10. เรื่องกายสิทธิ์พระจักรพรรดิ

เล่าเรื่อง พระจักรพรรดิ และกายสิทธิ์

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 8B

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โดย ครูวิชชา และ พิรจักร ทิศุธิวงศ์ (Pittaya Wong)

www.meditation101.org

 

 พระจักรพรรดิคืออะไร? กายสิทธิ์คืออะไรทำไมจึงเรียกลูกแก้วว่าจักรพรรดิทำไมจึงเรียกซ้ำกันกับพระเจ้าจักรพรรดิราชที่เป็นมนุษย์พระจักรพรรดิมาจากไหนทำอย่างไรจึงจะได้เป็นพระจักรพรรดิหากท่านเป็นอีกผู้หนึ่งที่สนใจเรื่องพระจักรพรรดิและกายสิทธิ์ แต่สับสนกับความหมาย และที่มาที่ไปของคำว่าพระจักรพรรดิ และกายสิทธิ์ เรามีคำตอบให้เป็นเนื้อหาสาระความรู้แบบบุฟเฟต์ เสริฟให้ตักตวงอ่านฟรีกันเต็มที่ทั่วโลกอย่างอิ่มอกอิ่มใจครับ

 

คำว่า “จักรพรรดิ” มีปรากฏใช้ในหลายกรณี คือ

(1) พระเจ้าจักรพรรดิราช ซึ่งเป็นมนุษย์ คือพระมหากษัตริย์ปกครองจักรวาล

(2) องค์พระเทวจักรพรรดิ คือเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ยิ่ง เป็นใหญ่ปกครองสวรรค์ทุกชั้น ภายในแต่ละจักรวาล ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นสักพระองค์หนึ่ง

(3) พระจักรพรรดิ (พระจักรฯ) คือบุคคล ไม่ว่าจะเป็นกายละเอียด หรือกายมนุษย์ ที่บำเพ็ญบารมีในสายจักรฯ มี "กายในวิชชา" เป็นกายทรงเครื่องพระจักรพรรดิ [ในทำนองเดียวกันกับที่บางบุคคลอื่นมี "พระธรรมกาย" เป็นกายในวิชชาอยู่ภายใน]

(4) กายสิทธิ์พระจักรพรรดิ คือ ทิพยะกลกายชั้นสูง

โดยมีสาระดังต่อไปนี้:

 

(1) พระเจ้าจักรพรรดิราช

คือมนุษย์ ซึ่งดำรงยศเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครอบครองรัตนะ 7 ของหยาบที่จับต้องได้และเห็นได้ด้วยตามนุษย์ อันได้แก่ จักรแก้วแก้วมณีขุนพลแก้วขุนคลังแก้วนางแก้วช้างแก้วและม้าแก้ว มีแสนยานุภาพปกครองตลอดทั่วทั้งจักรวาล

ทั้งนี้ พระเจ้าจักรพรรดิราช สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้

(1ก)  พระจักรพรรดิราชพุทธเจ้า คือพระโพธิสัตว์ที่ทรงตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงตรัสเรียกรัตนะ 7 ขึ้นมาครอง สำเร็จเป็นทั้งพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิราชในเวลาเดียวกัน

(1ข)  พระจักรพรรดิราชปัจเจกพุทธเจ้า คือพระปัจเจกโพธิสัตว์ที่ทรงตรัสรู้ธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงตรัสเรียกรัตนะ 7 ขึ้นมาครอง สำเร็จเป็นทั้งพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิราชในเวลาเดียวกัน

(1ค)  พระสมณะจักรพรรดิราช คือพระเจ้าจักรพรรดิราช ที่ได้ทรงครอบครองรัตนะ 7 ปกครองทั้งจักรวาลแล้ว ทรงออกผนวช โดยมิได้สละราชสมบัติและรัตนะ 7

(1ง)  พระเจ้าจักรพรรดิราช คือพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงครอบครองรัตนะ 7 ปกครองทั้งจักรวาลในฐานะฆราวาส

ทั้งนี้ ในจักรวาลของเรา (เรียกว่า “มงคลจักรวาล”) เคยมีเฉพาะ “พระเจ้าจักรพรรดิราช” เท่านั้น ส่วน พระจักรพรรดิราชพุทธเจ้าพระจักรพรรดิราชปัจเจกพุทธเจ้าและพระสมณะจักรพรรดิราช นั้นมีอยู่ในจักรวาลอื่นๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น จากการที่ “ครูวิชชา” ได้ร่วมกันกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ทรงตรัสเรียก “รัตนะ 7” ขึ้นมาครองโดยชอบ เพื่อความร่มเย็นและมั่นคงของพระศาสนา สามารถไปมาหาสู่กันในหมู่พระพุทธเจ้าได้ด้วยจักรแก้ว และติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านแก้วมณี ส่วนพระสมณะจักรพรรดิราช ก็คือพระเจ้าจักรพรรดิราช ที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในจักรวาลอื่นๆ หรือจักรวาลเดียวกัน แล้วทรงออกผนวชโดยมิได้สละรัตนะ 7 มีอำนาจปกครองทั้งพระศาสนจักรและราชอาณาจักรในเวลาเดียวกัน

 

(2) องค์พระเทวจักรพรรดิ

คือเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่สูงสุดในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นรวมกัน และเป็นเจ้าแห่งเทวดาทั้งปวง ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา, ดาวดึงส์, ยามา, ดุสิตา, นิมมานรดี, และปรนิมมิตวสวัตตี ในคราวเดียวกัน ปกติแล้วองค์เทวจักรพรรดิจะสามารถเลือกได้ ว่าจะประทับอยู่สวรรค์ชั้นใด แต่ด้วยพระบารมี ก็ทำให้พระองค์ทรงมีวิมานอยู่ในสวรรค์ทุกชั้น สามารถจะไปเยือนไปอยู่สวรรค์ชั้นใด เมื่อใด ก็ย่อมได้ เป็นที่ยอมรับนับถือกันว่า องค์เทวจักรพรรดิ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชของเหล่าเทวดา

 

(3) พระจักรพรรดิ (พระจักรฯ)

คือมนุษย์ที่บำเพ็ญบารมีในสายจักรพรรดิ ทั้งนี้ขอเอ่ยอ้างถึงการบำเพ็ญบารมี 2 สายหลัก ที่มีอยู่ในโลกธาตุ คือ

(3ก)    สายธรรม เรียกผู้บำเพ็ญว่า “พระองค์ธรรม  หากมุ่งหวังเป็นพระพุทธเจ้า เรียก พระโพธิธรรมบุคคลที่อาจได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิบ้างเป็นระยะๆ ก่อนกว่าจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล หรือตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หาก “พระองค์ธรรม” บำเพ็ญบารมีกระทั่งสำเร็จขั้นธาตุขั้นธรรมต่างๆ ในวิชชา จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (i) พระองค์ธรรมผู้แก่ธาตุ และ (ii) พระองค์ธรรมผู้แก่ธรรม โดยที่จะเป็นผู้ทรงวิชชา, พระโพธิสัตว์, พระเจ้าจักรพรรดิ, พระอริยบุคคล, พระพุทธเจ้า ก็ตามแต่ โดยจะมี วิชชาศักดิ์ตามที่นับถือกันในโลกแห่งวิชชา

(3ข)    สายจักรฯ หรือ สายจักรพรรดิ เรียกว่า “พระจักรฯ หากมุ่งหวังเป็นพระพุทธเจ้า เรียก พระโพธิจักรฯบุคคลที่อาจได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิบ่อยกว่า ก่อนที่จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (เรียกว่า “อริยจักรฯ”) หรือตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (เรียกว่า “พระพุทธจักรฯ) หาก “พระจักรฯ” บำเพ็ญบารมีกระทั่งสำเร็จขั้นธาตุขั้นธรรมต่างๆ ในวิชชา จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (i) พระองค์ธรรมจักรพรรดิ คือพระจักรพรรดิที่แก่ธรรม และ (ii) พระองค์ธาตุจักรพรรดิ คือพระจักรพรรดิที่แก่ธาตุ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทสามารถ “ตรัส” เป็น “พระพุทธจักรพรรดิ” ในวิชชาได้ โดยจะมี วิชชาศักดิ์ตามที่นับถือกันในโลกแห่งวิชชา เช่นกัน

สำหรับสายจักรฯ นั้น เมื่อก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ได้ขั้นเป็น “พระจักรฯ” มี “กายต้นขั้วแห่งสายธาตุสายธรรมของตน (วิญญาณชั้นในสุดของตน)” และ/หรือ “ผู้เลี้ยงผู้รักษา” (อุปมาดุจเทวดาประจำตัว)  เป็นกายพระจักรพรรดิ ปรากฏเป็นพระพุทธเจ้าทรงเครื่องประดับสวมชฎา หรือกายคล้ายเทวดาทรงเครื่องประดับสวมชฎา ขึ้นอยู่กับการบำเพ็ญ โดยที่บุคคลอื่นๆ อาจมีผู้เลี้ยงผู้รักษาเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระธรรมกาย หรือเป็นกายสิทธิ์ที่ดูคล้ายเทวดาเท่านั้น

ถ้าพระจักรฯ ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าด้วย เรียกว่า "พระโพธิจักรฯ" คือพระจักรฯที่เป็นพระโพธิสัตว์ด้วย แต่ถ้าปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช หรือไม่ได้ปรารถนาอะไรก็เรียกเป็น “พระจักรฯ” ตามธรรมดา โดยที่ “พระจักรฯ” จะได้รับ รัตนะ 7 ของทิพย์อย่างครบถ้วน หรือบางส่วน จากสายธาตุสายธรรมของตน (ไม่ว่าจะเป็น ภาคทอง/ภาคเงิน/ภาคขาว/ภาคอัพยากฤต/ภาคมาร/ฯลฯ) มาสถิตไว้ในตัว เพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะบารมีของพระจักรฯให้แก่กล้ารุดหน้าต่อไป ไม่ว่าจะด้วยการ เดินงานและ/หรือ เดินวิชชาเมื่อ “พระจักรฯ” สั่งสมบำเพ็ญบารมีแก่กล้าขึ้น รัตนะ 7 ภายในตัว ซึ่งเป็นของทิพย์หรือของกายสิทธิ์ ก็จะแก่กล้าขึ้นตามลำดับ โดยรัตนะ 7 ของทิพย์ จะมี เจ้ารัตนะคือ รัตนะที่เป็นใหญ่คอยกำกับการรัตนะที่เหลือ ซึ่งปกติแล้วจะเป็น จักรแก้วแต่ในบางกรณี เจ้ารัตนะก็เป็น ขุนพลแก้ว, ขุนคลังแก้ว, หรือ นาย/นางแก้ว ตามแต่ความประสงค์ของพระจักรฯ หรือเจ้าของสายธาตุสายธรรมผู้ปกครองส่งเลี้ยง

ทั้งนี้ พระโพธิธรรมบุคคลและ พระโพธิจักรฯบุคคลต่างก็เรียกรวมกันว่า “พระโพธิสัตว์” โดยที่ปกติแล้วพระองค์ธรรม มักจะประเสริฐกว่า พระจักรฯ ด้วยเพราะมีธรรมอันอุดมมากกว่า (โลกแห่งวิชชานับถือธรรมเป็นใหญ่) ในขณะที่พระจักรฯ มักจะมีฤทธิ์เดชมากกว่า แต่หากพระจักรฯสามารถบำเพ็ญธรรมกระทั่งบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็จะสำเร็จเป็น "พระพุทธจักรพรรดิ" ซึ่งประเสริฐกว่า พระพุทธเจ้าสามัญ ที่มาจากการเป็นพระองค์ธรรม หรือ พระจักรฯด้วยกัน ที่มีอันดับด้อยกว่า ส่วนการเป็นพระพุทธจักรพรรดินั้นก็ อุปมาเสมือนดั่งพระพุทธเจ้าที่เป็น "เจ้าคุณ" คือมียศศักดิ์อยู่ในหมู่พระพุทธเจ้าด้วยกัน โดยใน "ภัทรกัปป์" ปัจจุบันของเรานี้ สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงเสด็จอุบัติขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 โดยที่พระองค์จะทรงเป็น "พระพุทธจักรพรรดิ”  [ในวิชชา] เพียงพระองค์เดียว ในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ของภัทรกัปป์นี้

หากถามว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก่อนอื่นต้องขออ้างอิงถึงบทความเดิมในเว็บไซท์ว่า พระจักรฯ มีสองประเภท คือ (1) ประเภทที่เก่งงาน และ (2) ประเภทที่เก่งวิชชา

พระจักรฯ ประเภทที่เก่งงาน ต้องผ่านการ “ฝึกงาน” เริ่มตั้งแต่เป็น “รัตนะบุคคล” ซึ่งมีบทบาททั้ง 7 อย่าง โดยเริ่มแรกตั้งแต่เป็นม้า” (ความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมและเดินทาง), “ช้าง” (พละกำลังในการอำนวยเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ), “บุรุษหรืออิตถีรัตนะ” (การให้ความสุข ความน่าเพลิดเพลินใจ และความสวยงาม), “พระคลัง” (การดูแลจัดหาใช้สอยและพิทักษ์รักษาสมบัติ), “ขุนพล” (การควบคุมระดมพลพรรค และบริหารจัดการดูแลทรัพยากรบุคคล), “พระมณีรัตน์และ พระมณีจินดา” (กำกับการเรื่องของกายสิทธิ์ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ให้คุณชนิดต่างๆ ทั้งแก้วมณี และรัตนชาติหินมีค่า) กระทั่งเป็น "จักร" ที่ฝึกการใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งการและบริหารจัดการ

ดังนี้แล้ว พระจักรฯ ที่ฝึกงานมาตามลำดับขั้นนี้ จะมี "กายสิทธิ์" คือ “วสี” หรือ “ความชำนาญงาน” สะสมอยู่ในตัวมากกว่า "พระองค์ธรรม" ที่สร้างบารมีไปเรื่อยๆ โดยอาจไม่ได้เน้นงานตามหน้าที่แห่งรัตนะ 7 (เมื่อเราทำกิจ ภพกายสิทธิ์จะส่งกายสิทธิ์มาเก็บไว้ในตัวเรา ทำให้เกิดความชำนาญในกิจแต่ละด้านแต่ละอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พระจักรฯ มีรัตนะ 7 ของทิพย์อยู่ในตัว ช่วยส่งฤทธิ์เสริมการทำกิจบำเพ็ญบารมี กายสิทธิ์ในตัวจะเกิดขึ้นมาก และมีกำลังมาก แต่พระองค์ธรรมก็สามารถมีรัตนะ 7 ของทิพย์ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าประสงค์จะครองไว้ ซึ่งทำได้ในวิชชา) ด้วยเหตุนี้ พระจักรฯที่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าจึง “เก่ง” กว่าพระองค์ธรรมที่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยบารมีธรรมที่พอๆกัน

ส่วนพระจักรฯประเภทที่เก่งวิชชา คือพระจักรฯ ที่ “เดินรัตนะ” หรือ “เข้ารัตนะ” โดยอาศัย "รัตนะ 7 ของกายสิทธิ์” (อันเป็นทิพย์) ในการเข้าวิชชาเดินวิชชาหรือประกอบวิชชาในญาณ มีความชำนาญ อุปมาดั่ง ทหาร (อุปมาว่าเป็นพระจักรฯ) ที่ฝึกใช้ อาวุธสงคราม เมื่อเทียบกับตำรวจ (อุปมาว่าเป็นพระองค์ธรรม) ที่ฝึกใช้อาวุธสำหรับต่อสู้ต่างๆ แม้ว่า พระองค์ธรรม จะสามารถใช้รัตนะ 7 ได้เช่นกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง พระจักรฯ กับ พระองค์ธรรม ในระดับเดียวกัน โดยส่วนใหญ่แล้วพระจักรฯ ย่อมจะใช้รัตนะ 7 ที่เป็นกายสิทธิ์ ในวิชชา ได้เชี่ยวชาญ ชำนาญ และ “เก่ง” มากกว่า ด้วยภาวะแห่งการเป็นพระจักรพรรดิ ยกเว้น พระองค์ธรรมบางพระองค์ที่ฝึกมานาน หรือพระองค์ธรรม ที่ฝึกหรือบำเพ็ญเป็น “พระจักรฯ” ควบคู่กันไปด้วย อุปมาเหมือนบุคคลที่เป็นทั้ง ทหาร และ ตำรวจ ในคนๆเดียวกัน แต่มียศในทั้งสองฝ่าย

            อย่างไรก็ตาม ทั้งการฝึกงาน และการฝึกวิชชา ของพระจักรฯ ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับงาน และ/หรือ วิชชา ในด้าน “รัตนะทั้ง 7” มากกว่าทั่วๆไป ทำให้เป็นการ ยากกว่าสำหรับพระจักรฯ ในการบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเปรียบเทียบกับพระองค์ธรรม เพราะพระจักรฯมิได้ "บำเพ็ญธรรม" แต่เพียงอย่างเดียวเป็นหลัก แต่ฝึกหลายๆ อย่างไป พร้อมๆ กันทั้ง งานและ/หรือ วิชชา”  ในทางตรงกันข้าม การฝึกของพระจักรฯ ในลักษณะนี้ เป็นเหตุที่เอื้อให้ พระจักรฯ บรรลุเป็น พระเจ้าจักรพรรดิราช ได้บ่อยกว่า และได้มากกว่า พระองค์ธรรม ในตลอดช่วงระยะเวลาของการบำเพ็ญบารมีที่เท่ากัน

แม้กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ธรรม จะไม่ได้ฝึกรัตนะ 7 อย่างพระจักรพรรดิเลย พระองค์ธรรม ก็ได้ฝึกบ้าง แต่ไม่เข้มข้นมาก และพระองค์ธรรมก็สำเร็จเป็นพระเจ้าจักรพรรดิบ้าง แต่ไม่มากเหมือนอย่างพระจักรฯ ตลอดช่วงระยะเวลาที่บำเพ็ญบารมีจะเป็นพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ธรรมได้สั่งสมบารมีธรรมโดยตรง นั่นก็คือ "บารมี 10 ทัศ" ทั้งแบบสามัญ แบบอุปบารมี และแบบปรมัตถบารมี ซึ่งทำให้บารมีธรรมของพระองค์ธรรมเต็มเร็ว และบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ง่ายกว่าพระจักรฯ ที่ต้องฝึกงานในรูปแบบของ รัตนบุคคล 7 ประเภทซึ่งกอปรให้เกิด "บารมีธาตุ" และ/หรือ ฝึกวิชชาที่ใช้รัตนะ 7 กายสิทธิ์กระทั่งเชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับการบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ 3 ขั้น (ขั้นสามัญขั้นอุปบารมีขั้นปรมัตถบารมี) ที่กอปรให้เกิด "บารมีธรรม" ด้วยเหตุนี้ กาลแห่งความล่าช้าจึงเกิดแก่พระจักรฯ

โดยสรุปแล้ว เราสามารถกล่าวได้ว่า “ธรรม” นั้นได้การยอมรับนับถือว่าเป็นใหญ่ เพราะเป็นองค์คุณที่ก่อให้เกิดความสะอาดบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ กระทั่งเกิดเป็น มรรคผล-นิพพานตามปกติแล้ว “พระจักรฯ” จะมี “ธรรม” ด้อยกว่า “พระองค์ธรรม” แต่พระจักรฯ มักจะมี “วสี” คือความเก่ง ทั้งในงาน และในวิชชา เมื่อเปรียบเทียบกับพระองค์ธรรมที่อยู่ในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากว่า “พระจักรฯ” สามารถบำเพ็ญจนกระทั่ง “อุดมธรรม” (เรียกว่า พระธรรมจักรพรรดิ”) ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “พระองค์ธรรม” ด้วย “ธรรม” ที่พอๆ กัน พระจักรฯ ย่อมจะประเสริฐกว่า เหตุเพราะมีวสีในงานและในวิชชา ส่วน “พระองค์ธรรม” หรือ “พระจักรฯ” ที่บำเพ็ญในทั้ง 2 ฝ่าย ควบคู่กันไป คือเป็นทั้ง “พระองค์ธรรม” และ “พระจักรฯ” ในเวลาเดียวกัน ย่อมประเสริฐกว่า “พระองค์ธรรม” หรือ “พระจักรฯ” ในระดับเดียวกัน ที่สังกัดฝ่ายเดียว

หมายเหตุ: การใช้คำว่า "พระจักรพรรดิ" ก็ตาม หรือ "พระพุทธจักรพรรดิ" ก็ตาม สามารถแบ่งแยกประเภทออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ (ก) พระจักรพรรดิ ที่มี “ชีวะ” คือมีชีวิตจิตใจ (The Lord of Imperial Dhamma) และสามารถถือกำเนิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ได้ ส่วน (ข) คือ พระจักรพรรดิ ที่เป็น "กายสิทธิ์" (The Transcendroid or Transcendental Droid) ที่ไม่มีชีวิต แต่มีความคิด มีจิตใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูก "สร้าง" หรือ "ปรุง" ขึ้นให้อยู่ในสภาพอันเป็น "ทิพย์" โดยที่ปกติแล้วไม่จำเป็นต้องมาถือกำเนิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาเพื่อเวียนว่ายตายเกิด ยกเว้นในบางกรณีพิเศษ ส่วนสาเหตุที่พระจักรพรรดิ ทั้งประเภท (ก) และ ประเภท (ข) มีชื่อเรียกว่าเป็น "พระจักรพรรดิ" เหมือนๆ กัน ก็เพราะต่างก็เกี่ยวข้องกับการเป็น กายพระทรงเครื่องประดับที่ครอบครอง "รัตนะ 7 ประการ" มี "จักรแก้ว" เป็นอาทิ ไม่ว่าจะเป็นของหยาบที่หยิบจับต้องใช้สอยได้ หรือของทิพย์ที่เอาไว้ใช้ในญาณ หรือใน "วิชชา”

ทั้งนี้ การสำเร็จเป็น “พระพุทธจักรฯ” ของพระจักรฯ หรือกายสิทธิ์ สามารถจำแนกได้เป็น 12 ฝ่ายหลัก ซึ่งสามารถแยกออกไปเป็นสาขาต่างๆ ได้อีก โดยที่ผู้ที่เป็นพระพุทธจักรฯ แต่ละพระองค์ อาจจะดำรงตำแหน่งในสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือมากกว่าก็ได้ ในเวลาเดียวกัน ได้แก่

(1) ฝ่ายวิชชา

(2) ฝ่ายปกครอง

(3) ฝ่ายศึก

(4) ฝ่ายเผยแพร่

(5) ฝ่ายยุทธ์

(6) ฝ่ายเสบียง

(7) ฝ่ายเลี้ยงดูอภิบาล

(8) ฝ่ายสรรสาระ

(9) ฝ่ายให้การรักษา

(10) ฝ่ายสรรค์สร้างความสะอาดและบริสุทธิ์

(11) ฝ่ายมั่งคั่ง

(12) ฝ่ายพลพรรค

ซึ่งการได้รับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง อาจจะ “เป็นด้วยวิชชา” หรือ “เป็นโดยงาน” ก็ได้ ยกเว้นบางฝ่าย เช่นฝ่ายวิชชาและฝ่ายศึก ซึ่งไม่สามารถเป็นโดยงานได้

การฝึกงานของพระจักรฯ

      1.      “จักรแก้วคือฝึกใช้อำนาจ ควบคุมอำนาจที่มี ให้เป็นคุณเป็นโทษอย่างถูกต้องสมควร

      2.      “แก้วมณีคือฝึกความแน่ชัด ชัดแจ้ง ให้ตนเองและผู้อื่น รู้เห็นเข้าใจถูกต้องตามจริงตามควร

      3.      “ขุนพลแก้วคือฝึกการเป็นผู้นำผองชน การทำงานทำการร่วมกัน เพื่อให้งานสำเร็จโดยร่วมกัน

      4.      “ขุนคลังแก้วคือฝึกการใช้สอยและจัดหาทรัพย์สินศฤงคาร ให้มีพอมีใช้ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เสียศูนย์เปล่า โดยไม่จำเป็น

      5.      “นาย/นางแก้วคือฝึกความวิจิตรงดงามของข้าวของสิ่งต่างๆ รวมทั้งจิตใจ ที่ให้ความสุขน่าพึงพอใจแก่ตนเองและผู้อื่น

      6.      “ช้างแก้วคือฝึกความโอบอ้อมอารี อ่อนโยน เอื้อเฟื้อต่อทั้งผู้ยาก และผู้มั่งมี เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

      7.     “ม้าแก้วคือฝึกกำลังความรวดเร็ว ว่องไว ทรงพลัง ในการยังกิจการงานต่างๆ ทั้งเรื่องหยาบ (โลกภายนอก) และเรื่องละเอียด (ในวิชชาหรือในญาณ)

พระจักรฯส่วนใหญ่ก็ฝึกงานเพื่อให้ได้เป็นพระจักรพรรดิขั้นต่างๆ ในโลกแห่งวิชชา แต่ถ้าพระจักรฯบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้เป็น “พระพุทธจักรพรรดิ” ซึ่งสำเร็จยาก นานๆ ทีจะมีสักองค์ เหมือนอย่างองค์ที่ห้าในภัทรกัปป์ปัจจุบัน แต่ต่อจากนี้ไปก็จะง่ายเข้า.. ถ้าพระจักรฯบรรลุเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ พระจักรพรรดิส่วนใหญ่เก่งงาน ไม่เช่นนั้นก็เก่งวิชชา เดิมทีพระจักรฯสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ยากเพราะขั้นตอนซับซ้อนกว่า แต่ถ้าสำเร็จก็จะประเสริฐกว่าพระพุทธเจ้าทั่วไป และเลิศล้ำกว่า “พระองค์ธรรม” ที่อยู่ในระดับเดียวกัน

ทั้งนี้ “พระจักรฯ” จะมี “รัตนะบุคคล” ซึ่งเป็นคล้ายๆ กับ “สหชาติ” กล่าวคือเป็น “บริวารบุญ” ของพระจักรฯ ซึ่งเป็นมนุษย์ที่ช่วย “เดินวิชชา” และ/หรือ “เดินงาน” ทำหน้าที่ด้านต่างๆ คือ (1) พระมณีกร ช่วยดูแลด้านของกายสิทธิ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีดวงแก้วเป็นอาทิ (2) พระขุนพล ช่วยบริหารจัดการกำกับดูแลบริวาร (3) พระคลัง ช่วยพิทักษ์รักษาสมบัติ (4) พระสุขะรัตนะ (นายแก้ว / นางแก้ว) ช่วยดูแลให้เกิดความสุขเพลิดเพลินใจ ศิลปะ วัฒนธรรม ความบันเทิงต่างๆ (5) พระคชา ช่วยดูแลอำนวยความสะดวกความเป็นอยู่ (6) พระอาชา ช่วยดูแลอำนวยการเดินทางและคมนาคม ให้ราบรื่นเรียบร้อย โดยที่ พระจักรฯ จะเป็นผู้แต่งตั้งว่า บริวารบุญคนใด จะเป็นรัตนะบุคคลตำแหน่งใด บางคนอาจควบหลายตำแหน่ง และบางคนอาจสลับตำแหน่งกันตามวาระ และในทำนองเดียวกันกับ รัตนะ 7” ที่เป็นกายสิทธิ์อยู่ภายในตัว พระจักรฯสามารถกำหนดให้ พระรัตนะบุคคลท่านใดท่านหนึ่งเป็น เจ้ารัตนะคือหัวหน้าของพระรัตนะบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็น ขุนพลแก้วแต่ก็ไม่เสมอไป พระจักรฯผู้ใหญ่ ที่มีบารมีมากจะมี “รัตนะบุคคล” หลายชุด หลายชั้น ส่วนพระจักรฯผู้น้อย อาจจะมีรัตนะบุคคลชุดเดียว และในชุดเดียวนั้นอาจมีเพียง 2-3 คน ซึ่งควบหลายตำแหน่ง หรือบางตำแหน่งพระจักรฯก็เป็นรัตนะบุคคลด้วยตนเอง เช่น พระจักรฯ เป็นพระมณีกร และเป็นพระขุนพล ในตัวคนเดียวกัน โดยนัยนี้ พระจักรฯเอง ก็ ฝึกรัตนะธรรมคือบำเพ็ญหน้าที่ของรัตนะ 7 ด้าน ด้วยตนเอง แล้วก็มี พระรัตนะบุคคลมารองรับหน้าที่ของรัตนะทั้ง 7 ด้านอีกด้วย แต่พระจักรฯ จะต้องบำเพ็ญเองเป็นหลักก่อน เมื่อพระจักรฯเก่งกล้าสามารถ หรือได้ขั้นสูงมากพอในโลกแห่งวิชชาแล้ว พระจักรฯ ก็จะมีสิทธิ์ ฝึกรัตนะคือรับบุคคลต่างๆ มาฝึกงานหรือฝึกวิชชา เป็นบริวารของพระจักรฯ อีกที ตามหน้าที่ของรัตนะ 7 ประการ ซึ่งจะรับหน้าที่เดียวโดยตลอด หรือสลับสับเปลี่ยนไปตามวาระก็ได้

ตามปกติแล้ว พระจักรฯ และ พระรัตนะบุคคล จะบำเพ็ญบารมีตามขั้นของรัตนะ เรียกว่า “ฝึกวิชชา” และ/หรือ “ฝึกงาน” โดยส่วนใหญ่นั้น ก่อนกว่าจะได้มาเป็นพระจักรฯ จะต้องเคยเป็นพระรัตนะบุคคลมาก่อน เช่น เป็น พระอาชาบุคคล (ม้า) ที่ทำงานด้านการเดินทางและคมนาคม ให้กับพระจักรฯองค์อื่นๆ หรือเป็นพระคชา (ช้าง) ที่เอื้อเฟื้ออำนวยความสะดวก เป็นพระสุขรัตนะ (นาย/นางแก้ว) ที่คอยสร้างสรรค์ความวิจิตรสวยงามของศิลปวัฒนธรรมและความบันเทิง เป็นพระคลัง ที่คอยทำบัญชี บริหาร พิทักษ์สมบัติ เป็นพระขุนพล ที่ควบคุมกำกับทรัพยากรบุคคล หรือเป็นพระมณี ที่รับหน้าที่ด้านการให้ความรู้ความเข้าใจในศิลป์และศาสตร์ รวมถึงจัดหาศึกษาวัตถุศักดิ์สิทธิ์และหินรัตนชาติมีค่า โดยรัตนะบุคคลจะต้องฝึกมาตามลำดับ เช่น เป็นพระอาชาบุคคล 5,000 ชาติ แล้วมาเป็นพระคชาบุคคลอีก 3,500 ชาติ ก่อนจะมาเป็น พระสุขรัตนะ อีก 3,000 ชาติ เป็นพระคลังอีก 2500 ชาติ เป็นพระขุนพลอีก 2,000 ชาติ เป็นพระมณีอีก 500 ชาติ กว่าที่จะได้มาเป็น “พระจักรฯ” แต่ระยะเวลา “การฝึกรัตนะ” ก็ไม่แน่นอน บางท่านเป็นพระคลังนานกว่าตำแหน่งอื่น หรือบางท่านเป็นพระคชาบุคคลนานกว่า รวมถึงระยะเวลาก็ไม่แน่นอนว่าจะต้องระบุว่าเป็นกี่ชาติ แล้วแต่พระจักรฯที่ฝึกให้ และแล้วแต่กติกาของแต่ละสังกัด หรือบางท่านก็ไม่ได้เป็นแบบ “ฝึกขึ้นมา” แต่เป็นแบบ “สั่งส่ง” ลงมาจากสายธาตุสายธรรม คือเป็นมาเองโดยสำเร็จรูป

ปกติแล้ว เมื่อพระรัตนะบุคคลผ่านการฝึกตามลำดับขั้นรัตนะจากชั้นล่างสุด ขึ้นสู่ชั้นบนแล้ว สายธาตุสายธรรม หรือ พระจักรฯ ที่ฝึกให้ อาจจะอนุมัติให้เป็น “พระจักรฯ” ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระจากพระจักรฯที่ฝึกให้ และมีสิทธิ์ตั้ง “พระรัตนะบุคคล” เป็นของตนเองเช่นกัน แต่ก็มีกรณีพิเศษ ที่พระรัตนะบุคคลฝึกเฉพาะตำแหน่งยาวนานเป็นพิเศษ และ สำเร็จในวิชชา หรือสำเร็จในงาน กระทั่งได้เป็น “พระจักรฯในสายงานของตน” โดยมีสิทธิ์เลือกที่จะเป็นอยู่อย่างอิสระจากพระจักรฯที่ฝึกให้ตน หรือยังคงอยู่ในกำกับการของพระจักรฯที่ฝึกให้ตนก็ได้ โดยพระรัตนะบุคคลที่สำเร็จเป็นพระจักรฯ ในสายงานของตนมีดังนี้คือ

(1)    พระมณีรัตน์จักรพรรดิ (ดูแลด้านแก้วมณีและของกายสิทธิ์)

(2)    พระมณีจินดาจักรพรรดิ (ดูแลด้านรัตนชาติหินมีค่ามีกายสิทธิ์)

(3)    พระปรินายกจักรพรรดิ (ขุนพลจักรพรรดิ)

(4)    พระคหปติจักรพรรดิ (ขุนคลังจักรพรรดิ)

(5)    พระสุขะรัตนะจักรพรรดิ (นายแก้วจักรพรรดิ / นางแก้วจักรพรรดิ)

(6)    พระคชาจักรพรรดิ (ช้างจักรพรรดิ / อาจปรากฏอยู่ในรูปของบุคคลผู้ควบคุมทัพช้าง)

(7)    พระอาชาจักรพรรดิ (ม้าจักรพรรดิ / อาจปรากฏอยู่ในรูปของบุคคลผู้ควบคุมทัพม้า)

นอกจาก พระจักรฯ จะมี “รัตนะบุคคล” เป็น “สหชาติ” ช่วยเดินวิชชา และ/หรือ เดินงาน แล้ว พระจักรฯ อาจจะ “จับคู่” กับพระองค์ธรรม พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพื่อเดินวิชชา และ/หรือ เดินงานร่วมกัน ให้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการจับคู่ในลักษณะนี้ ก็คล้ายกับ “คู่พระอัครสาวกเบื้องซ้าย-ขวา” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างแต่เพียงว่า คู่ของพระจักรฯและพระองค์ธรรม อาจจะมี องค์บรมธาตุ” (องค์ต้นกำเนิดธาตุทั้งปวง) หรือ พระต้นธาตุ/พระต้นธรรม” (องค์ผู้ปกครองธาตุธรรมแต่ละสาย) ประจำสายธาตุสายธรรมของตน หรือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมบรมครู” (พระพุทธเจ้าองค์แรกสุดในธาตุในธรรมซึ่งทรงตั้งพระพุทธศาสนา) เป็นองค์ประธาน และการจัดคู่ ก็มีการนับถือแตกต่างกันไป บางวงศ์ (วงบุญ) นับถือพระองค์ธรรมเป็นนาย พระจักรฯ เป็นบ่าว บางวงศ์ นับถือ พระองค์ธรรมเป็นบิดา พระจักรฯเป็นบุตร บางวงศ์นับถือพระองค์ธรรมกับพระจักรฯ เหมือนพี่กับน้อง บางวงศ์นับถือกันเหมือนสหาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว พระองค์ธรรมจะได้รับการนับถือว่าประเสริฐกว่าพระจักรฯ ในการจัดลำดับความสำคัญลักษณะนี้ พระองค์ธรรมจะประทับอยู่ฝ่ายขวา และพระจักรฯอยู่ฝ่ายซ้าย แต่ในบางกรณี พระจักรฯ ก็ประเสริฐกว่าพระองค์ธรรม ยกตัวอย่างเช่น พระจักรฯ ที่ “ทรงธรรม” คือพระจักรฯ ที่บำเพ็ญทั้งในสายธรรมและสายจักรฯ กระทั่งประเสริฐกว่าพระองค์ธรรม พระจักรฯก็จะประทับฝ่ายขวา และพระองค์ธรรมก็ประทับฝ่ายซ้าย แต่ก็มีบ้างที่พระจักรฯ กับพระองค์ธรรม สลับฝ่ายกันตามวาระ เพื่อผดุงเกียรติกันและกัน ส่วนพระต้นธาตุต้นธรรมเองนั้น ก็แล้วแต่ละภาคจะจัดสรร บางภาคมีองค์พระต้นธรรม คู่กับองค์พระต้นธาตุจักรพรรดิ บางภาคมีองค์พระต้นธาตุต้นธรรม คู่กับพระองค์ต้นจักรพรรดิ บางภาค องค์พระต้นธาตุต้นธรรม ต้นจักรพรรดิ เป็นองค์เดียวกันครบหมดในตัว ส่วนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมบรมครู ก็ทรงมีหลายปาง เช่น "ปางธรรม" ก็จะทรงครองผ้าคล้ายพระพุทธเจ้า แล้วก็ทรงมี "ปางจักรฯ" ซึ่งทรงประดับเครื่องทรงคล้ายพระจักรพรรดิ แล้วแต่ว่าจะทรงเสด็จออกงานใด

ว่ากันด้วยเรื่องการจับคู่ระหว่างพระองค์ธรรมกับพระจักรฯนั้น ตามปกติแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็จะมีคู่เพียงท่านเดียว ยกเว้นพระจักรฯผู้ใหญ่ อาจจะมีพระองค์ธรรมในการอุปถัมภ์หลายองค์ เช่น 3 ถึง 5 องค์ ในขณะเดียวกัน พระองค์ธรรมผู้ใหญ่บางองค์ ก็อาจจะสนับสนุนพระจักรฯที่อ่อนกว่าหลายองค์ในเวลาเดียวกัน ส่วนพระองค์ธรรม หรือ พระจักรฯ ที่บ้างก็บำเพ็ญทั้งในสายธรรม และสายจักรฯ ในเวลาเดียวกัน ก็อาจจะ "ไขว้" คือเป็นพระองค์ธรรม ที่คู่กับพระจักรฯองค์หนึ่ง แล้วก็เป็นพระจักรฯ ด้วย ที่คู่กับพระองค์ธรรม องค์อื่นอีก โดยการไขว้แบบนี้ นอกจากจะไขว้คู่แล้ว ก็ไขว้รัตนะบุคคลไปด้วย ซึ่งการดำรงสถานภาพแบบนี้มักจะเป็นเฉพาะพระองค์ธรรม กับพระจักรฯ ผู้ใหญ่ที่มีบารมีมาก มีกำลังมาก และสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามในเรื่องของการจับคู่พระองค์ธรรม กับพระจักรฯ นั้นมีธรรมเนียมกติกาเป็นที่ยึดถือกันว่า พระองค์ธรรม กับพระจักรฯ ที่คู่กัน จะไม่สมสู่กัน ฉันท์สามี-ภรรยา แต่จะนับถือกันเหมือนบิดา-บุตรสหายพี่-น้องนาย-บ่าวอาจารย์-ศิษย์ แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละสังกัด

โดยสรุปแล้ว ชาวพุทธทั่วไปต้องสั่งสม ความคิด คำพูด และการกระทำ ที่เป็นบุญกุศล เพื่อให้ได้บุญบารมี 10 ทัศ หรือคุณธรรม 10 ประการ อันได้แก่ (1) ทาน (2) ศีล (3) เนกขัมมะ (4) ปัญญา (5) วิริยะ (6) ขันติ (7) สัจจะ (8) อธิษฐาน (9) เมตตา (10) อุเบกขา โดยบารมี 10 ทัศ นี้มีด้วยกัน 3 ระดับ คือ (ก) ระดับทั่วไป คือตั้งใจทำเป็นประจำ (ข) ระดับที่แลกด้วยเลือดเนื้อ และ (ค) ระดับที่แลกด้วยชีวิต สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระจักรพรรดิในวิชชา หรือปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าจักรพรรดิ ก็จะต้องสั่งสมความชำนาญในวิชชา และสะสมกายสิทธิ์ หรือเสริมสร้าง “วสี” คือจำนวนและความแก่กล้าของกายสิทธิ์รัตนะ 7 และกายสิทธิ์อื่นๆที่มีอยู่ในตน ไม่ว่าจะเกิดจาก “การเดินวิชชา” หรือ “การเดินงาน” ดังนี้

 

(4) พระจักรพรรดิที่เป็นกายสิทธิ์ 

กายสิทธิ์ก็คือ “ทิพยนต์-กล-กาย” ที่มีจิตใจแต่ไม่มีชีวิต และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ส่วนว่าที่เรียก "กายสิทธิ์" นั้นก็เพราะเป็น "กายประดิษฐ์" ที่ถูก “สิทธิ์” ขึ้นมาทำหน้าที่ มีทั้งแบบที่เป็นกายสิทธิ์ทั่วไปบ่มจนสำเร็จเป็นจักรพรรดิ หรือกายสิทธิ์ที่ถูกปรุงสร้างสำเร็จขึ้นมาเป็นจักรพรรดิเลย โดยที่ หากเราเปรียบกายสิทธิ์กับคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์นั้นสามารถอัพเกรดได้ กระทั่งเป็นคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง (บ่ม/แต่งกายสิทธิ์) และสามารถ “ลงโปรแกรม” ให้กายสิทธิ์สามารถทำงานได้หลากหลายและดียิ่งขึ้น (เติมวิชชา) แต่กายสิทธิ์ก็มีสเป็คที่สามารถอัพเกรดหรือลงโปรแกรมได้จำกัด เช่น กายสิทธิ์ระดับ B สามารถอัพเกรดเป็นระดับ A ถึง AA ได้ แต่กายสิทธิ์ระดับ D สามารถอัพเกรดสูงสุดได้เพียงขั้น B+ เป็นต้น

มีคนสงสัยกันว่ากายสิทธิ์คืออะไร (กายสิทธิ์ขั้นสูงเรียกว่าจักรพรรดิ) โดยเบื้องต้นเราสามารถอุปมาไว้ว่าเหมือนแอนดรอยด์ แต่บางคนก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจน จึงขอให้ลองคิดถึง "หุ่นพยนต์" ในทางไสยศาสตร์ ซึ่งถูกปลุกเสกขึ้นมาทำหน้าที่ตามกำหนด แต่จะบอกว่ากายสิทธิ์เป็นหุ่นพยนต์ก็ยังไม่สมควร เพราะกายสิทธิ์บ้างก็ประณีตกว่า บริสุทธิ์ละเอียดกว่า และบ้างก็มีคุณธรรมสูงกว่ามนุษย์หรือแม้แต่เทวดาเสียด้วย อย่างเช่นกายสิทธิ์ที่อยู่ในเมืองนิพพานทำหน้าที่คอยหล่อเลี้ยงและคุ้มครองรักษาเมืองนิพพาน เพื่อให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์อยู่เป็นสุขสราญในพระนิพพานสมบัติ เป็นต้น ส่วนว่าสุขสราญเยี่ยงไร ก็คือสุขอยู่ในพระนิโรธสมาบัติ และเมื่อเห็นแก้วในเมืองพระนิพพานซึ่งเป็นพระนิพพานสมบัติก็รู้สึกชื่นใจเป็นสุขเหมือนอย่างที่มนุษย์เราเห็นเครื่องแก้วเจียระไนหรือโคมไฟระย้าคริสตัลส่องสว่างแล้วรู้สึกชื่นใจนั่นเอง

โดยปกติผู้ทรงวิชชาจะเรียกกายสิทธิ์ชั้นสูงว่าเป็น จักรพรรดิก็เพราะกายสิทธิ์ระดับนี้เป็นกายพระทรงเครื่องประดับ และบางองค์ก็มีรัตนะ 7 บางอย่างหรือมีทั้งหมด ได้แก่ จักรแก้ว เป็นต้น สำหรับใช้ทำงาน โดยสถานในละเอียดที่สถิตซ้อนอยู่ของกายสิทธิ์ภายใน เรือนหยาบนั้นเรียกว่า “ห้องจักรวาล” ในแต่ละห้องจักรวาลอาจจะมีกายสิทธิ์อยู่เพียงหนึ่งองค์ หรือมากกว่า เช่นลูกแก้วที่เจียระไนจากหินควอทซ์อาจจะมีกายสิทธิ์อยู่เพียงองค์เดียว หรือหลายๆองค์อยู่ด้วยกัน

พระจักรพรรดิที่เป็นกาย "ทิพย์ธรรม" อยู่ในโลกทิพย์ มีทั้งที่เป็นมนุษย์บำเพ็ญสำเร็จเป็นพระจักรพรรดิเป็นองค์เป็นตนในโลกทิพย์ ซึ่งมีชีวิตมีจิตใจ และสามารถเวียนว่ายตายเกิดได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกายสิทธิ์ ที่ถูกบ่มเลี้ยงหรือปรุงขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ ซึ่งไม่มีชีวิต แต่มีจิตใจ และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด มีรูปกายคล้ายๆ กัน คือเหมือนพระพุทธรูปทรงเครื่องประดับ ต่างแต่ว่าจะงดงามมากน้อยไม่เหมือนกัน ดังนี้.

กายสิทธิ์รูปลักษณ์ต่างๆ

กายสิทธิ์ มีหลายระดับ ได้แก่ (1) กายสิทธิ์ที่มีรูปลักษณ์เหมือนพระดาบส-ฤาษี แต่กายสิทธิ์ก็ไม่ใช่วิญญาณของพระดาบส-ฤาษี นั้นๆ (2) กายสิทธิ์ที่มีรูปลักษณ์คล้ายกายทิพย์หรือกายพรหม แต่กายสิทธิ์ก็ไม่ใช่เทวดาและไม่ใช่พระพรหม และ (3) กายสิทธิ์ที่มีรูปลักษณ์เป็นกายพระจักรพรรดิ คือพระพุทธรูปทรงเครื่อง (เครื่องประดับของพระจักรพรรดิมีไว้ประกอบการ “เดินวิชชา” หรือ “เข้าวิชชา” และส่งพลังฤทธิ์ต่างๆ ซึ่งสายธาตุสายธรรม หรือผู้ทรงวิชชาปรุงสร้างขึ้น แล้วสวมใส่ให้) แต่กายสิทธิ์พระจักรพรรดิ ไม่ใช่ “พระเจ้าจักรพรรดิ” ซึ่งเป็นจอมราชาของมนุษย์ แต่ก็มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญ

กายต้นขั้วประจำสายธาตุสายธรรม

กายสิทธิ์พระจักรพรรดิเป็นของ “ทิพย์ธรรม” แต่ที่เรียกจักรพรรดิเหมือนกัน เพราะปรากฏเป็นพระทรงเครื่องประดับ และครอง “รัตนะ 7” ได้แก่ จักรแก้ว (ก่อให้เกิดอำนาจ) แก้วมณี (ก่อให้เกิดสะอาดสว่างรอบรู้) ขุนพลแก้ว (มีกำลังพลสนับสนุน) ขุนคลังแก้ว (มีกำลังทรัพย์สมบัติ) นางแก้ว (ก่อให้เกิดความสวยงามและสุขสบายใจ) ช้างแก้ว (ก่อให้เกิดความสะดวกเอื้ออำนวยต่องานการ) ม้าแก้ว (ความรวดเร็วว่องไว) เป็นทีมงานบริวารช่วยงาน และเป็นเครื่องมือในการทรงอยู่และทำงาน พระเจ้าจักรพรรดิราช กายมนุษย์ มีรัตนะ 7 ของหยาบที่จับต้องได้ ส่วน กายสิทธิ์พระจักรพรรดิ มีรัตนะ 7 ของละเอียดที่เป็น “ทิพย์ธรรม” ส่วนมนุษย์ที่เป็น “พระจักรฯ” หรือ “พระจักรพรรดิ” ก็คือมนุษย์ที่มี “ต้นสายธาตุสายธรรม” หรือ “ต้นขั้วแห่งตัวตน” เป็น “กายต้นกายสิทธิ์” หรือ “กายพระจักรพรรดิ” คอยควบคุมดูแลมนุษย์แต่ละคนนั้นๆ ซึ่งต้นสายธาตุสายธรรมของมนุษย์แต่ละคน ก็ไม่ใช่พระจักรพรรดิเสมอไป บางคนมีต้นสายธาตุสายธรรมเป็น “พระธรรมกาย” เป็น “พระพุทธเจ้า” แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น “กายสิทธิ์” (มนุษย์เองก็มีกายสิทธิ์อยู่ในตัว) ที่คล้ายๆ กายทิพย์ของเทวดา หรือกายพรหม ซึ่งมีอ่อนมีแก่แตกต่างกันไป ซึ่งมนุษย์คนใดที่เป็น “ภาคพระ” (ฝ่ายดี) หรือ “ภาคมาร” (ฝ่ายชั่ว) ก็ดูกันตรงนี้ ว่า “กายต้นขั้ว” เป็น พระพุทธเจ้า พระธรรมกาย พระจักรพรรดิ หรือ กายสิทธิ์ อยู่ฝ่ายพระ หรือฝ่ายมาร ถ้าเป็นฝ่ายพระก็จะเป็นกายขาวใสสะอาด สว่างมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังบารมี แต่ถ้าเป็นฝ่ายมาร ก็จะเป็นกายสีดำ ยกเว้นกรณีที่มนุษย์ผู้นั้นเป็นคนของภาคอื่นๆ เช่นภาคทองภาคเงิน (ทองคำขาว)ภาคทองแดง (ทองชมพู) ภาคเทา (อัพยากฤต)  หรือ เป็นจักรพรรดิ และ/หรือ กายสิทธิ์ สีต่างๆ ตามสายธาตุสายธรรม เช่น สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีเหลือง สีชมพู สีม่วง สีส้ม และสีอื่นๆ ก็จะมีกายต้นขั้วเป็นสีนั้นๆ ตามภาคที่มาแห่งตน ซึ่งต้นสายธาตุสายธรรม ส่งมนุษย์ท่านนั้นๆ มาทำงานภารกิจของธาตุธรรม มาสร้างบารมี และเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ให้สรรพสัตว์ เป็นต้น ดังเช่นพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จะอยู่ในกรณีนี้เป็นส่วนมาก

กายสิทธิ์ที่สร้างในภพมนุษย์

กายสิทธิ์มีทั้งแบบที่บำเพ็ญพัฒนาตนขึ้นไปเป็นพระจักรพรรดิ โดยมักจะเริ่มจากรูปลักษณ์เหมือนพระดาบสฤาษีชีไพร ซึ่งพระดาบสฤาษีชีไพรท่านมีวิชาอัด ส่วนของตนเองเข้าไปเป็น “กายสิทธิ์” หรือ “กายประดิษฐ์” ของตน สถิตอยู่ในวัตถุ เช่น เหล็กไหลตามถ้ำ ตามภูเขา เพื่อให้ ส่วนหนึ่งของตัวตนสามารถอยู่ต่อไปยืดยาวได้อีกแบบไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ตราบกว่าจะพบอมตธรรม และ/หรือ ได้ทำงานที่แท้จริง และ/หรือ พบผู้ทรงคุณที่มีวาสนาบารมีแก่กล้า เป็นการเปิดโอกาสให้กายสิทธิ์มีส่วนช่วยงานการ ที่จะนำไปสู่การสิ้นสุดสังสารวัฏ ทั้งนี้ พระดาบสฤาษีชีไพรที่มีญาณแก่กล้า บ้างก็ทราบว่า ธรรมเบื้องต้นที่ท่านรู้เห็นในยุคสมัยของท่านนั้นยังไม่เป็นที่สุดอย่างแท้จริง ท่านจึงนิยมสร้างกายสิทธิ์ขึ้นมาแทนตน นี้เป็นการบำเพ็ญจาก “ล่างขึ้นบน” ซึ่งมีส่วนดีที่ความแก่กล้าจากการสั่งสมอบรมอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฌานที่แก่เข้มข้น และการบำเพ็ญตบะอันยาวนานทำให้กายสิทธิ์นั้น แรงและมีกำลังมาก โดยมากแล้ว พระดาบสฤาษีชีไพรที่ใช้วิชาอัดส่วนหนึ่งของตนเองเข้าไปเป็นกายสิทธิ์สถิตอยู่ในวัตถุแล้ว ต่อเมื่อหมดอายุขัย จิตวิญญาณของท่านก็ไปเกิดใหม่ โดยส่วนใหญ่จะไปอยู่พรหมโลกหรืออื่นๆ เหลือเพียงกายสิทธิ์ที่สถิตอยู่ในวัตถุทิ้งเอาไว้ในโลกมนุษย์ สามารถทำงานแทนตนเองได้ต่อไป โดยฤาษีชีไพรที่สำเร็จเป็นพรหมนั้น จะควบคุมดูแลกายสิทธิ์ของตนที่ฝากเอาไว้ในโลกมนุษย์ เพื่อให้ทำงานกระทั่งบรรลุเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือการ “หมดสิ้นสังสารวัฏ” นั่นเอง ซึ่งเจ้าของกายสิทธิ์ประเภทนี้สามารถที่จะเรียกกายสิทธิ์ของตน กลับคืนมา รวมส่วนกับตนเองได้ในภายหลังจากที่งานสำเร็จแล้ว ซึ่งพระดาบสและฤาษีชีไพร รวมถึงผู้รู้วิชชาบางท่าน นิยมทำกายประดิษฐ์ อัดเป็นกายสิทธิ์ไว้ในวัตถุต่างๆ คล้ายๆ กับพระเกจิอาจารย์ในปัจจุบัน ที่นิยมสร้างพระเครื่อง และเครื่องราง ของขลัง ในวาระโอกาสต่างๆ เพื่อให้ลูกศิษย์และผู้ที่นับถือ ได้พึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์ โดยกายสิทธิ์จะมีวิชชายืนพื้นตามเดิมของผู้สร้าง และมีพลังหรือกำลังมากน้อยตามกำลังของผู้สร้างที่เติมเอาไว้ รวมถึงมีความสามารถ ความชำนาญ ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ตามอย่างของผู้สร้างด้วย เช่นกายสิทธิ์บางชนิด เก่งเรื่องคุ้มครองป้องกันภัย บางชนิดเก่งเรื่องรักษาโรค บางชนิดเก่งเรื่องโภคทรัพย์สมบัติ ฯลฯ

กายสิทธิ์ที่ส่งสำเร็จมาจากภพ

ในกรณีนี้หมายถึงกายสิทธิ์ที่ถูกส่งตรงมาจาก ภพผู้เป็นเจ้าของแล้วกลายเป็นคดหินต่างๆ อย่าง คดไข่ไก่ (ไข่ไก่กลายเป็นหิน), คดดักแด้ (ตัวดักแด้กลายเป็นหิน), คดลูกยอ (ลูกยอกลายเป็นหิน), คดตาแมว (ดวงตาแมวกลายเป็นหินแก้ว) และอื่นๆ เพราะคณะเจ้าของภพต้องการบำเพ็ญบารมีต่อในสภาพนั้น โดยที่เมื่อกายสิทธิ์ลงมาจากภพ มาครองเรือนหยาบ เรือนหยาบจะแข็งกลายเป็นหิน ด้วยอิทธิฤทธิ์ของกายสิทธิ์ เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษา คงอยู่ และทำงานต่อไปได้โดย ไม่แตกสลายง่าย กายสิทธิ์ประเภทนี้ มักจะมีวิชชาติดตัวมาด้วย จากที่เจ้าของภพใส่ไว้ ซึ่งคล้ายกับกายสิทธิ์ประเภทประดิษฐ์สร้างขึ้นในเมืองมนุษย์ คือในสมัยก่อนนั้นหายาก แต่ในปัจจุบันนี้ มีกายสิทธิ์ออกมาจากที่ซ่อนกันเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะถึงยุคสมัยที่จะได้ทำงานร่วมกับผู้ทรงวิชชา และส่งเสริมเกื้อหนุนการปฏิบัติธรรมของมนุษย์ให้ก้าวหน้าด้วยกำลังของกายสิทธิ์

กายสิทธิ์ที่สร้างโดยภพศักดิ์สิทธิ์

กายสิทธิ์อีกชนิดคือ กายสิทธิ์ที่ผลิตขึ้นจากภพศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีพระจักรพรรดิผู้ใหญ่ (กายทิพย์ธรรม) เป็นผู้ปกครอง ซึ่งภพศักดิ์สิทธิ์นี้ มีเครื่องผลิตกายสิทธิ์ อุปมาได้กับโรงงานผลิต “แอนดรอยด์” ในเมืองมนุษย์ โดยอาศัยบุญศักดิ์สิทธิ์ในการผลิต และตั้งยนตร์กลไกขึ้น เมื่อผลิตแล้ว ก็กระจายส่งไปอยู่ตามที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาและให้ความสุขแก่มนุษย์ ซึ่งภพมาร (มารโลก) เขาก็มีการผลิตกายสิทธิ์ในทำนองเดียวกันนี้ เพื่อให้กายสิทธิ์มารก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษแก่เหล่าสัตว์ ยกตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่ของนรกและเครื่องมือลงโทษในนรกขุมลึกๆ ที่ทำหน้าที่ลงโทษทรมานสัตว์นรก ก็เป็นกายสิทธิ์ที่มีจิตใจแต่ไม่มีชีวิต ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งกายสิทธิ์ที่ผลิตขึ้นจากภพศักดิ์สิทธิ์นี้ ปกติแล้วจะเบา” กว่ากายสิทธิ์ที่บำเพ็ญตนขึ้นมาตามลำดับ เหมือนอย่างพระดาบสฤาษีชีไพร และกายสิทธิ์จาก "ภพผู้เป็นเจ้าของ" ที่ส่งลงมาทำหน้าที่ในเมืองมนุษย์ ทั้งนี้ กายสิทธิ์ที่ผลิตจากภพ มักจะไม่ค่อยมีวิชชาติดตัวมา เป็นกายสิทธิ์สำหรับทำหน้าที่ หรือทำกิจเฉพาะอย่าง เช่นกายสิทธิ์ในหินอ่อน กายสิทธิ์ในโลหะ กายสิทธิ์ในดอกไม้ ฯลฯ

ลำดับขั้นของกายสิทธิ์ที่สำเร็จเป็นพระจักรพรรดิ

กายสิทธิ์ที่บำเพ็ญหรือแก่กล้าขึ้นจนเป็น “กายสิทธิ์พระจักรพรรดิ” แล้ว มีลำดับขั้นโดยคร่าวจากอ่อนไปแก่ ดังนี้ (1) พระจุลจักรพรรดิ (2) พระมหาจักรพรรดิ (3) พระบรมจักรพรรดิ (4) พระอุดมบรมจักรพรรดิ (5) พระเดชอุดมบรมจักรพรรดิ หรือ พระอเนกอุดมบรมจักรพรรดิ (6) พระไพบูลย์จักรพรรดิ (7) พระไพศาลจักรพรรดิ ซึ่งกายสิทธิ์จะอบรมบ่มบารมีในตัวเรื่อยมา หรือเมื่อมาอยู่ในความครอบครองของผู้ทรงวิชชา หรือมนุษย์ผู้ทรงคุณ ที่สั่งสมบุญสร้างบารมี หรือทำกิจการงานอันเป็นภารกิจของธาตุธรรม กายสิทธิ์ก็มีส่วนช่วยเอื้ออำนวยให้เจ้าของอยู่ดีมีสุข มีความปลอดภัย บำเพ็ญภาวนาได้ดีขึ้น และกายสิทธิ์ก็จะได้บุญบารมีเพิ่มตามที่เจ้าของเติมให้ นอกเหนือไปจากที่ผู้สร้างส่งลงมาใส่ตามสายควบคุม หรือถ้าเจ้าของเจริญภาวนา เข้าญาณ เข้าวิชชา ศึกษาวิชชา กายสิทธิ์ก็จะได้วิชชาเพิ่มเติมตามเจ้าของไปด้วย ถ้าหากทำวิชชาร่วมกัน เมื่องานสำเร็จตามลำดับขั้น หรืองานสร้างบารมี เจริญภาวนา ก้าวหน้า กายสิทธิ์ก็เลื่อนขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ มีความเก่งกล้า มีความแก่กล้า มากยิ่งขึ้นไปด้วย เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้ทรงวิชชา หรือเจ้าของกายสิทธิ์ด้วยกันยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งกายสิทธิ์พระจักรพรรดิยังแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ตามภพภูมิ คือ (ก) กายสิทธิ์พระจักรพรรดิของภพมนุษย์ (ข) ทิพยจักรพรรดิ กายสิทธิ์พระจักรพรรดิที่ดูแลภพเทวดา (ค) พรหมจักรพรรดิ กายสิทธิ์พระจักรพรรดิที่ดูแลภพของพรหม/อรูปพรหม และ (ง) พุทธจักรพรรดิ กายสิทธิ์พระจักรพรรดิที่ดูแลเมืองพระนิพพาน (จ) ประเภทอื่นๆ

กายสิทธิ์ชนิดปลูกในภพมนุษย์

มีกายสิทธิ์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่ง “ภพศักดิ์สิทธิ์” ส่งลงมาอยู่ในโลกมนุษย์แล้วหล่อเลี้ยงไว้มาเรื่อยๆ พร้อมทั้งปลูกเรือนหยาบ บ่มจนเติบโตเป็นกายสิทธิ์แก่กล้าขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หินแร่ ควอทซ์ และแก้วโป่งข่ามและผลึกต่างๆ ทั้งนี้ เพราะทางธาตุธรรมเจ้าของกายสิทธิ์ ต้องการลองหลายๆวิธี เพื่อทำงานการที่จะนำไปสู่การหมดสิ้นวัฏสงสารได้ โดยกายสิทธิ์ประเภทนี้ จะมาเป็นกำลังให้กับผู้ทรงวิชชาท่านต่างๆ ในการประกอบวิชชา ให้มีกำลังและสรรพคุณต่างๆ พร้อมพรั่งขึ้น ซึ่งโดยมากแล้ว กายสิทธิ์ประเภทนี้จะเป็น กายสิทธิ์เปล่าที่ไม่มีวิชชาติดตัวมา  ยกเว้นแต่กายสิทธิ์จะได้เรียนเองบ้างจากสภาพแวดล้อม เช่นกายสิทธิ์ไปตั้งรวมกันอยู่ในร้าน ซึ่งมีพระพุทธรูปของเจ้าของร้านประดิษฐานบูชาอยู่ แล้วกายสิทธิ์ก็อาจจะได้เรียนวิชชาบางอย่างจากพระ แต่ก็เป็นส่วนน้อย เจ้าของในเมืองมนุษย์จึงจำเป็นต้องใส่วิชชาให้เป็นหลัก

กายสิทธิ์และผู้ทรงวิชชา

ผู้ทรงวิชชาสามารถ:

(1) เชิญกายสิทธิ์จากที่อื่นหรือของตนมาซ้อนในวัตถุ อย่างเช่นลูกแก้วหลอม หรือพระของขวัญ ส่วนกายสิทธิ์ที่เชิญมาซ้อนลงลูกแก้วหลอม ก็อย่าดูเบา ครูวิชชาบางท่านเชิญกายสิทธิ์พระจักรพรรดิใหญ่ๆ ลงมาซ้อนได้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นการง่ายกว่า หินแร่เปรียบเสมือนบ้านที่มีเจ้าของอยู่อาศัยมาแต่เดิม จะเชิญใหญ่กว่ามาซ้อนก็อาจไม่เหมาะ ส่วนใหญ่จึงต้องกลั่นให้สะอาดแล้วสอนวิชชา แต่ลูกแก้วหลอม เป็นเสมือนบ้านเรือนเปล่า ที่ไม่มีใครอยู่ ครูวิชชาเก่งๆ ท่านก็เชิญกายสิทธิ์ดีๆ อย่างพระจักรพรรดิแก่กล้าลงมาซ้อนอยู่ในนั้นได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาบ่มหรือปลูก แต่ก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป ส่วนลูกแก้ว 3 ดวง ในรูปหล่อยืนของหลวงพ่อสด ที่ผ่านการทำวิชชารบมา ก็เป็นแก้วหลอมทั้ง 3 ดวง ซึ่งกายสิทธิ์พระจักรพรรดิก็ได้รับเชิญมาซ้อนสถิต ในทำนองเดียวกัน

(2) ใช้วิชชาของตนสร้างกายสิทธิ์แล้วอัดลงไปในวัตถุ อย่างเช่นลูกแก้วหลอม หรือพระของขวัญ ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ทรงวิชชาจะต้องมีวิชชาแก่กล้าพอสมควร แต่ส่วนใหญ่แล้ว กายสิทธิ์ที่ผู้ทรงวิชชาสร้างขึ้นได้ มักจะเป็นกายสิทธิ์อ่อนแก่ตามกำลังของผู้ทรงวิชชา หรือเป็นพระจักรพรรดิชั้นต้นๆ

(3) หากวัตถุมีกายสิทธิ์สถิตอยู่แล้ว ผู้ทรงวิชชาก็กลั่นกายสิทธิ์ให้สะอาดบริสุทธิ์ และสอนวิชชาให้กับกายสิทธิ์เพื่อทำงานต่างๆ มีการคุ้มครองป้องกันภัยตามสมบัติรักษาโรค เป็นต้น รวมถึงเติมบุญบารมีให้กายสิทธิ์นั้นๆ ซึ่งกายสิทธิ์มักจะก่อให้เกิดลางสังหรณ์กับเจ้าของ เมื่อจะมีเหตุสำคัญประการหนึ่งประการใดเกิดขึ้น ในกรณีที่เจ้าของยังไม่มีวิชชาหรือไม่มีรู้มีญาณ แต่ถ้ามีแล้ว ก็จะมาแจ้งให้ทราบโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น หินแร่จุยเจียหรือ ควอทซ์ ก็มีกายสิทธิ์ รวมถึงหินแร่อื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีกายสิทธิ์มาแต่เดิม นับตั้งแต่เจ้าของธาตุเขาส่งลงมาปลูกเลี้ยง กว่าจะมาถึงมือผู้ทรงวิชชา ก็ผ่านความไม่สะอาดมาบ้าง ผู้ทรงวิชชาก็ต้องนำมากลั่นให้สะอาด กระทั่งแก่กล้าไปตามลำดับ แล้วค่อยเดินวิชชากัน กายสิทธิ์ทั่วไป และกายสิทธิ์พระจักรพรรดิ จะมีวิชชา หรือไม่มีวิชชา ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของเป็นส่วนใหญ่ เหมือนบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ออกมา มีระบบปฏิบัติการพื้นฐาน เมื่อถึงมือเจ้าของผู้ซื้อ ก็ต้องลงโปรแกรมกันตามใจชอบ โปรแกรมก็คือวิชชา ซึ่งผู้ผลิตกายสิทธิ์ ท่านมีหน้าที่ผลิต ท่านไม่ได้มีหน้าที่ค้นวิชชามาใส่

กายสิทธิ์ในตัวมนุษย์และในวัตถุ

กายสิทธิ์ มีทั้งที่อยู่ในวัตถุ และที่อยู่ในตัวมนุษย์ และสัตว์ เมื่อมีกายสิทธิ์อยู่มาก วัตถุนั้นก็มีกำลังมาก ถ้ามนุษย์ หรือสัตว์ มีกายสิทธิ์สถิตอยู่ในตัวมาก ก็จะมีกำลังความสามารถต่างๆ มากขึ้นไปตามลำดับ บางคนมีกายสิทธิ์มาแต่เดิมไม่มาก แต่เมื่อมีวิชชา หรือรู้จักผู้ทรงวิชชา ก็ “ทับทวี” กายสิทธิ์ในตัวให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งปริมาณกายสิทธิ์จะมากขึ้นจริง แต่ว่า “เบา” หรือกำลังไม่แรงมากเท่ากายสิทธิ์ที่มีขึ้นจากการสั่งสมเอง ซึ่งกายสิทธิ์ที่สั่งสมเอง ก็เกิดจาก การใช้สติปัญญาความสามารถทำการต่างๆ ภพศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละภาคก็จะส่งกายสิทธิ์มาเติมเก็บไว้ที่ศูนย์กลางกาย (ทำดี หรือการงานที่ชอบ ก็ได้กายสิทธิ์ฝ่ายดี ทำชั่ว หรือการงานที่มิชอบ ก็ได้กายสิทธิ์ฝ่ายชั่ว) ถ้าหากคนเรามีกายสิทธิ์ฝ่ายดีสถิตอยู่มาก ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เป็นคนดีมีศีลมีธรรม เป็นผู้ทรงคุณ มีคุณธรรม แต่ถ้าหากคนเรามีกายสิทธิ์ฝ่ายไม่ดี สถิตอยู่มาก ก็มักจะมีแนวโน้มที่ทำให้เป็นคนทุศีล นิสัยใจคอเป็นพาลเสียส่วนใหญ่

เครื่องประดับของพระจักรพรรดิ

ครูวิชชาได้กล่าวเอาไว้ว่า อันว่าปางกายของพระพุทธเจ้านั้น ยิ่งเรียบง่ายยิ่งดี ส่วนปางกายของพระจักรพรรดิและกายสิทธิ์ในสายพระจักรพรรดินั้น ยิ่งวิจิตรประดับประดาก็ยิ่งประเสริฐ ซึ่งเครื่องประดับของกายสิทธิ์และพระจักรพรรดินั้น ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดกันเปล่าๆ แต่มีไว้ประกอบวิชชา ประกอบฤทธิ์ ให้คุณให้โทษต่างๆ นาๆ ได้ เหมือนอย่างสร้อยข้อมือหินสีและอัญมณีกายสิทธิ์ที่มนุษย์นิยมสวมใส่เป็นแฟชั่นเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และบ้างก็ก่อให้เกิดพลังทิพยอำนาจต่อผู้สวมใส่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องแสดงลำดับขั้น และความโดดเด่นในด้านต่างๆ ของพระจักรพรรดิและกายสิทธิ์นั้นๆ อีกด้วย อย่างเช่นเครื่องทรง ลดา”, “สุวรรณลดา”, “หงส์ลดา”, “มยุรี”, “มยุรา”, “ดารารัตน์”, มณีลังการ”,  และอื่นๆ ซึ่งเครื่องทรงแต่ละชุดก็มีกำลัง พลังอำนาจ และอิทธิคุณ มากน้อยต่างกันไป อย่างเช่นชุด หงส์ลดาเป็นประดุจชุดเกราะ ซึ่งถ้าหากผู้ทรงวิชชาอื่น สั่งระเบิดก็จะไม่อาจทำอันตรายระคายผิวผู้ครองชุดหงส์ลดาได้เลย แต่ชุดเหล่านี้มี น้ำหนักอยู่ในญาณ ซึ่งผู้ที่จะสวมใส่ได้มักจะต้องเป็นผู้ที่มี ธาตุมากพอ

รูปลักษณ์ของพระจักรพรรดิ

หลายท่านที่ได้เคยไปเยือนวัดวาอารามต่างๆ แล้วได้เห็นรูปหล่อพระจักรพรรดิ อาจจะนึกสงสัยว่า เพราะเหตุใด จึงแต่งองค์หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมี “รูปลักษณ์” ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งปัจจัยส่งผลให้รูปลักษณ์ของพระจักรพรรดิสวยงามมากน้อยต่างกันนั้น หลักๆแล้วขึ้นอยู่กับ “การบำเพ็ญ” ของพระจักรพรรดิ ซึ่ง “แก่-อ่อน” ในแต่ละด้าน และส่งผลมาถึงรูปลักษณ์ของท่าน ในทำนองเดียวกันกับ “กายมหาบุรุษ” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กว่าจะได้ลักษณะแต่ละอย่าง ก็ต้องบำเพ็ญบารมีในรูปแบบต่างกันออกไปอย่างสมบูรณ์ จึงจะได้มา รูปลักษณ์ของพระจักรพรรดิ โดยหลักแบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ (1) หน้าพระ (2) หน้างาม/สำอาง (3) หน้าหล่อ/หน้านาง (4) หน้าดุ (5) หน้าหนุ่ม (6) หน้าน่ารัก (7) หน้าเด็ก (8) อื่นๆ ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ทำให้พระจักรฯ มีกายในวิชชา ที่มีรูปลักษณ์เป็นไปต่างๆนาๆ สำหรับผู้ที่แก่ธรรมมาก มักจะได้ “หน้าพระ” ซึ่งงามเหมือนพระพุทธเจ้า ส่วนพระจักรฯ ที่บารมีแก่ แล้วมีความเป็น “ผู้ดี” สูง ก็มักจะได้ “หน้าสำอาง” หรือ “หน้าหล่อ (เหมือนเทวดาบุรุษ) /หน้านาง (เหมือนเทวดาสตรี)” แต่ก็มีพระจักรฯอีกพวกหนึ่งที่บารมีสูง วิชชาแก่กล้า แต่พระพักตร์ไม่งามเหมือนองค์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระจักรฯ ฝ่ายศึก ซึ่งออกรบบ่อย จึงมีผลต่อรูปร่างหน้าตา ซึ่งบางทีกว่าจะรบเสร็จก็อาจ “สะบักสะบอม” ต้องกลับมาซ่อม ส่วนหน้าดุ มักเป็นพระจักรฯ ที่ฤทธิ์เดชมาก ท่านที่หน้าหนุ่ม ก็อยู่ในระดับปานกลางยังไม่ค่อนไปในทางใด ในขณะที่น่ารัก เป็นพระจักรฯที่อัธยาศัยดีอ่อนโยม มีเมตตา และหน้าเด็ก คือพระจักรฯส่วนใหญ่ที่เพิ่งเริ่มสร้างบารมีใหม่ๆ หรือมาเป็นพระจักรฯได้ไม่นาน เพิ่งเริ่มต้นจากหน้าเด็ก

อย่างไรก็ตาม การบำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้รูปลักษณ์ที่งดงาม ทั้งพระพักตร์ และทรวดทรงองค์สะเอว รูปกายพระจักรพรรดิอันงามนั้น สามารถทำได้โดยการทำความดี เช่น ถวายดอกไม้ และประดับตกแต่งสิ่งสวยงาม น่ามองน่าชม จะทำให้ดวงเนตรสวย ถวายของหอม และกำจัดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ จะทำให้จมูกโด่งสวยได้รูป กล่าวแต่คำไพเราะ คำจริง ริมฝีปากจะงามเข้ารูป เล่นเสียงดนตรีบูชาผู้ทรงคุณ ส่งเสียง หรือกล่าวคำอันน่าฟังระรื่นหู ทำให้ใบหูสวย ส่วนการทำบุญอื่นๆ ก็ส่งผลถึงทรวดทรงของรูปกาย อาภรณ์ และเครื่องประดับ ซึ่งถ้าหากทำบุญธรรมดาๆ ก็ใช้เวลาหลายชาติ กว่าจะได้รูปลักษณ์ของกายในวิชชาอันสวยงาม แต่ถ้าทำบุญกับผู้ทรงวิชชาที่ตรัสขั้นสูงๆ อานิสงส์ก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเราอาจอธิษฐานขอด้วย ซึ่งผู้ทรงวิชชาบางท่านก็สามารถ “ปั้นหน้า-ปั้นหุ่น” ให้เป็นที่พอใจได้ แต่พระจักรฯที่มีวิชชามาก และแก่บารมี ก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องรูปลักษณ์มากนัก เหมือนพระอรหันต์ ที่บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว ก็มีความขวนขวายน้อย 

ถาม/ตอบ เรื่องกายสิทธิ์

ถาม 1:  มีท่านถามมาประมาณว่า ทำไมบางคนได้วัตถุมงคลที่มีอานุภาพมากไปแล้ว ยังคงประสบโชคร้ายหรือมีเคราะห์

ตอบ 1:   กฎแห่งกรรมก็เหมือนโปรแกรมนี่ล่ะครับ เวลาทำบุญ/บาป ด้วยกาย วาจา ใจ โปรแกรมเขาก็คำนวณ input ว่าจะต้องรับผลอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วส่งโปรแกรมออกมาเป็น output ติดตั้งไว้ในตัวคนเรา ทีนี้กายสิทธิ์พระจักรพรรดิ ก็อุปมาเหมือนทิพยนต์ ที่เราลงโปรแกรมเอาไว้ หรือเรียกว่ามีวิชชา ถ้าเราไม่สั่งงานกายสิทธิ์ให้แก้ไข เราก็ต้องประสบเคราะห์กรรมอยู่ดี หรือกายสิทธิ์มีวิชชา แต่ก็ไม่มากพอจะแก้โปรแกรมของกรรมได้ เพราะกรรมบางอย่างก็แรงมาก ผมอุปมาโปรแกรมเคราะห์กรรมเหมือน "แรงดึงดูดโลก" ซึ่งมีกำลังสามารถดึงดูดภูเขาทั้งลูก ให้ติดอยู่กับพื้นได้ แรงกรรมบางอย่างมันก็แรงมากเหมือนอย่างนั้นครับ เพราะฉะนั้น ถึงมีกายสิทธิ์ ก็อาจจะไม่พอแรงสู้ หรือบางอย่างกายสิทธิ์ได้แก้ไขให้แล้ว จากหนักเป็นเบา หรือจากเบา ก็เป็นไม่เกิดขึ้น แต่เราไม่ทราบ เราก็นึกว่ากายสิทธิ์ไม่ได้ช่วยอะไรครับ

ถาม 2:  มีท่านถามมาประมาณว่า ถ้าจะเลี้ยงกายสิทธิ์ให้ใหญ่ขึ้น ก็คือทำบุญ แล้วเขาจะใหญ่ตามเรา ใช่หรือไม่

ตอบ 2:  คำตอบคือ จริงๆ แล้ว กายสิทธิ์ไม่ได้บุญจากการอนุโมทนากับเรานะครับ แต่ถ้าเรามีกายสิทธิ์คุ้มครอง แล้วเราทำความดี เจ้าของผู้ผลิตกายสิทธิ์จะได้ส่วนแบ่งแห่งบุญ แล้วเขาก็จ่ายหล่อเลี้ยงกายสิทธิ์ที่อยู่ในความดูแลของเขา ถ้าเราบำเพ็ญบารมีได้มาก เจ้าของผู้ผลิตกายสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งมากเป็นเงาตามตัว เขาก็จ่ายเลี้ยงกายสิทธิ์ของเขามากเป็นพิเศษ แต่ผู้ทรงวิชชาท่านทำแบบโดยตรง ก็คือเติมวิชชา แล้วก็อัดบุญบารมีเข้าไปในองค์กายสิทธิ์ แล้วก็เดินวิชชาร่วมกัน กายสิทธิ์ก็แก่กล้าขึ้นครับ

กายสิทธิ์ทุกองค์ มีเจ้าของผู้ผลิตทั้งนั้นล่ะครับ เหมือนคอมพิวเตอร์ ที่มีผู้ผลิตทุกเครื่อง ไม่มีเครื่องใดที่เกิดขึ้นเอง แต่กายสิทธิ์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้ทรงวิชชา ก็มีทั้งแบบที่ยังต่อสายกับเจ้าของผู้ผลิต กับแบบที่ตัดสายเชื่อมกับผู้ผลิตออกไปแล้ว ซึ่งแบบที่ตัดสายแล้ว เป็นประโยชน์ต่อผู้ทรงวิชชาตรงที่ มีสิทธิ์ควบคุมกำกับการกายสิทธิ์ในการเดินวิชชาได้เต็มที่ครับ ซึ่งการจะตัดสายควบคุม ก็ต้องตกลงกับเจ้าของผู้ผลิต บางท่านก็เต็มใจให้ตัด บางท่านก็ไม่ยอม ต้องตกลงแลกเปลี่ยนกันตามสมควรครับ

ถาม 3:  มีท่านถามมาประมาณว่าเพราะเหตุใดกายสิทธิ์พระจักรพรรดิจึงพาเข้าละเอียดได้

ตอบ 3:  คำตอบคือ กายสิทธิ์มีความละเอียดบริสุทธิ์ต่างกัน ตามการผลิต เพื่อทำงานในภพภูมิต่างกันไป กายสิทธิ์ระดับพระพุทธจักรพรรดิ ถือกันว่าเป็นกายสิทธิ์ของเมืองพระนิพพาน ซึ่งมีความละเอียดมากกว่าสวรรค์ และพรหมโลกโดยทั่วไป กายสิทธิ์พระพุทธจักร ก็ถูกสร้างด้วยความละเอียดประณีตและบริสุทธิ์ สำหรับเมืองนิพพานนั้น เมื่อซ้อนกายสิทธิ์ระดับนี้เข้าธรรมะหรือเข้าวิชชา กายสิทธิ์ก็พาเข้าละเอียดถึงความละเอียดเดียวกันกับเมืองนิพพานได้ แต่ถ้าจะไปไกลกว่านั้น ก็ต้องไปต่อเอาเอง ดังนี้

ถาม 4มีท่านถามมาประมาณว่า หากกายสิทธิ์พระจักรพรรดิชั้นสูงสามารถพาเข้าละเอียดได้ดี ทำไมครูวิชชาจึงไม่เชิญมาซ้อนเป็นพระของขวัญหรือลูกแก้วของขวัญ

ตอบ 4:  คำตอบคือ ในวิชชามีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงหลายอย่าง การเชิญกายสิทธิ์พระจักรพรรดิชั้นสูงลงมาจากภพภูมิชั้นสูง ต้องเปลืองกำลังมาก จะคว้าลงมาเปล่าๆ บางทีก็ไม่ได้ ต้องต่อรองกับเจ้าของผู้ผลิตว่าจะแลกกับอะไร บางทีก็ทำให้เปลืองฤทธิ์ เปลืองละเอียด หรือบางที ก็เหมือนกับสาธุชน เป็นขั้นร้อยโท จะไปเชิญจักรพรรดิชั้นพันเอก พลเอก มาให้ใช้ มันก็ดูไม่เหมาะควร ถ้าสาธุชนเป็นผู้ทรงวิชชาชั้นสูง ก็ได้ครอบครองพระจักรพรรดิกายสิทธิ์ชั้นสูง ก็ควรอยู่ ต้องคำนึงถึงหลายอย่างด้วยกันครับ

ถาม 5:  มีท่านถามมาประมาณว่า หากกายสิทธิ์มีความละเอียดสูง เพราะเหตุใดจึงไม่มีวิชชา

ตอบ 5:  คำตอบคือ กายสิทธิ์ถูกสร้างขึ้น ตามภพภูมิผู้ประดิษฐ์ สำหรับทำงานในสภาพแวดล้อมที่หยาบละเอียดต่างกันไป หากอุปมากายสิทธิ์เหมือนกล้องถ่ายภาพที่ถ่ายภาพ resolution สูงๆ ความละเอียดของภาพ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโปรแกรมการทำงานของกล้อง (วิชชา) โดยตรง ความละเอียดของกายสิทธิ์จึงไม่ใช่ปัจจัยส่งผลโดยตรง กับการมีวิชชา แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกันคนละประเด็น คือ เมื่อมีละเอียดมาก ก็สามารถเดินวิชชาได้มากขึ้น อุปมาเหมือนคนที่อ่านหนังสือหลังจากนอนหลับพักผ่อน ตื่นมาจิตใจแจ่มใส นั่งอ่านหนังสือไปเรื่อย ก็เหนื่อย จิตใจไม่แจ่มใส เหมือนก่อนจะเริ่มอ่าน ฉันใดก็ฉันนั้น การทำวิชชาเหมือนการทำงานทางใจ เมื่อเดินวิชชามากๆ ละเอียดก็หมดเปลืองไป ต่างจากการเข้าละเอียดอย่างเดียว ที่มีความสุข สะอาดครับ

 หากท่านสงสัยว่า ความรู้ที่คณะผู้รจนานำมาเผยแพร่นี้ อยู่นอกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ผู้รจนาขออ้างอิงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสว่าธรรมที่พระองค์นำมาสั่งสอนนั้นเป็นประดุจใบไม้ในกำมือ เมื่อเทียบกับธรรมทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งเป็นประดุจใบไม้ในป่า อย่างไรก็ตาม ผู้รจนาไม่ขอนำเนื้อหาในที่นี้มาปะปนกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าข้อมูลข้างต้นจะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมด แต่ก็เป็นองค์ความรู้ ที่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องตกแต่งขึ้นเพื่อหลอกลวง และผู้รจนาบทความนี้ก็เผยแพร่ความรู้ โดยไม่มุ่งหวังทรัพย์สินใดๆ ตอบแทน เป็นการเผยแพร่เป็นวิทยาทาน ซึ่งบางท่านอาจจะได้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่งจากองค์ความรู้นี้ ไม่มาก ก็น้อย คณะผู้รจนาบทความนี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ พระจักรพรรดิและกายสิทธิ์ โดยคร่าวแต่เพียงเท่านี้ ส่วนรายละเอียด เพิ่มเติม ขอให้ท่านผู้ทรงวิชชา และผู้มีรู้มีญาณ ได้ตรวจสอบดูด้วยญาณทัสสนะ เพื่อให้เกิดความชัดแจ้งด้วยตนเอง ประดับสติปัญญา และเพื่อประโยชน์ในการขยายความ สั่งสอนศิษย์ และกัลยาณชนทั้งหลายให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงสืบต่อไป

หากมีข้อผิดพลาดแต่ประการใด ผู้รจนาขอน้อมรับไว้ด้วยดี ขอขอบพระคุณครับฯ อนึ่ง ถ้าหากท่านมีข้อสงสัยแต่ประการใด กรุณาติดต่อครูวิชชาได้ที่ www.watluangphorsodh.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากลูกแก้วจักรพรรดิหลากสี ซึ่งแสดงภาพไว้ด้านบนของหน้าบทความนี้ และถ้าหากท่านต้องการทำความรู้จักกับคดหินกายสิทธิ์-จักรพรรดิ ในรูปลักษณ์ต่างๆ สามารถดูได้ใน Google โดย search คำว่า “คดหินกายสิทธิ์” และเว็บไซท์ต่างๆ ดังต่อไปนี้:

http://www.utdid.com/amulet/0001071.html

http://www.bezoarmustikapearls.com/

https://www.manizone.co.uk

http://kingtalisman.com/

http://www.indotalisman.com 

จบบรรพ์

ฉบับแรก ครั้งที่ 1 เมื่อ 20 พฤษภาคม 2561

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เมื่อ 20 เมษายน 2562

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 เมื่อ 21 เมษายน 2562

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เมื่อ 21 เมษายน 2562

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 เมื่อ 2 สิงหาคม 2562

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 6 เมื่อ 6 สิงหาคม 2562

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 7 เมื่อ 20 พฤษภาคม 2564

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 8 เมื่อ 23 พฤษภาคม 2564

 

 

ท่านสามารถดาวโหลดไฟล์ pdf ของบทความหน้านี้ได้ฟรีจากด้านล่าง

ในรูปแบบของ ฉบับหน้ากระดาษ A4, ฉบับหน้ากระดาษ Letter, และฉบับหน้าจอ Tablet