่มขึ้น, ลดลง, หรือแม้กระทั่งหายสิ้นไปตามกาลเวลา
ด้วยปัจจัยส่งผลต่างๆ เช่น กรรม, บุญ, บาป, ฯลฯ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกฎไตรลักษณ์
ได้แก่ อนิจจัง (ไม่เที่ยง), ทุกขัง (เป็นทุกข์) และ อนัตตา
(ไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานของวัฏสงสาร
ที่มีกฎแห่งกรรม เป็นโปรแกรม (ยูเซอร์ อินเทอร์เฟส) อุปมาดั่งโปรแกรมวินโดวส์ (Windows) ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการดอส (DOS).
(6) วิชชา
/ ครูวิชชา (1 – 85%)
วิชชาคือความรู้แจ้ง ซึ่งตั้งอยู่บนจรณะ 15 โดยที่วิชชานั้นแบ่งออกเป็น
วิชชา 3, วิชชา 8, และวิชชาอื่นๆ ที่เป็นประดุจใบไม้ในป่าประดู่ลายที่องค์สมเด็จพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสอน
ผู้ที่ทรงวิชชา หรือมีครูอาจารย์ที่ทรงวิชชา
จะสามารถใช้วิชชาปรับปรุงแก้ไข ปัจจัยส่งผลต่อชีวิตต่างๆ ได้ เช่นใช้วิชชารักษาโรคและแก้กรรม
หรือตามทรัพย์สมบัติมาหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ก็ต้องแลกกับบุญบารมีและกำลังญาณที่หมดเปลืองไป
วิชชาจึงสามารถส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่
โดยครูวิชชาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการใช้วิชชา
เพราะการใช้วิชชาโดยปราศจากครูวิชชาที่ดีคอยกำกับการ ก็อาจทำให้ผู้ใช้วิชชาทำผิด
กลายเป็น “มิจฉาวิชชา” ที่ให้โทษต่อตนเองและผู้อื่นได้
ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นกับปุถุชนผู้ทรงวิชชา
ต่างจากพระอริยบุคคลผู้ทรงวิชชาซึ่งเป็นสัมมาทิฐิอยู่เสมอ.
(7) วิชา
/ ครูวิชา / วิทยาการ / เทคโนโลยี (1 – 45%)
วิชาคือความรู้แห่งวิทยาการ รวมถึงเทคโนโลยี ต่างๆ
ที่บุคคลรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่นวิศวกรรมศาสตร์
สามารถสร้างเครื่องจักร เครื่องยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ฯลฯ
เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีพ และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น
รวมถึงการทำบุญทำกุศล อย่างสร้างพระเจดีย์ หล่อพระพุทธรูป สร้างวัด สร้างถนน
สร้างเขื่อน หรืออื่นๆ ซึ่งมีผลต่อชีวิตของตนเอง และผู้อื่นในเวลาเดียวกัน
ผู้ที่มีการศึกษาดี คือมีวิชาความรู้มาก
และมีครูอาจารย์ที่ดีมีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความรู้ จึงมีภาษีดีกว่า
ในการมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิต
ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรม.
(8) รัตนะ
/ กายสิทธิ์ / ของกายสิทธิ์ (1 – 35%)
หมายถึง กาย (transcendroid) ของกลทิพย์ (transcendware) ที่สามารถทำงานให้คุณให้โทษต่อเราได้
เช่นสามารถนำมาคุ้มครองป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น ดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติ
หรือช่วยในการเข้าฌานสมาบัติ หรือส่งฤทธิ์เป็นอำนาจอิทธิคุณต่างๆ อย่างรัตนะ 7 คือ (1) จักรแก้ว ช่วยให้เกิดฤทธิ์อำนาจ, (2)
แก้วมณี ช่วยให้เกิดความรอบรู้ (3) ขุนพลแก้ว
ช่วยให้เกิดศักยภาพในการบริหารทรัพยากรบุคคล (4) ขุนคลังแก้ว
ช่วยให้เกิดศักยภาพในการแสวงหา จัดเก็บ ใช้สอย และบริหารจัดการทรัพย์สิน
(5) นางแก้ว ช่วยให้เกิดศักยภาพในการรังสรรค์ความสวยงาม
ความบันเทิง ความสุข ความน่าเพลิดเพลินใจ (6) ช้างแก้ว ช่วยให้เกิดกำลังในการบำรุงเลี้ยงดูแลผู้อื่น
และ (7) ม้าแก้ว ช่วยให้เกิดกำลังในการสัญจรคมนาคม
และความรวดเร็วในการเข้าออกญาณ ซึ่งกายสิทธิ์และของกายสิทธิ์ที่มีนั้น
มีมากมายนานัปการ แต่ถ้าจะจัดหมวดหมู่ ก็สามารถจัดเข้าประเภท ตามรัตนะ 7 นั้นได้.
(9) ดวงตรา
/ ดวงประจุ ประกาศิต (1 – 25%)
ประกาศิตมี 2 ประเภท คือ ประเภทที่เป็นดวงตรา
คือโลโก้ ซึ่งเทพเทวาคอยดูแลรักษา และจัดลำดับเป็นขั้นๆ ในการให้ความสำคัญ
ซึ่งโลโก้ดีๆ จะมีผลต่อความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้าขององค์กร
ส่วนอีกประเภทก็คือ ดวงประจุพลังทิพย์ ซึ่งเทพเทวาท่านจะใส่ไว้ในกายของบุคคล
เพื่อเพิ่มกำลัง สามารถทำให้บุคคลเป็นผู้ที่มีเกียรติมากด้วยกำลังจากพลังทิพย์แห่งประกาศิต
ประกาศิตเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในภพภูมิของเทวดา ซึ่งเทวดาที่มีประกาศิตมาก
และมีประกาศิตขั้นสูง
จะได้รับการยอมรับเคารพนับถือและให้เกียรติเป็นอย่างยิ่งในสังคมเทวดา
แต่บุคคลอื่นๆ ในภพภูมิต่างๆ อย่างเช่นพระพุทธเจ้า, พระอริยบุคคล, พระพรหม, มนุษย์
หากมีประกาศิตสถิตอยู่ในตัวจำนวนมาก และมีขั้นสูงด้วย เมื่อถึงคราวไปเยือนภพสวรรค์
เช่นการประชุมเทวสมาคมครั้งใหญ่
ก็จะได้รับการให้เกียรติมากกว่าผู้อื่นที่ประกาศิตน้อย และด้อยกว่า
แม้ในหมู่พระพุทธเจ้าและพระอริยบุคคลด้วยกัน ที่มีทุกอย่างเสมอกัน
แต่หากองค์หนึ่งมีประกาศิตขั้นสูงกว่าและมีมากกว่า ก็จะได้รับการให้ความสำคัญมากกว่าจากเหล่าเทพเทวา
อย่างไรก็ตาม แม้ประกาศิตดูจะเป็นเรื่องของชาวสวรรค์
แต่มนุษย์เดินดินในโลกที่มีประกาศิตขั้นสูงและมีมาก
ก็จะเป็นที่เคารพนับถือของเทวดาในเมืองมนุษย์เช่นกัน ถึงขนาดที่พระภูมิเจ้าที่
และพระพรหมตามศาลต่างๆ ต้องถวายความเคารพเมื่อผ่านมา.
(10) ภาคผู้เลี้ยงผู้รักษา
/ สมบัติภาคผู้เลี้ยงผู้รักษา (1 – 40%)
ผู้เลี้ยงก็คือกายที่ดูแลเราอยู่ในสายธาตุสายธรรม
คอยหล่อเลี้ยงให้เจริญ (ผู้เลี้ยงฝ่ายดี) หรือเสื่อม (ผู้เลี้ยงฝ่ายชั่ว)
โดยผู้เลี้ยงจะมีสมบัติ เช่นรัตนะ 7 ของทิพย์และอื่นๆ
แล้วคอยส่งฤทธิ์ให้มนุษย์และสัตว์ เจริญมากน้อย หรือเสื่อมมากน้อย ตามกำลัง
ซึ่งโดยหลักแล้วจะทำตามกรรมและบุญบาปที่มี บุคคลที่มีผู้เลี้ยงที่มีกำลังมาก
(พระบรมจักรฯ) ก็มักจะมีชีวิตที่ดีกว่าผู้อื่นที่มีผู้เลี้ยงระดับกลาง (มหาจักรฯ)
และระดับทั่วไป (จุลจักรฯ) แต่ผู้เลี้ยงก็ยังแบ่งออกเป็นผู้เลี้ยงที่ดูแลมนุษย์
กับผู้เลี้ยงที่ดูแลองค์กร บริษัท ห้างร้าน ชมรม สมาคม มูลนิธิ กิจการ
หน่วยงานราชการ และเอกชน กระทั่งถึงระดับเขตการปกครอง อย่างตำบล อำเภอ จังหวัด
ประเทศ และโลก ซึ่งมีผู้เลี้ยงดูแลตามลำดับ
ซึ่งภพผู้ปกครองก็ส่งผู้เลี้ยงมาตามกำลังบุญบาปของมนุษย์
และยุคสมัยอันเสื่อมหรือเจริญ
แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผู้เลี้ยงที่มาจากมนุษย์ด้วยกัน
คือมนุษย์ผู้ที่เป็นผู้ก่อตั้ง หรือปกครองมาแต่เดิม เมื่อเสียชีวิตแล้ว
ได้เป็นเทวดาผู้เลี้ยง อย่างพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
และอื่นๆ ซึ่งถ้าหากได้ผู้เลี้ยงที่ดี สมัยเป็นมนุษย์เป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์
มีความรู้ ความสามารถ ศักยภาพ
และมีอุดมการณ์แรงกล้าในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
บุคคลลักษณะนี้จะเป็นผู้เลี้ยงที่มีฤทธิ์มีอานุภาพมาก
สามารถส่งฤทธิ์ดลบันดาลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี.
(11) เทวดา
/ อมนุษย์ (1 – 15%)
เทวดาและอมนุษย์
คือผู้ที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ได้ เพราะเทวดามีระบบการปกครอง
ที่ครอบคลุมมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยแบ่งการปกครองจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมา
และคอยดูแลมนุษย์ตามเขตต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้น กล่าวคือ เทวดาชั้นสูงๆ
จะคอยดูแลระดับบน ส่วนเทวดาระดับล่าง จะดูแลระดับพื้นโลกมนุษย์ แต่ไม่เสมอไป เพราะยกเว้นสถานที่และบุคคลสำคัญๆ
ที่จะมีเทวดาที่มีบุญมากและมีศักดิ์ใหญ่มาคอยดูแล ซึ่งเทวดาต่างก็มีอิทธิฤทธิ์ไม่เท่ากัน
บางท่านบอกลางสังหรณ์ได้ บางท่านให้โชคให้ลาภ บางท่านบอกยารักษาโรค
บางท่านคอยขับไล่วิญญาณสัมภเวสีภูตผีปีศาจ
และนำความเป็นสิริมงคลมาสู่สถานที่หรือบุคคลที่ท่านดูแลอยู่
กำลังของเทวดาก็ยังนับว่าเป็นประเด็นรอง
เมื่อเทียบกับกำลังกรรมเก่า และกรรมปัจจุบัน กล่าวคือ ประเทศตะวันตกจำนวนมาก
มีความเจริญทางวัตถุ แม้ผู้คนจะไม่ได้เคารพกราบไหว้เทวดา ไม่ได้ตั้งศาล
ไม่ได้ถวายของไหว้บูชาสักการะเลย แต่ธุรกิจ กิจการ ห้างร้าน ก็ยังเจริญและมีคุณภาพ
เพราะกรรมปัจจุบัน คือบริหารดี มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์
มีคุณธรรมประจำใจ และมีความซื่อสัตย์ในการทำงาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า
เทวดาและอมนุษย์ทั้งหลายนั้น เมื่อเรากราบไหว้บูชามากเข้า
ท่านก็มักจะมีฤทธิ์เพิ่มขึ้น และช่วยเหลือเราเท่าที่จะทำได้
ในขณะที่สังคมที่ไม่เคารพนับถือกราบไหว้เทวดาและอมนุษย์ ก็ทำให้เทวดาและอมนุษย์ไม่มีบทบาทอะไรในสังคม
และฤทธิ์น้อยลง
ทำได้แค่เพียงเฝ้ามองความเป็นไปของสังคมและคอยรายงานตามเทวดาผู้ใหญ่สั่งการเท่านั้น.
(12) คุณภาพ/ปริมาณ
กุศลธรรม / อกุศลธรรม / อัพยากตาธรรม (1 – 55%)
กุศลธรรม เป็นธรรมบริสุทธิ์
ที่ประพฤติแล้วให้ผลเป็นสุขมากน้อยต่างกัน เช่นการสวดมนต์ ใส่บาตร เจริญภาวนา
บางอย่างทำแล้ว ก็ให้ผลเป็นความสุขทันที เช่นการซื้อของขวัญปีใหม่ให้หมู่ญาติ
เมื่อให้แล้วทุกคนก็มีน้ำใจไมตรีตอบกลับมา ส่วนอกุศลธรรม เป็นธรรมชั่ว
เช่นดื่มเหล้า เล่นการพนัน ที่ประพฤติแล้ว ให้ผลเป็นความทุกข์ บางอย่างทำแล้วก็ทุกข์ในทันที
เช่นดื่มเหล้าแล้วทะเลาวิวาท ในขณะที่อัพยากตาธรรม เป็นธรรมกลางๆ
ทำแล้วไม่สุขไม่ทุกข์นัก เช่นการเรียนหนังสือ การทำกับข้าว การแปรงฟัน
ธรรมเหล่านี้จึงมีผลต่อชีวิตของมนุษย์โดยตรง ซึ่งทำแล้วรู้สึกได้ทันที ว่าสุข
หรือทุกข์ หรือบางอย่างทำบ่อยๆ จนชินเป็นนิสัยที่นำมาซึ่งสุขหรือทุกข์
เช่นการให้ทาง รถยนต์คันอื่นๆ เป็นประจำ เวลาเปลี่ยนช่องจราจร
หรือการเบียดแซงรถยนต์คันอื่นเสมอๆ เมื่อเปลี่ยนช่องจราจร ทำให้สุข
หรือทุกข์เป็นประจำ ขณะขับรถ บุคคลที่มีกุศลธรรมสะสมอยู่ในตัวมาก ก็มักจะมีความสุข
ในขณะที่ผู้สั่งสมอกุศลธรรม ก็มักจะมีความทุกข์ แม้จะไม่เสมอไปก็ตาม.
(13) คุณภาพ/ปริมาณ “ธาตุ” (1 – 35%)
ธาตุได้แก่ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, อากาศ, วิญญาณ ธาตุ ที่ดี และมีมาก ส่งผลต่อชีวิตให้ดี ในขณะที่ธาตุที่แย่
และมีมาก ส่งผลให้ชีวิตเสียคุณภาพ อย่างเช่นอาหารที่เรารับประทาน หากเราเลือกทานแต่อาหารที่ดีมีประโยชน์
ร่างกายก็แข็งแรงดี สุขภาพดี เราก็อยู่เป็นสุข หากเราทานอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกายบ่อยๆ
ชีวิตก็มีแนวโน้มจะเป็นทุกข์มากขึ้น เช่นการรับประทานเนื้อดิบ
ที่เสี่ยงต่อการติดโรค และมีพยาธิ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
มีดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ดี เป็นสถานที่สัปปายะ ใกล้ชิดธรรมชาติ ชีวิตก็เป็นสุข
ได้สูดอากาศที่มีโอโซนมาก มลภาวะน้อย แนวโน้มของการเจ็บป่วยก็น้อยลงตามลำดับ.
(14) ยุคสมัยแห่งกาลกัปเจริญ
/ เสื่อม (1 – 70%)
ยุคสมัยเป็นปัจจัยส่งผลโดยรวมว่าความเป็นไปของโลกจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมถอยลง
สำหรับโลกยุคปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะกัปไขลง คือเสื่อมลงเรื่อยๆ
โดยมีดัชนีชี้วัดคือ “อายุเฉลี่ย” ของมนุษย์ ซึ่งต่ำกว่า 100 ปี
ในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 74 – 75 ปี
ซึ่งโดยธรรมชาติของคนยุคเช่นนี้คือ จะมีคนมีบุญมาเกิดน้อย คุณธรรมและจริยธรรมจะด้อยลง
เช่นคนไทยในยุค 50 ปีที่แล้ว
นิยมใส่เสื้อผ้าปิดคลุมมิดชิด ในขณะที่คนในยุคปัจจุบันนิยมใส่เสื้อเอวลอย
ใส่เสื้อสายเดี่ยว กางเกงขานั้นๆ มีผลต่อความคิดของประชาชน
และอัตราการเกิดขึ้นของอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามยุคสมัยที่เจริญขึ้น
หรือเสื่อมลงไปตามกาลเวลา เหมือนปราสาทราชวังที่สร้างในยุคโบราณ เคยสวยงามน่าอยู่
เมื่อเวลาผ่านพ้นนานไป ก็ทรุดโทรม อุปมาเหมือนสังคมมนุษย์
ซึ่งมีเจริญมีเสื่อมไปตามกาลเวลา และเป็น “ค่านิยม” หรือ “กระแสสังคม” ที่ทำให้บุคคลเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
แม้ว่าโลกยุคปัจจุบันจะเป็นยุคเสื่อม แต่ก็เป็น “ยุคพิเศษ” คือ “ยุคกึ่งพุทธกาล”
ที่มีผู้ทรงคุณเป็นจำนวนมากอวตารมาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สรรพสัตว์
เป็นเหตุการณ์พิเศษที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก.
(15) โชค
และเคราะห์ (1 – 20%)
ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญในโลกนี้ ทุกอย่างล้วนมีกรรมกำหนด
และกรรมก็ทำงานตามวิชชาที่ถูกส่งมา แต่โชคดีและเคราะห์ ร้ายก็ยังอาจเกิดขึ้นได้
ด้วยแรงอธิษฐาน, คำอวยพร, คำสาปแช่ง, ช่องว่างระหว่างของวิชชา (ในกรณีที่วิชชาเกิดสะดุดหาย) แม้เพียงชั่วครู่,
สิ่งนำโชคอย่างเครื่องราง, วัตถุมงคล, สีมงคลประจำวัน ฯลฯ.
(16) กำลังแห่งสายธาตุสายธรรมและภพผู้เป็นเจ้าของธาตุธรรม
(1 – 35%)
มนุษย์ทุกคนล้วนมี “เจ้าของธาตุธรรม” เหมือนโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องที่มีผู้ผลิต
ไม่มีเครื่องใดเกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ และเจ้าของธาตุธรรมก็สถิตอยู่ในภพ
อย่างเช่นพระนิพพาน หรือมารโลก โดยเจ้าของธาตุธรรม อาจจะเป็นพระพุทธเจ้า, พระจักรพรรดิ, พระพุทธราช, พระปัจเจกพุทธเจ้า, องค์ธาตุ, องค์ธรรม, องค์สี ฯลฯ
ซึ่งต่างก็ส่งกำลังมาหล่อเลี้ยง “กายปลายทาง” ของตนเอง เพื่อให้ทำหน้าที่อยู่ในโลกมนุษย์ อย่างเช่นการเป็นพระโพธิสัตว์
นำพาสรรพสัตว์บรรลุธรรมเข้าพระนิพพาน หรือการเป็นฝ่ายสนับสนุน
อย่างเช่นเป็นพระอัครสาวก, พระอสีติมหาสาวก, มหาอุบาสก, มหาอุบาสิกา ฯลฯ
ซึ่งกำลังของผู้เป็นเจ้าของธาตุธรรมนี้ ที่มีผลต่อความสุขความเจริญ
ความทุกข์ความเสื่อม ของมนุษย์และสัตว์ผู้เป็นกายปลายทาง เมื่อกำลังหล่อเลี้ยงมีมาก
หรือมีน้อย ต่างกันตามจังหวะเวลา.
(17) ความได้เปรียบเสียเปรียบจากศึกสงคราม, ต่อกร, ต่อรอง แห่งธาตุธรรม (1 – 30%)
พระนิพพาน และมารโลก ทำศึกสงคราม, ประชันฤทธิ์,
ต่อกร, ต่อรอง กันมายาวนาน หลังจากฝ่ายพระนิพพานทราบว่า
ฝ่ายมารโลกประสงค์จะยึดธาตุธรรมทั้งหมดไว้ในอาณัติ เพื่อให้ตนเองเป็นใหญ่
ตามประสามารที่มีนิสัยเป็นพาลเป็นธรรมชาติ ความสุข และความดี ความทุกข์
และความชั่ว ของมนุษย์ ที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม จึงยังคงผันผวน
ไปตามความได้เปรียบเสียเปรียบจากศึกสงคราม การเผชิญหน้า การต่อกรประชันฤทธิ์
และต่อรอง ระหว่างธาตุธรรมฝ่ายพระนิพพาน และมารโลก ทำให้ “กรรม” ยังไม่เสถียร อย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือ
มนุษย์และสัตว์ในวัฏสงสาร ต้องเป็นไปตามโปรแกรมกฎแห่งกรรม ซึ่งมีพลังงานบุญ
และพลังงานบาปหล่อเลี้ยง ให้สุขหรือทุกข์ ให้เจริญหรือเสื่อม แต่กรรมก็ยังไม่คงเส้นคงวาหรือแน่นอนในระดับที่สามารถกำหนดได้โดยละเอียด 100% ว่า อนาคตจะเป็นดังนั้นดังนี้อย่างแน่ชัดเสมอไป
เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายพระนิพพานมีกำลังเหนือกว่า และชนะศึก
มนุษย์และสัตว์ก็จะมีจิตสำนึกเป็นบุญมากขึ้น
และกรรมดีก็จะส่งผลอย่างราบรื่นและเสถียรมากขึ้น.
(18) ฤกษ์
และชะตาราศี (1 – 20%)
หมายถึงอิทธิพลของดวงดาว และวันเวลา ที่ผลต่อคน สัตว์ สิ่งของ
สถานที่ และชีวิต อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง และสรรพสัตว์ ซึ่งเล็งลัคนาราศีต่อกันและกัน
ในเชิงดีเชิงร้าย ไปต่างๆ นาๆ ยกตัวอย่างเช่น “ปีชง” ซึ่งคนที่เกิดในนักษัตรหนึ่ง จะถูกโฉลก หรือไม่ถูกโฉลก
กับคนที่เกิดในอีกนักษัตรหนึ่ง เพราะฤกษ์ชะตาราศี ที่เกื้อหนุน หรือข่มกันและกันนั่นเอง.
(19) เวลา (1 – 90%)
คือความเร็ว/ช้า ในการผันผ่านแห่งความเป็นไปของภพภูมิต่างๆ
และธาตุธรรม ที่มีผลต่อสรรพสิ่ง และสรรพสัตว์ ซึ่งความเร็ว ความช้า ความนาน
ความกระชั้น และจังหวะของเวลา ส่งผลต่อความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิต
เช่นยุคสมัยที่กาลเวลายาวนาน เทวดา, มนุษย์ หรือสัตว์ จะสุข
ก็สุขนาน จะทุกข์ก็ทุกข์นาน หรือสัตว์นรก จะทุกข์ทรมานอยู่ในนรก
ก็เป็นเวลานานกว่าการเสวยทุกข์อยู่ในเมืองมนุษย์ รวมถึง “กลเวลา”
เฉพาะสิ่ง เฉพาะสัตว์ เฉพาะบุคคล
อย่างเช่นกลเวลาในตัวมนุษย์บางเผ่าพันธุ์ เติบโตเร็ว เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว
และแก่ชราเร็ว เมื่อเทียบกับมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่น.
(20) ความบังเอิญ และอื่นๆ (1 – 70%)
คือผลอันเกิดจากเหตุที่ไม่ได้เป็นไปเพราะกำหนดบันดาลโดยเจตนาของผู้หนึ่งผู้ใด
สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เช่นการกำเนิดขึ้นของธาตุธรรมเริ่มแรกสุด ที่เกิดการ “มี”
เพราะความบังเอิญ เนื่องจาก “เวลา” ใน “ว่าง”
เหลื่อมล้ำกันทำให้เกิดพยับแสง ที่ส่อง “ว่าง”
ก่อให้เกิด “มวล” ขึ้นโดยบังเอิญภายใน “ว่าง”
นั้น หรือเกิดจากการที่วิชชาประสานงากัน กระทบกัน
เลื่อนลั่นต่อกันและกัน โดยไม่เจตนา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ โดยบังเอิญ.
(21) ปฏิจจสมุปบาทแห่ง
ข้อ #1 ถึง #20 (1 – 100%)
ปฏิจจสมุปบาทคือ กลไกที่อธิบายได้โดยคร่าวว่า เมื่อมี “เหตุ” จึงมี “ผล” ที่เป็น “ปัจจัย” หนุนเนื่องกันและกันเรื่อยไป
ไม่มีอะไรในวัฏสงสารที่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากเหตุ ซึ่งเหตุเหล่านั้นก็คือ “ปัจจัยร่วมส่งผล” ข้อ (1) ถึง (20) ข้างต้น
ที่ผลักให้ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ หมุนเวียนเปลี่ยนไป ตามวงจรเรื่อยไป
ตราบเท่าที่ยังอยู่ใน “วัฏสงสาร” และ “สารภพ” นั่นเอง.
สงวนลิขสิทธิ์โดย พิรจักร ทิศุธิวงศ์
23 - 24 มกราคม พ.ศ. 2565
ภาพวาดกราฟฟิคโดย พิรจักร
ทิศุธิวงศ์ (สงวนลิขสิทธิ์)