2. โพธิวิเศษณ์ (How to be a Buddha)

โพธิวิเศษณ์

(How to be a Buddha)

โดย พิทยา ทิศุธิวงศ์

(Pittaya Wong)

ดาวโหลดฉบับ PDF ได้จากด้านล่างสุดของหน้าเว็บนี้ครับ


คำนำ

ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก แม่เคยถามผมว่า “โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร” ผมเชื่อว่าคำถามนี้ คงเป็นคำถามที่ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงเคยถูกถามกันมาแล้ว แน่นอนว่า ทุกคนล้วนอยากเป็นในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ตนจะสามารถไขว่คว้าและก้าวไปถึง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี อธิบดี ผู้พิพากษา ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล ครู นักธุรกิจ นักดนตรี นักเขียน หรือศิลปิน แต่ในบรรดาคนนับพันล้านคนที่ได้ยินคำถามนี้ จะมีสักกี่คนที่ตอบว่า “อยากเป็นพระพุทธเจ้า” ทั้งนี้ก็เพราะว่าชาวโลกเป็นจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าคืออะไร และเกือบทุกคนอาจจะมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนักว่า ผู้ที่คิดอยากจะเป็นพระพุทธเจ้านั้น จะต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้น หรือการเป็นพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม แท้ที่จริงแล้ว ถ้าหากชาวโลกได้เข้าใจมากขึ้นว่า พระพุทธเจ้าคืออะไร เราก็คงจะมีโอกาสได้ยินคำว่า “ผมอยากเป็นพระพุทธเจ้า” กันมากขึ้น ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะนับถือศาสนาอะไรหรือแม้แต่จะเป็นคนไม่มีศาสนาก็ตาม และนั่นก็จะเป็นประดุจเสียงสวรรค์ เป็นคำที่ไพเราะ และน่ายินน่าฟังที่สุดคำหนึ่งในโลกและในจักรวาล เพราะการเป็นพระพุทธเจ้านั้น หมายถึงความสุขอันแท้จริงของสรรพสัตว์จำนวนมากมาย และยังหมายถึง “สันติภาพโลก” “สันติภาพสวรรค์” หรือแม้แต่ “สันติภาพของจักรวาล” ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ แต่ก็สามารถเป็นจริงได้ ซึ่งถ้าหากคุณอยากรู้ว่า พระพุทธเจ้าคืออะไร และการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้นจะต้องทำอย่างไร หนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือแนะแนวอย่างคร่าวๆ และง่ายๆ เพื่อให้คุณค้นพบว่า ทุกๆ คนสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ตัวของคุณเอง

ท้ายที่สุดนี้ ผู้แต่งขอกราบขอบพระคุณ คำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ, พระไตรปิฎกฉบับออนไลน์, วิกิพีเดีย, และหนังสือ “กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ สมบูรณ์ ตาสนธิ, ที่ข้าพเจ้าได้อาศัยใช้ข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ประกอบการแต่งหนังสือ “โพธิวิเศษณ์” เล่มนี้ และขอกราบขอบพระคุณพระมหามงคล มังคโล, ป.ธ. 9 ผู้ให้ความอนุเคราะห์ตรวจต้นฉบับภาคภาษาไทย

In Peace,

Pittaya Wong

2556 B.E.


พระพุทธเจ้าคือใคร?

หากเราแปลคำว่า “พระพุทธเจ้า” อย่างตรงไปตรงมา คำว่าพระพุทธเจ้าก็จะหมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคำที่ใช้เรียกพระศาสดาของพระพุทธศาสนา ผู้ตรัสรู้ธรรม คือความจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งด้วยพระองค์เอง โดยปราศจากผู้สอน เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้า คนทั่วๆ ไปมักมีความเข้าใจพื้นฐานว่า พระพุทธเจ้า ก็คือเจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ บุคคลผู้มีชีวิตอยู่เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว ในแถบเอเชียตะวันออก (ประเทศอินเดียในปัจจุบัน) ท่านคือผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาอันเก่าแก่ของโลกที่มีชื่อเสียงมากอีกศาสนาหนึ่ง เป็นศาสนาที่ได้รับความนิยมและนับถือมาจนถึงปัจจุบัน เพราะคำสอนมีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และเอื้อเฟื้อต่อการสร้างสันติสุข และสันติภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า แท้จริงแล้ว คำว่า “พระพุทธเจ้า” ก็คือตำแหน่งที่ใครๆ ก็สามารถเป็นได้ แม้จะไม่ง่ายดายนัก เหมือนอย่างตำแหน่งประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี ของประเทศต่างๆ เพียงแต่ว่าตำแหน่งพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง แต่เกิดจากการที่บุคคลมุ่งมั่นสั่งสมบุญบารมี หรือคุณธรรมและความดีงามในด้านต่างๆ จนกระทั่งเต็มเปี่ยมมากพอ และมีความพร้อมที่จะบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าได้ในพระชาติสุดท้าย เพื่อทำหน้าที่บรมครูสั่งสอนสัจธรรมอันแท้จริงให้กับสรรพสัตว์ และนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์และเข้าสู่สภาวะแห่งบรมสุขอันแท้จริงที่เรียกว่า “นิพพาน” ได้ในที่สุด

นับแต่ครั้งบรรพกาลมา ได้มีบุคคลผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการบังเกิดขึ้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วนับพระองค์ไม่ถ้วน จนถึงกับมีคำอุปมาว่า จำนวนของพระพุทธเจ้าที่เคยบังเกิดขึ้นมาแล้วนั้น มีมากกว่าจำนวนของเม็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้งสี่รวมกัน ทั้งนี้ก็เพราะวัฏสงสารนั้นเกิดขึ้นและตั้งอยู่มานานแสนนานแล้ว จนยากที่จะหาเบื้องต้นและเบื้องปลายได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตที่ผ่านมาจะมีจำนวนมากมายมหาศาลแล้ว แต่ก็ยังคงมีสรรพสัตว์ติดอยู่ในคุกคือวัฏสงสารนี้อยู่อีก ดังนั้น ในอนาคตกาลก็ยังจะมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นอีกมากมายหลายพระองค์ เพื่อทำหน้าที่นำพาสรรพสัตว์พ้นทุกข์เข้าสู่นิพพานต่อไป ตราบเท่าที่วัฏสงสารนี้ยังคงอยู่

ในแต่ละพุทธันดร คือช่วงเวลาแห่งศาสนาของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เริ่มต้นจนศาสนาถึงกาลอวสานนั้น จะมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นเพียงพระองค์เดียว เช่นในยุคปัจจุบัน เป็นยุคของพระศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาของพระองค์จะมีอายุ 5,000 ปี ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ล่วงเลยมาแล้วถึง 2500 กว่าปี และในช่วง 5,000 ปีนี้ก็จะไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นบังเกิดขึ้นซ้ำซ้อนกัน ยกเว้นแต่จะทรงบังเกิดขึ้นในจักรวาลอื่นเพราะจักรวาลอื่นๆ ก็มีโลกมนุษย์อยู่ และโลกมนุษย์นั้นก็มีพระพุทธเจ้า แต่เป็นพระพุทธเจ้าคนละพระองค์กับในโลกของเรา หากจะเปรียบไปก็เหมือนกับโลกมนุษย์ที่มีประธานาธิบดีอยู่ในประเทศนั้น ประเทศนี้ ต่างคนต่างก็ปกครองประเทศของตน พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน ต่างพระองค์ก็ต่างปกครองพระพุทธศาสนาของพระองค์ในจักรวาลที่พระองค์บังเกิดขึ้น

ในพระไตรปิฎกยังได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครมหาสาวกผู้มีฤทธิ์มากที่สุดในบรรดาพระสาวกทั้งปวงของพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เคยทดลองเหาะออกไปนอกโลก เหาะไปเรื่อยๆ โดยที่พระพุทธโคดมทรงแนะว่า ถ้าไปไกลจนกระทั่งเห็นโลกมีขนาดเท่าผลส้ม ก็ให้กลับ มิเช่นนั้นแล้วอาจจะหลงทาง พอถึงเวลาท่านก็เหาะเพลินไปในอวกาศ โดยสามารถเป็นอยู่ได้ด้วยฤทธิ์ จนกระทั่งไปถึงโลกมนุษย์อีกใบหนึ่ง ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ รูปร่างหน้าตาของพระองค์ก็เหมือนกับพระพุทธโคดมเลยทีเดียว พระมหาโมคคัลลานะก็สำคัญผิด ด้วยคิดว่าเป็นพระพุทธโคดม จึงเข้าไปถวายความเคารพ  พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงตรัสว่า ท่านไม่ใช่ศาสดาของเธอ (หมายถึงพระมหาโมคคัลลานะ) ศาสดาของเธออยู่อีกจักรวาลหนึ่ง แล้วพระองค์ก็เปล่งพระรัศมีออกไป เพื่อส่งให้พระมหาโมคคัลลานะเหาะกลับตามพระรัศมีนั้น ในขณะเดียวกันกับที่พระพุทธโคดมก็ทรงเปล่งรัศมีออกมาในห้วงจักรวาลเพื่อให้พระมหาโมคคัลลานะเห็น เพื่อให้เหาะกลับมายังทิศทางของรัศมีนั้น จนในที่สุดพระมหาโมคคัลานะก็กลับมาถึงอย่างปลอดภัย และได้กราบทูลเรื่องราวให้พระพุทธโคดมทรงทราบถึงสิ่งที่ท่านพบประสบมา นี่ก็เป็นอีกเรื่องราวที่บอกให้เราทราบว่า ในจักรวาลอื่นๆ นั้นยังมีโลกมนุษย์ และโลกมนุษย์นั้นก็มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นอยู่อีก

ดังนั้น คำว่า “พระพุทธเจ้า” จึงเป็นตำแหน่งบรมครูหรือพระศาสดา ผู้นำพระพุทธศาสนา ซึ่งใครๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะไขว่คว้าปรารถนาจะเป็นได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นสูง หรือคนธรรมดาสามัญชน ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ที่เป็นนักบวช หรือเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยกเว้นแต่พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาและบุคคลที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระอริยสาวกเท่านั้น ที่หมดสิทธิ์ในการเป็นพระพุทธเจ้า เนื่องจากเป็นฐานะที่กำหนดไว้ตายตัวแล้วว่าจะมุ่งเข้าสู่นิพพานในฐานะพระสาวกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งพระพุทธเจ้าก็เหมือนตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งกว่าใครสักคนจะเป็นประธานาธิบดีได้ ก็ต้องฝึกฝนเรียนรู้ศึกษามากมาย เพื่อให้ตนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถถึงพร้อม อีกทั้งต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ จนกว่าจะคว้าตำแหน่งนั้นมาครอบครองได้ ความยากในการเป็นพระพุทธเจ้าก็เปรียบได้คล้ายๆ อย่างนั้น เพียงแต่ยากยิ่งกว่า เพราะโลกของเรายังมีผู้มีสิทธิ์เป็นประธานาธิบดีได้ตั้งหลายคน เพราะมีหลายประเทศ และผลัดกันเป็นหลายยุคหลายสมัย แต่ตำแหน่งพระพุทธเจ้านั้นในโลกนี้ทั้งใบ หรือจักรวาลทั้งจักรวาล มีได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น และเมื่อได้รับตำแหน่งนี้แล้ว ก็จะครองตำแหน่งไปจนกว่าจะหมดพุทธกาล คือหมดชั่วระยะเวลาของพระศาสนาที่ทรงก่อตั้งขึ้นนั่นเอง อย่างในกัปของเราครั้งนี้ คือช่วงระยะเวลาตั้งแต่โลกของเราก่อตัวขึ้นจนกระทั่งแตกสลายไป จะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นเพียง 5 พระองค์เท่านั้น เรียกว่าเป็น “ภัทรกัป” แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แน่นอนเสมอไป บางกัปมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติเพียง 1 พระองค์บ้าง 2 พระองค์ หรือ 3 พระองค์ หรือแม้ที่สุดคือไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลยก็มี แต่จำนวนมากสุดที่จะมาตรัสรู้ก็คือ 5 พระองค์เท่านั้น ซึ่งพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมศาสดาของพระพุทธศาสนายุคปัจจุบัน เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 4 ในจำนวน 5 พระองค์ของกัปนี้ ส่วนพระพุทธเจ้าพระองค์ถัดไปมีชื่อว่าพระศรีอริยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้าอีกยาวนานนับล้านปี

พระพุทธเจ้า 2 ประเภท

โดยนัยยะที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าหมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้ธรรมด้วนตนเองโดยชอบนั้น เราสามารถแบ่งประเภทพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยตนเอง ออกเป็น 2 ประเภท หลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ (ก) พระปัจเจกพุทธเจ้า (ข) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(ก)   พระปัจเจกพุทธเจ้า หมายถึงพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองโดยไม่มีใครสอน เมื่อบรรลุแล้วท่านก็ไม่สอนใคร และไม่ตั้งพระศาสนา ไม่เป็นพระศาสดา ไม่มีลูกศิษย์ หลีกเร้นอยู่แต่ในที่สงบ แต่ทรงเป็นเนื้อนาบุญ คือเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ทำบุญด้วยแล้วแต่ท่านจะโปรด พระพุทธเจ้าประเภทนี้ไม่มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทั้ง 32 ประการ เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดา และพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ใช้เวลาสร้างบารมีเพียง 2 อสงไขย เท่านั้น   นอกจากนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าอาจบังเกิดขึ้นพร้อมกันหลายพระองค์ ในยุคสมัยเดียวกัน และอาจอยู่รวมกันในที่หลีกเร้นแห่งเดียวกัน ซึ่งเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น

(ข)   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือผู้ที่ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนสรรพสัตว์เหล่าอื่นให้รู้ธรรมตาม ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงทรงเป็นบรมครูและเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา มีพุทธบริษัท และพระสาวกผู้เรียนและรู้ธรรมตามที่พระองค์ทรงสอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมครูนี้สามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็นอีก 3 ประเภทคือ

1.      พระปัญญาธิกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่มาจากพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ พระพุทธเจ้าประเภทนี้สร้างบารมีรวมระยะเวลา 20 อสงไขย กับแสนมหากัป ถือได้ว่าใช้เวลาในการสร้างบารมีน้อยที่สุดเพื่อให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ถือได้ว่าจัดอยู่ในประเภทพระปัญญาธิกพุทธเจ้านี้

ระยะเวลาในการสร้างบารมีแบ่งเป็นคิดอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า 7 อสงไขยกัป

เปล่งวาจาว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า 9 อสงไขยกัป

ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์อื่นแล้วอีก 4 อสงไขยกับแสนกัป จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า

2.      พระศรัทธาธิกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่มาจากพระโพธิสัตว์ที่สร้างบุญบารมีโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ พระพุทธเจ้าประเภทนี้ใช้ระยะเวลาสั่งสมบุญบารมีปานกลาง คือสร้างบารมีรวมระยะเวลา 40 อสงไขย กับแสนมหากัป

ระยะเวลาในการสร้างบารมีแบ่งเป็นคิดอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า 14 อสงไขยกัป

เปล่งวาจาว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า 18 อสงไขยกัป

ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นแล้วอีก 8 อสงไขยแสนกัป จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า

3.      พระวิริยาธิกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่มาจากพระโพธิสัตว์ที่สั่งสมบุญบารมีโดยมีความวิริยะอุตสาหะเป็นตัวนำ พระพุทธเจ้าประเภทนี้ใช้เวลาสร้างบารมียาวนานที่สุดคือ 80 อสงไขย กับอีกแสนมหากัปซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป คือพระศรีอาริยเมตไตรย จะเป็นพระพุทธเจ้าที่อยู่ในประเภทพระวิริยาธิกพุทธเจ้า

ระยะเวลาในการสร้างบารมีแบ่งเป็น คิดอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า 28 อสงไขยกัป

เปล่งวาจาว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า 36 อสงไขยกัป

ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์อื่นแล้วอีก 16 อสงไขยแสนกัป จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า

ความแตกต่าง 8 ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

1. อายุเวมัตตะ คือความแตกต่างของพระชนมายุ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะมีอายุยืนบ้าง สั้นบ้าง ต่างกันไป โดยต่ำสุดประมาณ 100 ปี สูงสุดไม่เกิน 100,000 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุญบารมีและกรรมของพระพุทธเจ้าเอง ประกอบกับยุคสมัยที่พระองค์เสด็จอุบัติขึ้น ว่ามนุษย์ในยุคนั้นมีอายุยืนยาว หรืออายุสั้น ซึ่งตามปกติแล้ว มนุษย์ที่อยู่ในยุคเสื่อมจะมีอายุสั้นและมีโรคมากกว่า ในขณะที่มนุษย์ที่อยู่ในยุคเจริญจะมีอายุยืนยาว มีความเป็นอยู่ที่ประณีตกว่า และมีโรคน้อย ด้วยเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางพระองค์อายุยืน บางพระองค์อายุสั้นเช่น พระพุทธโคดม หรือพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ทรงมีอายุขัยได้ 80 ปี ในขณะที่พระองค์อื่นๆ มีอายุมากถึง หนึ่งหมื่นปีบ้าง สองหมื่นปีบ้าง อย่างเช่นพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ถัดไป จะทรงมีอายุขัยยาวนานถึง 80,000 ปี

2. ปมาณเวมัตตะ ความแตกต่างกันของความสูงพระวรกาย พระพุทธเจ้ามีความสูงน้อยสุด 2 เมตร (16 ศอก) ความสูงมากสุดประมาณ 11 เมตร (90 ศอก) คือมีรูปร่างสูงใหญ่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามยุคสมัย หากพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในยุคที่มนุษย์มีรูปร่างใหญ่โต อายุขัยยืนยาว พระองค์ก็มีรูปกายสูงใหญ่ตามยุคสมัยนั้น และมีอายุขัยยืนยาวตามเกณฑ์ของยุคสมัยนั้นเช่นกัน แต่หากทรงอุบัติขึ้นในยุคที่มนุษย์มีรูปร่างเล็ก และอายุขัยสั้น พระองค์ก็จะเป็นไปตามยุคสมัยนั้นเช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์โดยทั่วไปในยุคที่พระองค์ทรงอุบัติขึ้น ก็ยังถือว่าพระพุทธเจ้ามีความสูงมากกว่าในระดับที่ทำให้พระองค์ดูโดดเด่นในบรรดาชนทั้งหลาย

3. กุลเวมัตตะ ความแตกต่างแห่งตระกูล คือพระพุทธเจ้าจะเลือกเกิดใน 2 ตระกูลเท่านั้น คือบางพระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์ ส่วนบางพระองค์เกิดในตระกูลพราหมณ์ขึ้นอยู่กับว่า สังคมในยุคสมัยแห่งพุทธกาลนั้นจะนับถือพระมหากษัตริย์ หรือพราหมณ์ ว่าประเสริฐกว่ากัน ถ้าหากสังคมมนุษย์ในยุคนั้นๆ นับถือพระมหากษัตริย์ว่าประเสริฐกว่าชนชั้นอื่น พระบรมโพธิสัตว์ก็จะถือกำเนิดในวรรณะกษัตริย์ อย่างเช่นพระพุทธโคดม เป็นต้น แต่ถ้าสังคมมนุษย์ในยุคนั้นนับถือชนชั้นพราหมณ์ว่าประเสริฐที่สุด พระบรมโพธิสัตว์ก็จะทรงถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ชั้นสูง หรือพราหมณ์มหาศาล อย่างเช่นพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นต้น โดยแม้ในหมู่ตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์นั้น พระองค์จะเลือกเกิดในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์ที่มั่นคง มีฐานะดี และเป็นที่เคารพนับถือ จะไม่ไปเกิดในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์ที่ต่ำต้อยหรือขัดสน

4. ปธานเวมัตตะ ความแตกต่างแห่งความเพียร บางพระองค์ทำความเพียรใช้เวลานานมากน้อยต่างกันไปเพื่อตรัสรู้ธรรม จากคัมภีร์พระพุทธศาสนาพบว่า พระพุทธเจ้าที่ทำความเพียรเพื่อตรัสรู้ธรรม ใช้เวลาอย่างน้อยที่สุดคือ 7 วัน ส่วนพระพุทธเจ้าที่ใช้เวลาบำเพ็ญเพียรนานที่สุดคือ 6 ปี ยกตัวอย่างเช่นพระมังคละพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือน จึงตรัสรู้ธรรม ในขณะที่พระนารทะพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรเพียงแค่ 7 วัน จึงตรัสรู้ธรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุพกรรมที่พระพุทธเจ้าได้เคยบำเพ็ญเอาไว้ ทำให้บางพระองค์ปฏิบัติสะดวก บรรลุเร็ว แต่บางพระองค์ก็ต้องปฏิบัติอย่างยากลำบาก และบรรลุช้า แต่ไม่ว่าจะใช้เวลาทำความเพียรมากน้อยต่างกันเพียงใด เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็จะทรงมีพุทธญาณเสมอเหมือนกัน คือทรงรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

5. รัศมีเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งรัศมีของพระพุทธเจ้านั้น ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่บำเพ็ญมา ว่ามากน้อย ต่างกันเท่าไร รวมถึงบุพกรรมที่เคยสั่งสมเอาไว้ด้วย ความแตกต่างของรัศมีในที่นี้หมายถึงรัศมีตามปกติซึ่งแผ่ออกไปจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า หลังจากที่ทรงตรัสรู้ธรรมแล้ว แต่ถ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงปรารถนาจะแผ่พระรัศมีให้กว้างออกไปเป็นพิเศษก็สามารถแผ่ออกไปได้ครอบคลุมทั่วหมื่นโลกธาตุ ซึ่งพระพุทธเจ้าบางพระองค์อย่างพระมังคลพุทธเจ้า ได้เคยบำเพ็ญบุญบารมีพิเศษด้วยการจุดประทีปบูชาพระเจดีย์ ประกอบกับเคยอธิษฐานจิตให้มีรัศมีครอบคลุมหมื่นโลกธาตุ เมื่อครั้งให้บุตรเป็นทาน ด้วยความปีติ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าพระองค์นี้จึงมีพระรัศมีโดดเด่นมากเป็นพิเศษ ในขณะที่พระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ซึ่งไม่ได้ตั้งความปรารถนาเรื่องรัศมี หรือบำเพ็ญบุญที่มีอานิสงส์เป็นรัศมีเหมือนอย่างพระมังคลพุทธเจ้า ก็จะมีรัศมีหย่อนกว่าลงมา สำหรับพระรัศมีของพระพุทธเจ้าโดยปกตินั้นเรียกว่าฉัพพรรณรังสี คือมีรัศมี 6 สีด้วยกัน ได้แก่ (1) สีขาว (2) สีเหลือง (3) สีแดง (4) สีเขียว (5) สีเหลืองอ่อน (6) สีเลื่อมปภัสสร มีสีเขียว แดง ขาว และเหลืองสอดเลื่อมระคนกันอยู่

6. ยานเวมัตตะ คือยานพาหนะที่ใช้ในการออกบวช บ้างเป็นช้าง เป็นม้า เป็นรถ เป็นวอ หรือเป็นปราสาทลอยไป ซึ่งถือเป็นเกียรติสำหรับพระบรมโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุพกรรม และกำลังพระบารมี ถ้ากำลังพระบารมีและบุพกรรมถึงพร้อม ยานพาหนะที่ใช้ในการออกบวชก็จะทรงเกียรติและประเสริฐเลิศล้ำยิ่งขึ้น ทำให้มีความสะดวกสบายในการเดินทางออกบวชต่างกันไป

7. โพธิรุกขเวมัตตะ คือความแตกต่างของต้นไม้ที่ใช้เป็นที่ตรัสรู้ธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ต่างก็ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ต่างชนิดไป แต่ก็มีหลายพระองค์ที่ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ชนิดเดียวกัน ต้นไม้ใดก็ตามที่เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าอาศัยตรัสรู้ธรรม ต้นไม้นั้นจะถูกเรียกว่า “ต้นโพธิ์” ยกตัวอย่างเช่น หากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นไทร ในยุคนั้นต้นไทรจะถูกเรียกว่าเป็นต้นโพธิ์ หรือหากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นไผ่ ต้นไผ่ก็จะถูกเรียกว่าเป็นต้นโพธิ์ ซึ่งต้นโพธิ์นี้ถือว่าเป็น “สหชาติ” กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเกิดขึ้นในวันเดียวกันกับวันประสูติ และเกิดมาเพื่อรองรับการตรัสรู้ธรรมของพระบรมโพธิสัตว์โดยเฉพาะ

8. บัลลังกเวมัตตะ ความแตกต่างกันของขนาดของบัลลังก์ที่ประทับตรัสรู้ธรรม โดยปกติแล้วพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะใช้หญ้าปูรองนั่ง สำหรับปฏิบัติธรรมเพื่อการตรัสรู้ หญ้าที่ใช้รองนั่งนี่เองที่กลายเป็นบัลลังก์ที่ประทับตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งแต่ละพระองค์ก็มีบัลลังก์ที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็เพราะขนาดของพระวรกายก็แตกต่างกันด้วย บัลลังก์ที่รองรับพระวรกาย จึงมีขนาดไม่เท่ากัน

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังมีความแตกต่างในรายละเอียดอื่นๆ อยู่อีกด้วย เช่นจำนวนของพระสาวก ทรัพย์และพื้นที่ที่ใช้ในการสร้างวัดประจำพระพุทธองค์ สหชาติ (หมายถึงคน สัตว์ และสิ่งของ ที่เกิดร่วมในวันเดียวกันกับวันประสูติของพระบรมโพธิสัตว์) ระยะเวลาของพระศาสนา การมีหรือไม่มีมารผจญ การมีหรือไม่มีเสี้ยนหนามในพระศาสนา ศีลหรือสิกขาบทที่ทรงบัญญัติ ฯลฯ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้มักเกิดจากความแตกต่างของบุญบารมีและบุพกรรมที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ได้เคยสั่งสมไว้ในสมัยเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความแตกต่างบางประการของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ เฉพาะในภัทรกัป ซึ่งเป็นกัปปัจจุบันนี้ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบดังต่อไปนี้

- พระพุทธเจ้าพระองค์แรกของกัปนี้มีพระนามว่า “พระกกุสันธะพุทธเจ้า

พระองค์ประทับอยู่ในนครชื่อว่า “เขมะ” มีบิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่า “อัคคิทัตตะ” มารดาเป็นพราหมณีชื่อ “วิสาขา” มีพระอัครสาวก 2 องค์คือ “พระวิธุระ” และ “พระสัญชีวะ” มีพระอุปัฏฐากชื่อว่า “พุทธิชะ” มีพระอัครสาวิกา 2 องค์คือ “พระนางสามา” และ “พระนางจัมปา” ต้นโพธิ์อันเป็นที่ตรัสรู้ในยุคของพระองค์คือ  “ต้นสิริสะ” หรือต้นซึกใหญ่ พระวรกายขององค์มีความสูง 5 เมตร (40 ศอก) มีพระชนมายุ 40,000 ปี พระรัศมีตามปกติแผ่ออกไป160 กิโลเมตร (10 โยชน์) ใช้ชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ 4,000 ปี ทรงออกบวชด้วยรถเทียมม้า ใช้เวลาบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ธรรม 8 เดือน เมื่อตั้งพระศาสนาแล้วพระองค์ประชุมสันนิบาตพระสาวกเพียงครั้งเดียว มีพระสาวกเข้าร่วมประชุม 40,000 รูป

- พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สองของกัปนี้มีพระนามว่า “พระโกนาคมนะพุทธเจ้า”

พระองค์ประทับอยู่ในนครชื่อว่า “โสภวดี” มีบิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่า “ยัญญทัตตะ” มารดาเป็นพราหมณีชื่อ “อุตตรา” มีพระอัครสาวก 2 องค์คือ “พระภิยโยสะ” และ “อุตตระ” มีพระอุปัฏฐากชื่อว่า “โสตถิชะ” มีพระอัครสาวิกา 2 องค์คือ “พระนางสมุททา” และ “พระนางอุตตรา” ต้นโพธิ์อันเป็นที่ตรัสรู้ในยุคของพระองค์คือ “ต้นอุทุมพร” หรือต้นมะเดื่อ พระวรกายขององค์มีความสูง 3.75 เมตร (30 ศอก) มีพระชนมายุ 30,000 ปี ทรงใช้ชีวิตฆราวาส 3,000 ปี แล้วออกบวชโดยมีช้างเป็นพาหนะ ทรงบำเพ็ญเพียรนาน 6 เดือนจึงตรัสรู้ธรรม เมื่อตั้งพระศาสนาแล้ว พระองค์ประชุมสันนิบาตพระสาวกเพียงครั้งเดียว มีพระสาวกเข้าร่วมประชุม 30,000 รูป

พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สามของกัปป์นี้มีพระนามว่า “พระกัสสปะพุทธเจ้า”

พระองค์ประทับอยู่ในนครชื่อว่าพาราณสี มีบิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่า “พรหมทัตตะ” มารดาเป็นพราหมณีชื่อ “ธนวดี” มีพระอัครสาวก 2 องค์คือ “พระติสสะ” และ “พระภารทวาชะ” มีพระอุปัฏฐากชื่อว่า “สรรพมิตตะ” มีพระอัครสาวิกา 2 องค์คือ “พระนางอนุฬา” และ “พระนางอุรุเวฬา” ต้นโพธิ์อันเป็นที่ตรัสรู้ในยุคของพระองค์คือ “ต้นนิโครธ” หรือต้นไทร พระวรกายขององค์มีความสูง 2.5 เมตร (20 ศอก) มีพระชนมายุ 20,000 ปี ทรงใช้ชีวิตฆราวาส 2,000 ปี แล้วทรงออกบวชด้วยปราสาท (ปราสาททั้งหลังลอยออกไปได้) แล้วบำเพ็ญเพียร 7 วันจึงตรัสรู้ธรรม เมื่อพระองค์ตั้งศาสนาแล้ว ทรงประชุมสันนิบาตพระสาวกเพียงครั้งเดียว มีพระสาวกเข้าร่วมประชุม 20,000 รูป

- พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สี่ของกัปนี้ คือพระองค์ปัจจุบัน มีพระนามว่า “พระโคตมะพุทธเจ้า”

พระองค์ประสูติในนครชื่อว่า “กบิลพัสดุ์” มีพระบิดาเป็นกษัตริย์ชื่อว่า “พระเจ้าสุทโธทนะ” พระมารดาเป็นกษัตริย์ชื่อว่า “พระนางมายา” มีพระอัครสาวก 2 องค์คือ “พระโกลิตะ” (พระสารีบุตร) และ “พระอุปติสสะ” (พระมหาโมคคัลลานะ) มีพระอุปัฏฐากชื่อว่า “อานันทะ” (พระอานนท์) มีพระอัครสาวิกา 2 องค์คือ “พระนางเขมา” และ “พระนางอุบลวรรณา” ต้นโพธิ์อันเป็นที่ตรัสรู้ในยุคของพระองค์คือ “ต้นอัสสัตถพฤกษ์” พระวรกายขององค์มีความสูง 2 เมตร (16 ศอก) มีพระชนมายุ 80ปี (อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ในยุคของพระองค์คือ 100 ปี) ทรงใช้ชีวิตฆราวาส 29 ปี แล้วออกบวชโดยมีม้าเป็นพาหนะ ทรงบำเพ็ญเพียรนาน 6 ปี จึงตรัสรู้ธรรม เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้วรัศมีตามปกติของพระองค์แผ่ออกไป 2 เมตร (1 วา) ครั้นตั้งศาสนาแล้วพระองค์ประชุมสันนิบาตพระสาวกเพียงครั้งเดียว มีพระสาวกเข้าร่วมประชุม 1,250 รูป

- พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ห้า (องค์ถัดไป) ซึ่งเป็นพระองค์สุดท้ายของภัทรกัปนี้มีพระนามว่า “พระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้า”

พระองค์ประทับอยู่ในนครชื่อว่าเขมะ มีบิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่า “อัคคิทัตตะ” มารดาชื่อ “วิสาขา” มีพระอัครสาวก 2 องค์คือ “พระวิธุระ” และ “พระสัญชีวะ” มีพระอุปัฏฐากชื่อว่า “พุทธิชะ” มีพระอัครสาวิกา 2 องค์คือ “พระนางสามา” และ “พระนางจัมปา” ต้นโพธิ์อันเป็นที่ตรัสรู้ในยุคของพระองค์คือต้นกากะทิง พระวรกายขององค์มีความสูง 11 เมตร (88 ศอก) มีพระชนมายุ 80,000 ปี มีพระรัศมีแผ่ออกไปไกล 400 กิโลเมตร (25 โยชน์) พระองค์ประชุมสันนิบาตพระสาวกเพียงครั้งเดียว มีพระสาวกเข้าร่วมประชุม 40,000 รูป

เมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว และหมดสิ้นศาสนาของพระองค์แล้ว ในกาลต่อมาจะเกิดไฟประลัยล้างโลกเป็นระยะเวลาช้านานจนแตกสลายไปเป็นเวลาอีกนานแสนนานโลกจึงจะก่อตัวเป็นแผ่นดินขึ้นมาใหม่ เรียกว่า “สุญกัป"  เพราะจะไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้เลย เป็นระยะเวลาอสงไขยแผ่นดิน เมื่อโลกของยุคสุญกัปสูญสลายแตกทำลายลง โลกจะก่อตัวเป็นแผ่นดินขึ้นใหม่อีกครั้ง มีชื่อว่า “มัณฑกัป" จะเป็นช่วงเวลาที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า มาตรัสรู้ คือพระรามะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระชนมายุ 90,000 ปี พระวรกายสูง 11 เมตร (80 ศอก) ต่อจากนั้นจึงเป็นพระธรรมราชาสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระชนม์ 50,000 ปี พระวรกายสูง 2 เมตร (16 ศอก) และลำดับถัดไปคือพระธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระชนม์ 100,000 ปี พระวรกายสูง 10 เมตร (80 ศอก) เป็นต้น และยังจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ อีก เรียงตามลำดับ รอคอยการตรัสรู้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกอย่างน้อย 7 พระองค์ ในช่วงกัปต่างๆ ถัดออกไป คือ พระนารทะสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระรังสีมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระเทวเทพสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระนรสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้า, และพระสุมังคลสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

ความเสมอเหมือนกันในหมู่พระพุทธเจ้า

ผู้เขียนได้กล่าวถึงความแตกต่างบางประการในหมู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันแล้วว่ามีอะไรบ้าง ต่อจากนี้จะกล่าวถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงมีเหมือนกัน ซึ่งประการที่สำคัญที่สุดก็คือ ทรงมีพุทธญาณ คือความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมเสมอเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เอง หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอริยสัจ 4 (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค), ไตรลักษณ์ (อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา), ปฏิจสมุปบาท, ไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา) ฯลฯ ทั้งนี้เพราะพระธรรมคำสั่งสอนนั้นไม่ได้เกิดจากการคิดไตร่ตรองเหมือนอย่างนักปรัชญาทั้งหลาย แต่ทรงทราบพระธรรมจากพุทธญาณ เปรียบเสมือนบุรุษผู้มีกุญแจไขประตูเข้าไปสู่ห้องสมุดภายใน ซึ่งห้องสมุดนั้น ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งอยู่ โดยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงมีกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ห้องสมุดเดียวกันนั้น ความรู้ที่พระองค์ได้มาจากห้องสมุด จึงเป็นองค์ความรู้เดียวกัน และกุญแจที่แต่ละพระองค์ได้มานั้น ก็คือพุทธญาณที่ใช้ปลดล็อคประตูห้องสมุดนั่นเอง ซึ่งห้องสมุดนี้ก็ยังมีห้องที่มีประตูย่อย ล็อคเอาไว้อยู่อีกมากมาย โดยที่กุญแจของพระพุทธเจ้านั้นเป็นกุญแจที่สามารถไขได้ทุกบานประตู ส่วนพระสาวกของพระองค์ที่ได้บรรลุญาณจากการทำสมาธิเช่นกัน ก็เปรียบเสมือนได้กุญแจที่สามารถไขได้เพียงบางประตูเท่านั้น เนื่องจากกำลังแห่งญาณของท่าน ไม่เท่ากันกับของพระพุทธเจ้า หรือหากเปรียบเทียบพุทธญาณของพระพุทธเจ้ากับไฟฉาย ก็เทียบได้กับไฟฉายสปอตไลท์ที่มีกำลังสูง สามารถส่องมองเห็นในที่มืดได้ไกล เมื่อเห็นแล้วก็ทราบได้ว่า อะไรเป็นอะไรในที่นั้น เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา ในขณะที่ไฟฉายของพระสาวกมีกำลังอ่อนกว่า ส่องไปได้เพียงแค่ระยะทางใกล้ๆ เมื่อสว่างไม่มาก ก็เห็นได้ไม่มาก เมื่อเห็นได้ไม่มาก ก็เกิดความรู้และความเข้าใจน้อยกว่าพระพุทธเจ้า เป็นต้น

นอกจากเรื่องของพุทธญาณอันส่งผลถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งโดยหลักๆ นั้นเหมือนกันแล้ว พระพุทธเจ้ายังมี “พุทธประเพณี” 30 ประการ คือข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงกระทำเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพระปัญญาธิกพุทธเจ้า พระศรัทธาธิกพุทธเจ้า หรือพระวิริยธิกพุทธเจ้าก็ตาม ทุกพระองค์จะมีสิ่งที่เหมือนกันดังต่อไปนี้

1.  ในพระชาติสุดท้าย พระโพธิสัตว์มีสัมปชัญญะรู้ตัวปฏิสนธิลงสู่และอยู่ในครรภ์ของพระมารดา

2.  พระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิในพระครรภ์ของพระมารดาหันหน้าออกไปทิศทางเดียวกับพระมารดา

3.  ในยามคลอดพระโพธิสัตว์ พระมารดาจะประทับยืนให้ประสูติ

4.  พระโพธิสัตว์ออกจากพระครรภ์ของพระมารดาในป่าเท่านั้น

5.  เมื่อประสูติแล้วพระบรมโพธิสัตว์วางพระบาทลงบนแผ่นทอง   หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ   ย่างพระบาท 7 ก้าว   แลดูทั้ง 4  ทิศแล้วเปล่งสีหนาทด้วยการกล่าวอาสภิวาจา

6.  เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจริญวัยขึ้น ทรงเห็นเทวทูตทั้ง 4 ได้แก่คนแก่ คนเจ็บป่วย คนตาย และสมณะ ทรงได้คิดแล้วออกบวช

7.  พระบรมโพธิสัตว์ทรงออกบวชแล้วทรงบำเพ็ญเพียรอย่างน้อยสุด 7 วันจึงตรัสรู้ธรรม

8.  ในวันที่จะตรัสรู้ธรรม ทรงเสวยข้าวมธุปายาส

9.   พระโพธิสัตว์ประทับนั่งบนที่นั่งที่ทำจากหญ้าสันถัตแล้วตรัสรู้ธรรมใต้ต้นโพธิ์

10. ทรงบริกรรมอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน

11. ทรงกำจัดกองกำลังของมารที่มาผจญ

12. ณ ใต้ต้นโพธิ์ ทรงบรรลุอสาธารณะญาณ  ตั้งแต่วิชชา 3  เป็นต้นไปเป็นอาทิ

13.  ทรงยับยั้งใกล้ต้นโพธิ์ 7  สัปดาห์เพื่อพิจารณาธรรม

14.  จากนั้นท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงแสดงธรรม

15.  ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ  ป่าอิสิปตนะมิคทายวัน

16.  ในวันมาฆบูรณมี     ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมสันนิบาตพระสาวก

17.  ประทับอยู่ประจำ  ณ  ที่พระวิหารเชตวัน

18.   ทรงทำยมกปาฏิหาริย์  ณ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี

19.   ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

20.   แสดงพระอภิธรรมแล้วเสด็จลงจากเทวโลกใกล้ประตูสังกัสนคร

21.   ทรงเข้าผลสมาบัติต่อเนื่องกัน

22.   ทรงตรวจดูเวไนยชน 2 วาระ

23.   เมื่อเรื่องเกิดขึ้น   จึงทรงบัญญัติสิกขาบท

24.   เมื่อเหตุต้นเรื่องเกิดขึ้น  จึงตรัสชาดก

25.   ตรัสพุทธวงศ์ในสมาคมพระประยูรญาติ

26.  ทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะ

27.  พวกภิกษุจำพรรษาแล้วถูกนิมนต์  ไม่ทูลบอกลาก่อน  ไปไม่ได้

28.   ทรงทำพุทธกิจ (หน้าที่ของพระพุทธเจ้า) 5 เวลา ทุกๆ วัน

29.  เสวยรสมังสะ (เนื้อสัตว์)  ในวันปรินิพพาน

30.   ทรงเข้าสมาบัติยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน

นอกจากพุทธประเพณีทั้ง 30 ประการแล้ว พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ยังมีความปลอดภัย 4 ประการ ที่เรียกว่า “อนันตรายิกธรรม” ได้แก่

1.  ไม่มีใครสามารถทำลายสิ่งที่มีผู้นำมาถวายพระพุทธเจ้าได้

2.  ไม่มีใครสามารถปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าได้

3.  ไม่มีใครสามารถทำลายลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการและอนุพยัญชนะ 80 ประการของพระพุทธเจ้าได้

4. ไม่มีใครทำลายรัศมีของพระพุทธเจ้าได้

หลายๆ ท่านคงสงสัยว่า พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ล้วนอุบัติขึ้นในระยะเวลาที่ห่างกันนานแสนนาน แล้วเพราะเหตุใด พระองค์จึงทำอะไรเหมือนๆ กันเช่นนี้ได้ หากจะอธิบายเรื่องนี้ ก็ต้องขอหยิบยกเรื่องพุทธญาณขึ้นมาแสดงว่า พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ก็ทรงตรวจตราดูด้วยพุทธญาณว่าสิ่งใดสมควรทำ สิ่งใดไม่สมควรทำ และพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ มีข้อปฏิบัติอย่างไร ก็จะทรงยึดถือตามแบบแผนแห่งพุทธประเพณีนั้น นอกจากนี้ ในบางเรื่องก็เป็นเหมือนหน้าที่ประจำที่พระพุทธเจ้าจะต้องกระทำ คล้ายๆ กับตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะเปลี่ยนคน เปลี่ยนยุคสมัย แต่ประธานาธิบดีก็ยังคงทำอะไรคล้ายๆ กัน เช่น ทำพิธีสาบานตน ทำการแถลงการณ์ต่อรัฐสภา ทำหน้าที่เจรจากับผู้นำประเทศอื่นๆ เป็นตัวแทนของประเทศในการเข้าร่วมประชุมนานาชาติ เป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ทำงานในทำเนียบเดียวกันกับประธานาธิบดีคนก่อนๆ ฯลฯ ซึ่งประธานาธิบดีคีนใหม่ก็จะต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ประธานาธิบดีคนก่อนๆ เคยทำเอาไว้ แม้กิจวัตรกิจกรรมจะไม่เหมือนกันทั้งหมดในรายละเอียดก็ตาม แต่ก็จะยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องรักษา เช่นเดียวกันกับในกรณีของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็เรียนรู้จากพุทธญาณว่า พระพุทธเจ้ามีปกติจะต้องทำอย่างไรบ้าง

พุทธลักษณะของพระพุทธเจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์มีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายกันหมด คือถึงพร้อมด้วยลักษณะมหาบุรุษทั้ง 32 ประการ และอนุพยัญชนะ 80 ประการ ราวกับว่าเป็นพระพุทธรูปที่ออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน แตกต่างกันที่ขนาดของพระวรกายและพระรัศมี โดยที่พระพุทธเจ้าจะถือกำเนิดเป็นชายเท่านั้น ไม่มีพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้หญิงเลย (จะเป็นผู้หญิงในขณะที่เป็นอนิยตโพธิสัตว์เท่านั้น) ส่วนพุทธญาณคือความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมของพระพุทธเจ้านั้นทรงมีเสมอเหมือนกัน ไม่ว่าพระบารมีจะมากน้อยต่างกันเท่าใด

ลักษณะมหาบุรุษของพระพุทธเจ้านั้นย่อมหมายถึง ลักษณะอันยอดเยี่ยมของผู้ที่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งมีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่เกิดมาพร้อมด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ส่วนบุคคลอื่นๆ อาจจะมีบ้างเป็นบางข้อ แต่ไม่ครบทั้งหมด หรือบางท่านก็ไม่มีเลย ลักษณะมหาบุรุษเหล่านี้เป็นลักษณะที่ทำให้พระพุทธเจ้าแลดูเป็นบุรุษผู้สง่างามอย่างยอดเยี่ยม จึงเรียกว่าลักษณะมหาบุรุษ ใครก็ตามที่พบเห็นพระองค์ย่อมทราบได้ทันทีว่าเป็นผู้ที่แตกต่างจากคนทั่วไป และเรื่องราวของลักษณะมหาบุรุษนี้ ก็มีอยู่ในตำราของศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสียอีก ถึงขนาดที่ว่าเมื่อ ดาบสอสิตะ ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชนทั้งหลายและแม้แต่พระราชาคือพระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อได้เห็นลักษณะมหาบุรุษดังกล่าวของเจ้าชายสิทธัตถะพระองค์น้อยแล้ว ก็ทราบได้ทันทีว่าบุคคลผู้นี้ถ้าออกบวชก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ถ้าใช้ชีวิตทางโลกก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ โดยเรื่องราวของลักษณะมหาบุรุษนี้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน และเมื่อศิลปินในชนชาติต่างๆ ที่รับเอาพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติและนับถือได้อ่านพบก็พยายามจะถ่ายทอดออกมาในงานภาพวาดและรูปปั้น รูปหล่อโลหะ หรือรูปแกะสลักต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยวัสดุอย่างเช่นไม้ หรือหิน ตามแต่จะจินตนาการต่างๆ กันไปอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่โดยดั้งเดิมแล้วก็คือลักษณะทั้ง 32 ประการ ซึ่งมีเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น โดยลักษณะดังกล่าวพร้อมทั้งกุศลกรรมที่ดลบันดาลให้เกิดลักษณะมหาบุรุษแต่ละประการมีดังต่อไปนี้

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 1

ในชาติก่อน ภพก่อน พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีสมาทานมั่นในกุศลธรรม มีสมาทานไม่ถอยหลังในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติดีในมารดาในการปฏิบัติดีในบิดา ในการปฏิบัติดีในสมณะ ในการปฏิบัติดีในพรหม ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุลและในธรรม เป็นอธิกุศลอื่นๆ กรรมเหล่านี้ดลบันดาลให้ได้ลักษณะมหาบุรุษคือ มีพระบาทตั้งอยู่เฉพาะเป็นอันดี คือเหยียบพระบาทเสมอกันบนพื้น ทรงยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน ทรงจดภาคพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 2

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ได้เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่ชนเป็นอันมาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดเสียว จัดความรักษาปกครองป้องกันโดยธรรม และบำเพ็ญทาน พร้อมด้วยวัตถุอันเป็นบริวาร มาถึงความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษคือ ในฝ่าพระบาททั้ง 2 มีลวดลายจักรเกิดขึ้น มีซี่กำพันหนึ่ง มีกงมีดุมบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง มีระหว่างอันกุศลกรรมแบ่งเป็นอันดี

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 3, 4, 5

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ละปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว วางท่อนไม้และอาวุธแล้ว มีความละอาย มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมได้ลักษณะมหาบุรุษ 3 ประการคือ ส้นพระบาทยาว, มีนิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาทยาว, และมีพระกายตรงดุจกายแห่งพรหม

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 6

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย และให้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษคือ มีมังสะอวบอูม (เนื้อเต็มบริบูรณ์) ในที่ 7 สถาน คือที่หลังพระหัตถ์ทั้ง 2 ที่หลังพระบาททั้ง 2 ที่บนพระอังสาทั้ง 2 ที่ลำพระศอก็มีมังสะอูม

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 7, 8

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ 4 คือการให้ การกล่าวคำเป็นที่รัก การประพฤติให้เป็นประโยชน์ และความเป็นผู้มีตนเสมอ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษทั้ง 2 นี้คือ พระหัตถ์และพระบาทมีพื้นอ่อนนุ่ม และมีพระหัตถ์และพระบาทมีลายดังร่างข่าย

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 9, 10

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม แนะนำประชาชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมเป็นปรกติ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการนี้คือ มีพระบาทดุจสังข์คว่ำ และมีพระโลมชาติล้วนมีปลายช้อนขึ้นข้างบนทุกๆเส้น

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 11

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ วิชชา จรณะ [ข้อที่ควรประพฤติ] หรือเรื่องกรรม [ปัญญาเป็นเครื่องรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน] ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชนทั้งหลายนี้พึงรู้เร็ว พึงสำเร็จเร็ว ไม่พึงลำบากนาน ความเป็นอย่างนี้ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษนี้คือ มีพระชงฆ์เรียวดังแข้งแห่งเนื้อทราย

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 12

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วซักถามว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ กรรมส่วนกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนอกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่ไม่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมที่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมที่ไม่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมอะไรข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน อนึ่ง กรรมอะไรข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์เพื่อสุขตลอดกาลนาน ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษนี้คือ มีพระฉวีสุขุมละเอียด และเพราะพระฉวีสุขุมและละเอียด จึงทำให้ธุลีละอองไม่อาจติดพระวรกายได้

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 13

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธความเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้าสำหรับนุ่งห่มคือผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษนี้คือ มีวรรณะดังทองคำ มีผิวหนังคล้ายทองคำ

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 14

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหายผู้มีใจดีที่สูญหายพลัดพรากไปนาน ให้กลับมาพบกัน นำมารดากับบุตรให้พบกัน นำบุตรกับมารดาให้พบกัน นำบิดากับบุตรให้พบกัน นำบุตรกับบิดาให้พบกัน นำบิดากับพี่น้องให้พบกัน นำพี่ชายกับน้องสาวให้พบกัน นำน้องสาวกับพี่ชายให้พบกัน ครั้นทำเขาให้พร้อมเพรียงกันแล้วก็ชื่นชม ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษนี้คือมีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 15, 16

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน รู้จักเอง รู้จักบุรุษ รู้จักบุรุษพิเศษ หยั่งทราบว่าบุคคลนี้ควรแก่สักการะนี้ บุคคลนี้ควรแก่สักการะนี้ ดังนี้แล้วทำกิจเป็นประโยชน์อันพิเศษในบุคคลนั้นๆ ในกาลก่อนๆ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการนี้คือมีพระกายเป็นปริมณฑลดังว่านิโครธพฤกษ์ 1 เมื่อทรงยืนอยู่ไม่ต้องทรงน้อมพระกายลงย่อมลูบคลำพระชานุทั้ง 2 ด้วยฝ่ายพระหัตถ์ทั้ง 2 ได้

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 17, 18, 19

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุกหวังความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ด้วยมนสิการว่าทำไฉนชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญด้วยศีล เจริญด้วยสุตะ เจริญด้วยพุทธิ เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยธรรม เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยทรัพย์ และข้าวเปลือก เจริญด้วยนา และสวน เจริญด้วยสัตว์สองเท้า และสัตว์สี่เท้า เจริญด้วยบุตรและภรรยา เจริญด้วยทาสและกรรมกร เจริญด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 3 ประการนี้ คือมีส่วนพระกายข้างหน้าดังว่ากึ่งกายข้างหน้าแห่งราชสีห์, มีระหว่างพระปฤษฎางค์เต็มดี, และมีลำพระศอกลมเสมอกัน

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 20

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือศัสตรา ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษนี้คือ มีเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันเลิศ กล่าวคือ พระมหาบุรุษนั้นมีเส้นประสาทมีปลายในเบื้องบนประชุมอยู่ที่ลำพระศอ สำหรับนำรสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ำเสมอทั่วพระกาย

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 21, 22

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อนตาดู ไม่ชำเลืองตาดู [พหุชนด้วยอำนาจความโกรธ] เป็นผู้มีใจตรง เป็นปรกติแลดูตรงๆ และแลดูพหุชนด้วยปิยจักษุ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการเหล่านี้คือมีพระเนตรสีดำสนิท และมีดวงพระเนตรดังว่าตาแห่งโค

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 23

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เป็นหัวหน้าของพหุชนในธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล เป็นประธานของพหุชนด้วยกายสุจริต ด้วยวจีสุจริต ด้วยมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในความปฏิบัติดีในมารดา ในความปฏิบัติดีในบิดา ในความปฏิบัติดีในสมณะ ในความปฏิบัติดีในพราหมณ์ ในความเคารพต่อเชฏฐชน ในสกุล และในธรรม เป็นอธิกุศลอื่นๆ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษนี้คือมีพระเศียรได้ปริมณฑลดุจดังว่าประดับด้วยอุณหิส (มงกุฎ/กรอบหน้า)

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 24, 25

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ไม่พูดลวงโลก ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการเหล่านี้คือ มีโลมชาติขุมละเส้นๆ และมีอุณาโลมในระหว่างคิ้วมีสีขาวอ่อนเหมือนปุยฝ้าย

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 26, 27

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ละคำส่อเสียดเว้นขาดจากคำส่อเสียดฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการเหล่านี้คือมีพระทนต์ 40 ซี่และมีพระทนต์ไม่ห่าง

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 28, 29

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง เป็นคำที่คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 2 ประการเหล่านี้คือมีพระชิวหาใหญ่ และมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม เมื่อตรัสมีกระแสเหมือนเสียงนกการะเวก

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 30

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนดประกอบประโยชน์โดยกาลอันควร ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษคือมีพระหนุดังว่าคางราชสีห์

ลักษณะมหาบุรุษลำดับที่ 31, 32

พระโพธิสัตว์เคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด และการโกงด้วยการรับสินบน การหลอกลวงและตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก ย่อมได้เฉพาะซึ่งลักษณะมหาบุรุษ 2 เหล่านี้คือมีพระทนต์เสมอกันและมีพระทาฐะ (เขี้ยว) สีขาวงาม

 

นอกเหนือจากลักษณะมหาบุรุษหลักๆ ทั้ง 32 ประการแล้ว พระวรกายแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีลักษณะปลีกย่อย (อนุพยัญชนะ) อีก 80 ประการดังต่อไปนี้

 

1.  มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม

2.  นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย

3. นิ้วพระหัตถ์แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี

4. พระนขาทั้ง 20 มีสีอันแดง (พระนขาคือเล็บ)

5. พระนขาทั้ง 20 นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง

6. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้เป็นริ้วรอย

7. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก

8. พระบาททั้งสองใหญ่เสมอกัน

9. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ

10. พระดำเนินงามดุจราชสีห์

11. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์

12. พระดำเนินงามดุจอสุภราชดำเนิน

13. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน

14. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นพระอัฏฐิ (กระดูก) สะบ้าปรากฏออกมาภายนอก

15. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้กิริยามารยาทคล้ายสตรี

16. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง (พระนาภีคือสะดือ)

17. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก (พระอุทร = ท้อง)

18. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏ

19. ลำพระเพลาทั้งสองงามดุจลำสุวรรณกัททลี (พระเพลา คือหน้าตัก, ขา สุวรรณกัททลี คือลำต้นกล้วยสีทอง)

20. งวงแห่งเอราวัณเทพหัตถี (เอราวัณเทพยหัตถี คือช้าง 33 เศียร เป็นพาหนะของพระอินทร์)

21. พระอังคาพยพทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คืองามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้ (พระอังคาพยพหรือ องคาพยพ คือส่วนน้อยใหญ่แห่งร่างกาย,อวัยวะน้อยใหญ่)

22. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีระแห่งกาย

23. พระมังสะมิได้ย่นในที่ใดที่หนึ่ง

24. พระสรีระแห่งกายทั้งปวงปราศจากต่อม, ไฝ, ปาน, และมูลแมลงวัน

25. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง

26. พระกายงามบริสุทธิ์สิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง

27. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ (โกฏิ คือสิบล้าน)

28. มีพระนาสิกอันสูง (พระนาสิก คือจมูก)

29. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม

30. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก (พระโอษฐ์คือปาก, ริมฝีปาก)

31. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน

32. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์

33. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย

34. พระอินทรีย์ทั้ง 5 มีจักขุนทรีย์ เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น(พระอินทรีย์ = ร่างกายและจิตใจ)

35. พระเขี้ยวทั้ง 4 กลมบริบูรณ์

36. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานขาวสวย

37. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน (พระปรางค์ คือแก้ม)

40. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง ไม่ค้อมคด

41. สายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง

42. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ

43.กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์

44. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน

45. ดวงเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง 5 มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น

46. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด

47. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม

48. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง มีพรรณอันแดงเข้ม

49. พระกรรณทั้งสองมีสันฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ (พระกรรณ คือหู)

50. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม

51. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง

52. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่อมิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง

53. พระเศียรมีสัณฐานอันงาม

54. ปริมณฑลพระนลาฏ (หน้าผาก) โดยกว้างยาวพอสมกัน

55. พระนลาฏมีสันฐานอันงาม

56. พระขนงมีสันฐานอันงามดุจกันธนูอันก่งไว้

57. พระโลมาที่พระขนงมีเส้นอันละเอียด

58. เส้นพระโลมาที่พระขนงงอกขึ้นแล้วราบไปโดยลำดับ

59. พระโขนงนั้นใหญ่

60. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร

61. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระวรกาย

62. พระสรีระแห่งกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ

63. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ

67. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น

68. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย

69. ลมอัสสะปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด

70. พระโอษฐมีสันฐานอันงามดุจแย้ม

71. กลิ่นพระโอษฐ์หอมดุจกลิ่นอุบล (อุบล คือดอกบัว,บัว)

72. พระเกสาดำเป็นแสง (พระเกสา คือผม)

73. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ

74. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุปผชาติ

75. พระเกสามีสันฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น

76. พระเกสาดำสนิททุกเส้น

77. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด

78. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง

79. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏทุกๆ เส้น

80. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ (พระเกตุมาลา คือรัศมีซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า)

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่า ลักษณะมหาบุรุษแต่ละประการนั้น เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำความดีต่างๆ อย่างเช่นว่า การดำเนินชีพด้วยสัมมาอาชีวะนั้น จะเกี่ยวข้องอย่างไรกับการมีพระทนต์ (ฟัน) เสมอกัน หรือมีพระทาฐะ (เขี้ยว) สีขาวงาม ก่อนที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปทบทวนความเชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรมคือบุญ-บาป ในพระพุทธศาสนาเสียก่อน กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตต่างๆ เมื่อทำกรรมอะไรแล้ว ย่อมได้รับพลังบุญ-พลังบาป ซึ่งเป็นประดุจพลังที่หล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ทุกอนุวินาที โดยพลังบุญ-พลังบาปนี้ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในทำนองเดียวกันกับกระแสไฟฟ้าในร่างกายมนุษย์ซึ่งมีอยู่ แต่ยากที่จะรู้ตัวและสังเกตเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่เป็นกุศล จะก่อให้เกิดพลังบุญ ซึ่งเป็นพลังที่ดี เข้ามาสถิต หรือ “ชาร์จ” อยู่ในตัวเรา ในขณะที่ ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่เป็นอกุศล จะก่อให้เกิดพลังบาป หรือพลังที่ไม่ดี เข้ามาเก็บไว้ในตัวเรา และพลังเหล่านี้เองที่ทำงานร่วมกันกับระบบกลไกของกฎแห่งกรรมที่ควบคุมสรรพสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏเอาไว้ โดย “กรรม” ส่วนหนึ่งจะส่งผลในปัจจุบัน และอีกส่วนหนึ่งจะส่งผลในอนาคต อย่างที่ชาวพุทธเชื่อว่า “เราทำกรรมใดไว้ เราก็ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น” และเรา “มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์” ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตของเราในปัจจุบันไม่ได้เป็นอยู่เพียงเพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยส่งผลอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังอีก นั่นก็คือพลังบุญ-พลังบาป และกรรมในอดีต ซึ่งเป็นตัวกำกับชีวิตของเรา ตั้งแต่หยั่งลงสู่ครรภ์มารดา นับตั้งแต่ระดับ “พันธุกรรม” หรือละเอียดอ่อนยิ่งไปกว่านั้น นี้จึงทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมพี่น้องที่เกิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน คนหนึ่งหน้าตาดี แต่อีกคนหนึ่งหน้าตาไม่ดี หรือคนหนึ่งเกิดมาพิการ แต่อีกคนหนึ่งไม่พิการ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพลังบุญ และพลังบาป ที่ทำงานสัมพันธ์กับระบบกลไกของกฎแห่งกรรมนั้น อยู่เบื้องหลังการออกแบบและกำหนดชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทั้งรูปร่าง หน้าตา น้ำเสียง สติปัญญา ความสามารถ ความร่ำรวย ความสำเร็จ และอื่นๆ นับตั้งแต่ปฏิสนธิ หยั่งลงสู่ครรภ์ จนกระทั่งออกจากครรภ์ เติบโต และตายจากไป นี้จึงเป็นการอธิบายที่มาของลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ และลักษณะปลีกย่อยอีก 80 ประการ ของพระพุทธเจ้า ว่าเกิดจากการทำงานของพลังบุญที่เกิดขึ้นจากการทำกรรมดี มาเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่งพลังบุญนั้นเต็มเปี่ยม ส่งผลถึงการออกแบบพันธุกรรม นับตั้งแต่เป็นเชื้อเล็กๆ ที่ผสมแล้วอยู่ในครรภ์มารดา ทำให้พระวรกายของพระพุทธเจ้าก่อเกิดเป็นรูปกายที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ทุกสัดส่วน และเป็นบุคคลที่เป็นเลิศในทุกๆ ด้านนั่นเอง

 

พุทธกิจของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คนทั่วไปอาจมองว่า ตำแหน่งพระพุทธเจ้านั้น เป็นตำแหน่งที่ทำให้มีความสุขและสะดวกสบาย เพราะเป็นที่เคารพกราบไหว้ ยกย่องนับถือของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นผู้นำศาสนาที่อุดมไปด้วยคำสอนที่เปี่ยมไปด้วยปัญญา เป็นที่ประทับใจของคนที่มีปัญญา แม้แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก ยังกล่าวว่าหากเขาจะเป็นผู้นับถือศาสนา เขาจะเลือกพระพุทธศาสนา แต่ในความเป็นจริง การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครๆ คิด แม้ว่าจะเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ที่มีทั้งปัญญานุภาพ และฤทธิ์เดชอานุภาพ ทั้งนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม พระองค์ยังต้องทรงแก่ชรา อาพาธเจ็บป่วย และตายหรือดับขันธปรินิพพานเช่นกัน อย่างไรก็ดี จากที่เราทราบแล้วว่าพระองค์ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างน้อย 20 อสงไขยกับอีกแสนมหากัป เพื่อบรรลุฐานะแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า อย่างในกรณีของพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อบรรลุแล้ว พระองค์กลับมีเวลาในการทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าอยู่เพียงแค่ 45 พรรษาเท่านั้น (พระพุทธเจ้าออกผนวชเมื่ออายุ 29 บรรลุธรรมเมื่ออายุ 35 ปรินิพพานเมื่ออายุ 80) เมื่อพระองค์มีเวลาอย่างจำกัดเช่นนั้น จึงต้องทรงบำเพ็ญพุทธกิจด้วยความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี่เพื่อแข่งกับเวลาที่มีอยู่เพียงน้อยนิด แม้ว่าจะต้องอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บบางประการ รวมถึงความวุ่นวายขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ้างในหมู่สงฆ์ และพุทธบริษัท โดยพุทธกิจ หรือกิจวัตรที่พระองค์ทรงบำเพ็ญในแต่ละวันมีดังต่อไปนี้

1.      เช้ามืด ตรวจดูเวไนยสัตว์ สายบิณฑบาต

พระพุทธองค์ทรงตื่นบรรทม บำเพ็ญกิจธุระส่วนพระองค์แล้ว จากนั้นทรงปฏิบัติธรรมเพื่อสอดข่ายพระญาณตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้ควรโปรดในแต่ละวันเมื่อถึงรุ่งเช้าจึงทรงออกบิณฑบาต หรือออกโปรดผู้ที่พบในข่ายพระญาณแต่ในกรณีที่ทรงรับกิจนิมนต์ก็จะเดินทางไปยังสถานที่ที่ทรงรับนิมนต์เอาไว้แทน

สำหรับการตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้ที่ควรโปรดนั้น พระองค์ทรงอาศัยอำนาจแห่งพุทธญาณ คือความรู้อันเกิดจากสมาธิ ทำให้ทรงทราบว่า ในวันนั้นๆ ใครคือบุคคลที่พระองค์ควรจะไปสอน ในที่นี้หมายถึง บุคคลผู้มีความพร้อมที่จะบรรลุธรรม หรือได้สำเร็จประโยชน์จากการสอนของพระองค์ในแต่ละวัน การตรวจดูด้วยข่ายพระญาณนี้ ไม่ใช่การนั่งคิดค้นด้นเดาหรือนึกคิดเอาว่า วันนี้ควรจะไปหาใคร ไปสอนใคร แต่ผู้ที่ควรไปสอนนั้นจะปรากฎให้เห็นในขณะที่พระองค์เจริญสมาธิจิต ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยรู้จักมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ สำหรับบางท่าน ก็เป็นฝ่ายเดินทางมาหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง บางท่านนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จไปหา ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของพระยสกุลบุตร (พระยสะ) ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเสด็จไปคอยอยู่ในบริเวณที่ยสกุลบุตรจะเดินผ่านไป เพราะพระองค์ทรงทราบล่วงหน้าว่ายสกุลบุตรจะเดินไปทางทิศนั้นในวันนั้นด้วยความกระวนกระวายใจ หากพระองค์ไปรออยู่ระหว่างทาง ก็จะเป็นโอกาสให้ได้พบ และแสดงธรรม เพื่อให้พระยสบรรลุธรรม

หากจะเปรียบเทียบการสอดข่ายพระญาณตรวจดูบุคคลผู้ที่ควรโปรดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน จะพบว่า ก็คล้ายๆ กับการที่เราต้องการไปติดต่อกิจธุระ กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือหน่วยงานราชการ และเราก็ทำการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเสียก่อน ว่าบุคคลผู้นั้น มีชื่อว่าอะไร ตำแหน่งหน้าที่อะไร อยู่แผนกไหน มีที่อยู่และข้อมูลในการติดต่อว่าอย่างไรบ้าง และดูแผนที่ในการเดินทางไปพบอีกด้วย เมื่อเราได้ข้อมูลแล้ว ก็ทำให้เราสามารถไปติดต่องานได้อย่างไม่พลาดเป้าหมาย คือบรรลุผลในงานนั้นๆ โดยราบรื่นนั่นเอง เพียงแต่การหาข้อมูลของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ไม่ได้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเลต หรือระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตใดๆ แต่พระองค์ทรงใช้จิตของพระองค์ซึ่งมีอานุภาพมาก ในการหยั่งรู้ และทราบถึงข้อมูลต่างๆ ด้วยการทำสมาธินั่นเอง

2.      บ่าย... สอนภิกษุ

โดยปกติแล้ว ในช่วงเวลาหลังเที่ยง จะเป็นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงอุทิศให้กับการสั่งสอนพระสงฆ์สาวก โดยการเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เฝ้า และทูลถามปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับธรรมะต่างๆ และพระองค์ยังทรงประทานโอวาท ข้อชี้แนะ รวมทั้งตรัสสอนหัวข้อธรรมต่างๆ อีกด้วย ในบางคราวก็เป็นโอกาสที่พระองค์เข้าไปสนทนากับหมู่สงฆ์เอง อย่างเช่นในขณะที่พระสงฆ์กำลังสนทนากันอยู่ในธรรมสภา เมื่อทรงได้ยิน ก็จะเข้าไปถามไถ่ว่ากำลังสนทนาด้วยเรื่องอะไรกันอยู่ จากนั้นจึงทรงอธิบายขยายความเพิ่มเติม หรือชี้แนะอื่นๆ อีกตามสมควร ซึ่งช่วงเวลานี้เอง เป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ทราบกันดีว่าจะเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

            ที่สำคัญคือ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดพระสูตรขึ้นมากมาย เพราะพุทธองค์ทรงอาศัยช่วงเวลานี้ในการตรัสสอนหัวข้อธรรมหรือเล่าชาดกต่างๆ แก่พระสงฆ์สาวก

3.      ค่ำ... โปรดญาติโยม

ช่วงเวลาเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเฝ้า เพื่อฟังธรรม หรือถามปัญหาเพราะเป็นช่วงที่ประชาชนเสร็จจากภารกิจในการทำมาหาเลี้ยงชีพแล้ว หากเป็นกษัตริย์หรือข้าราชการ ก็เสร็จสิ้นจากหน้าที่งานราชการในแต่ละวัน พ่อค้าทั้งหลายก็เสร็จกิจในการทำการค้าของวันนั้นๆ ส่วนเกษตรกร ก็เสร็จกิจในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเลิกงานเรียบร้อยแล้ว เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนก่อนที่จะเข้านอนกันต่อไป เมื่อถึงช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน พุทธศาสนิกชนและผู้สนใจก็จะพากันมุ่งหน้าไปยังวัดวาอารามหรือสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงพำนักอาศัยอยู่ เพื่อไปฟังธรรม และทำการสักการบูชาด้วยอามิสสิ่งของ ดอกไม้ ประทีป และของหอมต่างๆ เป็นต้น

4.      เที่ยงคืน... ตอบปัญหาเทวดา

เมื่อประชาชนคนทั่วไปทั้งหลายได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนอิ่มเอมใจ และต่างพากันกลับสู่ที่อยู่อาศัยของตนเพื่อพักผ่อนนอนหลับ เป็นเรี่ยวแรงสำหรับการทำงานในวันรุ่งขึ้นแล้ว พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงยุติหน้าที่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแต่เพียงเท่านี้ เมื่อประชาชนต่างพากันกลับ และพระภิกษุสงฆ์ต่างก็แยกย้ายกลับกุฏิเพื่อพักผ่อนหรือบำเพ็ญเพียรต่อกันแล้ว พระพุทธองค์ก็อาศัยเวลาอันเงียบสงัดนี้ เปิดโอกาสให้เทวดาและพรหมที่มาจากชั้นต่างๆ เข้าเฝ้า เพื่อทูลถามปัญหาธรรมะ เมื่อเหล่าทวยเทพได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วก็ได้สติปัญญาหรือมีดวงตาเห็นธรรมตามลำดับต่างๆกันไป สาเหตุที่ต้องทรงแบ่งเวลาให้กับเทวดานั้นก็เพราะว่า เทวดาก็ถือว่าเป็นผู้มีโอกาสในการบรรลุธรรมเช่นกัน แม้จะไม่สามารถสั่งสมบุญเพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่เหมือนมนุษย์ก็ตาม เทวดาบางพวกก็เป็นเทวดามาตั้งแต่ก่อนพระพุทธองค์จะทรงบรรลุธรรม อย่างเช่นพระอินทร์ และท้าวจาตุมหาราช ส่วนเทวดาบางพวก ก็เป็นพุทธบริษัทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบุญ เมื่อละโลกแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดา อยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ อย่างเช่นท่านอนาถบิณฑิกเทวบุตร ซึ่งในสมัยที่ยังเป็นมนุษย์ ท่านเป็นผู้เลิศฝ่ายอุบาสก อย่างไรก็ตามเทวดาบางองค์ ก็ไม่ได้มาเข้าเฝ้าในเฉพาะเวลานี้เท่านั้น แต่มาปรากฏให้เห็นในยามที่พระพุทธองค์กำลังเทศน์สอนประชาชนอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้เป็นประจักษ์พยานเห็นกับตาว่า เทวดามีอยู่จริง และได้ไปเกิดเป็นเทวดาเพราะประพฤติธรรมและบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา

การที่เหล่าทวยเทพเทวดาตั้งใจมาฟังธรรมจากพระพุทธองค์นั้น ถือเป็นโอกาสทองที่มีอยู่เพียงน้อยนิดจริงๆ เพราะเวลาในสวรรค์นั้นต่างจากเมืองมนุษย์มาก เช่นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์นั้น เวลาเพียงหนึ่งวันของสวรรค์ชั้นนี้ ก็เท่ากับหนึ่งร้อยปีในเมืองมนุษย์แล้ว เท่ากับว่า ชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีโอกาสได้เห็นพระพุทธเจ้าเพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งวันเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าทรงมีอายุขัยเพียงแค่ 80 ปี ของโลกมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงเทวดานั้น เราต้องทราบเสียก่อนว่า ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะมาประสูติในโลกมนุษย์นั้น พระองค์เคยเป็นเทพบุตรพระบรมโพธิสัตว์อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต คือพระองค์เองก็เคยเป็นเทวดามาก่อน และเมื่อถึงคราวที่พระองค์จะต้องลงมาประสูติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อทำหน้าที่บรมครู สั่งสอนอมตธรรมให้กับสรรพสัตว์เพื่อนำทางไปสู่นิพพานนั้น เหล่าเทวดาจากสวรรค์ทุกชั้น ตลอดหมื่นโลกธาตุ ก็ได้มาประชุมรวมกันที่สวรรค์ชั้นดุสิต เพื่ออาราธนาเทพบุตรพระบรมโพธิสัตว์ผู้มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้วนั้น จุติจากสวรรค์ ลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ เพราะฉะนั้น เทวดาเหล่านั้นจึงรอคอยอย่างใจจดจ่อ ว่าเมื่อใดหนอ พระโพธิสัตว์ที่ลงมาจุติแล้วนั้น จะออกบวช จะบรรลุธรรม และแสดงธรรม เพื่อที่ว่าพวกเขานั้นจะได้มีโอกาสบรรลุธรรมตามไปด้วย

5.      ดึกสงัด... เข้าบรรทม

ในช่วงสุดท้ายของกิจวัตรประจำวันขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเหล่าทวยเทพเทวดาพากันกลับวิมานของตนกันหมดแล้ว พระพุทธองค์จึงเดินจงกรมเพื่อทำสมาธิและผ่อนคลายอิริยาบถและเข้าบรรทมเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในท่าสีหไสยา ก็คือการนอนตะแคงขวา โดยที่ตั้งแขนขวาขึ้นเพื่อหนุนศีรษะด้วยมือขวา  การบรรทมในท่านี้ เป็นการหลับอย่างมีสติ คือหลับในสมาธิ และพร้อมที่จะลุกขึ้นทุกเมื่อ มิใช่การหลับใหลไร้สติเหมือนอย่างปุถุชนคนทั่วๆ ไป หลายคนอาจสงสัยว่า เพราะเหตุใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงมีเวลาบรรทมเพียงน้อยนิด จะทรงมีเรี่ยวแรงในการบำเพ็ญพุทธกิจในแต่ละวันได้อย่างไร ถ้าหากพักผ่อนไม่เพียงพอ หากจะกล่าวไปแล้ว ก็ต้องอธิบายเสียก่อนว่า การหลับของปุถุชนคนทั่วไปนั้นเป็นการหลับอย่างไร้สติ บางคนก็ฝันดี บางคนก็ฝันร้าย บางคนก็ฝันเรื่อยเปื่อย แม้จะนอนหลับเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่แท้จริงแล้วกายและใจกลับไม่ได้พักผ่อนเต็มที่เท่าใดนัก เหมือนกับการรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ แม้จะรับประทานมากจนอิ่ม แต่ก็ได้สารอาหารเพียงเล็กน้อย แต่การหลับในสมาธิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการหลับอย่างมีคุณภาพ เมื่อจิตของพระองค์ดิ่งลงสู่สมาบัติ พลังอันบริสุทธิ์จากสมาบัติของพระองค์ก็หล่อเลี้ยงทั้งร่างกายและจิตใจของพระองค์ให้อิ่มเอมเป็นสุขอยู่ในสมาบัตินั้น แม้พระองค์จะพักผ่อนเพียงชั่วครู่ แต่ก็จะรู้สึกสดชื่นทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะบำเพ็ญพุทธกิจของวันใหม่ต่อไปได้อีก ซึ่งท่านใดก็ตามที่ฝึกสมาธิจนกระทั่งได้ผล และสามารถนอนหลับโดยหยั่งจิตลงสู่กระแสของสมาธิอันบริสุทธิ์ได้ ก็จะทราบดีว่าเป็นอย่างไร

 

พระโพธิสัตว์

เมื่อเราได้ทราบแล้วว่า พระพุทธเจ้าหมายถึงอะไร และพระพุทธเจ้าคือใคร ทำหน้าที่อะไรบ้าง เราจะมาศึกษากันต่อว่า ก่อนที่ใครสักคนจะเป็นพระพุทธเจ้าได้นั้นจะต้องทำอะไรบ้าง การเป็นพระพุทธเจ้าเริ่มต้นจากการตั้งความปรารถนาว่าจะขอนำพาผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ผู้ที่มีมโนปณิธานหรือความดำริในใจเช่นนี้ ได้ชื่อว่าเป็น “พระโพธิสัตว์” ทั้งนี้พระโพธิสัตว์อาจจะไม่ใช่ชาวพุทธ หรืออาจจะไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำไป เพราะถ้าหากมีสัตว์อย่างเช่นช้าง ม้า หรือกระรอก ที่ตั้งใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า สัตว์นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยที่พระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อถึงวันออกพรรษาพระองค์เสด็จกลับโลกมนุษย์ โดยลงทางบันไดแก้วมีเทวดามาตามส่งเสด็จมากมาย และพระองค์ทรงเปิดโลก คือใช้ฤทธิ์ดลบันดาล ให้ผู้ที่อยู่ในสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก สามารถเห็นกันได้หมด ใครๆ ก็พากันทึ่งในตัวพระพุทธโคดม ในตำราว่าไว้ว่า ถึงขนาดมีผู้ตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า อย่างพระพุทธโคดมกันมากมาย ไม่เว้นแม้แต่มดตัวเล็กๆ

พระโพธิสัตว์แบ่งแยกออกได้เป็น 3 ประเภท ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ (1) ปัญญาธิกโพธิสัตว์ ผู้สร้างบารมีเป็น พระปัญญาธิกพุทธเจ้า (2) ศรัทธาธิกโพธิสัตว์ ผู้สร้างบารมีเป็นพระศรัทธาธิกพุทธเจ้า และ (3) วิริยาธิกโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีเป็นพระวิริยาธิกพุทธเจ้า ทั้งนี้ ในขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีอยู่ พระโพธิสัตว์อาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนเองเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทไหน แต่จริตอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์ที่น้อมไปในทางปัญญา ศรัทธา หรือความวิริยะพากเพียร ก็จะนำพาให้พระโพธิสัตว์เป็นพระโพธิสัตว์ประเภทนั้นๆ โดยอัตโนมัติ แต่ในกรณีที่พระโพธิสัตว์ทราบและเข้าใจเรื่องพระพุทธเจ้าทั้ง 3 ประเภทนี้ ก็อาจตั้งความปรารถนาว่าจะบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าประเภทใดประเภทหนึ่งนั้นก็ได้ ตามแต่กำลังความตั้งใจ ซึ่งพระโพธิสัตว์บางท่านก็ไม่อยากจะทนอยู่ในวัฏสงสารนานเกินไป ก็อาจจะปรารถรนาเป็นเพียงแค่พระปัญญาธิกพุทธเจ้า ซึ่งใช้เวลาบำเพ็ญบารมีน้องที่สุด หรือถ้าหากพระโพธิสัตว์ปรารถนาจะบำเพ็ญบารมีให้มาก เพื่อให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้มีกำลังในด้านต่างๆ มาก สามารถนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้มากกว่า ก็อาจเลือกที่จะเป็นพระวิริยธิกพุทธเจ้า แต่ถ้าหากมีความปรารถนาปานกลาง ไม่มากไม่น้อย ก็เลือกที่จะเป็นพระศรัทธาธิกพุทธเจ้า ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลที่สามารถเลือกได้

 

พระโพธิสัตว์ทุกประเภทจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่

1.      อนิยตโพธิสัตว์ คือบุคคลที่สั่งสมบารมีจะเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็น ประเภท ปัญญาธิกะ ศรัทธาธิกะ หรือวิริยาธิกะก็ตาม แต่ยังไม่ทันได้รับพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดเลย ซึ่งหมายความว่ายังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต อาจจะเปลี่ยนความตั้งใจเมื่อไรก็ได้ ถ้าเทียบกับประธานาธิบดี ก็เหมือนกับบุคคลที่สมัครเข้าชิงตำแหน่ง ที่ยังไม่แน่ว่าจะได้รับเลือกหรือเปล่า อาจจะทำไม่สำเร็จแล้วถอนตัวไปก่อนก็เป็นได้ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว แต่ชีวิตของพระโพธิสัตว์ก็ยังคงตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเหมือนสรรพสัตว์ทั่วไป ยังคงต้องเวียนว่ายตายเกิด และอาจพลัดไปสู่อบาย หรือตกนรกก็เป็นได้เช่นกัน เราจึงอาจกล่าวได้ว่า สัตว์นรกบางตัว ก็เป็นพระโพธิสัตว์ และอนิยตโพธิสัตว์นี้ ก็อาจเป็นได้ทั้งหญิงและชาย เป็นพรหม เทวดา มนุษย์ หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน การเป็นพระโพธิสัตว์จึงมีความเสี่ยงสูง เพราะแม้จะสั่งสมบารมีมามากจนถึงระดับที่สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลระดับต่างๆ ได้แล้ว แต่ติดอยู่ที่ความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า จึงต้องรอคอยสั่งสมบารมีต่อไป คือเลื่อนเวลาการบรรลุธรรมออกไปก่อน และใช้ชีวิตในวัฏสงสารซึ่งเต็มไปด้วยภัยต่างๆ มากมาย และยังถูกคุกคามด้วยกิเลสต่างๆ อีกด้วย เมื่อมีกิเลสแรงกล้าขึ้นในใจ พระโพธิสัตว์ก็เผลอทำบาปอกุศลได้เหมือนกัน เมื่อทำบาปแล้ว ก็ต้องชดใช้กรรมเหมือนกับคนอื่นๆ เช่นเดียวกับพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็เคยตกนรกมาแล้วในสมัยที่ยังเป็นอนิยตโพธิสัตว์ เป็นเหตุให้ต้องเผชิญกับความทุกข์เป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้เอง อนิยตโพธิสัตว์บางองค์ ก็ต้องถอดใจ ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียกลางคัน แล้วเลือกมาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแทน อย่างในกรณีของพระมหากัจจายนะ ในสมัยพุทธกาล ซึ่งท่านเคยมุ่งสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนใจล้มเลิกเสียก่อน ได้มาเป็นพระอรหันตสาวกของพระพุทธโคดมแทน แต่ด้วยบารมีที่สั่งสมมามากกว่าพระอรหันต์ทั่วไป ก็ทำให้ท่านมีรูปกายงดงาม ได้ลักษณะมหาบุรุษบางประการ ทำให้ประชาชนมักพากันเข้าใจผิดว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้า

2.      นิยตโพธิสัตว์ คือบุคคลที่สั่งสมบารมีจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้รับการพยากรณ์หรือยืนยันจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้ว ว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งในอนาคตแน่นอน โดยในการพยากรณ์นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสบอกรายละเอียดบางประการ อย่างเช่นจะเป็นพระพุทธเจ้ามีชื่อว่าอะไร มีอัครสาวกชื่อว่าอะไร มีพุทธบิดา พุทธมารดาชื่อว่าอะไร เกิดในตระกูลอะไร กษัตริย์ หรือพราหมณ์ เป็นต้น ในยุคของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบัน ก็ทรงเคยตรัสพยากรณ์นิยตโพธิสัตว์ คือท่านอชิตะภิกษุ ว่าจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หน้า มีนามว่าพระศรีอริยเมตไตรย โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสเรียก นิยตโพธิสัตว์นี้ว่า เป็น “น้องของเรา” เมื่อเทียบกับพระอรหันตสาวกทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกว่า “บุตรของเรา” เพราะฉะนั้น นิยตโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ หมายความว่าจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลอย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องรอเวลาสร้างบารมีจนเต็มเปี่ยมและครบถ้วนตามกำหนดเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อได้เป็นนิยตโพธิสัตว์แล้ว เมื่อพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ คราใด ก็จะได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เรื่อยไป จนกว่าจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองในที่สุด เมื่อได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว แม้เพียงพระองค์เดียว พระโพธิสัตว์นั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็น “นิยตโพธิสัตว์” และเมื่อเป็นนิยตโพธิสัตว์แล้ว ไม่ว่าจะบำเพ็ญเพียรมากเพียงใด ก็จะยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะติดอยู่ที่ว่าจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าเสียก่อน ไม่สามารถถอยหลังกลับมาเป็นพระอริยสาวกได้อีก อย่างมากสุดก็จะปฏิบัติได้จนบรรลุฌานเป็นผู้ทรงอภิญญา ได้แก่ (1) มีหูทิพย์ (2) มีตาทิพย์ (3) หยั่งรู้วาระจิต (4) ระลึกชาติได้ (5) และมีฤทธิ์ทางใจ ส่วนข้อที่ (6) คือมีอำนาจในการกำจัดกิเลสให้สิ้นไปนั้น มีในพระพุทธเจ้า และพระอริยบุคคลเท่านั้น และไม่ว่านิยตโพธิสัตว์จะท้อแท้กับการบำเพ็ญบารมีเพราะความทุกข์ยากลำบาก จนกระทั่งถึงกับปรารถนาที่จะถอนตัวจากการบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าเพียงใด แต่ถึงที่สุดแล้วบุญกุศลอันอบรมบ่มมาดีแล้วก็จะบันดาลให้ท่านบำเพ็ญบารมีได้ต่อไป จนกระทั่งได้เป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด และนิยตโพธิสัตว์จะมีเพศเป็นชายเท่านั้น พระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงพบพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น มากมายหลายพระองค์ ในบรรดาทั้งหมดนี้ก็ทรงได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า 24 พระองค์ในสมัยที่ได้เป็นนิยตโพธิสัตว์แล้ว

 

บุคคลใดก็ตามที่ได้เป็นนิยตโพธิสัตว์แล้ว จะเข้าถึงฐานะ 8 ประการ คือ (1) เป็นมนุษย์ (2) เป็นชายแท้ (3) มีอุปนิสัยจะเป็นพระอรหันต์ (ถ้าได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า) (4) เป็นนักบวชที่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม (5) ได้พบพระพุทธเจ้า (6) ได้ฌานสมาบัติ และทรงอภิญญา (7) มีความปรารถนาอันแรงกล้าจะบรรลุพระโพธิญาณ (8) ได้กระทำมหาบริจาค คือบริจาคทรัพย์ ภรรยา บุตร อวัยวะ และชีวิต

นอกจากนี้ นิยตโพธิสัตว์จะไม่เข้าถึงฐานะอันต่ำต้อย 18 ประการคือ (1) ไม่เป็นคนหูหนวก ตาบอดแต่กำเนิด (2) ไม่เป็นคนบ้า ง่อยเปลี้ย เสียขา (3) ไม่เกิดเป็นมนุษย์ชนเผ่าต่ำต้อย (4) ไม่เกิดเป็นลูกทาส (5) ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ (6) ไม่เป็นสตรี (7) ไม่ทำอนันตริยกรรม (8) ไม่เป็นคนโรคเรื้อน (9) ถ้าเกิดเป็นสัตว์ จะไม่ใหญ่กว่าช้าง และไม่เล็กกว่านกกระจาบ (10) ไม่เกิดเป็นเปรตหิวโหย (11) ไม่เกิดเป็นเปรตกระหาย (12) ไม่เกิดเป็นผู้ซูบผอม (13) ไม่เกิดในอเวจีมหานรก (14) ไม่เกิดในโลกันตนรก (15) ไม่เกิดเป็นมาร (16) ไม่เกิดเป็นอสัญญสัตตพรหม (17) ไม่เกิดเป็นอรูปพรหม (18) ไม่เกิดในจักรวาลอื่น

นิยตโพธิสัตว์นั้น เมื่อได้รับพยากรณ์แล้วจะมีภูมิธรรม 4 ประการ ประจำใจ ซึ่งถ้าหากพิจารณาตามบารมี 10 ทัศ แล้วก็คือบารมีเด่นๆ 4 ประการได้แก่ วิริยะบารมี ปัญญาบารมี อธิษฐานบารมี และเมตตาบารมี ซึ่งอธิบายเป็นภูมิธรรมได้ดังนี้คือ

1.      มีความเพียรมั่นคง ในการสั่งสมบารมี มุ่งไปสู่พระโพธิญาณ

2.      มีปัญญาแก่กล้าเห็นคุณอันยิ่งใหญ่ในการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3.      อธิษฐานจิตไม่หวั่นไหวคือมีมโนปณิธานและอธิษฐานจิตในการเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ผันแปร

4.      เมตตาแก่สัตว์ คือตั้งความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เสมอเหมือนกัน อย่างมิเสื่อมคลาย

สำหรับพระพุทธโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้เป็นอนิยตโพธิสัตว์นับเป็นชาติแรกสุด เมื่อท่านเกิดเป็นชาย แล้วเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่อยู่ในป่า เกิดความเลื่อมใส จึงถวายผ้าเก่าๆ แด่พระภิกษุรูปนั้น พลางคิดในใจว่าอยากจะเป็นพระพุทธเจ้า” นั่นนับเป็นชาติแรกสุดของท่าน ที่เริ่มต้นการเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมี และในชาติที่ท่านได้เป็นนิยตโพธิสัตว์เป็นครั้งแรกสุดนั้น ท่านเกิดเป็นชายอยู่ในตระกูลที่ร่ำรวย ต่อมาได้ออกบวชเป็นฤาษี มีนามว่าสุเมธดาบส บรรลุอภิญญา 5 สามารถเหาะไปในอากาศได้ มีอยู่วันหนึ่งขณะเหาะอยู่ในอากาศเห็นประชาชนกำลังโกลาหลช่วยกันทำถนน จึงลงไปถามดู ทราบว่าทำถนนเพื่อต้อนรับพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระขีณาสพ ท่านจึงอาสาที่จะร่วมช่วยด้วย ชาวบ้านจึงให้ท่านทำในส่วนที่ยากกว่าของคนอื่น คือเป็นโคลนเลน และตั้งใจทำถนนโดยไม่ใช้ฤทธิ์ใดๆ แต่ทว่าทำยังไม่ทันเสร็จดี พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จมาถึง สุเมธดาบสจึงทิ้งตัวลงนอนกับพื้นบริเวณที่เป็นโคลนเลน เพื่อให้พระพุทธองค์และพระขีณาสพเหยียบข้ามไป ไม่ให้เปื้อนโคลนเลน ในขณะนั้น หากสุเมธดาบสจะขจัดกิเลสเพื่อเป็นพระอรหันต์ก็สามารถทำได้ แต่เขากลับคิดว่า “จะมีประโยชน์อะไร ด้วยบุรุษที่มีกำลัง (อย่างเรา) จะข้ามสงสารสาครแต่เพียงผู้เดียว เราจักบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว ยังโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามสงสารด้วย” เมื่อพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระขีณาสพ ก้าวผ่านไปบนร่างกายของสุเมธดาบสจนหมดแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงตรัสพยากรณ์ต่อหน้าพระขีณาสพและมหาชนว่า สุเมธดาบสผู้นี้ ต่อไปจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่า สมณโคดม”

จากฐานะทั้ง 8 ประการของนิยตโพธิสัตว์ที่จะพึงได้ และฐานะทั้ง 18 ประการ ที่นิยตโพธิสัตว์จะไม่พึงได้นั้น จะเห็นได้ว่า นิยตโพธิสัตว์มีแนวโน้มสูงที่จะท่องอยู่แต่ในสุคติภูมิ ได้แก่ มนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เป็นต้น เพราะนิยตโพธิสัตว์ถือได้ว่ามีบุญบารมีแก่กล้าแล้ว และมีอินทรีย์อันอบรมบ่มเพาะดีแล้ว คือมีแนวโน้มว่าจะเป็นคนดีในแต่ละชาติที่เกิดมา แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีสิ่งใดรับประกันแน่นอนว่า นิยตโพธิสัตว์จะไม่พลาดพลั้งตกนรก เพียงแต่รับรองว่า จะไม่ไปนรกขุมที่ลึกมากเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้เอง พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงต้องสร้างบารมีด้วยความไม่ประมาทชะล่าใจ คิดว่าตนเองเป็นถึงพระโพธิสัตว์ มีบุญบารมีมาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตามหลักพุทธศาสนา ก็มีเพียงแต่พระอริยบุคคลเท่านั้น ที่มีคติอันเที่ยงแท้ ว่าจะได้บังเกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะได้เข้านิพพาน

บุคคลผู้ไม่สามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้

จากที่กล่าวเอาไว้ว่า ใครๆ ก็สามารถเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้มีสิทธิ์เป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น คำกล่าวนี้ยังมีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลบางจำพวก ซึ่งบุคคลที่หมดสิทธิ์ในการเป็นพระโพธิสัตว์นั้นได้แก่พระอริยบุคคลผู้สามารถกำจัดกิเลสได้แล้วไปตามลำดับ นับตั้งแต่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เราเรียกว่า “พระอริยสาวก” คือเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งผู้บรรลุธรรม และสามารถขจัดกิเลสได้แล้ว โดยพระอริยบุคคลนี้ ท่านสามารถขจัดกิเลสได้ไม่เท่ากัน เรียงตามลำดับได้ดังนี้

1.      พระโสดาบัน สามารถขจัดกิเลสคือ สักกายทิฐิ, วิจิกิจฉา, และสีลัพพัตปรามาสได้ เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วจะเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่นิพพาน

2.      พระสกิทาคามี สามารถขจัดกิเลสคือ กามฉันทะ และพยาบาท อย่างหยาบได้ เมื่อเป็นพระสกิทาคามีแล้วจะเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน 3 ชาติ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่นิพพาน

3.      พระอนาคามี สามารถขจัดกิเลสคือ กามฉันทะ และพยาบาท อย่างละเอียดได้ เมื่อเป็นพระอนาคามีแล้ว จะเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน 1 ชาติ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่นิพพาน

4.      พระอรหันต์ สามารถขจัดกิเลสคือ รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุธัจจะ และอวิชชา ได้ทั้งหมดแล้ว ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก เมื่อหมดอายุขัย ก็จะเข้าสู่นิพพานในทันที

บุคคลเหล่านี้ จึงหมดโอกาสที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า เพราะมีคติที่เที่ยงแท้ว่าจะได้เข้านิพพานในฐานพระสาวก นอกจากนี้ยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ รวมถึงบุคคลที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าจะได้เป็นพระอริยสาวก ก็จะหมดสิทธิ์ในการเป็นพระโพธิสัตว์เช่นกัน เพราะจะต้องเป็นพระอริยสาวกตามที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งตรัสเอาไว้อย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่นพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธโคดม ท่านบำเพ็ญบารมีเพราะต้องการเป็นเพียงพระอัครสาวก เมื่อพระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าท่านจะได้เป็นอัครสาวกของพระพุทธโคดม ก็เท่ากับว่าท่านหมดสิทธิ์ในการเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว จะต้องเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธโคดม ตามที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งหรือหลายพระองค์ทรงตรัสเอาไว้เท่านั้น เนื่องจากพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นเป็นจริงเสมอ

อัธยาศัยของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์นั้นล้วนต้องเริ่มต้นจากการเป็นอนิยตโพธิสัตว์ จากนั้นจึงพัฒนาตนเองมาเป็นนิยตโพธิสัตว์ โดยพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็เริ่มจากการเป็นมนุษย์หรือสัตว์ธรรมดาทั้งนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญตนสั่งสมคุณธรรมและความดีงามมากเข้า และมุ่งมั่นไปสู่พระโพธิญาณอย่างมิเสื่อมคลาย พระโพธิสัตว์ก็จะบังเกิดมีอัธยาศัยทั้ง 6 ประการเกิดขึ้น ซึ่งอัธยาศัยเหล่านี้เป็นความพึงพอใจของพระโพธิสัตว์ ในขณะที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เพื่อสั่งสมบุญบารมีให้แก่รอบและครบกำหนดระยะเวลา อัธยาศัยเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาเองจากการสั่งสมประสบการณ์ในการสร้างบารมีและพัฒนาคุณธรรมภายในตัว เช่นเดียวกันกับที่ผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์พัฒนากรอบความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอยู่เสมอ มักจะมีคำตอบให้กับสิ่งต่างๆ ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ในขณะที่ผู้ที่เรียนศิลปะหรือสถาปัตยกรรมจะมีจินตนาการ และให้คำตอบกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่นกว่า ตัวอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือศิลปิน แต่แสดงให้เห็นว่าประสบการณ์และการเรียนรู้ของบุคคลสามารถพัฒนาก่อให้เกิดเป็นอัธยาศัย รวมถึงบุคลิก และทัศนคติต่อการดำรงชีวิตได้ สำหรับอัธยาศัยทั้ง 6 ประการที่มักจะเกิดขึ้นในพระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้แก่

1.      อัธยาศัยในความพึงพอใจเพศนักบวช คือพระโพธิสัตว์ไม่ชอบใช้ชีวิตทางโลก แต่ชอบที่จะเป็นนักบวช ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะบางครั้งพระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นฤาษี เป็นนักพรต หรือเกิดเป็นนักบวชในศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เพราะในบางชาติ ก็ไม่มีพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น หรือถ้าหากว่ามี พระโพธิสัตว์ก็จะให้ความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ แม้ว่าตัวท่านเองจะไม่ได้บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ก็มีแหมือนกันที่พระโพธิสัตว์เกิดมาเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา แต่จะไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นใดได้ เพราะติดอยู่ที่ความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า ยกเว้นแต่จะได้บรรลุฌานสมาบัติ ซึ่งก็สามารถทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่ทรงอภิญญา สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้เหมือนกัน เพียงแต่ยังไม่สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปได้

2.      อัธยาศัยพึงพอใจความเงียบสงบ  คือพระโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้รักสันติ และชอบความสันโดษ ยินดีจะอยู่ในที่ที่สงบเงียบ ไม่อึกทึกไปด้วยผู้คนรวมถึงกิจกรรม และความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสิ่งแวดล้อมอันเงียบสงบนี้ จะช่วยยังใจของพระโพธิสัตว์ให้สุขสงบไปด้วย กล่าวคือ พระโพธิสัตว์มีความสันโดษ ไม่ชอบคลุกคลีด้วยผู้คนเป็นจำนวนมาก หรืออยู่ในที่ที่มีคน สัตว์ สิ่งของ อันจะนำพาให้จิตใจฟุ้งซ่าน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะเข้าสังคมไม่ได้ หรือไปอยู่ในที่ที่อึกทึกครึกโครมอย่างการแข่งขันกีฬา หรืองานคอนเสิร์ตไม่ได้ เพราะพระโพธิสัตว์ก็สามารถไปได้ทุกที่เหมือนคนอื่นๆ เพียงแต่ถ้าให้ท่านเลือก ท่านก็จะเลือกอยู่ในที่สงบวิเวก ซึ่งยังใจของท่านให้สงบสบายปราศจากความวุ่นวายฟุ้งซ่านรำคาญใจทั้งหลายไปด้วย

3.      อัธยาศัยพึงพอใจบริจาคทาน คือพระโพธิสัตว์มีนิสัยที่ปราศจากความตระหนี่หวงแหน ไม่ละโมบโลภมาก แต่ชอบบริจาคทาน เพื่อเอื้อเฟื้อแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ คือชอบเป็นผู้ให้ มากกว่าเป็นผู้รับ ทั้งนี้ไม่ว่าพระโพธิสัตว์จะเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ร่ำรวยหรือยากจน พระโพธิสัตว์ก็จะเป็นผู้เสียสละ มอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่นอยู่เสมอ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพราะพระโพธิสัตว์ผู้สั่งสมคุณธรรมมาดีแล้ว จะเป็นผู้มีกิเลสคือความโลภอยู่น้อย ดังนั้น การให้ของพระโพธิสัตว์จึงไม่ใช่การให้ที่ประกอบไปด้วยกิเลส อย่างเช่นบางคนบริจาคเงินเพราะต้องการชื่อเสียงเป็นต้น แต่พระโพธิสัตว์ให้เพราะเสียสละ และให้ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ หวังเพียงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง คือได้บารมีในการบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า และประโยชน์ต่อผู้รับคือได้ใช้สอยสิ่งที่ให้ไปจนเกิดประโยชน์สุข

4.      อัธยาศัยแห่งความไม่โกรธ หมายความว่าพระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่สั่งสมคุณธรรมความดีจนกระทั่งกิเลสคือความโกรธนั้นเบาบาง ประกอบกับมีจิตปรารถนาดี อยากจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงมีกระแสเมตตาจิต ซึ่งสลายและป้องกันบรรเทาความโกรธทั้งปวงไม่ให้เกิดขึ้นในใจ อุปมาดั่งมีความเมตตาและปรารถนาดีที่สั่งสมเอาไว้เหมือนน้ำในมหาสมุทร เมื่อมีความโกรธที่เป็นประดุจกองไฟ ก็สามารถข่มหรือดับได้โดยง่าย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะไม่โกรธเลย เพราะพระโพธิสัตว์ก็ยังไม่หมดกิเลส เพียงแต่เป็นผู้ที่ไม่ค่อยโกรธ และถ้าหากโกรธขึ้นมา ก็จะสามารถระงับอารมณ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น พระโพธิสัตว์จึงเป็นผู้ที่ไม่มีความแค้น อาฆาต พยาบาท ปองร้ายใคร

5.      อัธยาศัยแห่งความไม่หลง  คือพระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่สั่งสมปัญญาอบรมตนมาดีแล้ว จึงเห็นถึงโทษและภัยจากความลุ่มหลงในกามคุณทั้งปวงว่า กามคุณทั้งหลายหากเสพเข้าแล้วย่อมทำให้มัวเมา เพลิดเพลิน และยึดติด ยึดมั่นถือมั่นอยู่ อีกทั้งเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ ไม่ใช่ความสุขที่แน่นอน ไม่ช้าไม่นานก็ต้องหมดหรือเสื่อมสลายไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง ผันแปร ก็ก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่ได้รับความสุขจากกามคุณดังเดิม เหมือนดังเช่นคนที่แสวงหาคู่ครองที่หน้าตาสวยงาม เมื่อความสวยนั้นหมดไปเพราะแก่ตัว ความสุขก็เหือดแห้งไป ชีวิตครอบครัวก็ไม่มีความสุขเหมือนเดิม ถ้ายังมีความลุ่มหลงในคนรูปงามอยู่มาก ก็อาจจะแอบไปมีภรรยาใหม่ที่อายุยังน้อย หน้าตาสวยงาม เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เพราะปัญหาครอบครัวตามมาเป็นต้น พระโพธิสัตว์ผู้สั่งสมอบรมตนมาดีแล้ว ย่อมมีปัญญาเห็นทุกข์ โทษ ภัยของกามคุณ และเห็นว่าการหลุดพ้นจากโมหะ ความหลง ความมัวเมา ยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงนั้นประเสริฐกว่า เป็นทางมาแห่งความสุขอันแท้จริง พระโพธิสัตว์จึงเป็นผู้ไม่ลุ่มหลงในกามคุณโดยง่าย

6.      อัธยาศัยยินดีในพระนิพพาน กล่าวคือพระโพธิสัตว์เห็นถึงความทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ซึ่งมีภัยต่างๆ มากมาย ทั้งภัยจากการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย อีกทั้งยังมีกฎแห่งกรรมที่คอยทำโทษสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพลาดพลั้งกระทำบาปอกุศล เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก แม้สรรพสัตว์จะทำกุศลแล้ว ก็ได้ไปสู่สุคติภพ มีพรหมโลก และสวรรค์เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถเสวยสุขอยู่ได้ตลอดกาลนาน เพราะเมื่อหมดบุญแล้วก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก พระโพธิสัตว์ผู้สั่งสมอบรมตนมาดีแล้ว จึงมีความยินดีในพระนิพพาน คือภพภูมิแห่งความเป็นบรมสุข และหมดสิ้นเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ทำให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานใดๆ อีก

เราจะเห็นได้ว่า อัธยาศัยทั้ง 6 ประการของพระโพธิสัตว์นั้น แม้ในหมู่พระโพธิสัตว์ด้วยกัน ก็มีมากน้อยต่างกันไป เพราะอัธยาศัยดังกล่าวเกิดจากการสั่งสมคุณธรรมและอบรมตนให้กุศลธรรมเจริญงอกงามขึ้น ในขณะที่กิเลสเบาบางลงไป แต่แน่นอนว่า ยิ่งพระโพธิสัตว์ผ่านการสั่งสมบารมีเป็นเวลานานและมีบารมีแก่กล้ามากยิ่งขึ้นเท่าได้ อัธยาศัยทั้ง 6 ประการนี้ ก็มีความแก่กล้ามากยิ่งขึ้นไปด้วย เปรียบเสมือนกัปตันขับเครื่องบิน ยิ่งถ้าหากมีชั่วโมงบินมาก ก็จะยิ่งมีความมั่นใจและความชำนาญเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติมากไปตามลำดับนั่นเอง เพราะฉะนั้นบุคคลใดก็ตาม ที่คิดว่าตนเองเป็นพระโพธิสัตว์ และสงสัยว่าตนเองนั้นสั่งสมบารมีมานานหรือยัง เราอาจใช้อัธยาศัยทั้ง 6 ประการ เป็นประดุจเครื่องชี้วัดว่า เรามีอัธยาศัยแห่งพระโพธิสัตว์มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากเรามีอัธยาศัยทั้ง 6 ประการเข้มข้นมากเท่าใด ก็พอจะประเมินได้ว่า เราได้ผ่านการสั่งสมบารมีเป็นพระโพธิสัตว์มานานถึงเพียงนั้น 

จริยธรรม10 ประการของพระโพธิสัตว์

(แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระโพธิสัตว์)

นอกจากพระโพธิสัตว์จะมีอัธยาศัยทั้ง 6 ประการ ซึ่งแก่กล้าขึ้นตามระดับบารมีที่สั่งสมมาดีแล้วนั้น พระโพธิสัตว์ยังมีจริยธรรมประจำใจอยู่อีก 10 ประการ ซึ่งทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่มีทัศนคติต่อโลกแตกต่างจากคนธรรมดาสามัญทั่วไป จริยธรรมเหล่านี้ก็ล้วนเกิดขึ้นจากการบ่มเพาะคุณธรรมภายในตัว พร้อมกับขัดเกลากิเลสมลทิน ประกอบกับความมุ่งมั่นในการเกื้อกูลสรรพสัตว์ทั้งหลาย และมุ่งหวังที่จะบรรลุพระโพธิญาณอันเป็นคุณสมบัติอันสูงสุดที่มนุษย์จะพึงมีได้ จริยธรรมทั้ง 10 ประการได้แก่

(1)   พระโพธิสัตว์ตระหนักดีว่า ร่ายกายมีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่คนเราจะต้อง เกิด แก่ เจ็บ และตาย พระโพธิสัตว์มีปัญญา และเข้าใจเรื่องนี้ดี จึงไม่เดือดร้อนใจ เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยมากมายนัก เพราะเล็งเห็นแล้วว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกคน และยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

(2)   พระโพธิสัตว์ดำรงชีพอยู่ในวัฏสงสาร โดยตระหนักดีว่าภัยต่างๆ ในวัฏสงสารนั้นมีอยู่เป็นธรรมดา ทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่มีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต คือรู้จักว่าสิ่งใดเป็นทางมาแห่งความเจริญและความเสื่อม เมื่อภัยในวัฏสงสารเกิดขึ้น พระโพธิสัตว์ย่อมไม่หวั่นไหว ตื่นตระหนกเพราะภัยนั้น เนื่องจากว่าได้เตรียมใจพร้อมเอาไว้แล้ว

(3)   พระโพธิสัตว์ตระหนักดีว่า การบำเพ็ญบารมีของท่านนั้น ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา เพราะแม้แต่การดำเนินชีวิตตามปกติก็มีอุปสรรคอยู่แล้ว เมื่อพระโพธิสัตว์ตั้งใจใช้ชีวิตทวนกับกระแสโลกซึ่งไหลไปตามกิเลส ย่อมหมายถึงการที่จะต้องพบกับแรงเสียดทานและแรงปะทะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้ย่อท้อต่ออุปสรรคเหล่านั้น เพราะเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องฝ่าฟัน

(4)   พระโพธิสัตว์ตระหนักดีว่าย่อมมีมารผจญในการบำเพ็ญบารมี ทั้งนี้เรื่องของมาร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ก็ตาม เพราะมารหมายถึงผู้ขวาง บางครั้งก็อยู่ในรูปของเทวดา, สัตว์เดรัจฉาน, หรือเป็นมนุษย์ ที่เข้ามาขวาง เพราะไม่อยากให้การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์สำเร็จลุล่วงโดยง่าย พระโพธิสัตว์มีความเข้าใจเรื่องนี้ดี และพร้อมที่จะก้าวข้ามอุปสรรคอันเกิดจากหมู่มารทั้งหลาย

(5)   พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเรื่อยไปโดยไม่คำนึงถึงเรื่องเวลาว่าจะต้องตรัสรู้โดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพราะการบำเพ็ญบารมีก็เป็นไปตามกำหนดระยะเวลา เปรียบเสมือนผลึกที่ค่อยๆ ก่อตัวหรือเสมือนพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อบุคคลรออยู่ในความมืดจนถึงกำหนด ฟ้าก็จะสาง และตะวันก็จะขึ้นเอง โดยไม่จำเป็นต้องเร่งให้ขึ้น การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ก็ฉันนั้น บารมีของพระโพธิสัตว์ที่สั่งสมจะค่อยๆ แก่กล้าขึ้นไปตามลำดับเมื่อผ่านไปตามกาลเวลา พระโพธิสัตว์จึงไม่เดือดร้อนเพราะคำนึงถึงเรื่องเวลาที่จะตรัสรู้ เพียงแต่มีความปรารถนาอันมั่นคงที่จะตรัสรู้

(6)   พระโพธิสัตว์สมาคมกับเพื่อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ใดๆ จากเพื่อน ทั้งนี้ก็เพราะพระโพธิสัตว์มีอุปนิสัยในการเป็นผู้ให้ และปรารถนาดีต่อผู้อื่น จึงไม่มีความคิดแอบแฝงว่าปรารถนาอยากจะได้สิ่งใดจากเพื่อนเพราะเหตุแห่งการสมาคมกัน นอกจากนี้พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่บำเพ็ญสัจจะบารมี จึงมีความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นปกติ ไม่ว่าจะคบหาสมาคมกับใคร ก็มีแต่จะปรารถนาอยากให้เขามีความสุขมีความเจริญอยู่ร่ำไป ไม่หวังให้ใครเสื่อมหรือตกต่ำ

(7)   พระโพธิสัตว์ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่ยึดถือว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง และจะต้องให้ผู้อื่นตามใจตนอยู่เสมอเพราะความเป็นพระโพธิสัตว์นั้น แม้ว่าพระโพธิสัตว์จะต้องเสียสละและทำหน้าที่นำพาบริษัทบริวารชนของตนบำเพ็ญบารมีก็ตาม พระโพธิสัตว์ก็ไม่ถือโอกาสตั้งตนเป็นใหญ่ในหมู่บริวารชนของตนนั้น แต่เป็นใหญ่โดยหน้าที่ เพราะได้รับความเคารพนับถือศรัทธายำเกรงจากบริวารชนมอบความเป็นใหญ่ให้เอง เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้นำที่มีคุณธรรมประเสริฐกว่าผู้อื่น พร้อมทั้งเสียสละและได้ทำการเกื้อกูลบริวารชนเอาไว้เป็นอันมาก

(8)   พระโพธิสัตว์ทำความดีต่อผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ทั้งนี้เพราะพระโพธิสัตว์มุ่งหวังพระโพธิญาณ ซึ่งการที่จะบรรลุพระโพธิญาณได้นั้น ก็ต้องสละกิเลสเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจทั้งปวง แล้วเพิ่มพูนแต่คุณธรรม บุญกุศล คุณงามความดีต่างๆ ให้บริบูรณ์ พระโพธิสัตว์เข้าใจดีว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนนั้น เป็นทางมาแห่งบุญกุศลเป็นอันมาก จิตจะบริสุทธิ์ ไม่เจือปนไปด้วยกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมอง เหมือนอย่างบุคคลที่ทำความดีเพราะคิดหวังสิ่งใดตอบแทน เหตุเพราะยังมีความโลภเจืออยู่

(9)   พระโพธิสัตว์เห็นใครได้ลาภแล้วก็ไม่ปรารถนาที่จะได้ส่วนแบ่ง ทั้งนี้ก็เพราะพระโพธิสัตว์มีคุณธรรมมาก มีกิเลสน้อย มีความโลภเบาบาง ไม่อิจฉาริษยา เมื่อเห็นใครได้ดีมีลาภ ก็พลอยยินดีกับบุคคลผู้นั้น โดยไม่มีจิตคิดริษยาว่า ขอให้ตนได้มีส่วนในลาภนั้นมากบ้างน้อยบ้าง แม้ว่าพระโพธิสัตว์จะมีฐานะที่ร่ำรวยหรือยากจนก็ตาม พระโพธิสัตว์จะหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ได้ทรัพย์มาโดยชอบ และมีความสันโดษ คือพึงพอใจในทรัพย์ของตน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม

(10)                       พระโพธิสัตว์ไม่โต้ตอบต่อผู้ที่ใส่ร้าย ป้ายสี ติเตียน หรือนินทา เพราะพระโพธิสัตว์เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่จะมีทั้งผู้สรรเสริญ และตำหนิติเตียน จึงไม่หวั่นไหวไปตามความเป็นไปของโลกนั้น ประกอบกับมีจิตปรารถนาดี เมตตาผู้อื่นอยู่เสมอ จึงไม่เดือดร้อน คิดแค้นเคือง อาฆาต พยาบาท หรือจองเวร แต่พร้อมที่จะระงับความขุ่นเคือง และให้อภัยได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องโต้ตอบแต่ประการใด

ปณิธาน 8 ประการของพระโพธิสัตว์

(แหล่งที่มา: http://buddhapoom.com)

นอกจากจริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นเครื่องควบคุมทิศทางแห่งความประพฤติของพระโพธิสัตว์อันเนื่องกับบริวารชน ในการทำหน้าที่นำพาบริวารชนบำเพ็ญบารมี เพื่อเกื้อกูลบริวารชนให้ได้บรรลุธรรมตามเมื่อบารมีเต็มเปี่ยมแล้วนั้น ยังมีปณิธาน 8 ประการ ซึ่งทำให้พระโพธิสัตว์มีทัศนคติต่อโลกแตกต่างจากคนธรรมดาสามัญทั่วไป ซึ่งปณิธานทั้ง 8 นั้นก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความเสียสละและความอุทิศตนของพระโพธิสัตว์ที่มีต่อผู้อื่น ปณิธานทั้ง 8 ประการได้แก่

(1)   พระโพธิสัตว์บำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อสรรพสัตว์ โดยไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทนเพื่อประโยชน์แห่งตน ยกเว้นแต่บุญบารมีซึ่งจะช่วยทำให้ตนได้บรรลุพระโพธิญาณ

(2)   พระโพธิสัตว์ยินดีที่จะแบกรับความทุกข์แทนสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่ท้อถอย เพราะมีความเสียสละอย่างยิ่งยวด เกินกว่ามนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปที่มักจะไม่ยินดีรับความทุกข์ของใครอื่นมาเป็นของตน

(3)   พระโพธิสัตว์สร้างบุญบารมีมากมายเท่าใดก็ยินดีที่จะอุทิศให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่หวงแหน ทั้งนี้เพราะพระโพธิสัตว์มีจิตมุ่งแต่จะให้ และเสียสละอย่างถึงที่สุด โดยไม่คำนึงถึงตนเองว่าจะต้องเป็นอย่างไร แต่จะคำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นก่อนอยู่เสมอ

(4)   พระโพธิสัตว์ไม่มีอคติความลำเอียงในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะโกรธ หรือลำเอียงเพราะกลัว แต่พระโพธิสัตว์จะตั้งจิตปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายเสมอเหมือนกัน

(5)   พระโพธิสัตว์ย่อมยกย่องนับถือพระโพธิสัตว์ด้วยกัน โดยปราศจากความริษยา และไม่คิดว่าพระโพธิสัตว์อื่นนั้นเป็นคู่แข่งที่จะต้องเอาชนะ หรือจะต้องแข่งขันกับพระโพธิสัตว์อื่นในการบำเพ็ญบารมี

(6)   พระโพธิสัตว์มีความยินดีในธรรมของพระอรหันต์ และพร้อมที่ประยุกต์ตนให้เข้ากับธรรมนั้น โดยไม่ปฏิเสธ หรือยกธรรมของพระโพธิสัตว์เองว่าเหนือกว่า ประเสริฐกว่า ทั้งนี้เพราะพระโพธิสัตว์มีความเคารพยำเกรงและนับถือในธรรมที่พระอรหันต์ทั้งหลายบรรลุแล้ว ว่ามีความบริสุทธิ์และประเสริฐกว่าของปุถุชน

(7)   พระโพธิสัตว์ไม่มีความอิจฉาริษยาในลาภสักการะของผู้อื่น และไม่หยิ่งทะนงตนในลาภสักการะของตนเองว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะมีกิเลสเบาบาง มีความสันโดษ พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี และสามารถควบคุมจิตให้สำรวมเอาไว้ได้

(8)   พระโพธิสัตว์หมั่นตรวจสอบความผิดพลาดของตนเองอยู่เนืองๆ โดยไม่คิดเพ่งโทษและโพทนาโทษของผู้อื่น ทั้งนี้เพราะพระโพธิสัตว์มีความตั้งใจที่จะบ่มเพาะคุณธรรมภายในตน เพื่อการบรรลุพระโพธิญาณ ได้ทำหน้าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตั้งใจขจัดข้อบกพร่องในตัวเองเป็นหลัก เพื่อให้ตนเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมที่สุด

การบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ ของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นนิยตโพธิสัตว์ หรืออนิยตโพธิสัตว์ มีปกติจะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ด้านให้เต็มเปี่ยม ไม่ได้หมายความว่า หากพระโพธิสัตว์ดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อครบกำหนดเวลาก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าเองโดยอัตโนมัติแต่อย่างใดสำหรับคำว่า “บารมี” นั้นก็หมายถึงบุญหรือคุณงามความดีที่ได้รับการสั่งสมมาจนกระทั่งที่มีความเข้มข้น ซึ่งหากจะอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์เราอาจเปรียบเทียบได้กับการตกผลึกของสสารนั่นเอง เมื่อความดีที่บำเพ็ญเอาไว้รวมกันเข้า ก็จะมีความเข้มข้นและแก่กล้ามีพลังมากยิ่งขึ้น สามารถส่งผลเกื้อกูลประโยชน์ต่างๆ ในทางดีได้ ยกตัวอย่างเช่น มีพลังมากพอที่จะขจัดกิเลสภายในใจให้หมดสิ้นไป หรือมีพลังมากพอที่จะทำให้มีฤทธิ์มีอานุภาพ สามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นในคืนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงบรรลุธรรม ทรงถูกกองทัพมารมาผจญ พระองค์ก็รำลึกนึกถึงบารมีที่ได้สั่งสมมา และพลังแห่งบารมีของพระองค์นี่เองที่ทำให้กองทัพมารต้องถอยล่าหนีกลับไป

ในเบื้องลึกนั้น บารมีทั้ง 10 ด้านที่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายต้องบำเพ็ญนั้น ยังแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งระดับของบารมีแต่ละขั้นก็จำแนกตามความเข้มข้น เมื่อรวมบารมีทั้ง 10 ด้าน ใน 3 ระดับ เข้าด้วยกันแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็น “บารมี 30 ทัศ” ได้เช่นกัน ซึ่งพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ต้องบำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์ภายในกรอบระยะเวลาของการสร้างบารมีทั้ง 30 ทัศ ให้ครบถ้วน เพื่อการตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้า สำหรับบารมีใน 3 ระดับนั้นได้แก่ (1) ระดับธรรมดาสามัญ เรียกว่า “บารมี” (2) ระดับปานกลาง เรียกว่า “อุปบารมี” (3) ระดับขั้นอุกฤษฎ์สูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถบารมี”  ซึ่งบารมี 3 ระดับนี้ เราก็อาจเปรียบได้กับกระแสไฟฟ้าที่มีกำลังมากน้อยต่างกันนั่นเอง โดยที่ทั้งหมดนั้นก็คือกระแสไฟฟ้าเหมือนกันและสามารถประจุเก็บไว้ภายในตัวของเราได้ เพียงแต่กระแสไฟฟ้าที่มนุษย์ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นกระแสที่หยาบกว่ากระแสของพลังบารมีมากมายหลายเท่า ในลักษณะเดียวกันกับที่กระแสไฟฟ้า มีความหยาบกว่า กระแสคลื่นของโทรศัพท์มือถือ และกระแสคลื่นโทรศัพท์มือถือก็หยาบกว่ากระแสคลื่นแรงดึงดูดที่ส่งมาจากดวงจันทร์ ซึ่งมีกำลังมหาศาล แต่ยากที่จะสัมผัสได้ด้วยร่างกายมนุษย์ของเรา

สำหรับบารมีระดับธรรมดานั้น พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมบำเพ็ญบารมีนั้นตามปกติ เช่นหากบำเพ็ญทานบารมี ก็นำทรัพย์ที่มีออกบริจาคอยู่บ่อยๆ หากบำเพ็ญศีลบารมี ก็รักษาศีลเป็นปกติ แต่ถ้าหากเข้าสู่ระดับอุปบารมี คือการสร้างบารมีโดยเอาเลือดเนื้อและอวัยวะเป็นเดิมพันแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ถึงขั้นที่จะยอมสละ เลือดเนื้อตนเอง เพื่อสร้างบารมีนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตกอยู่ในภาวะที่อดอยากหิวโหย พระโพธิสัตว์ก็พร้อมที่จะสละเนื้อของตนเองให้ผู้อื่นรับประทาน เพื่อเป็นทานบารมี หรืออย่างศีลบารมี หากเกิดเจ็บป่วย แล้วมีผู้บอกว่า ต้องฆ่าสัตว์อื่นมาทำยา จึงจะรักษาอาการป่วยให้หายได้ พระโพธิสัตว์ก็จะไม่ฆ่าอย่างเด็ดขาด กลับยินดีที่จะเจ็บป่วยอยู่อย่างนั้น แม้จะต้องทุกข์ทรมานร่างกายเพียงใด และการบำเพ็ญบารมีขั้นสูงสุดอย่างปรมัตถบารมี พระโพธิสัตว์ก็ยินดีที่จะสละชีวิต เพื่อบำเพ็ญบารมีต่างๆ อย่างเช่น มีอยู่พระชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นฤาษี เห็นแม่เสือกำลังจะกินลูกของตนเอง เพราะไม่มีอาหาร ฤาษีจึงตัดสินใจกระโดดจากหน้าผา สละชีวิต เพื่อให้ร่างกายของตนเองเป็นอาหารแก่แม่เสือนั้น หรือในกรณีของการรักษาศีล หากมีใครบังคับว่าให้ไปฆ่าสัตว์มา ถ้าไม่ฆ่าสัตว์มาให้ ก็จะถูกฆ่าเองเป็นการทำโทษ พระโพธิสัตว์ก็จะยอมถูกฆ่า แต่ไม่ยอมผิดศีล ด้วยการไปฆ่าผู้อื่น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การบำเพ็ญบารมีในระดับที่ยอมสละเลือดเนื้อ และสละชีวิตนั้น มีความเข้มข้นกว่าการสร้างบารมีอย่างปรกติธรรมดา เพราะพระโพธิสัตว์ต้องมีจิตอันแรงกล้า ในการที่จะบำเพ็ญบารมีนั้นๆ และจิตอันแรงกล้านี้ จะต้องไม่มีสิ่งใดมาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง แม้แต่ความหวงแหนในเลือดเนื้อและชีวิตของตนนั่นเอง หมายความว่า ระดับของความเสียสละนั้น จะสูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป และพลังใจที่สั่งสมได้นั้น ก็จะเป็นพลังใจอันบริสุทธิ์ที่มีกำลังแรงกล้า ในการที่จะส่งผลให้พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระพุทธเจ้าสมดังความปรารถนา โดยที่บุคคลธรรมดาสามัญ ที่มีกำลังใจน้อยๆ จะไม่สามารถกระทำได้เลย

สำหรับบารมีทั้ง 10 ด้านนั้นได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี มีคำอธิบายพร้อมทั้งตัวอย่างการสร้างบารมีในแต่ละระดับของพระโพธิสัตว์ดังต่อไปนี้

(1)                ทานบารมี  คือการสั่งสมคุณงามความดีด้วยการให้หรือการบริจาค ซึ่งการให้นี้ถือเป็นการฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้เสียสละ ละความตระหนี่อันเป็นกิเลสออกไปจากใจ และในขณะเดียวกัน การให้ทานนี้ยังก่อให้เกิดพลังบุญ ซึ่งตามกฎแห่งกรรมแล้ว ผลบุญนี้จะดลบันดาลให้มีทรัพย์สมบัติและทรัพยากรมาก เอาไว้หล่อเลี้ยงชีวิต ซึ่งในกรณีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทานบารมีของพระองค์ได้หล่อเลี้ยงพระองค์และพระสงฆ์สาวกให้เป็นอยู่ด้วยความไม่ลำบากขัดสน สามารถประพฤติธรรมได้โดยสะดวก มีปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัยพร้อมบริบูรณ์ทำให้เผยแผ่พระศาสนาได้โดยราบรื่น

จากที่กล่าวมาแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสมทานบารมี คือการให้อันสมควรในทุกรูปแบบ นับภพนับชาติไม่ถ้วน ทำให้พระองค์กลายเป็นบุคคลผู้เสียสละ ปราศจากความตระหนี่ ไม่หวงแหน และพร้อมที่จะหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ทางโลก หรือทรัพย์ทางธรรม การสร้างทานบารมีนี้ จึงเป็นการให้ที่เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ให้เอง และผู้รับ ไม่ได้หมายความว่า ให้แล้วจะเสียประโยชน์ หรือเสียเปรียบ เพราะผู้ให้ก็ได้บุญบารมี ได้ฝึกฝนนิสัยแห่งความเสียสละของตนเอง ส่วนผู้รับก็ได้ประโยชน์จากการใช้สอยทรัพย์สินสิ่งของและทรัพยากรที่ได้รับไป การให้นี้ก็เริ่มตั้งแต่ระดับง่ายๆ จนถึงการให้ที่ให้ได้ยาก เช่นเริ่มจากการบริจาคเสื้อผ้า อาหาร สิ่งของ อาจจะเป็นของที่ใช้แล้ว ก็เป็นการให้ได้อย่างง่ายๆ ส่วนผู้ที่ให้ในระดับที่ยากขึ้นไปอีก ก็คือให้ของใหม่ ของดี ที่จะเป็นประโยชน์ และไม่เป็นโทษต่อผู้รับ อีกทั้งให้ด้วยเจตนาที่ดี ไม่มีสิ่งใดแอบแฝง หรือต้องการหวังผลประโยชน์ในตอบแทน นอกจากบุญบารมี ซึ่งในทางพระพุทธศาสนา การให้สิ่งของก็แบ่งออกได้เป็นสามระดับ คือให้สิ่งของที่ด้อยกว่าที่ตนเองใช้สอย  ให้สิ่งของที่เสมอกันกับที่ตนเองใช้สอย  และให้สิ่งของที่ประเสริฐกว่าที่ตนใช้สอยอยู่ ดังที่กล่าวไปแล้ว การให้สิ่งที่ด้อยกว่า ก็อย่างเช่น ให้ของที่ใช้แล้ว หรือของที่เสียแล้ว หรือของที่คุณภาพต่ำกว่าของที่เราใช้อยู่ตามปกติ ยกตัวอย่างเช่นโดยปกติเราจะใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน แต่พอจะซื้อของขวัญวันรับปริญญาให้กับญาติ เรากลับไปซื้อโทรศัพท์ธรรมดาที่มีคุณภาพต่ำกว่าให้ใช้ เป็นต้น ส่วนการให้แบบเสมอกันกับที่ใช้สอยอยู่ก็เช่น เราชอบใช้กระเป๋าหนังแท้คุณภาพดีแล้วเราก็ซื้อกระเป๋าหนังแท้คุณภาพดีให้กับแม่ เป็นของขวัญในวันคริสต์มาส เป็นต้น สำหรับการให้ของที่ประเสริฐกว่าก็อย่างเช่น ปกติเราใส่แหวนที่ทำจากเงิน แต่เรากลับซื้อแหวนที่ทำจากทองให้พี่ชายเป็นของขวัญวันเกิด อย่างนี้เป็นต้นอย่างไรก็ตาม การให้ในระดับที่จะเป็นบารมี ซึ่งส่งผลให้เป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น ก็คงจะไม่ใช่การให้ธรรมดาๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกภพทุกชาติ แต่เป็นการให้ที่ต้องเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ อย่างในตำราของพระพุทธศาสนาได้กล่าวเอาไว้ว่า แม้แต่อวัยวะ เลือดเนื้อ ชีวิต และทรัพย์สิน ก็ให้จนหมดไม่มีเหลือ เหมือนน้ำที่เทออกจากแก้วจนหมด ไม่มีเหลือไว้เลยดังตัวอย่างต่อไปนี้

(2) ศีลบารมี เมื่อกล่าวถึงศีล หลายท่านอาจคิดว่า ศีลหมายถึงข้อห้าม เหมือนกับกฎหมายทางโลก ว่าห้ามทำสิ่งใดบ้าง แต่ในทางพระพุทธศาสนา ศีลหมายถึงความเป็นปกติ ศีลของฆราวาสทั้ง 5 ข้อ ก็หมายถึงความเป็นปกติของมนุษย์ทั้ง 5 ประการ ศีลของพระ ก็หมายถึงความเป็นปกติของพระ ว่าทำสิ่งใดบ้าง เว้นสิ่งใดบ้าง เป็นต้น ในความหมายเบื้องลึกยิ่งไปกว่านี้ ศีลยังหมายถึงการสำรวมรักษา ความประพฤติทางกาย วาจา และใจ ให้สุจริตและบริสุทธิ์ เป็นไปในทางที่ดีงาม เมื่อเรารักษาศีล เราจะทราบด้วยตนเองว่า ศีลของเรามีกำลังมากน้อยเท่าใด เพราะทุกครั้งที่กิเลสจะชักนำให้เรา คิด พูด หรือกระทำ ในทางที่ผิด เราจะมีสิ่งที่เรียกว่า “สติ” ในการตักเตือนตนเอง และยับยั้งสิ่งเหล่านั้นลงได้ทันการ หากสติของเรามีกำลังน้อย เราก็จะหักห้ามใจตนเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตัวเองทำผิดทำพลาดไปทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่ถ้าหากเรามีสติแก่กล้า เราจะรู้ตัวได้ทันการและยับยั้งเอาไว้ด้วย “ปัญญา” ซึ่งพิจารณาแยกแยะเห็นได้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ดังนั้น เมื่อกิเลสภายในใจเรา ชักจูงเราให้ทำสิ่งไม่ดีคราใด สติและปัญญาก็จะทำหน้าที่ออกมายับยั้งเอาไว้ทุกครั้ง ราวกับเป็น firewall หรือ antivirus ของระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อรักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์เอาไว้ บุญบารมีเกิดขึ้นทุกครั้ง เมื่อจิตของเราหักห้ามตนเองจากความคิด คำพูด และการกระทำที่ไม่ดีทั้งหลาย เพราะนั่นคือจิตที่มีพลังในการยับยั้งหรือแม้แต่กระทั่งสลายกิเลสเป็นการชั่วคราว

ในการรักษาศีลนั้น เราจะพบว่า จิตของเรามีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราสามารถหักห้ามใจ ไม่ให้ คิด พูด และทำในสิ่งที่ชั่วร้ายทั้งหลายได้ จิตที่มีกำลังนั้นเกิดจากศีลบารมีนั่นเอง หากศีลบารมีของเราน้อย เราก็มักจะหักห้ามใจไม่ค่อยได้ เหมือนกับเวลาที่มีไฟไหม้บ้าน แล้วเรามีน้ำน้อย เราก็ไม่สามารถดับไฟได้ แต่ถ้าหากเรามีกำลังของศีลบารมีมาก เมื่อเกิดกิเลสขึ้นในใจ คอยชักจูงให้เราคิด พูด และทำในสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เราก็สามารถหักห้ามลงได้โดยง่าย แล้วจิตก็กลับไปสู่ภาวะอันปกติดังเดิม เพราะฉะนั้น หากเราไม่รักษาศีลเลย ไม่หักห้ามใจอะไรเลย อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะพูดอะไรก็พูด จิตของเราก็จะไม่ได้รับการฝึกฝน ให้มีกำลังในการควบคุม สำรวมกาย วาจา ใจ  เมื่อไม่ได้รับการฝึกฝน จิตใจก็อ่อนแอ และเผลอคิด พูด และทำในสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ได้ง่าย

การบำเพ็ญศีลบารมี คงไม่ใช่เรื่องง่ายดายเพียงแค่ตัดสินใจว่าจะตกปลา หรือไม่ตกปลา จะดื่มเหล้า หรือดื่มน้ำอัดลม เพราะในสถานการณ์ปกติเช่นนี้ เพียงแค่เราตัดใจได้ เราก็ยับยั้งเอาไว้ได้ แต่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากยิ่งขึ้น จะเป็นโอกาสให้ศีลบารมีแก่กล้า ด้วยการใช้กำลังใจอย่างมหาศาล ในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น หากชายคนหนึ่งอยู่ในสภาวะล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้ออาหารให้ลูกๆ รับประทาน แต่เผอิญเขาเห็นชายคนหนึ่งลืมกระเป๋าสตางค์เอาไว้ในห้องน้ำ และกำลังเดินออกไป หากเขาตัดสินใจคว้ากระเป๋าสตางค์ใบนั้นมาเป็นของตนเอง ก็เท่ากับว่าเขาผิดศีล เพราะขโมยของ แต่เขาจะมีเงินไปซื้ออาหารให้ลูกๆ ที่บ้าน สถานการณ์เช่นนี้เอง เป็นเสมือนบทฝึกพระโพธิสัตว์ ให้รู้จักการสำรวมรักษา กาย วาจา ใจ ของตนเอง ให้เป็นไปในทางที่ดีงามอยู่เสมอ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่กดดัน หรือแม้แต่เป็นภัยอันตรายต่อตนเองถึงชีวิต อย่างเช่นเป็นข้าราชการแล้วถูกขู่บังคับให้ร่วมมือในการทุจริตคอรัปชั่น หากร่วมมือก็จะได้รับส่วนแบ่ง หากไม่ร่วมมือก็จะถูกกลั่นแกล้ง หรือสั่งฆ่า ซึ่งผู้ที่ยอมถูกฆ่า แต่ไม่ยอมร่วมมือทุจริตคอรัปชั่น ถือได้ว่าเป็นผู้ที่บำเพ็ญศีลบารมีอย่างยิ่งยวด ในระดับที่ยอมเสียสละแม้กระทั่งชีวิตทีเดียว

(3) เนกขัมมะบารมี คือการออกบวช การบำเพ็ญบารมีด้วยการออกบวชในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะต้องบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเสมอไป เพราะในแต่ละชาติ บางครั้งพระโพธิสัตว์ก็มาเกิดในโลกที่มีพระพุทธศาสนา แต่บางครั้งก็ไม่มี ถ้ามีพระพุทธศาสนา ท่านอาจจะได้บวชเป็นพระ แต่ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ท่านก็อาจจะออกบวชเป็นฤาษี หรือนักบวชในศาสนาและลัทธิอื่น เพื่อบำเพ็ญพรต อยู่อย่างสันโดษและสงบ เหมือนอย่างในเรื่องราวของสุเมธดาบส ที่นอนคว่ำให้พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระขีณาสพเหยียบข้ามไปเป็นต้น

ทำไมการออกบวชจึงจัดได้ว่าเป็นบุญบารมี หรือเป็นความดี ทั้งนี้ก็เพราะผู้ที่ออกบวชนั้นได้ฝึกใจของตนในการสละจากกาม และความเพลิดเพลินทางโลก มาแสวงหาความสงบและสันโดษในเพศภาวะของนักบวช ซึ่งตามปกติแล้ว นักบวชจะไม่มีครอบครัว ไม่ครองเรือน อยู่อย่างปราศจากคู่ครอง ทำให้ไม่มีพันธนาการทางจิตใจ จิตใจจึงปลอดโปร่ง สามารถประพฤติธรรมและปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก เป็นเหตุให้สามารถสั่งสมบารมีอื่นๆ ได้โดยง่ายอีกด้วย เราอาจกล่าวได้ว่า การบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี หรือการออกบวชของพระโพธิสัตว์นั้น เป็นการสั่งสมอุปนิสัยในการสละความเพลิดเพลินและความพึงพอใจทางโลก และน้อมใจเข้าสู่ความสงบสันโดษ อันจะเป็นเหตุให้คุณธรรมและความบริสุทธิ์ของกายวาจาใจ เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปได้

ยิ่งไปกว่านี้ การบำเพ็ญเนกขัมมะบารมีนั้น ไม่ได้หมายถึงการเข้าพิธีบวชเป็นนักบวชเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วคือการปลูกฝังอุปนิสัย ในการรักความสันโดษ ตัดใจออกจากกาม ถ้าหากใครก็ตามที่เป็นนักบวช ไม่ว่าอยู่ในศาสนาใดก็ตาม แต่ยังใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสของกิเลส เขาก็ไม่ต่างอะไรกับชาวโลกผู้ครองเรือนทั่วไป เรียกได้ว่า ร่างกายเป็นนักบวช แต่ใจเป็นเหมือนคนธรรมดาสามัญ ก็ไม่ได้เนกขัมมบารมีแต่อย่างใด เนกขัมมะบารมีจากการออกบวชจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก ที่แต่งตัวห่มชุดเป็นนักบวช หากแต่อยู่ที่ใจที่มุ่งปลีกออกห่างจากกาม ดังนั้นการเป็นนักบวชพร้อมทั้งกาย และใจ ทั้งภายนอก และภายใน ก็ย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากต่อผู้ประพฤติปฏิบัติหรือพระโพธิสัตว์ยิ่งๆ ขึ้นไปนั่นเอง และในบางกรณีที่เนกขัมมะบารมีต้องแลกมาด้วยความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ก็ทำให้ได้บุญบารมีมากขึ้นไปอีก อย่างเช่นในกรณีของบางประเทศที่นักบวชถูกฆ่าและทำร้าย บังคับให้เลิกนับถือศาสนาของตน แต่นักบวชไม่ยอมทำตาม ยินดีที่จะตายในเพศนักบวชนั้น ก็ถือเป็นเนกขัมมะปรมัตถบารมีซึ่งบำเพ็ญได้ยากยิ่ง

(4) ปัญญาบารมี  ก่อนที่เราจะอธิบายว่าการสั่งสมปัญญาบารมีนั้นทำได้อย่างไร เราต้องทราบเสียก่อนว่า “ปัญญา” นั้นหมายถึงความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ซึ่งมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องธรรมะเท่านั้น ในทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกปัญญาออกเป็นสามประเภท คือ (1) สุตมยปัญญา คือปัญญาจากการอ่านและฟัง หรือศึกษาจากแหล่งภายนอกด้วยวิธีการต่างๆ (2) จินตมยปัญญา คือปัญญาจากคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเอง และ (3) ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา คือความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นเองในขณะทำสมาธิ ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า เป็นการรู้ด้วยญาณ หรือเกิดจากการทราบด้วยหูทิพย์ ตาทิพย์ และการรู้วาระจิต เป็นต้น

การที่เราสั่งสมปัญญาบารมีให้เพิ่มพูน ก็สามารถทำได้ด้วยการบ่มเพาะปัญญาทั้ง 3 ประเภทนั่นเอง หรือมีอุปนิสัยในการใช้ปัญญาไขปัญหา หรือแก้ปัญหาบ่อยๆ ก็จะทำให้ปัญญานั้นแก่รอบ อุปมาเหมือนคนทำงาน ที่ยิ่งทำงานมากเข้า ก็จะมีประสบการณ์ มีความรู้และความเข้าใจสั่งสมเอาไว้มาก แต่ถ้าหากบุคคลคนเดียวกันนี้ อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ความเชี่ยวชาญในการคิดอ่าน และในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ก็อาจจะด้อยลงไป

การสั่งสมปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น คือการบ่มเพาะนิสัยในการใช้เหตุผลสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับตนเองและผู้อื่น มากกว่าการจะทำสิ่งต่างๆ ไปตามแรงขับเคลื่อนของอารมณ์ ผู้ที่มีปัญญามักจะมีความรอบคอบ รู้จักไตร่ตรอง พิจารณาสิ่งต่างๆ ให้ละเอียดลึกซึ้ง จนกระทั่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป สำหรับปัญญาประเภทแรก ที่เกิดจากการศึกษาจากแหล่งภายนอกนั้น พระโพธิสัตว์สามารถสั่งสมได้ ด้วยการศึกษาหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เว็บไซท์ สถาบันการศึกษา คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการสัมมนา หรือสอบถามจากผู้มีประสบการณ์เป็นต้น ส่วนปัญญาอีกประเภทที่เกิดจากการคิด พระโพธิสัตว์ก็มักจะฝึกคิดอย่างรอบคอบ พิจารณาเหตุ พิจารณาผล และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเหตุและผลนั้นๆ ซึ่งในทางโลกตะวันตก อาจมีความโดดเด่นในการพัฒนาปัญญาด้านนี้เป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่นการสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออย่างนักปราชญ์ทั้งหลาย อย่างอริสโตเติล และโซเครติส ซึ่งเป็นนักคิดผู้ทรงอิทธิพล เนื่องจากเป็นผู้ที่มีปัญญาในการคิดพิจารณามาก ซึ่งบางคนนั้นเรียนรู้จากการอ่านและฟังมามาก ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจ แต่พอถึงเวลาจะให้คิดทฤษฎีหรือปรัชญาอะไรขึ้นมาเองบ้าง กลับทำไม่ได้ ก็เป็นเพราะเขาขาดปัญญาในด้านนี้ คล้ายๆ กับนักเรียนที่แก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ นักเรียนที่เรียนชั้นเดียวกัน เรียนจากครูคนเดียวกัน ตำราเล่มเดียวกัน คนหนึ่งมองโจทย์ข้อสอบคณิตศาสตร์แล้ว สามารถเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ว่าจะแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์นั้นได้อย่างไร ในขณะที่นักเรียนอีกคนหนึ่งอาจจะมองไม่ออก และไม่สามารถแก้โจทย์ได้ ส่วนปัญญาที่ได้จากการภาวนานั้น ดูจะเป็นเรื่องที่โดดเด่นสำหรับซีกโลกตะวันออก อย่างที่มหาฤาษี โยคี นักบวช และพระสงฆ์ ที่ปฏิบัติสมาธินั้นสามารถทำกันได้ อย่างเช่นบางท่าน สามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า ล่วงรู้ถึงความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ด้วยการหลับตานิ่งๆ ทำสมาธิ เพราะข้อมูลต่างๆ นั้นไม่ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่ตัวท่าน ผ่านหู สายตา หรือการสัมผัสจับต้อง แต่ถูกถ่ายทอดเข้ามาสู่ใจโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านช่องทางเหล่านั้น ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจโดยไม่ต้องคิดแต่อย่างใด และปัญญาจากการภาวนานี่เอง ที่เป็นที่มาของธรรมะ คือความเป็นจริงของสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาถ่ายทอดให้กับพระสาวก หากบางคนสงสัยว่า จะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าหากคนเรานั่งหลับตาอย่างสงบ (หรือแม้แต่ลืมตาก็ตาม) ไม่ฟังอะไร ไม่อ่าน ไม่มองอะไร แล้วก็ไม่คิดอะไร แต่จะเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมาได้ สามารถล่วงรู้ความเป็นไป ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยที่ไม่ได้ไปไหน เรื่องนี้สามารถยกตัวอย่างได้ อย่างเช่นการที่คนเรานอนหลับอยู่ในห้อง แล้วฝันเห็นอนาคต ว่าได้ไปพบคนนั้น ได้พูดอย่างนี้ ได้ทำอย่างนั้น แล้วเมื่อถึงเวลาเข้าวันหนึ่ง เราก็ได้พบคนนั้นจริงๆ เมื่อพบแล้ว เราก็พูดเหมือนอย่างในฝัน แล้วก็ทำอย่างในฝัน ตรงกันทั้งหมด อย่างที่เรียกว่าฝันเห็นอนาคตนั่นเอง หากแต่การฝันเห็นนั้นเป็นการเห็นแบบไม่มีสติสมบูรณ์ ส่วนการเห็นอนาคตหรือทราบเรื่องราวต่างๆ ในขณะทำสมาธินั้น เป็นสิ่งที่เห็นและเข้าใจในขณะที่ตื่นอยู่และจิตเป็นสมาธิ ซึ่งผู้ที่ยังไม่เชี่ยวชาญมากนัก อาจจำเป็นต้องหลับตา เพื่อให้เกิดญาณในสมาธิ เพราะภาพทางสายตาอาจก่อให้เกิดการรบกวนทำให้ใจไม่เป็นสมาธิ แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญนั้น สามารถทำจิตเป็นสมาธิได้แม้ในขณะลืมตา เพราะจิตไม่ได้พะวงกับภาพทางสายตาเลย แต่จรดจ่ออยู่ในสมาธิเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี ในการสั่งสมปัญญาบารมีนั้น พระโพธิสัตว์ย่อมมุ่งใช้ปัญญาไปในทางที่บริสุทธิ์ดีงามไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษภัยต่อทั้งตนเองและผู้อื่นจึงจะถือได้ว่าเป็นบุญบารมี ยกตัวอย่างเช่น การใช้ปัญญาคิดค้นการสร้างอาวุธสำหรับล่าสัตว์นั้น เป็นสิ่งที่ผิด แต่การใช้ปัญญาคิดค้นหาวิธีการปรุงยาที่จะใช้รักษาโรคให้เพื่อนมนุษย์นั้น ถือได้ว่าเป็นปัญญาบารมี เมื่อยิ่งศึกษายิ่งคิดค้นยิ่งทำความเข้าใจ ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจแตกฉานมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด ดังนั้นการสั่งสมปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ ก็คือการฝึกฝนตนเอง ให้เกิดความรู้และความเข้าใจในสิ่งต่างๆ โดยมุ่งให้ความรู้และความเข้าใจนั้น เป็นความรู้และความเข้าใจที่บริสุทธิ์ถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริงยิ่งๆ ขึ้นไปนั่นเอง ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์เต็มเปี่ยม พระโพธิสัตว์ก็จะสามารถพ้นจากอวิชชา คือความไม่รู้ทั้งหลาย มีความคิดอ่านที่เฉียบแหลม และสามารถรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และตรงไปตามความเป็นจริงไม่ผิดพลาด

(5)  วิริยะบารมี หมายถึงการสั่งสมกำลังแห่งความพากเพียรในการทำสิ่งดีงามต่างๆ ให้ลุล่วง  ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า กำลังแห่งความพากเพียรนั้นจะสั่งสมได้อย่างไร เพราะกำลังนั้นมีแต่ใช้แล้วหมดไป ในกรณีนี้ขออธิบายในลักษณะเดียวกันกับเรื่องของปัญญา ที่ว่ายิ่งใช้ ก็จะยิ่งมี คือยิ่งเฉียบแหลมมากขึ้น วิริยะบารมีหรือความพากเพียรในการทำกิจอันเป็นไปเพื่อความดีงามนั้น จะกล่าวไปแล้วก็คือ “พลังใจ” ที่ใช้ขับเคลื่อน ความคิด คำพูด และการกระทำ ให้มุ่งมั่นทำในสิ่งดีงามให้สำเร็จนั่นเอง ซึ่งพลังใจชนิดนี้ เราสามารถสัมผัสได้ ยกตัวอย่างเช่นในเวลาที่เรามุมานะอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ ไม่ว่าจะสอบปลายภาค หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นต้น หากเรามีพลังใจในการขับเคลื่อนมาก เราก็จะทั้งคิด พูด และทำ จนกระทั่งทำได้สำเร็จ คือสอบผ่าน ได้คะแนนดี แต่ถ้าหากพลังใจ หรือความวิริยะของเราน้อย เราก็จะท้อถอยกลางคัน ไม่อาจที่จะทำต่อไปให้ลุล่วง เหมือนอย่างเช่น เราเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบก่อนวันสอบเจ็ดวันเต็มๆ พออ่านไปได้สามสี่วัน เราเกิดท้อถอย ความวิริยะอุตสาหะหมดไป แทนที่เราจะตั้งใจอ่านหนังสือหรือติวต่อไป เราก็ไปพักผ่อนดูหนังฟังเพลงแทน เพราะอยากจะทิ้งสิ่งที่ทำอยู่ หรืออย่างเช่นหากเราทำธุรกิจบางอย่าง แล้วเกิดปัญหาอุปสรรคมากมายในช่วงปีแรกๆ หากเราท้อถอย ไม่คิดที่จะฝ่าฟันต่อไป เราก็จะต้องแบกความล้มเหลวกลับไปเป็นรางวัล แต่นักธุรกิจบางคนมีเลือดนักสู้ มีความวิริยะ แม้จะขาดทุนในช่วงต้นๆ หรือประสบอุปสรรครุมเร้ามากมาย แต่ก็กัดฟันสู้ พากเพียรแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้วเดินหน้าต่อไป จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ได้กำไรมากมายกลับมา มีธุรกิจที่มั่นคงมีชื่อเสียง เป็นที่ยกย่องได้ในที่สุด เป็นต้น

การสั่งสมวิริยะบารมี ก็คือการสั่งสมพลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคนั่นเอง พลังใจชนิดนี้ต่างกับบารมีอื่นๆ ลองคิดดูว่า เวลาที่เราอยากจะทำทานนั้น เรามีพลังใจแบบหนึ่ง คืออยากจะเสียสละ หรือเวลาเรารักษาศีล เรามีพลังใจในการที่จะสำรวมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบอันดีงาม แต่เวลาเราพากเพียรทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ เราก็มีพลังใจอีกอย่าง เป็นพลังใจในการมุ่งมั่นทำงาน ถ้าหากจะว่าในเชิงจิตวิทยา ก็เป็นการฝึกอุปนิสัยของความมุ่งมั่นในการทำงาน เป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ โดยง่าย ถ้าว่าในทางพระ ก็คือเป็นผู้ที่มีความหมั่นเพียรในการประพฤติปฏิบัติตนเพื่อขจัดกิเลส หรือหากเป็นพระภิกษุที่ทำงานเพื่อพระศาสนา จะสร้างศาสนสถานใดๆ ก็มุ่งมั่นที่จะสร้างให้สำเร็จ หรือหากจะสอนญาติโยมให้ได้เรียนรู้ธรรมะและการปฏิบัติธรรม ก็มุ่งมั่นที่จะสอนจนกว่าลูกศิษย์จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ หรือในการบำเพ็ญวิริยะบารมีในขั้นอุกฤษ์อย่างเช่น นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางท่านอาจจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เพื่อช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับโลก ซึ่งอาจจะต้องอับจนด้วยทุนทรัพย์ หรือถูกภัยคุกคามจากการเมือง และกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ได้ผลกระทบจากการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ถึงขนาดโดนทำร้าย หรือขู่ฆ่า แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ไม่ยอมแพ้ กลับสู้ต่อไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม แม้ว่าจะต้องใช้เวลายายนานตลอดทั้งชีวิต อย่างนี้ถือว่าเป็นวิริยะบารมีในขั้นปรมัตถบารมีได้เช่นกัน

(6) ขันติบารมี หมายถึงความอดทน ซึ่งดูจะเป็นคุณธรรมที่อธิบายได้อย่างง่ายๆ ในทุกๆ วัฒนธรรม เพราะความอดทน เป็นคุณธรรมสากล ที่ไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น คนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด มาจากชนชาติใด ก็มักมีความเข้าใจว่า ความอดทนนั้นเป็นสิ่งที่ดี สำหรับในทางพระพุทธศาสนานั้น ความอดทนสามารถจำแนกได้ออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ (1) ความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ (2) ความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง และ (3) ความอดทนต่อกิเลส

ในขณะที่ประการแรกคือความอดทนต่อความลำบากตรากตรำนั้น มีความหมายส่อไปในเชิงกายภาพ คือสภาวะที่ร่างกายของเราต้องเผชิญต่อความทุกข์ยากลำบากต่างๆ เช่นความร้อน ความหนาว ความหิว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และความเจ็บป่วย เป็นต้น เมื่อใครก็ตาม ที่พบกับสภาวะเหล่านี้ ก็ต้องมีความอดทน จนกว่าจะพ้นจากสภาวะเหล่านั้นไปได้ หากเราไม่อดทนเสียแล้ว เราก็จะได้รับความทุกข์ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ บางคนได้รับความทุกข์ทางกายเหล่านี้ แต่สามารถอดทน ทำใจได้ เขาก็ไม่มีความทุกข์ทรมานทางจิตใจ หรือมีแต่น้อยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น กรรมกรที่ทำงานก่อสร้าง พวกเขาต้องตากแดดตากฝน ขนเครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์รวมถึงวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำหนักมาก เป็นภาระต่อร่างกายของพวกเขาอย่างยิ่ง แต่พวกเขาก็ต้องอดทนต่อสภาวะเหล่านี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้สำหรับเลี้ยงชีวิต ถ้าหากพวกเขาไม่อดทน เดินหนีออกไป ไม่ยอมหยิบจับทำงานอะไร พวกเขาก็จะไม่ได้เงินตอบแทน ทำให้ไม่มีเงินจุนเจือเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม ความอดทนทางกายภาพนี้ ถูกจัดเอาไว้เป็นอันดับแรก เพราะถือว่าเป็นความอดทนพื้นฐาน และเป็นสิ่งที่ทนได้ง่ายกว่าความอดทนประเภทอื่นๆ

ความอดทนประเภทที่สอง คือความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งทางกายและทางใจ เพราะในการกระทบกระทั้งนั้น ก็จะมีสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และเรื่องทางกายภาพ อย่างเช่นการแสดงออกทางวาจา และทางกาย ที่รุนแรงกว่าปกติ นับตั้งแต่การกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพ หยาบคาย ไปจนถึงการทำลายทรัพย์สินสิ่งของ หรือแม้แต่ทำร้ายร่างกายเป็นต้น และการอดทนในประเภทนี้ เป็นการอดทนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตของเรา ซึ่งต้องพบปะและทำงานร่วมกันกับผู้คนมากมายในสังคม ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาจมีการกระทบกระทั่ง เมื่อความเห็นในการทำงานไม่ตรงกัน หรือมีปัญหาเรื่องการก้าวก่ายหน้าที่ ปัญหาเรื่องความรับผิดชอบ เป็นต้น หรือแม้แต่ภายในครอบครัว ระหว่างสามีภรรยา ก็มักจะพบว่ามีปัญหาจากการกระทบกระทั่งได้บ่อยครั้ง แม้จะรักกันมากก็ตาม แต่อุปนิสัยบางอย่างอาจจะไม่ตรงกัน ทำให้ทะเลาะกันอยู่เป็นประจำ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ต้องอาศัยความอดทน มิเช่นนั้นครอบครัวก็คงต้องแตกแยก ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป

ความอดทนประเภทที่สาม เป็นความอดทนที่ทำได้ยากที่สุด ก็คือความอดทนต่อกิเลส ที่กล่าวว่ายากนั้น ก็เป็นเพราะว่า ในทางพระพุทธศาสนา กิเลสมีด้วยกันถึง 1,500 ชนิด หากจะกล่าวถึงความอดทนประเภทนี้ ก็อุปมาได้กับการอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่ใช่โรคของกาย เพราะกิเลสนั้นเป็นโรคของใจ เมื่อใดที่ใจเป็นโรค คือมีกิเลสแล้ว ก็จะเกิดความไม่สบายใจ ไม่พอใจ ไม่สงบใจ เดือดร้อนใจ หรือแม้แต่กระทั่งทุกข์ใจ ในรูปแบบต่างๆ กิเลสหรือโรคของใจนั้นมีด้วยกันถึง 1,500 ชนิด แต่สามารถแบ่งกลุ่มออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ (1) ความโลภ (2) ความโกรธ และ (3) ความหลง ซึ่งเมื่อกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นในใจ เหมือนไวรัสที่ถูกส่งเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นความคิด คำพูด และการกระทำอันเลวร้ายต่างๆ ใจของเราก็ต้องมีพลังแห่งความอดทน อดกลั้น คือทน และกลั้นกิเลสเหล่านี้เอาไว้ ไม่ให้กำเริบ พัฒนากลายเป็นความคิด คำพูด และการกระทำอันเลวร้าย ซึ่งจะก่อให้เกิดบาปและกรรมที่ไม่ดีต่อตัวเราต่อไป และทำให้กาย วาจา ใจของเราไม่บริสุทธิ์

(7) สัจจะบารมี หมายถึงความซื่อตรงและความจริงใจ ที่มีต่อทุกคน ซึ่งแสดงออกผ่านทางความคิด คำพูด และการกระทำ บางท่านอาจจะคิดว่า การมีสัจจะนั้นหมายถึง การที่เรากล่าวสิ่งใดแล้ว เราจะต้องทำตามที่กล่าวเอาไว้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นคนรักษาคำพูด แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าสัจจะบารมี มีความหมายลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น เพราะถ้าเราคำนึงแค่คำพูดอย่างเดียว ย่อมหมายถึงการแสดงออกทางวาจา ซึ่งถ้าหากตั้งสัจจะว่าจะทำความชั่ว แล้วทำตามที่พูดเอาไว้ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นสัจจะบารมี แต่กล่าวได้ว่าเป็นคนรักษาคำพูดเท่านั้น

สัจจะบารมีนี้ สามารถสั่งสมได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยการคิดอย่างซื่อตรงจริงใจ จนกระทั่งพูดและแสดงออกอย่างซื่อตรงและจริงใจไปด้วยเช่นกัน หากจะอธิบายสัจจะบารมีให้ชัดเจน ก็ต้องขอยกตัวอย่างสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับสัจจะบารมี นั่นก็คือการมีเล่ห์เหลี่ยม กลับกลอก หลอกลวงนั่นเอง ผู้ที่มีคุณธรรมแห่งสัจจะบารมีนั้น จะเป็นผู้ที่ซื่อตรง ซื่อสัตย์ และบริสุทธิ์ใจ เมื่อมีจิตใจที่ซื่อตรงและบริสุทธิ์แล้ว บุคคลนั้นๆ ก็จะพูดและแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่หน้าไหว้หลังหลอก หรือไม่เสแสร้งแสดงออกในทางดีต่อหน้าเพื่อเอาอกเอาใจใคร แล้วประพฤติลับหลังในทางตรงกันข้าม ทั้งนี้ เพราะผู้ที่มีสัจจะบารมีนั้น เป็นผู้ที่จริงใจต่อทุกคน จึงไม่คิด พูด และทำสิ่งใด ที่จะก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษแก่ผู้อื่นโดยเจตนา

บางท่านอาจคิดว่า การเป็นผู้ที่ซื่อตรงนั้น จะทำให้เป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอาจจะตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดที่มีเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเรามองตามหลักของพระพุทธศาสนา การเป็นคนซื่อนั้น เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เพราะจะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ ไม่ต้องคอยคิดเล่ห์กลเล่ห์เหลี่ยมไว้หลอกลวงใคร ทำให้ไม่ต้องเผลอทำบาปอกุศลเพราะเล่ห์เหลี่ยมนั้น แม้ความซื่ออาจจะทำให้เสียเปรียบผู้อื่นบ้าง แต่ความซื่อก็จะทำให้ปลอดภัยจากบาปอกุศลทั้งหลาย อนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่า พระโพธิสัตว์ไม่ได้สั่งสมเพียงสัจจะบารมีเพียงอย่างเดียว เพราะหากท่านบำเพ็ญสัจจะบารมีแล้ว จะทำให้เสียเปรียบไปบ้าง แต่ท่านก็ยังมีปัญญาบารมีที่จะคอยช่วยให้ท่านพ้นจากปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่า บารมีทั้ง 10 ทัศนั้น ต่างเกื้อกูลกัน และคอยปิดช่องโหว่ของกันและกัน

สำหรับสัจจะบารมีในชีวิตประจำวัน ที่อาจเทียบเคียงให้เห็นกันได้อย่างชัดเจน ก็อย่างเช่น ในการทำธุรกิจ นักธุรกิจก็ต้องมีสัจจะ คือมีความจริงใจในการทำธุรกิจ ขายแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ให้กับลูกค้า สมกับราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายไป และทำธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ฉ้อโกง หรือลวงหลอกผู้อื่น เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ร่วมทำธุรกิจและลูกค้า เมื่อมีโอกาส

(8) อธิษฐานบารมี หมายถึงความตั้งใจมั่นในการทำสิ่งที่มุ่งหมายให้ลุล่วง ซึ่งการอธิษฐานจิต ก็เป็นการทำใจให้มั่นคงในสิ่งที่มุ่งหมายเอาไว้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการอธิษฐานด้วยใจ ด้วยวาจา หรือแสดงออกทางกายด้วย ซึ่งการสั่งสมอุปนิสัยแห่งการอธิษฐาน ก็คือการสั่งสมความตั้งใจมั่น ตอกย้ำให้มั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง ซึ่งกว่าที่พระโพธิสัตว์จะผ่านการสั่งสมบารมี จนกระทั่งกลายมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็ต้องอธิษฐานขอให้ได้บรรลุพระโพธิญาณครั้งแล้วครั้งเล่าเรื่อยมา ทำให้ใจของท่านมุ่งมั่นอยู่กับการเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ผันแปร เปรียบเสมือนเรือที่มีหางเสือบังคับทิศทาง ให้มุ่งไปยังจุดหมายปลายทางที่มุ่งหวังเอาไว้ ไม่หลุดออกนอกเส้นทาง อย่างไรก็ตาม การอธิษฐานนี้จะต้องเป็นการอธิษฐานในสิ่งที่ดีงาม ไม่เป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อโทษ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าอธิษฐานบารมี โดยการอธิษฐานนั้นอาจเป็นไปเพื่อ (1) โลกุตรทรัพย์ อันได้แก่มรรคผลนิพพาน หรือนิพพานสมบัติ และ (2) โลกียทรัพย์ อันได้แก่มนุษยสมบัติและสวรรค์สมบัติต่างๆ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อทำบุญแล้วก็อธิษฐานจิต หรือตั้งความปรารถนาว่าขอให้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือขอให้ร่ำรวย เมื่อรวยแล้วจะนำทรัพย์ไปสนับสนุนพระพุทธศาสนา หรือช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ เช่น สร้างโรงพยาบาล สร้างห้องสมุด สร้างโรงเรียน สร้างวัด เป็นต้น การทำเช่นนี้ เป็นการตั้งใจมั่นเอาไว้กับสิ่งดีงาม ทำให้เกิดเป็นพลังใจอันบริสุทธิ์ ซึ่งจะตอกย้ำกำหนดทิศทางชีวิตของเราเอาไว้ ให้มุ่งไปอย่างมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน

การอธิษฐานนั้นเริ่มตั้งแต่อธิษฐานในใจ เช่นเราพบเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี เราก็นึกในใจบ่อยๆ ว่า ขออย่าได้เจอเพื่อนร่วมงานแบบนี้อีกเลย เพียงแค่ดำริคิดในใจเท่านี้ ก็ถือว่าเป็นการอธิษฐานเช่นกัน เพียงแต่แรงของอธิษฐานจะมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการดำรินึกคิด ว่าแรงกล้ามากน้อยเพียงใดด้วย นอกจากนี้ เราอาจจะอธิษฐานด้วยวาจา คือเปล่งออกมาเป็นคำพูด ตามที่เรารู้สึกนึกคิดเอาไว้ เช่น “ขอให้ได้งานดีๆ ทำด้วยเถิด” เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการอธิษฐานแล้ว ส่วนการอธิษฐานทางกาย ก็คือการแสดงออกต่างๆ อย่างเช่นการยกมือพนมไหว้ หรือประสานมือไว้ที่หน้าอก หรือแม้แต่การเขียนคำอธิษฐานใส่แผ่นกระดาษแล้วแขวนไว้ที่ต้นไม้ เหมือนอย่างที่ชาวญี่ปุ่นทำ ก็ถือว่าเป็นการอธิษฐานจิตเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การอธิษฐานของเราจะมีกำลังมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจมั่นของเรา บางคนอธิษฐานด้วยวาจา แต่ในขณะที่กล่าวไป ก็คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ กำลังแห่งความตั้งใจมั่นก็อ่อนลง ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจอธิษฐานเพียงในใจ แต่อธิษฐานในขณะที่ใจเป็นสมาธิ อยู่ในระหว่างการเจริญสมาธิภาวนา ใจนิ่งสงบ เมื่ออธิษฐานนึกในใจเพียงเท่านั้น กลับเป็นพลังอธิษฐานอันแรงกล้า ซึ่งอาจจะมากกว่าการเปล่งวาจา หรือแสดงออกเป็นการกระทำด้วยซ้ำ

ในเชิงจิตวิทยา เราอาจกล่าวว่า การอธิษฐานคือการนึกถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น เมื่อเรานึกบ่อยๆ ในที่สุดชีวิตของเราก็จะดำเนินไปสู่ความสำเร็จนั้นจนได้ เพราะใจของเราเกาะเกี่ยวอยู่กับความสำเร็จนั้น ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่อธิษฐานเลย เราก็อาจจะลืมความตั้งใจนั้นไปในที่สุด และความสำเร็จนั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้

(9) เมตตาบารมี หมายถึงความรักความปรารถนาดีที่มีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งความรักความเมตตานี้ต่างจากความรัก แม้จะมีหลายๆ อย่างที่ใกล้เคียงกัน ความแตกต่างระหว่างความรักความปรารถนาดีจากเมตตา กับความรัก ก็คือความเมตตานั้น ไม่ได้เป็นความรักที่ถูกขับเคลื่อนโดยกิเลสคือความหลงและตัณหาใดๆ เมื่อใดที่เรามีความเมตตา เราจะมีจิตปรารถนาดี คือคิดในทางดี และไม่คิดร้ายตอบ ไม่ว่าบุคคลอีกฝ่ายจะแสดงออกต่อเราในทางที่ดีหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในทางพระพุทธศาสนานั้น ความเมตตาเป็นเรื่องของใจเป็นหลัก เมื่อเรามีใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตแล้ว คำพูดและการกระทำของเราก็จะมีแนวโน้มในการแสดงออกไปในทางที่นุ่มนวลอ่อนโยนมากขึ้น แม้จะไม่เสมอไปก็ตาม เพราะบางคนมีจิตเมตตา แต่เวลาพูดหรือแสดงออก ก็ทำไปตามนิสัยของตนซึ่งอาจจะไม่สุภาพอ่อนโยนนักก็เป็นได้

การสั่งสมพลังแห่งความเมตตาเอาไว้ในใจนั้น จะทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่มีจิตใจนุ่มนวลอ่อนโยนขึ้น อันจะพัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อผู้อื่น เราอาจกล่าวได้ว่าพลังแห่งความเมตตาภายในใจนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเอง และผู้อื่นด้วย ซึ่งพลังแห่งความเมตตานี้เป็นสิ่งที่มนุษย์และสัตว์อาจสัมผัสได้ถึง “ความเป็นมิตร” แม้เราจะไม่ได้ปริปากพูดหรือแสดงออกทางการกระทำใดๆ เลยก็ตาม ซึ่งกระแสพลังแห่งความเมตตาที่สะสมอยู่ในใจของพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งแผ่ออกมา เหมือนไอเย็นที่แผ่ออกมาจากก้อนน้ำแข็งนั้น จะแตกต่างกับสิ่งที่เรียกว่า “รังสีอำมหิต” ซึ่งแผ่ออกมาจากบุคคลที่มีจิตใจโหดร้ายและนิยมความรุนแรง

กระแสแห่งความเมตตานี่เอง ที่มีผลสามารถสร้างสันติภาพได้ อย่างที่ชาวพุทธกล่าวว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” นั่นเอง และในการทำสมาธิ ชาวพุทธก็รู้จักที่จะนำพลังแห่งความเมตตานี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการ “แผ่เมตตา”  โดยการแผ่เมตตานี้เป็นการจงใจสร้างพลังแห่งความปรารถนาดีขึ้นในใจและแผ่ขยายออกไปโดยรอบ การแผ่เมตตานี้สามารถทำได้สองทาง คือแผ่เมตตาโดยเฉพาะเจาะจง เช่นตั้งใจแผ่เมตตาให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่นบิดา มารดา เพื่อน หรือแม้แต่ศัตรูของเรา คล้ายกับการฉายรังสีจากเครื่องไปยังตัวบุคคลโดยเฉพาะ ส่วนอีกแบบคือการแผ่เมตตาโดยทั่วไปอย่างไม่เฉพาะเจาะจงบุคคล คล้ายกับพระจันทร์ที่แผ่รัศมีออกไปทั่วหล้า ซึ่งการแผ่เมตตาแบบนี้มีอานิสงส์มากกว่าแบบแรก การที่บุคคลแผ่เมตตาบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้ที่มีบุคลิกพิเศษ คืออยู่เป็นสุข ไม่โกรธง่าย ใจสงบสบาย น่าเข้าใกล้

ในชีวิตประจำวันของเรา เราอาจสั่งสมเมตตาบารมีอย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการตั้งจิตปรารถนาดีต่อทุกๆ คนเสมอ โดยไม่คิดร้ายต่อใคร ไม่พูดร้ายต่อใคร และไม่ทำร้ายใคร ตั้งความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข พ้นจากความทุกข์ และมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เป็นไปในทางดีงามเสมอไป โดยที่เรามีใจเมตตาเช่นนี้เป็นปกติ ไม่เมตตาผู้อื่นเฉพาะเวลาทำสมาธิแผ่เมตตาเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่นภายในครอบครัว ไม่ว่าคู่ครองหรือลูกๆ ของเรา จะประพฤติต่อเราดีมากน้อยเพียงไร เราก็ตั้งจิตปรารถนาดีต่อพวกเขาเสมอ นึกคิดให้พวกเขามีความสุข มีความเจริญ พ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ทั้งปวง เมื่อเราขับรถออกไปทำงาน เจอคนที่ขับรถไม่สุภาพ ขับรถตัดหน้า หรือผิดกฎจราจร เราก็พร้อมจะให้อภัย และนึกคิดกับพวกเขาในทางดีเสมอ เช่นเดียวกับที่ทำงาน ซึ่งอาจมีการกระทบกระทั่งหรือไม่พอใจอันเกิดจากความเห็นไม่ตรงกัน หรือความบกพร่องใดๆ ในการทำงาน เราก็พร้อมจะให้อภัย และคิดต่อพวกเขาในทางดี และแม้แต่ในกรณีที่ทำได้ยาก อย่างเช่นกับผู้ก่อการร้าย ที่ทำให้เรารู้สึกโกรธแค้นชิงชัง อาฆาตพยาบาท เราก็ต้องปรับใจของเราเสียใหม่ ให้นึกกับเหล่าผู้ก่อการร้ายในทางดี คือปรารถนาให้พวกเขามีสติปัญญารู้สำนึกถึงความผิด และกลับตัวกลับใจ อย่าได้ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ผู้บริสุทธิ์อีกต่อไป ในขณะที่เราก็ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปด้วยจิตเมตตานั้น

(10) อุเบกขาบารมี หมายถึงการวางใจเฉย ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดๆ ทั้งของเราเอง และของผู้อื่น ผ่านทางความคิด คำพูด และการกระทำ เราจะเห็นได้ว่า คนบางคนนั้น เป็นผู้ที่ อ่อนไหวต่อสิ่งกระตุ้น หมายความว่า เมื่อเขาได้รับรู้สิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นจากผู้อื่น หรือสิ่งที่เป็นเรื่องของเขาเอง หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาจะเป็นผู้ที่หวั่นไหวง่ายต่อสิ่งที่กระตุ้นต่างๆ เหล่านั้น เปรียบเสมือนไม้ที่ปักอยู่ในโคลนเลน พร้อมจะโอนเอนและล้มลงได้อย่างง่ายๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่สั่งสมอุเบกขาบารมี จะรู้จักวางเฉย และไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ อันเกิดจากการได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ คำสรรเสริญชื่นชม คำติเตียนนินทา ความสุข และความทุกข์ต่างๆ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญอุเบกขาบารมี จะเป็นผู้ที่มีใจสงบเยือกเย็นมั่นคงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ดีหรือร้ายใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งท่านเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ “ถึงยามหัวเราะ ก็ไม่หัวเราะดัง ถึงยามร้องไห้ ก็ไม่ฟูมฟายคร่ำครวญ” แม้จะมีอารมณ์ผันแปรไปบ้าง แต่ท่านก็จะรักษาใจให้สงบกลับเป็นปกติได้โดยง่าย ถ้าหากเราวาดกราฟแสดงผลการทำงานของใจขึ้นมาสักอัน ผู้ที่ไม่มีอุเบกขาบารมี ก็จะมีกราฟที่ขึ้นๆ ลงๆ สูงบ้าง ต่ำบ้าง ผันแปรอยู่ร่ำไป ตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ แต่ผู้ที่มีอุเบกขาบารมี จะมีกราฟการทำงานของใจที่ราบเรียบ อาจจะขึ้นบ้างลงบ้างก็เพียงเล็กน้อย เหมือนระลอกคลื่นเล็กๆ บนผิวน้ำในสระ เมื่อเทียบกับคลื่นลูกโตๆ ในมหาสมุทร ซึ่งถ้าหากจะกล่าวเป็นภาษาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่า ผู้ที่มีอุเบกขาบารมีนั้นจะรักษาอารมณ์สงบสุขุมเอาไว้ได้ ในขณะที่ผู้ที่มีอุเบกขาบารมีน้อยจะ “เหวี่ยง” อยู่ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้เอง อุเบกขาบารมีจึงเป็นพลังอย่างหนึ่งของใจ ที่ดลบันดาลให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี มีสภาวะแห่งความเป็นผู้นำ พร้อมที่จะทำหน้าที่พระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นคุณธรรมที่ช่วยให้ผู้ประพฤติสามารถพัฒนาชีวิตและจิตใจของตนเองได้ และการวางอารมณ์เฉยนี้เอง ก็เป็นอีกสภาวะหนึ่งที่เอื้อต่อการทำสมาธิ และการเข้าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติสมาธิยิ่งๆ ขึ้นไป พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญอุเบกขาบารมี ย่อมได้ชื่อว่า ไม่ทำใจของต้นให้เดือดร้อน ด้วยประการทั้งปวง เมื่อไม่เดือดร้อน ก็ไม่ทุกข์ใจ ไม่แค้นเคือง ไม่โต้ตอบ และใจของผู้บำเพ็ญบารมีนี้ ก็สงบสุขอยู่เป็นปกติ

หากจะยกตัวอย่างของการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีในชีวิตประจำวัน ก็อย่างเช่น หากเราทำงานแล้วเกิดผิดพลาด ทำให้ถูกเจ้านายหรือผู้ร่วมงานตำหนิมากมาย อุเบกขาบารมีจะช่วยให้เราไม่เสียใจมากเกินไป และเราก็ไม่แค้นหรือชิงชังคนที่ตำหนิเรา แต่เราจะมีอารมณ์ที่สงบเยือกเย็น และเข้าใจถึงปัญหาได้ดีว่า เราต้องแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองเท่านั้น และการเสียใจหรือโมโหโกรธเกรี้ยวก็ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ หรือแม้แต่ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวของเราเสียชีวิต เราก็ไม่เศร้าโศกเสียใจเกินความจำเป็น แต่อาจจะรู้สึกสลดและเสียใจบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างผาสุกของเรา เพราะอุเบกขาบารมีจะทำให้เรารู้จักการปรับสภาพใจให้สงบเป็นปกติ ไม่ปล่อยให้ผันแปรไปตามอารมณ์ต่างๆ หรือแม้แต่ในยามที่มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้น อย่างเช่นได้รับรางวัลจากการชิงโชคหรือเล่นล็อตเตอรี่ เราก็ไม่ลิงโลดดีใจจนเกินไป จนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราเช่นกัน

ดุลยภาพอันเกิดจากบารมีที่สั่งสม

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า บารมีนั้นมีอยู่ 10 ด้าน แต่ละด้านเป็นเสมือนคุณธรรมแต่ละอย่าง ที่พระโพธิสัตว์ต้องสั่งสม และการบำเพ็ญบารมีด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ไม่สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะพระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมีให้ครบทั้ง 10 ด้าน ถ้าเปรียบกับการปรุงอาหาร ก็ต้องใส่เครื่องปรุงหลายอย่างภายในหม้อเดียว ซึ่งมีทั้งน้ำตาล เกลือ พริกไท กระเทียม ฯลฯ เพราะบารมีแต่ละด้านนี้ เมื่อสั่งสมรวมกันแล้ว ก็จะสร้างสมดุลให้แก่กันและกัน ทำให้พระโพธิสัตว์ไม่กลายเป็นบุคคลที่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น บุคคลผู้มีวิริยะบารมีมาก อาจจะมุมานะ ในการทำกิจใดกิจหนึ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย เรียกได้ว่า หากไม่สำเร็จก็จะไม่ยอมเลิกรา แต่ถ้าเผอิญว่า กิจนั้นเป็นกิจที่ไม่อาจกระทำได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่นการขุดหาสมบัติตามลายแทงขุมทรัพย์ซึ่งไม่มีอยู่จริง มันก็เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ พระโพธิสัตว์ก็ยังมีบารมีอื่น อย่างเช่นอุเบกขาบารมี เอาไว้คอยระงับความมุ่งมั่นอันเกินกว่าเหตุนั้น หรือแม้ว่าหากพระโพธิสัตว์รักการทำทาน ชอบที่จะทำทานอยู่เสมอ ก็ยังมีเนกขัมมะบารมี มาคอยระงับ ให้พระโพธิสัตว์รู้สึกอยากจะปลีกวิเวกเลิกข้องเกี่ยวกับผู้คนบ้าง แล้วหันมาอยู่อย่างสันโดษ เพื่อพัฒนาคุณธรรมด้านอื่นๆ หรือแม้แต่หากพระโพธิสัตว์มีใจเมตตาต่อผู้อื่นมากเกินไป จนกระทั่งสร้างปัญหาให้กับตนเอง ก็ยังมีอุเบกขาบารมี มาคอยช่วยถ่วงดุลให้กับพระโพธิสัตว์ เป็นต้น การสร้างบารมีจึงเกิดสมดุลในตัวเอง นอกจากนี้บารมีแต่ละด้านก็จะเกื้อหนุนกันและกันด้วย ยกตัวอย่างเช่นการมีปัญญาดีจะนำพาให้สร้างบารมีอื่นๆ ได้สำเร็จมากยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะการมีปัญญาจะทำให้ทราบว่าควรบำเพ็ญบารมีอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์หรือ “คุณ” ได้มาก เช่นปัญญาสอนตนเองให้รักษาศีล ให้ออกบวช เป็นต้น เมื่อบารมีทั้งหมดถูกสั่งสมรวมเข้าด้วยกัน และบารมีแต่ละอย่างก็พัฒนาเป็นคุณธรรมหรือบุคลิกภาพที่ดีในแต่ละด้าน เมื่อมีครบทั้ง 10 ด้าน ก็บังเกิดเป็นคุณธรรมในด้านต่างๆ และบุคลิกภาพประการต่างๆ ในบุคคลคนเดียวกัน ทำให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์และพรั่งพร้อม ที่จะรองรับการตรัสรู้ธรรม และทำหน้าที่เป็นศาสดาเอกของโลกได้

 

ประโยชน์แห่งการสั่งสมบารมี

เมื่อเราได้ศึกษาเรื่องราวของการพัฒนาตนจากบุคคลธรรมดามาเป็นพระพุทธเจ้าด้วยการสั่งสมบารมีทั้ง 10 ด้าน แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเราจะเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ก็ตาม การสั่งสมบารมีหรือคุณธรรมทั้ง 10 ด้านนั้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อตัวของเราเอง ในด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาชีวิต จิตใจ คุณธรรม และจริยธรรม ทั้งในแง่ของทางโลก และแง่ของทางจิตวิญญาณ ซึ่งเราสามารถอุปมาได้ว่า การสั่งสมบารมีนี้ จะก่อให้เกิดพลังงานอันบริสุทธิ์ขึ้นในใจของเรา และพลังงานเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกัน เช่นพลังงานที่ได้จากการทำทาน การรักษาศีล การบำเพ็ญเนกขัมมบารมี การมีเมตตา และอื่นๆ เป็นต้น พลังงานเหล่านี้เปรียบเสมือน สีต่างๆ ที่ล้วนซ่อนเร้นอยู่ในแสงแดด หรือที่เรียกว่าสเปคตรัม ทั้งนี้เพื่อเป็นการอธิบายว่าพลังงานที่เกิดขึ้นนี้ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มีอยู่จริง และเป็นพลังงานที่แตกต่างกันออกไปตามบารมีแต่ละด้าน เราจะสัมผัสถึงพลังงานเหล่านี้ได้ด้วยใจของเราเอง เมื่อเราทำทาน เราเกิดพลังขึ้นในใจแบบหนึ่ง เมื่อเรามีความวิริยะมุ่งมั่น เราก็เกิดพลังขึ้นในใจอีกแบบ เมื่อเรามีเมตตา หรือมีความรู้สึกวางเฉย เป็นอุเบกขา ใจของเราก็มีสภาวะต่างกันออกไป ตามแต่พลังงานบารมีจะเกิดขึ้นในใจ ดังนั้น กรรมที่ก่อให้เกิดบารมีทั้ง 10 ด้าน จึงเป็นเสมือนพลัง 10 ประการ ซึ่งเมื่อเรากระทำแล้ว พลังเหล่านั้นก็สถิตเข้าไปในใจเรา เหมือนแบตเตอรี่ที่ถูกชาร์จด้วยกระแสไฟฟ้า เช่นในขณะที่เราหาทางจะมอบของขวัญวันขึ้นปีใหม่ให้กับคนที่เรารัก หรือเด็กกำพร้า ใจของเราเปี่ยมไปด้วยพลังที่อยากจะให้และเสียสละอยู่ตลอดเวลา พลังเหล่านี้เองที่ถูกชาร์จเข้าไปในใจของเราเอง สะสมไว้เป็นทานบารมี การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์จึงหมายถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ คุณธรรม และอุปนิสัย รวมถึงสะสมพลังงานแห่งความดี ที่ต้องทำเรื่อยไปข้ามภพข้ามชาติ จนกระทั่งแบตเตอรี่นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความดี ซึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์สะสมจนเต็มแล้วก็สามารถที่จะดำรงตำแหน่งเป็นพระพุทธเจ้าได้ โดยนำพลังที่สะสมไว้ดีแล้วมาช่วยกำจัดกิเลสมลทินภายในใจ และนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับตนเอง และผู้อื่น ในการทำหน้าที่พระพุทธเจ้านั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลผู้สั่งสมบุญบารมี ไม่ได้ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ยังได้รับประโยชน์จากพลังบุญบารมีเหล่านี้ เพราะบุญบารมีเหล่านี้ เมื่อมีกำลังมากพอ ก็จะดลบันดาลให้บุคคลสามารถบรรลุธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน โคตรภูบุคคล ฌานลาภีบุคคล หรือแม้แต่เป็นกัลยาณชนก็ตาม บุคคลใดก็ตามที่มีพลังงานแห่งบารมีหรือพลังงานแห่งคุณธรรมเก็บสะสมเอาไว้ในใจมาก บุคคลนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเกิดมาเป็นคนดีมีศีลมีธรรมมีคุณธรรมและมีใจบริสุทธิ์มากกว่าคนปกติทั่วๆ ไป ที่ไม่ค่อยมีบารมีอยู่ในตัว ซึ่งมักจะโดนพลังงานฝ่ายต่ำ คือบาปอกุศลและกิเลสทั้งหลายครอบงำได้ง่ายกว่า ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเลือกที่จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ก็ตาม การสั่งสมบุญบารมีย่อมเป็นประโยชน์ต่อเราทั้งนั้น โดยไม่จำกัดเฉพาะว่าเราต้องเป็นชาวพุทธ เพราะแม้แต่พระโพธิสัตว์ บางชาติก็เกิดเป็นนักบวชในศาสนาอื่นๆ หรือแม้แต่เป็นดาบส ฤาษี ที่ไม่ได้บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะบารมีหรือคุณธรรม 10 ประการนั้นเป็นของกลาง เป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติหรือแม้แต่สัตว์ทั้งหลายสามารถกระทำได้เสมอเหมือนกัน โดยไม่เลือกว่า มีเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฐานะทางสังคม และเผ่าพันธุ์ใด และแม้แต่ศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่พุทธศาสนาก็ยังมีคุณธรรมหรือบารมีเหล่านี้ เป็นข้อปฏิบัติอยู่แล้วเช่นกัน อย่างเช่นการทำทาน การบริจาค การรักษาศีล ความรักความเมตตาเป็นต้น

สำหรับผู้ที่มีความปรารถนาว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตเบื้องหน้า ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีพร้อมกับหนังสือเล่มนี้ แม้ว่าบางทีท่านอาจจะเป็นพระโพธิสัตว์อยู่แล้ว และได้สร้างบารมีมาหลายชาติแล้ว เพียงแต่ชาตินี้ยังไม่รู้ตัว หรือจำอดีตไม่ได้เท่านั้น แต่ไม่ว่าท่านจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างบารมีชาตินี้เป็นชาติแรก หรือเป็นพระโพธิสัตว์ที่สั่งสมบารมีมาหลายชาติแล้ว อาจจะเป็นอนิยตโพธิสัตว์ หรือแม้แต่นิยตโพธิสัตว์ก็ตาม หลักเกณฑ์ในการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังคงเหมือนกัน นั่นก็คือการบำเพ็ญบารมี 10 ด้าน ทั้ง 3 ระดับ ด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์ ก็ตาม

เมื่อพระโพธิสัตว์บารมีเต็มบริบูรณ์

เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเต็มเปี่ยมครบทั้ง 30 ทัศ แล้ว ก่อนที่จะได้เกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจะต้องเป็นเทพบุตรพระโพธิสัตว์ รอคอยอยู่ ณ ในสวรรค์ชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4 จากบรรดา 6 ชั้น ตามคติพุทธศาสนา) ในระหว่างที่พระโพธิสัตว์เข้าลำดับรอคอยจะเป็นพระพุทธเจ้าอยู่นั้นเอง เมื่อถึงเวลาอีกหนึ่งพันปี จะครบกำหนดได้เป็นพระพุทธเจ้า โลกบาลเทวดาจักทราบว่าจะมีพระสัพพัญญูพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก จึงเที่ยวป่าวประกาศในหมู่ชาวสวรรค์ว่า ท่านทั้งหลาย นับแต่นี้ไปอีกหนึ่งพันปี พระสัพพัญญูพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก จึงเกิดความแตกตื่นโกลาหลกันขึ้น ราวกับผู้ที่ตกอยู่ในความมืดมิดเป็นระยะเวลาอันยาวนานแสนนาน ครั้นเมื่อได้เห็นแสงรำไรขึ้นมาที่ขอบฟ้าบอกให้รู้ว่าพระอาทิตย์ใกล้จะขึ้น ก็เกิดแตกตื่นดีอกดีใจเป็นอย่างยิ่งฉันนั้น เมื่อเทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้นได้ฟังเสียงโกลาหลเรื่องพระพุทธเจ้าแล้ว จึงร่วมประชุมกันในจักรวาลเดียว แล้วทราบว่า พระบรมโพธิสัตว์ชื่อนั้นจะได้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต แล้วกล่าวทูลเชิญว่าเป็นเวลาอันสมควรแล้วที่พระองค์จะลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อตรัสรู้ธรรม แล้วนำพาสรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์เข้าสู่นิพพาน เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้รับคำอาราธนาแล้ว จึงตรวจดูด้วยทิพยจักขุว่าเป็นกาลอันสมควรหรือไม่ โดยพิจาณาสิ่งต่างๆ 5 ประการดังนี้

1.      กาลสมัยนั้นเป็นที่สมควรหรือไม่ เพราะถ้าลงมาเกิดแล้ว มนุษย์มีอายุเกินกว่าหนึ่งแสนปี ย่อมไม่สมควร เพราะเป็นยุคที่มนุษย์ไม่ค่อยได้ประสบกับความแก่และความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเพื่อให้พ้นจากกฎไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มนุษย์จักไม่ซาบซึ้งและเข้าใจได้ จึงพากันไม่เชื่อถือ เป็นเหตุให้ไม่มีผู้ปฏิบัติตามและไม่มีการบรรลุธรรม พระองค์ก็จะไม่สามารถช่วยนำพาให้พ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าหากลงมาเกิดแล้ว มนุษย์มีอายุน้อยกว่าหนึ่งร้อยปี ย่อมไม่สมควรอีกเช่นกัน เพราะมนุษย์มีกิเลสมาก ย่อมไม่อยู่ในโอวาทคำสั่งสอน การบรรลุมรรคผลก็จะเป็นไปได้โดยยากเช่นกัน เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์จะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัยตั้งแต่ 100 ปี ถึง 100,000 ปี เท่านั้น

2.      เมื่อตรวจดูกาลแล้ว พระบรมโพธิสัตว์ก็จะพิจารณาถึงทวีป (โลกมนุษย์) ว่าควรจะไปบังเกิดในทวีปใด เพราะในหนึ่งจักรวาลนั้นมีโลกมนุษย์อยู่ด้วยกัน 4 โลก ตั้งอยู่ในทิศทั้ง 4 ของจักรวาล และทรงทราบว่าจะบังเกิดใน “ชมพูทวีป” (หมายถึงโลกมนุษย์ของเรานี้)   ได้เท่านั้น เพราะอีก 3 ทวีปนั้น ไม่เหมาะควรแก่การไปบังเกิดเป็

3.      พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพิจารณาต่อไปว่า ในชมพูทวีปนั้น ควรจะไปบังเกิดในประเทศใด ภายในชมพูทวีปนั้น ทรงตรวจดูประเทศที่เหมาะสม มีความเจริญและปลอดจากภัยสงครามทั้งปวง

4.     ลำดับต่อจากนั้น พระบรมโพธิสัตว์ทรงพิจารณาถึงตระกูลที่จะไปบังเกิด ทรงทราบว่าธรรมดาแล้วพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะบังเกิดใน สองตระกูลเท่านั้น คือตระกูลกษัตริย์ และตระกูลพราหมณ์ที่โลกยกย่อง หากในยุคใดมนุษย์ยกย่องตระกูลกษัตริย์ว่าสูงส่งที่สุด พระองค์จักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ แต่หากในยุคใดที่ยกย่องตระกูลพราหมณ์ว่าประเสริฐที่สุด พระองค์ก็จักบังเกิดในตระกูลพราหมณ์

5.      เมื่อทรงเลือกตระกูลแล้ว จึงทรงเลือกพระพุทธมารดาเป็นลำดับต่อไปว่า ใครสมควรจะเป็นมารดาของพระองค์ ธรรมดาแล้วพระพุทธมารดาย่อมเป็นสตรีที่เพียบพร้อมไปด้วยศีลธรรม และเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมาแสนกัป ตั้งความปรารถนาจะเป็นพุทธมารดา จึงทรงตรวจดูว่า ใครบ้างที่เหมาะควรจะเป็นมารดาของพระองค์ได้

เมื่อพระโพธิสัตว์พิจารณาดูมหาวิโลกนะ 5 ประการนี้ครบถ้วนแล้ว เห็นสมควรว่ามีความพร้อมที่จะบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าได้ จึงทรงรับอาราธนาของเหล่าเทวดาทั้งหลายด้วยการให้ปฏิญญา แล้วส่งเทวดาเหล่านั้นกลับ จากนั้นจึงเสด็จเข้าไปยังอุทยานนันทวันของสวรรค์ชั้นดุสิต เหล่าเทวดาทั้งหลายต่างพากันห้อมล้อมท่านและอวยพรท่านว่า ขอให้ระลึกถึงบุญบารมีที่ได้ทำไว้ในกาลก่อน ขอให้จุติแล้วจงไปสู่สุคติ (คือได้เกิดเป็นมนุษย์) เถิด เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เข้าไปยังอุทยานนันทวันของสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว จึงจุติจากการเป็นเทพบุตร ลงมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ในชมพูทวีป ภายในประเทศ และในครรภ์ของพุทธมารดาที่พระองค์มั่นหมายไว้

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิภายในพระครรภ์ของพุทธมารดาแล้ว   โลกธาตุทั้งสินก็ได้สะเทือนเลื่อนลั่นหวั่นไหวขึ้นพร้อมกันทันที พร้อมกับมีบุพนิมิต 32 ประการเกิดขึ้นชั่วระยะเวลาหนึ่งในหมื่นจักรวาล อันได้แก่ มีแสงสว่างหาประมาณมิได้แผ่ซ่านไป, พวกคนตาบอดกลับได้ดวงตา ประหนึ่งว่ามีความประสงค์จะดูพระสิรินั้นของพระโพธิสัตว์นั้น, พวกคนหูหนวกได้ยินเสียง, พวกคนใบ้พูดจาได้, พวกคนค่อมก็มีตัวตรง, พวกคนง่อยก็กลับเดินได้ด้วยเท้า, สัตว์ทั้งปวงที่ถูกจองจำก็หลุดพ้นจากเครื่องจองจำมีขื่อคาเป็นต้น ไฟในนรกทั้งปวงก็ดับ, ในเปรตวิสัย ความหิวระหายก็ระงับ, เหล่าสัตว์เดียรัจฉานก็ไม่มีความกลัว. โรคของสัตว์ทั้งปวงก็สงบ, สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็พูดจาด้วยถ้อยคำอันน่ารัก, ม้าทั้งหลายต่างหัวเราะด้วยอาการอันไพเราะ, ช้างทั้งหลายต่างก็ร้อง, ดนตรีทุกชนิดต่างก็เปล่งเสียงกึกก้องของตนๆ, เครื่องอาภรณ์ที่สวมอยู่ในมือเป็นต้นของพวกมนุษย์ ไม่กระทบกันเลย ก็เปล่งเสียงได้, ทั่วทุกทิศแจ่มใส, สายลมอ่อนเย็นก็รำเพยพัด ทำความสุขให้เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย, เมฆฝนที่มิใช่กาลก็ตกลงมา, น้ำก็พุแม้จากแผ่นดินไหลไป, พวกนกก็งดการบินไปในอากาศ, แม่น้ำทั้งหลายก็หยุดนิ่งไม่ไหล. มหาสมุทรมีน้ำมีรสหวาน, พื้นน้ำก็ดาดาษด้วยปทุม 5 สี มีทั่วทุกแห่ง, ดอกไม้ทุกชนิดทั้งที่เกิดบนบกและเกิดในน้ำก็เบ่งบาน, ดอกปทุมชนิดลำต้นก็บานที่ลำต้น, ดอกปทุมชนิดกิ่งก็บานที่กิ่ง, ดอกปทุมชนิดเครือเถาก็บานที่เครือเถา, ดอกปทุมชนิดก้านก็ชำแรกพื้นศิลาทึบ เป็นดอกบัวซ้อนๆ กันออกมา, ดอกปทุมชนิดห้อยในอากาศก็บังเกิดขึ้น, ฝนดอกไม้ก็ตกลงมารอบด้าน, ดนตรีทิพย์ต่างก็บรรเลงในอากาศ

พระพุทธมารดาตั้งพระครรภ์แล้ว เมื่อถึงเวลาคลอดทรงประทับยืนแล้วให้ประสูติแก่พระบรมโพธิสัตว์โดยสะดวกราบรื่น โดยปราศจากสิ่งปฏิกูลเปรอะเปื้อนต่างกับหญิงอื่นๆ ที่คลอดบุตร ครั้นให้ประสูติแล้ว บุพนิมิต 32 ประการก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเวลาล่วงไป 7 วัน พระพุทธมารดาก็สวรรคต แล้วไปบังเกิดเป็นเทพในสวรรค์ชั้นดุสิต เนื่องจากว่าพระครรภ์ของพระพุทธมารดา ไม่สามารถรองรับใครได้อีก นอกจากพระบรมโพธิสัตว์เท่านั้น เมื่อพระโพธิสัตว์เจริญวัยขึ้น ได้ใช้ชีวิตฆราวาสอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงออกบวช บำเพ็ญเพียร แล้วได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศธรรม นำพาสรรพสัตว์ให้บรรลุธรรมตาม เมื่อถึงคราวหมดอายุขัย พระองค์ก็ทรงดับขันธปรินิพพาน โดยพระศาสนาของพระองค์จะยังคงอยู่อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ จนเมื่อถึงคราวหมดระยะเวลาแห่งพระพุทธศาสนาของพระองค์ พระพุทธศาสนาก็หมดสูญสิ้นไปจากโลก ทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ก็อันตรธานไปจนหมด และจบสิ้นพุทธกาลแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เหล่าสรรพสัตว์ที่ยังคงเหลืออยู่ในวัฏสงสาร ก็ต้องรอคอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่มาตรัสรู้ในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า เพื่อที่จะได้ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และตรัสรู้ธรรมต่อไป ประดุจนักโทษภายในคุก ที่รอคอยผู้มาช่วยเหลือ นำพาออกจากคุกฉันนั้น

หากท่านปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว หากท่านมีความปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครู ทำหน้าที่ถ่ายทอดธรรมะ คือความเป็นจริงของสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ เพื่อนำพาสรรพสัตว์ไปสู่การบรรลุธรรม และหลุดพ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสาร ก้าวเข้าสู่สภาวะของพระนิพพาน อีกพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า ก็ขอให้ท่านได้ระลึกถึงภารกิจอันสำคัญยิ่งในการทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า และตั้งความปรารถนา ไม่ว่าจะอธิษฐานภายในใจ หรือเปล่งวาจาเพื่ออธิษฐาน ว่าขอเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้สั่งสมคุณธรรมความดีงามทั้ง 30 ทัศ ดำรงชีพอยู่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ในกุศลธรรมให้กับตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย จนกว่าจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสาร เข้าสู่พระนิพพานโดยถ้วนหน้ากัน โดยท่านอาจจะอธิษฐานระบุชัดเจนลงไปอีกก็ได้ว่า จะขอเป็น พระพุทธเจ้าผู้สั่งสมบารมีโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ มีศรัทธา หรือมีความวิริยะเป็นตัวนำก็ได้ตามแต่ปรารถนา

หากท่านใดก็ตาม ที่ตั้งความปรารถนาหรือเอ่ยวาจาปวารณาได้อย่างเต็มความตั้งใจ มีความปรารถนาที่จะสั่งสมบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงแล้ว ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็น “พระโพธิสัตว์” อีกพระองค์หนึ่งแล้ว นับเป็นที่น่าชื่นชมอนุโมทนายินดี ก็ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในการสร้างบารมีของท่านจนกว่าจะสมความปรารถนาในการเป็นพระพุทธเจ้า หรือ พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ถ้าหากท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อยกว่า มีความปรารถนาจะเป็นพระอริยสาวกเท่านั้น ก็ขอให้ท่านได้ประสบความสำเร็จโดยง่าย โดยไม่ลืมว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการตรัสรู้ธรรมหรือบรรลุธรรมนั้น คือกำลังบุญบารมีที่สั่งสมเอาไว้จนถึงพร้อมนั่นเอง และไม่ว่าท่านจะเป็นนิยตโพธิสัตว์, อนิยตโพธิสัตว์, ปัจเจกโพธิสัตว์, หรือพุทธสาวกบุคคลผู้ปรารถนาจะเป็นพระอริยเจ้า ก็ขอให้ร่วมแรงร่วมใจกัน ทำภารกิจทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตน และ/หรือ ประโยชน์ส่วนรวม ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ตั้งความปรารถนาดีต่อกันและกันอยู่เสมอ ไม่แข่งขันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเองด้วยอำนาจแห่งกิเลส แต่ขอให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วยน้ำใจไมตรี เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างบรรลุถึงเป้าหมายปลายทางในการสร้างบารมีของตนอย่างปลอดภัยและโดยสวัสดิภาพในที่สุดเทอญฯ

  

คำอธิษฐานจิตสำหรับพระโพธิสัตว์

ด้วยเดชแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้วทั้งหมด ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมเป็น [1. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า] [2. เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า] [3. เป็นพระอรหันต์] [4. เป็นพระอริยบุคคล] ขอบุญดลบันดาลให้กาย วาจา ใจ ของข้าพเจ้าสะอาดบริสุทธิ์สว่างไสวตลอดเวลา มีกิเลสเบาบางหรือไม่มีเลย สมบูรณ์พร้อมด้วยมงคลชีวิต 38 ประการ, คุณธรรม, คุณวิเศษ, อายุ, วรรณะ, สุขะ, พละ, ปฏิภาณ, โลกียทรัพย์, โลกุตรทรัพย์, มนุษยสมบัติ, สวรรค์สมบัติ, นิพพานสมบัติ, ธรรมสมบัติ, มรรค, ผล, นิพพาน, จักขุ, ญาณ, ปัญญา, วิชชา และแสงสว่าง

ขอวิบากกรรม, วิบากมาร, บาป, อกุศล, และมลทินทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมลายหายสูญสิ้น เหลือแต่กุศลธาตุกุศลธรรม ขอให้มีทรัพย์อันบริสุทธิ์จำนวนมากเอาไว้ใช้ทำความดี ได้มาโดยง่ายและมีบริวารผู้ซื่อสัตย์ช่วยดูแลทรัพย์ และไม่มีทุกข์มีโทษหรือมีภัยเพราะทรัพย์นั้น ขอให้มีชื่อเสียงอันดีงาม ยังตนให้เป็นผู้ทรงคุณธรรม เป็นที่รัก เคารพ นับถือ เชื่อถือของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้เป็นผู้นำมหาชนในการสร้างความดี เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เจริญรุ่งเรือง และยังอกุศลธรรมให้หมดสิ้นไป

ขอให้มีปัญญามาก มีฤทธิ์เดชอานุภาพมาก ให้ได้เป็นบัณฑิต นักปราชญ์ ผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีธรรมบริสุทธิ์ มีเพศบริสุทธิ์ หากปรารถนาจะเป็นชาย ก็ขอให้ได้เป็นชาย ขอให้ข้าพเจ้าทรงไว้ด้วยปฏิสัมภิทาญาณ 4 ขอให้ระลึกชาติได้และเห็นอนาคตได้มากๆ ทั้งของตนเองและผู้อื่น ประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดรอดฝั่ง ในทุกชาติทุกภพ เพื่อให้รองรับบุญบารมีมากยิ่งขึ้น ให้เป็นอาจารย์, เป็นศิษย์, เป็นผู้นำ, เป็นผู้ตาม, และเป็นนักปกครองที่ดี ปราศจากทิฐิมานะ และอคติ 4 เพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและส่วนรวม  ขอให้ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า, พระอริยบุคคล และโคตรภูบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิแต่เพียงส่วนเดียว ให้ได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งทำบุญกับท่าน ขอให้ท่านเป็นเนื้อนาบุญและเป็นกัลยาณมิตรให้กับข้าพเจ้าด้วย โดยขอให้ข้าพเจ้าอยู่ในโอวาทของท่านผู้เป็นสัมมาทิฐิแต่เพียงส่วนเดียวนั้นเป็นอันดี

ขอให้ข้าพเจ้าทรงอภิญญา อายุขัยยืนยาวนานมากเป็นพิเศษ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ปราศจากความทุกข์ทรมานกายและใจทั้งปวง หมดโรค หมดภัย หมดเวร หมดกรรม สุขภาพและพลานามัยดีเยี่ยม สดชื่น แข็งแรง กำลังวังชาดี ตลอดอายุขัยในทุกชาติ เมื่อทำงานสร้างบารมีก็ให้ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุนเป็นอย่างดีจากมหาชน ไม่มีมาร ไม่มีใครเบียดเบียนหรือขัดขวาง แต่ถ้าข้าพเจ้าจะทำความชั่ว ขอให้มีคนมาห้ามและตักเตือน มาแนะนำด้วยจิตปรารถนาดี เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าไม่สามารถกระทำการอกุศลทั้งหลายได้เลย ขอให้คิด, พูด และทำบาปไม่ได้ ทำบาปไม่ขึ้น แต่ทำความดีขึ้น เป็นเหตุให้ท่องอยู่แต่ในสุคติภูมิเท่านั้น ตราบเท่าบรรลุมรรคผลนิพพาน

ขอให้ข้าพเจ้าไม่มีศัตรูเลย ให้มีจิตเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย และสรรพสัตว์ทั้งหลายก็มีต่อข้าพเจ้าเช่นกัน ข้าพเจ้าทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับใคร ก็ขอให้ประสบความสำเร็จโดยง่าย  ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปอยู่ในประชุมชนใด ก็ขอให้ประชุมชนนั้น มีแต่ความรักความปรารถนาดี สมัครสมานสามัคคีในการทำความดี ให้ข้าพเจ้ามีบริษัทบริวารที่เป็นคนดีมีคุณภาพ มีศีลมีธรรมเป็นอันมาก ให้ได้ร่วมกันทำความดีอย่างสมัครสมานสามัคคี ไม่ว่าจะไปอยู่ในที่แห่งใด ก็ขอให้ที่แห่งนั้นมีสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลภาวะ สะอาด บริสุทธิ์ เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การอยู่อาศัย ปฏิบัติธรรม และสร้างบารมี โดยขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่รักและหมั่นเพียรในการปฏิบัติธรรมและสั่งสมบุญบารมีทั้ง 30 ทัศ มีโอกาสปฏิบัติธรรมและสร้างบารมีเป็นอันมาก ขอให้ข้าพเจ้าและบริวารพ้นจากภัยทั้งปวงในวัฏสงสาร พ้นจากความเสื่อมทั้งปวง รวมถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย อันนำมาซึ่งความทุกข์ ขอให้มีวัยงาม ไม่แก่ไม่ชรา เป็นเหมือนเทวดาที่ไม่แก่ ไม่ป่วย รูปร่างหน้าตาสวยงาม ในยุคที่ข้าพเจ้าเกิดมาขออย่าได้มีสุราและสิ่งเสพติดให้โทษ ให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่มีรสโอชาและมีประโยชน์มาก เป็นเหตุให้มนุษย์และสัตว์นิยมรับประทานพืชพันธุ์ธัญญาหารนั้น และไม่ต้องรับประทานเนื้อสัตว์

ขอใครอย่ามาทำบาปกับข้าพเจ้า ให้มีแต่คนมาทำบุญด้วย และข้าพเจ้าก็อย่าได้ทำบาปกับใคร ให้ทำแต่บุญ ขอข้าพเจ้าอย่าได้ขัดขวางใครในการทำความดี และใครก็อย่าได้มาขัดขวางข้าพเจ้า ขอข้าพเจ้าและบริวารอย่าได้มีมารผจญ และข้าพเจ้าพร้อมทั้งบริวารก็อย่าได้เป็นมารของใคร ให้ข้าพเจ้ามีความศรัทธาเลื่อมใสเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัยเป็นอันมากอยู่เป็นปกติ

ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดในครอบครัวสัมมาทิฐิ ได้ทำความดีตั้งแต่เยาว์วัย เป็นผู้ที่มีสติปัญญาสูง (IQ) มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) สูง บิดา มารดา พี่น้อง หมู่ญาติ เป็นคนดี มีคุณธรรม มีศีลธรรม ถ้าจะออกบวชก็ขอให้ได้ออกบวชโดยง่ายมีแต่ผู้อนุโมทนา และสนับสนุน ไม่มีใครขัดขวาง ขอให้ข้าพเจ้ามีรูปกายสมบูรณ์มีอวัยวะครบถ้วน ละม้ายคล้ายคลึงใกล้เคียง ได้ลักษณะมหาบุรุษยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งรูปสมบัติ และคุณสมบัติ ในทุกชาติทุกภพ จนกระทั่งเต็มส่วนบริบูรณ์ในที่สุด ขอให้เป็นผู้ที่มีมารยาท อากัปกิริยา และเสขิยวัตร อันดีงาม เมื่อเอ่ยปากกล่าวสิ่งใดก็ขอให้เป็นกุศลวาจาอยู่เสมอ ให้เก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งดนตรี การกีฬา และศิลปะวิทยา มีความรู้ความสามารถรอบด้านที่ไม่เป็นข้าศึกต่อกุศล ตื่นแต่เช้าทุกวันด้วยความสดชื่น เพื่อสวดมนต์ เจริญภาวนา ทำความดี หลับเป็นสุข ฝันก็ฝันแต่สิ่งดีเป็นสิริมงคล ฝันเห็นอนาคต หรือเหตุการณ์ที่ให้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสั่งสมบุญสร้างบารมี นอนหลับแต่พอดี บริโภคอาหารที่มีประโยชน์แต่พอดี

ขอให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจอันมหาศาลในการสร้างบารมีทั้ง 30 ทัศ ให้มีปัญญาญาณอันเยี่ยมยอด รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธาตุในธรรมทั้งหลาย ในสรรพวิชาอันสมควรทั้งทางโลกและทางธรรม มีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในวิชชาทั้ง 3 คือวิชชาของฝ่ายกุศลาธรรมา วิชชาของฝ่ายอกุศลาธรรมา และวิชชาของฝ่ายอัพยากตาธรรมา เมื่อรู้แล้วก็สามารถแก้ไขสรรพสัตว์และสรรพสิ่งให้กุศลธาตุและกุศลธรรมกลับมาเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูได้ ในขณะที่อกุศลธาตุ และอกุศลธรรมทั้งหลายมลายหมดสิ้นไป

ขอให้มีบุญลาภ ได้ทำบุญใหญ่ กับเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์มาก โดยมีจิตใจผ่องใสปลื้มปีติ ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ ขอให้ข้าพเจ้าปลื้มปีติในบุญของตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่มีทิฐิมานะ ขอให้มีอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัยและปลอดภัยของยุคที่ข้าพเจ้าเกิดมา คอยช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างบารมีทั้ง 30 ทัศ ทำให้ประหยัดเวลาและทุ่นแรง ขอให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้บริสุทธิ์คอยคุ้มครองรักษาและดูแลตลอดอายุขัย ขอให้ข้าพเจ้า เป็นผู้ที่รักสงบ มักน้อย สันโดษ พอใจตามมีตามได้ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่ติดลาภสักการะ ไม่ติด ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ของคนสัตว์สิ่งของ มีรูปสมบัติอันประเสริฐ มีทรัพย์สมบัติมาก มีคุณสมบัติเลิศล้ำ มีบริวารสมบัติพรั่งพร้อม มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันอุดม แต่มีกิเลสเบาบาง จนถึงขั้นไม่มีกิเลสเลย แต่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมและคุณวิเศษ

ขอให้คำอธิษฐานทั้งปวงของข้าพเจ้าส่งผลเรื่อยไป และให้ได้สั่งสมบุญบารมีมากขึ้นอีก แล้วอธิษฐานตอกย้ำอีก ขอให้ข้าพเจ้าได้ทราบคำอธิษฐานดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อข้าพเจ้าและสรรพสัตว์ทั้งหลายยิ่งๆ ขึ้นไป แม้เกิดมาในภพชาติใหม่ก็ไม่ลืม ให้ได้อธิษฐานในสิ่งที่ดีงามซ้ำอีก คำอธิษฐานดีๆ ที่ข้าพเจ้าอธิษฐานเองและมีผู้อื่นอธิษฐานให้ ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อการสร้างบารมีทั้ง 30 ทัศ เป็นไปเพื่อกุศลธาตุ กุศลธรรม และสัมมาทิฐิ ขอจงบรรลุผลสำเร็จโดยง่ายโดยเร็วพลันเรื่อยไป ส่วนคำอธิษฐานใดที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ แต่จะเป็นทุกข์เป็นโทษต่อข้าพเจ้าและผู้อื่น ก็ขออย่าได้อธิษฐานเอง หรืออย่าได้มีผู้ใดอธิษฐานถึงข้าพเจ้า หากพลาดพลั้งอธิษฐานไป ก็ขอให้เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี เป็นจากโทษกลายเป็นคุณแม้ทั้งหมด

ขอให้ข้าพเจ้าได้บุญบารมีบริสุทธิ์ปริมาณมาก โดยบารมีทั้ง 30 ทัศ เต็มเร็วโดยไม่ต้องทนทุกข์ยากลำบาก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีบุญลาภ ได้สร้างบุญใหญ่อยู่บ่อยๆ สร้างโดยง่าย โดยสะดวกราบรื่น สำเร็จโดยง่าย ชวนใครมาร่วมบุญ ก็ขอให้ทุกคนเต็มใจช่วยอย่างบริสุทธิ์สุขกายสุขใจ ใครมาชวนข้าพเจ้าร่วมบุญ ก็ขอให้ข้าพเจ้าร่วมบุญด้วยความบริสุทธิ์สุขกายสุขใจเช่นกัน ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้คนจำนวนมากด้วยจิตบริสุทธิ์ และผู้คนจำนวนมากก็เป็นกัลยาณมิตรให้กับข้าพเจ้าด้วยจิตบริสุทธิ์เช่นกัน ขอให้ข้าพเจ้าได้มีครูบาอาจารย์ที่ดี มีศีล มีคุณธรรม มีคุณวิเศษ มีภูมิรู้ภูมิธรรมอันบริสุทธิ์บริบูรณ์คอยแนะนำสั่งสอน

หากมาตรแม้นว่าข้าพเจ้าไม่ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอริยบุคคล และขอให้สมัครสมานสามัคคีกันกับพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย หากข้าพเจ้าบรรลุธรรมแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญอิทธิบาทสี่ เพื่อยืดอายุขัยออกไปอีก และยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่นเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ให้ได้เข้านิพพานโดยเจริญอิทธิบาทสี่ หากภพชาติใดข้าพเจ้าได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ข้าพเจ้าและบริษัทบริวารได้ร่วมกันอาราธนาพระองค์ทรงเจริญอิทธิบาท 4 ประการด้วย และในยุคที่ข้าพเจ้าบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ขอให้มีพระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนพระศาสนาของข้าพเจ้า แต่ถ้าข้าพเจ้ายังคงเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีอยู่ ก็ขอให้ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ที่คอยอุปถัมภ์สนับสนุนและปกป้องคุ้มครองพระศาสนาของพระสัมมาพุทธเจ้าทั้งหลาย

ข้าพเจ้าขอน้อมบุญกุศลทั้งปวงบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต และขออุทิศบุญกุศลทั้งปวงของข้าพเจ้าแด่พระอริยบุคคล โคตรภูบุคคล ฌานลาภีบุคคล กัลยาณชน พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย บุตรหลาน ญาติมิตร ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร ของข้าพเจ้าในทุกภพทุกชาติ เทวดา พรหม อรูปพรหม กายทิพย์ กายละเอียด ทั้งหลาย ทั้งในสุคติภูมิ และทุคติภูมิ ท่านใดที่ได้รับบุญแล้ว ขอบุญนั้นดลบันดาลให้ท่านมีความสุข มีมงคลชีวิต 38 ประการ เป็นสัมมาทิฐิบุคคลผู้รู้เห็นและเข้าใจโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริง และท่องอยู่แต่ในสุคติภูมิเทอญ ส่วนเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของข้าพเจ้าเมื่อได้รับบุญแล้วขอให้มีความสุขแล้วมีจิตเมตตาอโหสิกรรมให้กับข้าพเจ้าทุกท่าน ถ้าหากเจ้ากรรมนายเวรได้รับบุญแล้ว แต่ยังไม่อโหสิกรรมให้ ขอให้ข้าพเจ้าและเจ้ากรรมนายเวรอย่าได้พบอย่าเจอะ อย่าได้เจอกัน เพื่อมิให้ต้องก่อเวรต่อกันและกัน จนกว่าจะอโหสิกรรมกันได้ ขอข้าพเจ้าอย่าได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชดใช้วิบากกรรมของใคร และใครอย่าได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชดใช้วิบากกรรมของข้าพเจ้าเลย

ขอให้ผู้อื่นได้มีโอกาสอธิษฐานคำอธิษฐานของข้าพเจ้าเหล่านี้เป็นอันมาก และขอให้คำอธิษฐานอันดีงามทั้งปวงของข้าพเจ้าส่งผลตลอดภพตลอดชาติ และทุกภพทุกชาติ คำอธิษฐานและผังทั้งหลายที่ตั้งขึ้นนี้ ขอให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในบุญกุศล คุณงามความดี กุศลธาตุกุศลธรรม และสัมมาทิฐิแต่เพียงอย่างเดียว และเพื่อประสบความสำเร็จในการสั่งสมบุญสร้างบารมีทั้ง 30 ทัศให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ไปสู่พระนิพพานโดยสะดวก โดยเร็วพลัน โดยราบรื่น เบิกบาน สมปรารถนา มีความสุขกาย สุขใจ บริสุทธิ์ เป็นสิริมงคล เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม แต่เพียงอย่างเดียวล้วนๆ ทุกภพทุกชาติ ส่งผลอย่างเหมาะสม เหมาะควร ดีงาม พอดี ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ ทั้งในแง่ของระยะเวลา และช่วงเวลาอันเหมาะสม เพื่อประโยชน์สุขในฝ่ายกุศลาธรรมาสัมมาทิฐิแต่เพียงส่วนเดียวทั้งสิ้น โดยไม่มีบาป วิบัติ ทุกข์ โทษ และมลทินใดๆ เจือปนเลยแม้แต่น้อยตลอดไป จงทุกประการเทอญ... นิพพานะ ปัจจโยโหตุ

คำอธิษฐานทั้งปวงนี้ ขอใครก็ตาม อย่านำไปใช้ในทางที่เกิดโทษได้เลย ขอใครอย่าสามารถทำลายคำอธิษฐานอันดีงามเหล่านี้ได้ ขอให้ผู้คิดทำลายล้างเหล่านั้นกลับตัวกลับใจเป็นคนดี เป็นบัณฑิต เป็นสัมมาทิฐิแต่เพียงส่วนเดียว ด้วยอานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์เทอญ

 

คำอธิษฐานอย่างสั้น: “ขอให้คำอธิษฐานจิตสำหรับพระโพธิสัตว์ที่ข้าพเจ้าเคยอธิษฐานไว้ดีแล้วจงส่งผลสำเร็จ อย่างเหมาะสม เหมาะควร ลงตัว เรียบร้อย ดีงาม จงทุกประการเทอญ”


วิธีปฏิบัติธรรม

1.        นั่งในท่าที่ผ่อนคลายสบายๆ จะนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งเก้าอี้ก็ได้

2.        สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ สักสามสี่ครั้ง เพื่อให้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

3.        นึกถึงดวงแก้วกลมใสสะอาดขนาดเท่าแก้วตา ที่ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา

4.        ภาวนา “สัมมา อะระหัง” 3 ครั้ง ขณะที่ใจจรดอยู่กับนิมิตดวงแก้วกลมใส ณ ปากช่องจมูก

5.        เคลื่อนภาพนิมิตดวงแก้วไปที่หัวตา บริเวณน้ำตาไหล หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา

6.        ภาวนา “สัมมา อะระหัง” 3 ครั้ง ขณะที่ใจจรดอยู่กับนิมิตดวงแก้วกลมใส ณ หัวตา

7.        เคลื่อนภาพนิมิตดวงแก้วไปที่กึ่งกลางศีรษะ ระดับเดียวกับดวงตา

8.        ภาวนา “สัมมา อะระหัง” 3 ครั้ง ขณะที่ใจจรดอยู่กับนิมิตดวงแก้วกลมใส ณ กึ่งกลางศีรษะ

9.        เคลื่อนภาพนิมิตดวงแก้วไปที่ปากช่องคอ บริเวณที่อาหารสำลัก

10.    ระหว่างเคลื่อนภาพนิมิต ให้เหลือกตาทั้งสองข้างขึ้นข้างบนพยายามย้อนกลับเข้าข้างใน

11.    เมื่อภาพนิมิตดวงแก้วมาถึงปากช่องคอ ปล่อยให้ดวงตากลับเข้าที่ คืนตำแหน่งเดิม

12.    ภาวนา “สัมมา อะระหัง” 3 ครั้ง ขณะที่ใจจรดอยู่กับนิมิตดวงแก้วกลมใส ณ ปากช่องคอ

13.    เคลื่อนภาพนิมิตดวงแก้วไปที่จุดเหนือลูกกระเดือก

14.    ภาวนา “สัมมา อะระหัง” 3 ครั้ง ขณะที่ใจจรดอยู่กับนิมิตดวงแก้วกลมใส ณ จุดเหนือลูกกระเดือก

15.    เคลื่อนภาพนิมิตดวงแก้วลงไปที่กลางลำตัวระดับสะดือ

16.    ภาวนา “สัมมา อะระหัง” 3 ครั้ง ขณะที่ใจจรดอยู่กับนิมิตดวงแก้วกลมใส ณ กลางลำตัวระดับสะดือ

17.    เคลื่อนภาพนิมิตดวงแก้วขึ้นข้างบนเหนือจากระดับสะดือเป็นระยะ 2 นิ้วมือ คือ ศูนย์กลางกาย

18.    ภาวนา “สัมมา อะระหัง” เรื่อยไปจนกว่าใจจะสงบ ขณะที่ใจจรดอยู่กับนิมิตดวงแก้วกลมใส ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือนั้น

ประวัติผู้แต่ง

Pittaya Wong หรือ พิทยา ทิศุธิวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2518 เรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เรียนระดับมัธยมปลายที่ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา (University of Washington, Seattle) โดย Pittaya Wong ได้รับการปลูกฝังจากบิดามารดา ให้สนใจในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยการพาไปไหว้พระทำบุญที่วัดต่างๆ และสวดมนต์ ทั้งนี้ Pittaya Wong ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจากนิตยสารเกี่ยวกับอภิญญาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่บิดามารดาซื้อมาอ่านอยู่เป็นประจำ รวมถึงพระไตรปิฎกฉบับประชาชน และเมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิล ก็ได้ศึกษาตำราพระพุทธศาสนาต่างๆ ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เมื่อกลับมาอยู่ประเทศไทย ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการแปลภาษาไทย-อังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการแปลบทนำนั่งสมาธิ อย่างไรก็ตาม Pittaya Wong มีอันต้องคืนปริญญาบัตร ระดับปริญญาโทนี้ ให้แก่ผู้มอบทุนการศึกษา เพื่อระงับอธิกรณ์ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว Pittaya Wong ก็ได้มีโอกาสบรรพชาอุปสมบท ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากลาสิกขาแล้ว จึงเริ่มทำงานเขียนและงานแปล ทั้งภาคภาษาไทยและอังกฤษ พร้อมทั้งสร้างเว็บไซท์ www.meditation101.org เพื่อเผยแพร่ผลงานเป็นธรรมทาน โดยอาศัยทุนทรัพย์ส่วนตัวที่ได้จากการทำงานประจำ